xs
xsm
sm
md
lg

เหยื่อตกปลา “อ๊อด ลั่นทุ่ง” จากพ่อค้าข้าวแกง สานฝันสิ่งที่รัก รายได้หลักแสนต่อเดือน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ความหลงรักในการตกปลา ของผู้ชาย ที่ชื่อ “อ๊อด” นายเกรียงศักดิ์ จงทวีสุข แต่ด้วยความไม่พร้อมทางการเงิน ทำให้ต้องหันมาทำอุปกรณ์อย่างเหยื่อตกปลาด้วยตัวเอง ก่อนจะมาเป็นที่มาของ "เหยื่อตกปลา อ๊อด ลำพยา ลั่นทุ่ง"

นายอ๊อด เล่าถึง เหยื่อตกปลา อ๊อด ลำพยา ลั่นทุ่ง เกิดขึ้นมาจากตนเอง ชื่นชอบการตกปลา และครั้งหนึ่ง ซื้อเหยื่อตกปลา มาในราคา 200 บาท และพอแกว่งเบ็ดออกไป เหยื่อติดต้นไม้ และไม่สามารถเก็บได้ก็ต้องทิ้งไป ทำให้ต้องเสียเงิน 200 บาท ไปโดยยังไม่ได้ตกปลา และได้ปลามาเลย รู้สึกคับแค้นใจพอกลับมาบ้าน ลองทำเหยื่อตกปลาเอง ครั้งแรก ไม่ได้อย่างที่ต้องการ แต่ก็สามารถตกปลาได้

หลังจากนั้น ค่อยๆ เรียนรู้เพิ่มเติม ผ่านทางอินเตอร์เน็ต สุดท้ายได้เหยื่อตกปลา ที่ไม่แตกต่างจากเหยื่อตกปลา ราคา 200 บาท เลย แต่เราสามารถทำออกมาในราคาต้นทุนไม่ถึง 100 บาท วันหนึ่งน้องๆ วัยรุ่น เขามาเห็นว่า เราตกปลาได้ ถามว่า พี่ใช้เหยื่อยี่ห้ออะไร ซื้อมาจากไหน พอเราบอกว่าทำเอง ก็เลยขอซื้อต่อ และเกิดการซื้อขายกันตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา เพราะน้องๆ บอกต่อในกลุ่มเพื่อน หลังจากนั้น พอเริ่มเข้ากลุ่มตกปลา ก็เอาเหยื่อของเราออกไปขาย ตั้งแต่นั้นมา ก็เลยเกิดเป็นอาชีพมาจนถึงทุกวันนี้

สำหรับ เหยื่อตกปลาของ "อ๊อด ลำพยา ลั่นทุ่ง" ทำออกมา 2 แบบ แบบแรกเป็นเหยื่อทีทำจากไม้ ซึ่งเป็นไม้ที่หาได้ในพื้นที่ อย่าง ไม้มะม่วง หรือ ไม้มะขาม โดยเหมาะกับตกปลาใหญ่ อย่าง ปลากะพง ฯลฯ หรือ ปลาทะเล ส่วนเหยื่อ สำหรับตกปลาเล็กใช้น้ำยางพารามาหล่อขึ้นรูป นอกจากจะได้เหยื่อตกปลาในอีกรูปแบบหนึ่งที่ราคาถูกลงมาแล้ว ยังเป็นอีกช่องทางเล็กๆ ในการเพิ่มมูลค่าน้ำยางพาราให้กับเกษตรกรชาวสวนยางด้วย

“คุณอ๊อด” เล่าว่า ผมได้ทำเหยื่อตกปลานับถึงวันนี้ ผ่านมากว่า 10 ปี จากการเหยื่อทำจากไม้ และ เมื่อ 4 ปีก่อน หน้านี้ เริ่มพัฒนาเหยื่อตกปลา จากน้ำยางพารา เพราะเห็นข่าวราคายางตก ก็เลยคิดว่าถ้าเราเอาน้ำยางมาทำได้ ก็จะเป็นอีกช่องทางหนึ่งช่วยเกษตรกรชาวสวนยางได้ ซึ่งถ้าเกษตรชาวสวนยาง สนใจอยากจะมาเรียนรู้ขั้นตอนการทำเหยื่อหรือใครก็ได้ถ้าสนใจ เราไม่ได้ห่วงวิชา น้องๆ ในกลุ่มตกปลา หรือ น้องนักเรียนในพื้นที่ เราก็เปิดสอนให้ฟรี ส่วนเขาจะนำไปต่อยอดได้มากแค่ไหนก็ต้องขึ้นอยู่กับฝีมือของแต่ละคน ที่ผ่านมา สอนไปมากกว่า 100 คน บางคนก็นำไปทำเป็นอาชีพ บางคนก็เอาไปต่อยอด ทำงานเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่ไม่ใช่เหยื่อตกปลา

ทั้งนี้ ถ้าถามถึงการทำตลาด ผมเป็นนักตกปลาก็ไม่ได้ยาก เพราะเราจะเข้าใจว่านักตกปลา ต้องการอะไร ผมเริ่มทำตลาดจากนักตกปลา ด้วยราคาของเราที่ไม่แพงเมื่อเทียบคุณภาพเราก็ไม่แพ้ใคร หลังจากนั้น วิ่งเข้าไปในกลุ่มร้านขายอุปกรณ์ตกปลาเริ่มจากจังหวัดใกล้เคียง กาญจนบุรี ราชบุรี สมุทรสาคร เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และจังหวัดระยอง จันทบุรี และล่าสุดได้นำไปจำหน่ายในแถบชายแดน แถวอุดรธานี สระแก้ว ทำให้ได้ลูกค้า ประเทศลาว และกัมพูชา ผ่านทางตะเข็บชายแดน ด้วยเหตุนี้เอง มีแผนว่า ในอนาคตอยากจะขยายตลาดในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านให้มากขึ้น

พอถามถึงรายได้ คุณอ๊อด บอกว่า ปัจจุบัน มีรายได้ต่อเดือนประมาณ แสนกว่าบาท เพิ่มขึ้นมา หลังจากที่เราทำเหยื่อที่ทำจากไม้อย่างเดียว ขายได้ประมาณ 3-5 หมื่นบาท โดยลูกค้าที่ซื้อเหยื่อจากยางพารา เป็นกลุ่มที่กว้างกว่า เนื่องจากเหยื่อ ยางพาราถูกกว่า เหยื่อแบบไม้มาก ลูกค้าซื้อบ่อยกว่า ประกอบกับเรามีแบบให้ลูกค้าได้เลือกมากขึ้น ลูกค้าที่เป็นนักตกปลาก็อยากได้เหยื่อแบบใหม่ ทีมีแอคชั่นมาก ทำให้เขาตกปลาได้ เป็นที่มาของยอดขายที่เพิ่มขึ้น

สำหรับราคา เหยื่อไม้ราคาชิ้นละ 180-250 บาท และถ้าเป็นเหยื่อตกปลาทะเลชิ้นละ 350 บาท ซึ่งราคาส่งมีตั้งแต่ 100 บาท ไปจนถึง 150 บาท แต่ถ้าเป็นเหยื่อยางพารา ราคาเริ่มต้นที่ 35 บาท ขายปลีกชิ้นละ 50 บาท ส่วนแบบตอนนี้มีให้เลือกมากกว่า 100 แบบ ซึ่งที่มาของแบบ คุณอ๊อด บอกว่า บางแบบออกแบบเอง และดูแบบจากทางอินเตอร์เน็ตบ้าง และการที่เราเป็นนักตกปลา ก็จะรู้ว่า แบบไหนที่ตกปลาได้ ก็ทำแบบนั้น

นอกจากนี้ ยังได้เปิดสอนให้กับเด็กในพื้นที่ที่สนใจ มาเรียน ซึ่งหลายคนที่มาเรียนสามารถนำไปต่อยอดเป็นอาชีพได้ และเนื่องจากเป็นงานฝีมือ บางครั้งเด็กที่มาเรียนบางคนฝีมือดี ก็จ้างทำงานกับเรา ปัจจุบันมีคนทำงานให้กับเรามากกว่า 10 คน ส่วนหนึ่งเป็นความภูมิใจที่สร้างงานให้กับเด็กในชุมชนมีรายได้

คุณอ๊อด บอกว่า เดิมเป็นกลุ่มโอทอป ของจังหวัดนครปฐม และที่เราได้รับการคัดเลือกเข้าร่วมโอทอป เพราะเป็นงานฝีมือ ที่นำเศษวัสดุเหลือใช้ในพื้นที่มาสร้างมูลค่าเพิ่ม และสร้างงานสร้างอาชีพให้กับคนในชุมชน และหลังจากนั้น ได้มีโอกาสไปร่วมออกบูทในงานโอทอป และต่อมามีหน่วยงานเข้ามาช่วยส่งเสริม และคอยให้คำปรึกษา จนมาถึงวันนี้ ได้พัฒนาจนปรับขึ้นมาเป็นผู้ประกอบการ SMEs

และล่าสุดได้รับการสนับสนุนด้านเงินทุนจาก สสว. เพื่อนำมาใช้ซื้ออุปกรณ์ และเครื่องมือ วงเงิน 2แสนบาท ซึงการได้เงินก้อนนี้มา ช่วยให้สามารถลดต้นทุนการผลิตลงไปได้มากกว่า 50% เพราะชิ้นส่วนประกอบบางตัว ถ้าเราสั่งซื้อจำนวนน้อยราคาสูงแต่ถ้าสั่งจำนวนมาก ราคาลดลงมาถึง 80% หรือ ชิ้นสวนบางอย่างซื้อเครื่องจักรมาช่วยผลิต ต้นทุนก็ลดลงไปอีก

"ชีวิตผมเริ่มต้นมาจากการเป็นพ่อค้าข้าวแกง โดยเริ่มทำเหยื่อตกปลาเป็นอาชีพเสริม อาศัยความชอบส่วนตัวฝึกฝนด้วยตัวเอง จนวันหนึ่งกลายเป็นอาชีพหลัก และการลงทุนช่วงแรกเริ่มจากนำเงินจากการขายข้าวแกงมาลงทุน ซื้ออุปกรณ์ เครื่องมือต่างๆ แต่การขยายตลาดเพิ่ม ทำให้ต้องลงทุนเพิ่ม จึงต้องกู้เงิน หมุนเงินไม่ทัน จนติดแบล็ดลิสต์ ไม่สามารถกู้เงินมาเพิ่มได้ ทำให้ต้นทุนบางอย่างที่น่าจะได้ถูกก็ต้องซื้อในราคาแพง ต้นทุนสูง กำไรน้อย การขยายตลาดก็ต้องชะงักไป แต่โชคดี ที่ได้เงินกู้จากสสว.ในครั้งนี้ ซึ่งเขาอาจจะเห็นโอกาส และให้กู้ เพราะถ้าลำพังเราติดแบล็คลิสต์แบบนี้ กู้ที่ไหนก็ไม่ได้อยู่แล้ว ซึ่งในปีแรกยังไม่ต้องผ่อนชำระ ยิ่งสร้างสภาพคล่องให้เรามากขึ้น โดยจะเริ่มผ่อนชำระในปีถัดไป เดือนละ 3,800 กว่า บาท” นายอ๊อด กล่าว

โทร.06-4193-5980

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEs ผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *




กำลังโหลดความคิดเห็น