xs
xsm
sm
md
lg

ถอดบทเรียนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีรุกเทคโนโลยี 4.0 นำทัพบุกตลาดโลก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

บรรยากาศเวทีสัมมนา “SMEs 4.0 : E-COMMERCE ยกระดับธุรกิจพิชิตตลาดโลก” ในวาระครบรอบเครือผู้จัดการ 35 ปี
เก็บตกจากเวทีสัมมนา “SMEs 4.0 : E-COMMERCE ยกระดับธุรกิจพิชิตตลาดโลก” ในงานครบรอบ 35 ปี เครือผู้จัดการ ส่องแนวคิดธุรกิจผู้ประกอบการ SMEs ประยุกต์เทคโนโลยี 4.0 พัฒนาธุรกิจเพิ่มยอดขาย พร้อมบุกตลาดสากล ด้านผู้บริหาร AIS ผุดแพกเกจเอื้อเอสเอ็มอี ปรับใช้งานตรงจุดเน้นเข้าใจผู้ประกอบการยุค 4.0



นายจิตตนาถ ลิ้มทองกุล CEO เครือผู้จัดการ ประธานจัดงาน สัมมนา “SMEs 4.0 : E-COMMERCE ยกระดับธุรกิจพิชิตตลาดโลก”

นายนวชัย เกียรติก่อเกื้อ Enterprise Marketing Management Manager บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน)
นายนวชัย เกียรติก่อเกื้อ Enterprise Marketing Management Manager บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปัจจุบัน SMEs 4.0 ต้องรู้ทันเน็ตเวิร์ก เรื่องเทคโนโลยีดิจิตอลไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป ผู้ประกอบการต้องนำมาปรับใช้กับธุรกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นการติดต่อสื่อสารกับลูกค้าในทุกช่องทางในรูปแบบของเสียง (Voice) และข้อมูล (Data) ซึ่งเอไอเอสได้มีการพัฒนาโครงข่ายมาโดยตลอด ทำให้ขณะนี้สัญญาณ 4G ครอบคลุมเกือบ 100% ทั่วไทย

ขณะเดียวกันก็มีการจัดทำแพกเกจอินเทอร์เน็ตให้สอดคล้องกับการใช้งานจริงของผู้ประกอบการ เช่น แพกเกจ PowerBOOST ที่เน้นความแรงของอินเทอร์เน็ตขั้นสูงสุด โดยเฉพาะช่วงกลางวันที่ผู้ประกอบการต้องติดต่อสื่อสารกับลูกค้า ซึ่งก็ได้รับการตอบรับดีจากผู้ประกอบการเอสเอ็มอี นอกจากนี้ ทางเอไอเอสยังให้การสนับสนุน Internet of Things หรือเครือข่ายอินเทอร์เน็ตที่จับต้องได้นำมาปรับใช้กับธุรกิจเอสเอ็มอี ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นเทคโนโลยีแห่งอนาคตที่จะมาเปลี่ยนประเทศไทยได้ รวมในอนาคตทางเอไอเอสจะนำระบบคลาวด์ (Cloud) รวบรวมข้อมูลของภาคธุรกิจเอสเอ็มอีเพื่อการพัฒนาในทิศทางที่ชัดเจนขึ้น โดยที่ผ่านมาเอไอเอสได้ทำแอปพลิเคชัน “ร้านฟาร์มสุข” เพื่อเป็นหน้าร้านให้เอสเอ็มอีไทยได้มีช่องทางจำหน่ายในโลกออนไลน์และเปิดตลาดต่างประเทศ
ทรรศมณฑ์ ช้างแก้ว หรือ มะแอ เจ้าของผลิตภัณฑ์ ผู้ผลิตน้ำตบมะขาม มะแอ เฮอร์เบิล
ด้านทรรศมณฑ์ ช้างแก้ว หรือมะแอ เจ้าของผลิตภัณฑ์ ผู้ผลิตน้ำตบมะขาม 'มะแอ เฮอร์เบิล' จากสมุนไพรไทย ที่คว้าชัยจาก 3 เวทีระดับโลกมาแล้ว กล่าวว่า การนำเทคโนโลยีมาปรับใช้กับธุรกิจถือเป็นเรื่องสำคัญ และในฐานะที่ตนเองเป็นคนรุ่นใหม่ก็ได้นำเทคโนโลยีมาปรับใช้กับเกษตรกรในจังหวัดอื่นด้วยๆ โดยเฉพาะด้านการสั่งซื้อวัตถุดิบมะขาม เช่น เชียงราย ลำพูน สระบุรี เป็นต้น รวมถึงยังมีนำแฮชแท็ก คำว่า 'น้ำตบมะขาม' ใส่ในข้อมูลในโลกออนไลน์อย่างต่อเนื่องเพื่อความสะดวกในการค้นหาข้อมูลสำหรับลูกค้า นอกจากนี้ ในอนาคตจะปรับระบบการชำระสินค้าแบบไร้เงินสด และคาดว่าอีกไม่นานสังคมไทยจะก้าวไปถึงจุดนั้นอย่างแน่นอน

“เราเป็นผู้ผลิตน้ำตบมะขามที่มีการนำมะขามเปรี้ยวมาเพิ่มมูลค่า และยังสามารถคว้ารางวัลชนะเลิศในเวทีระดับโลกมาแล้ว 3 ประเทศ คือ ฮ่องกง เกาหลี และเยอรมนี ซึ่งถือเป็นความภาคภูมิใจของเราที่สามารถทำให้สมุนไพรไทยเจาะตลาดต่างประเทศไทยได้ และกลายเป็นที่ยอมรับ ซึ่งอนาคตเธออยากนำมะขามและสมุนไพรชนิดอื่นของไทยมาต่อยอดเพื่อเพิ่มมูลค่า และทำให้ต่างชาติเห็นถึงศักยภาพสมุนไพรไทย” ทรรศมณฑ์กล่าว
พัชรี อิ่มรส เจ้าของศูนย์แลกเปลี่ยนการเรียนรู้ บ้านพอดี มีสุข
ส่วนพัชรี อิ่มรส เจ้าของศูนย์แลกเปลี่ยนการเรียนรู้ บ้านพอดี มีสุข กล่าวถึงการนำเทคโนโลยี 4.0 มาปรับใช้กับศูนย์การเรียนรู้เกษตรพอเพียง ว่า ภาคการเกษตรกับเทคโนโลยีถือเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ต้องดำเนินการควบคู่กันไป ทุกวันนี้เกษตรกรหันมาใช้เทคโนโลยี 4.0 กันมากขึ้น โดยเฉพาะการสื่อสาร และเสาะหาองค์ความรู้ที่มีความสะดวกสบายมากขึ้น ทำให้ข้อมูลด้านการเกษตรกลายเป็นเรื่องใกล้ตัว และยังช่วยลดต้นทุนในด้านการสื่อสารให้เกษตรกรได้ ควบคู่ไปกับการดำเนินธุรกิจตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงจะทำให้ธุรกิจยั่งยืน
เฉลิมรัตน์ ดิลกแพทย์ กรรมการบริษัท “ดี-คิดส์” จำกัด เจ้าของธุรกิจ “ขยะ4.0”
เฉลิมรัตน์ ดิลกแพทย์ กรรมการบริษัท “ดี-คิดส์” จำกัด เจ้าของธุรกิจ “ขยะ 4.0” ที่ใช้แอปพลิเคชันแจ้งจุดขยะล้นผ่านมือถือ กล่าวว่า บริษัทฯ ได้นำเทคโนโลยีมาปรับใช้กับธุรกิจในการกำจัดขยะแบบเต็มรูปแบบในทุกขั้นตอน ซึ่งเป็นการนำแอปพลิเคชันที่มีมาก่อนแล้วมาปรับใช้ให้เหมาะสม ทำให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการจัดการขยะในพื้นที่ป่าตอง ด้วยการแจ้งจุดขยะล้นผ่านมือถือด้วยวิธีการง่ายๆ โดยในแต่ละวันปริมาณขยะที่ป่าตองอยู่ที่วันละ 100-150 ตัน ดังนั้นหากไม่มีเทคโนโลยีมาช่วยจะไม่มีทางกำจัดขยะได้ทันเวลา และอาจทำให้หาดป่าตองเสียภาพลักษณ์ที่ดีในแง่การท่องเที่ยว

ขณะที่ระบบการบริหารจัดการขยะด้วยเทคโนโลยีในระบบหลังบ้าน ทางบริษัทฯ ได้มีการนำระบบเซ็นเซอร์ติดตั้งไว้ที่ถังขยะ เมื่อขยะล้นจะมีการแจ้งเตือน รวมถึงการติดจีพีเอสติดตามรถขยะเพื่อการทำงานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น และเพื่อเป็นการลดปริมาณขยะที่ต้องขนส่งไปที่ตัวเมือง ทางกรรมการผู้จัดการบริษัทฯ ได้ปลูกฝังชาวบ้านให้มีการแยกขยะ และนำขยะที่เป็นขยะสดมาแปรรูปเป็นปุ๋ยเพื่อใช้ในการปลูกผักบนพื้นที่ 11 ไร่ของหน่วยงานรัฐฯ โดยชาวบ้านสามารถนำขวดพลาสติกมาแลกผักเพื่อนำไปรับประทานที่บ้านได้ โดยอนาคตเธอเตรียมนำขยะมาทำเป็นแท่งเชื้อเพลิง เพื่อผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้าต่อไป



คำต่อคำ : เสวนา “ถอดบทเรียนผู้ประกอบการเอสเอ็มอี”

พิธีกร (นงวดี ถนิมมาลย์- ในช่วงที่ 2 เราจะมารับฟังข้อมูลจากผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จ ซึ่งในช่วงนี้เราได้รับเกียรติจากวิทยากรทั้ง 4 ท่าน ซึ่งประกอบไปด้วยผู้ประกอบการธุรกิจที่ประสบความสำเร็จจากเทคโนโลยี และการพัฒนาแบรนด์จากประสบการณ์ใกล้ตัวกับอีกหนึ่งส่วนแลกเปลี่ยนความรู้ตามแนวพระราชดำริ ในหลวง รัชกาลที่ ๙ ขอเชิญพบกับพวกเขากันเลย ขอเรียนเชิญ คุณนวชัย เกียรติก่อเกื้อ Marketing Management Manager จากบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) และคุณทรรศมณฑ์ ช้างแก้ว เจ้าของผลิตภัณฑ์น้ำตบมะขาม มะแอ เฮอร์เบิล คุณมะแอจะมาถ่ายทอดประสบการณ์สร้างแบรนด์น้ำตบมะขามสมุนไพร ซึ่งคว้าชัย 3 เวทีระดับโลกมาแล้ว และคุณพัชรีย์ อิ่มรส เจ้าของสวนแลกเปลี่ยนความรู้ บ้านพอดี มีสุข และคนสุดท้ายขอเชิญ คุณเฉลิมรัตน์ ดิลกแพทย์ กรรมการบริษัทดี-คิดส์ จำกัด จะมาพูดถึงธุรกิจขยะ 4.0 แอปพลิเคชันแจ้งจุดขยะล้นผ่านมือถือ

เราพยายามคัดสรรธุรกิจในหลากหลายประสบการณ์มา เพื่อที่จะได้ให้ผู้ประกอบการทุกท่านได้นำไปเป็นบทเรียน และไปต่อยอดสำหรับชีวิตของท่านได้ เริ่มในช่วงแรกขอเรียนแจ้งผู้เข้าร่วมสัมมนาก่อนว่า เราจะพยายามจัดสรรเวลาเพื่อที่ในช่วงท้ายได้เปิดเวทีได้ซักถามกับแขกวิทยากรของเราด้วย ในช่วงแรกขออนุญาตให้ทุกๆ ท่านแนะนำถึงที่มาที่ไปของธุรกิจแต่ละท่าน ขออนุญาตเริ่มที่คุณนวชัย ต้องบอกเลยว่าทาง AIS นี่ต้องบอกว่าเป็นผู้ประกอบการในผู้ประกอบการธุรกิจโทรคมนาคมอันดับใหญ่ที่สุดในบ้านเรา ต้องขออนุญาตให้คุณนวชัยพูดถึง AIS ONE NETWORK เครือข่ายอันดับ 1 เพื่อคนไทยทั้งประเทศ

นวชัย- ขอบคุณนะครับ คนส่วนมากจะนึกถึง AIS นึกถึงบริการโทรศัพท์มือถือเคลื่อนที่ แต่ว่าวันนี้เรามาพูดถึง 4.0 เอสเอ็มอีในยุค 4.0 AIS เรามีความตั้งใจจะเป็น “ดิจิตอล ไลฟ์ เซอร์วิส โพรวายเดอร์” เพื่อเกื้อหนุน เพื่อส่งเสริมประเทศไทยเราให้เป็นยุค 4.0 เวลาบอกว่าเป็นยุค 4.0 หน้าที่ความรับผิดชอบของผมส่วนหนึ่งคือ ลูกค้าองค์กร ลูกค้าธุรกิจ ซึ่งรวมถึงเอสเอ็มอีด้วย เพราะฉะนั้นโจทย์เรื่อง 4.0 มาดูกันว่า เวลาบอกว่าเป็นไทยแลนด์ 4.0 ประเทศไทยเราจะมุ่งสู่เรื่องอะไร ผมขอสไลด์นิดหนึ่ง เวลาบอกว่าไทยแลนด์ 4.0 เรากำลังก้าวข้ามจากการเป็นสังคมเกษตรกรรม อุตสาหกรรมเบา อุตสาหกรรมหนักไปสู่อุตสาหกรรมการสร้างคุณค่า เวลาเราบอกว่าสร้างคุณค่า ผมคิดว่าพี่น้องที่ทำเรื่องเอสเอ็มอีคงมีความกังวลว่าจะสร้างคุณค่ายังไม่พอ ต้องมารู้ว่าเทคโนโลยีต่างๆ ไปถึงไหนยังไง ผมมี approach หนึ่ง วิธีคิดอีกรูปแบบหนึ่งที่อยากจะใช้กับพี่น้องที่ทำธุรกิจอยู่

ผมอยากแบ่งอย่างนี้ โจทย์ของไทยแลนด์ 4.0 สร้างมูลค่า เพราะฉะนั้นผมอยากให้ท่านลองรู้จักการแบ่งกิจกรรมในองค์กรว่า กิจกรรมไหนเป็นการสร้างคุณค่าในองค์กรของท่าน กิจกรรมไหนที่ไม่ใช่เรื่องสร้างคุณค่า เป็นเรื่องการบริหารจัดการทั่วไป ซึ่งไม่สามารถไปสู่การสร้างคุณค่าได้ เวลาแบ่งออกมาเป็น 2 กิจกรรมอย่างนี้ โจทย์ที่ท่านจะนำเอาเทคโนโลยีไปใช้จะง่ายขึ้น เอาเรื่องดิจิตอลไปใช้จะง่ายขึ้น

ยกตัวอย่างเอาง่ายก่อนกิจกรรมที่ไม่สร้างคุณค่า จะติดต่อกับลูกน้องยังไงให้มีต้นทุนที่ต่ำลง พวกนี้มีเทคโนโลยีที่มาช่วยท่านได้ และท่านไม่ต้องไปเจาะลึกให้มาก แค่หยิบเทคโนโลยีที่เหมาะในองค์กรของท่านมาใช้ก็พอเพียงแล้ว ผมยกตัวอย่างอย่างเช่น ในองค์กรของท่านอาจจะมีพนักงานที่ติดต่อสื่อสารกัน ผมว่าหลายๆ ท่านใช้ไลน์ ใช้เฟซบุ๊กมีการคุยงานกับลูกน้องทีมงานอยู่แล้ว แต่ว่างานบางเรื่องอาจจะต้องใช้เทคโนโลยีเข้ามาบ้าง และองค์กรของท่านมีงานที่ออกแบบสร้างสรรค์ และมีโมบายล์แอปพลิเคชัน มีซอฟต์แวร์ต่างๆ ในตลาดเยอะแยะเลยที่เอามาปรับใช้ในองค์กรของท่านได้

เพราะฉะนั้นขาที่ไม่ได้สร้างแวลูผมอยากจะเน้น 2 แค่เรื่องเอง เรื่องแรกคือ ไปลดต้นทุน ท่านไปหาบริการซอฟต์แวร์ต่างๆ ที่ช่วยลดต้นทุนให้กับองค์กร ซึ่งในตลาดมีเยอะแยะมากมาย อีกเรื่องหนึ่งผมคิดว่า เรื่องการลดความเสี่ยง Operation ของท่านที่ทำอยู่แล้ว ท่านมีความเสี่ยง อย่างเช่นเรื่องของการทุจริตต่างๆ มันมีเทคโนโลยีไปช่วยป้องกันการทุจริตได้ ผมยังไม่ลงดีเทล ผมให้ภาพก่อนว่า ขาที่ไม่ได้สร้างแวลูเป็นยังไง แต่ขาที่สร้างแวลูผมคิดว่าเป็นเรื่องที่ต้องให้เวลากับมัน ต้องอุทิศเวลากับมัน ขาที่สร้างแวลูคิดเร็วๆ ผมว่าหลักๆ มีแค่ 2 เรื่อง เรื่องหนึ่งคือการที่จะ Differentiate สินค้าของท่านให้แตกต่างจากคนอื่น เรื่องที่ 2 คือเมื่อท่าน Differentiate สินค้าและบริการได้แล้ว จะไปเข้าสู่ตลาดได้ยังไง ทำยังไงให้ขายได้ ทำยังไงให้เปลี่ยนให้เป็นรายได้กับองค์กรของท่านได้ ผมคิดว่าในส่วนแรก Differentiation ท่านทำคนเดียวท่านเหนื่อย ผมคำนึงว่าท่านจะเหนื่อยอยู่แล้ว ตัวอย่างเช่นถ้าสินค้าของท่านเป็นสิ่งของต่างๆ ท่านต้องนึกถึง Internet of Thing

Internet of Thing ทำคนเดียวเหนื่อย ท่านต้องนึกหาแล้ว ท่านต้องมี Network กับคนที่ทำเรื่อง Internet of Thing ยังไง แต่ขาที่เป็นเรื่องของการเข้าสู่ตลาด ผมเชื่อว่าทุกวันนี้ท่านคุ้นเคยกับ Platform กับ E-Commerce ไม่มากก็น้อยอยู่แล้ว ผมอยากให้ท่านไปให้ลึกกว่านั้น E-Commerce มีอยู่แล้ว แต่อยากชวนท่านไปให้ลึกว่า ท่านจะเอาเรื่อง Big data analytics มาลงทุน ท่านจะเอาเรื่องของ Platform เรื่องของ Eco System ที่มีการสร้างเครือข่ายระหว่างคนทำธุรกิจในอุตสาหกรรมของท่านมาให้เกิดประโยชน์กับธุรกิจ ให้กับองค์กรของท่านได้อย่างไร

เพราะฉะนั้นขาที่เป็นเรื่องของการสร้าง Valuation
ต้องลงเข้าไปในเทคโนโลยี ต้องรู้จริง ต้องเข้าไปรู้ลึก Internet of Thing และ Data analytics หรือแม้แต่เมื่อกี้ท่านรัฐมนตรี หรือท่านอธิบดีพูดถึง ‎Machine Learning เรื่องต่างๆ นานาท่านทำเองไม่ไหว ต้องหาเพื่อนช่วย ซึ่งในตลาดมีเพื่อนเยอะแยะมากมาย การทำตรงนี้ได้ผมอยากเน้นตรงประเด็นนี้ ทำคนเดียวไม่ได้ ต้องมีเน็ตเวิร์กกิ้ง ต้องมีคนมาช่วยทำ ผมพูดเบื้องต้นก็ประมาณนี้

เพราะฉะนั้น Position ของเอไอเอส เราอยากจะช่วยทั้ง 2 ขา ขาหนึ่งคือ ขาที่เป็นกิจกรรมที่ไม่ได้สร้างคุณค่า เราพยายามออกแพกเกจที่ช่วยลดต้นทุนให้กับองค์กรของท่าน ช่วยทำให้องค์กรของท่านไปโฟกัสเรื่องของการสร้างแวลู ซึ่งพอเรื่องของการสร้างแวลู เราจะพยายามสร้าง Platform เพื่อให้ธุรกิจทางนี้มาทำเรื่องของการเข้าถึงตลาดต่างๆ ได้ง่ายขึ้น อันนี้คือ Position ของเอไอเอส

พิธีกร- เอาล่ะค่ะ ตอนนี้ผู้ประกอบการลองคิดดูถึงธุรกิจของท่าน ลองแบ่งดูมีกิจกรรมอะไรเป็นส่วนที่สร้างแวลูกับไม่ได้สร้างแวลู ไม่ได้สร้างแวลูไม่ได้หมายความให้ทิ้งไป แต่ว่าให้กลับมาแล้วมาใช้เรื่องของเทคโนโลยี และเน็ตเวิร์ก เข้ามาช่วย ซึ่งเดี๋ยวเราจะมาลงรายละเอียดกันอีกครั้งหนึ่ง

ต่อไปขออนุญาตมาที่คุณทรรศมณฑ์ ช้างแก้ว หรือคุณมะแอ ต้องบอกว่าเป็นคนรุ่นใหม่ อายุยังไม่ถึง 30 เลย อายุ 20 กว่าๆ เท่านั้นเอง แต่ตอนนี้ก็มีธุรกิจที่ก้าวไกลในตลาดต่างประเทศด้วย และทำตลาดในประเทศไทยด้วย ผลิตภัณฑ์ก็น่าสนใจมาก เพราะเป็นเรื่องของการนำเอาความใส่ใจความสวยงามกับสมุนไพรเข้ามา คุณมะแอช่วยเล่าผลิตภัณฑ์ของคุณมะแอหน่อยค่ะ

ทรรศมณฑ์- สวัสดีค่ะ ชื่อ ทรรศมณฑ์ ทำธุรกิจแบรนด์มะแอเฮอร์เบิล ของเราเริ่มจากน้ำมะขาม ก็ได้เข้าร่วมโครงการกับกรมอุตสาหกรรมภาคที่ 1 จ.เชียงใหม่ ตอนแรกของเรามีวัตถุดิบมะขามอยู่ที่บ้าน เป็นสารสกัดเอง ก็เลยเข้าไปปรึกษากับโครงการว่า เราจะทำอย่างไรให้นำน้ำมะขามมาแปรรูปแล้วเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ได้

ทางกรมอุตสาหกรรมจึงแนะนำให้กับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ให้รู้จักกับทีมวิจัย ศาตราจารย์ ดร.ดวงพร ให้ได้ร่วมวิจัยกับบริษัทของเราและมีคุณพ่อด้วย ร่วมวิจัยกันมาประมาณ 1 ปี จากนั้นทาง ดร.ดวงพรแนะนำให้เราแข่งนวัตกรรมของประเทศไทย จึงเริ่มตัดสินใจไปแข่ง หลายคนถามว่า ทำไมน้ำตบมะขามมีเอสเซนส์ เป็นนวัตกรรมได้ เพราะปกติน้ำมะขามทุกคนจะมองแค่ว่าเอามะขามไปทำเป็นสบู่ หรือเป็นที่มาสก์ตัว แต่ตัวนี้เราทำรูปแบบใหม่ คือทำเป็นเอสเซนส์

สำหรับผู้หญิงก็คือ จะเป็นเรื่องสกินแคร์ไว้บำรุงเช้าเย็น เอาไว้ทำให้ผิวหน้าชุ่มชื่น ตัวนี้สามารถใช้ได้ถึงติดลบอุณหภูมิ 17 องศาเราไปพิสูจน์มาเรียบร้อยแล้ว เราก็แข่งชนะเลิศที่ประเทศไทยก่อน นวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ใหม่ และได้มีโอกาสไปแข่งต่อที่ประเทศฮ่องกง เกาหลี และเยอรมนี และไปชนะเลิศที่ต่างประเทศ

พิธีกร - จุดเด่นที่ทำให้เราชนะการแข่งขันในแต่ละเวที เป็นตรงจุดไหนคะ

ทรรศมณฑ์- เป็นสินค้าที่เราได้มีการวิจัย และเห็นผล สารสกัดในผลิตภัณฑ์ของเราเป็นสารสกัดจากธรรมชาติทั้งหมดโดยที่ไม่มีส่วนผสมของน้ำมันเลย ทำให้ไม่มีปัญหาเรื่องเวลาใช้แล้วอุดตัน

พิธีกร- ก็เรียกได้ว่าเป็นผลิตภัณฑ์จากมะขาม ถ้าเป็นภาษาคุณผู้หญิงอาจจะคุ้นเคยว่า น้ำตบหน้า แต่ไม่ใช่ว่าความรุนแรงนะคะ เอาน้ำมาแปะไว้ที่มือแล้วก็นำมาสัมผัสที่หน้า ใช้เช้าเย็น แต่ที่ดังกันในตลาดและนิยมกันในประเทศไทย มักจะเป็นแบรนด์จากต่างประเทศ แต่ของคุณมะแอใช้ชื่อคุณมะแอเลย เป็นน้ำตบมะขาม แบรนด์ก็คือ มะแอ แต่ไม่ใช่เป็นเพียงแค่ผลิตภัณฑ์เดียวของแบรนด์นี้ มีผลิตภัณฑ์อื่นๆ ด้วย ซึ่งนำเรื่องสมุนไพรเข้ามาช่วยด้วย

ส่วนอีกท่านถัดไป คุณพัชรี อิ่มรส เจ้าของสวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้บ้านพอดี มีสุข ตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง รัชกาลที่ ๙ จากเดิมคุณพัชรีเป็นพนักงานประจำ ทำงานตามบริษัททั่วๆ ไป แต่ในที่สุดก็ตัดสินใจเข้าสู่ในแวดวง เป็นเกษตรกร ขออนุญาตเล่าให้ทราบถึงที่มาที่ไปสักนิดค่ะคุณพัชรี

พัชรี- สวัสดีค่ะ พัชรี นะคะ ที่มาที่ไป คือถ้าเกิดพูดถึงศูนย์ปราชญ์ชาวบ้าน หรือศูนย์การเรียนรู้อะไรต่างๆ หรือท่านปราชญ์ชาวบ้านต่างๆ ที่มีระดับครูบาอาจารย์ ทุกท่านจะเริ่มจากหลายๆ เหตุผล แต่เหตุผลหลักอยู่ที่ความล้มเหลว แต่สำหรับดิฉันไม่ใช่ ดิฉันกลัวความล้มเหลวในอนาคต ก็เลยต้องหันกลับมาหาความยั่งยืน ฉะนั้นพื้นฐานของเราทุกคน เราเป็นคนไทย ดิฉันมีความรัก ความเคารพศรัทธาในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ จะฟัง ศึกษา คำสั่งสอนของพระองค์ท่านอย่างต่อเนื่อง

พออายุมากขึ้นเราทำงานเงินเดือนก็เยอะขึ้น มันน่าจะมีความสุขมั้ยคะ แต่ทำไมดิฉันรู้สึกมีเสียงเตือนตัวเองอยู่ตลอดเวลาว่า ข้างหน้ามันอันตราย ไม่รู้ว่ากลัวอะไรเหมือนกัน มีความรู้สึกว่าชีวิตไม่มั่นคงเอาซะเลย กลัวอยู่ตลอดเวลา ถ้ามนุษย์เงินเดือนไม่เคยกลัว ไม่เชื่อหรอก เคยกลัวมั้ยคะ บริษัทล้ม เลิกจ้าง เราก็อยู่ในวงจรนั้น แต่เมื่อเรารู้สึกไม่ได้แล้ว ไม่มั่นคง เราจะทำอย่างไรดี พอเราหันกลับมา ณ เวลานั้นเหมือนเรากำลังว่ายน้ำออกจากฝั่ง ออกทะเลไปเรื่อยๆ จะเจอฝั่งมั้ย ไม่เจอหรอก ไปพร้อมกับความกลัว แต่ว่ายไม่หยุด โชคดีที่เตือนตัวเอง แล้วหันกลับมาที่ฝั่ง ฉันเห็นว่าพระองค์ยืนอยู่บนฝั่งพร้อมกับคำสอน พร้อมความรักความห่วงใย

อันนี้คือที่มา บอกตัวเองว่าฉันจะหยุดแล้ว ไม่ออกฝั่ง ไม่ออกทะเล หลายคนที่ออกทะเลแล้วกลับไม่ถูกหาฝั่งไม่เจอ ยังโชคดีที่หันกลับมาแล้วเจอฝั่ง เลยเลือกที่จะย้อนกลับมาแล้วศึกษาปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่พระองค์ท่านพระราชทานว่า มีความสำคัญอย่างไร จะใช้ประโยชน์ได้มากแค่ไหน พี่เชื่อว่าอะไรที่พระองค์ท่านพระราชทาน สิ่งนั้นต้องมีประโยชน์กับคนไทยกับมนุษย์บนโลกนี้เสมอ

มีอยู่พระราชดำรัสหนึ่ง พระองค์ท่านพระราชทานและให้คำจำกัดความ คำว่า ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง พระองค์ท่านประกาศครั้งแรก จะมีการให้คำจำกัดความ ให้ความหมายของคำคำนี้ในความเข้าใจของแต่ละคน ถ้าพูดภาษาชาวบ้าน เริ่มจะเลอะ บางคนบอกว่าไปทำนา ทิ้งทุกอย่างไปทำนา ทำเกษตร บางคนบอกว่าต้องกลับไปใช้เกวียนหรือเปล่า ได้ยินเข้าหูตลอดเลย เลยเริ่มเอาจริงเอาจัง และพระองค์เลยออกมาเน้นย้ำล่าสุด ว่า ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง หัวใจอยู่ตรงนี้ คือการทำอะไรก็ได้ให้เหมาะสมกับฐานะของตัวเอง ไม่ใช่ฐานะของเกษตรอย่างเดียว ทุกคนบนโลกนี้สามารถนำปรัชญาของพระองค์ท่านมาใช้ได้ทุกคน แต่พี่เลือกที่จะหันมาหาความร่มเย็น คือภาคเกษตกร

ฉะนั้นคำสอนอย่างหนึ่งที่พระองค์ท่านพระราชทาน คือ ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง อย่างที่เห็นในภาพ อันนี้เป็นพื้นที่แรก 4 ไร่ ที่เห็นในภาพ ในอดีตไม่มีอะไรเลย ที่เห็นต้นไม้คือของใหม่ทั้งหมด ปลูกใหม่ทั้งหมดเลย ด้วยการนำองค์ความรู้ การพึ่งพาตัวเองตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มาปลูกมาพัฒนา จากดินที่ตายแล้วด้วยระบบของสารเคมีในบ้านในเมืองของเรา มาพลิกฟื้นด้วยคำสอนของพระองค์ท่าน ทฤษฎีต่างๆ ไม่ว่าจะเรื่องดิน น้ำ อากาศ และจะมาปรับใช้ในขั้นพื้นฐาน

ฉะนั้นใน 4 ไร่ที่เห็นจะมีขั้นพื้นฐานของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอยู่เต็มไปหมด ณ เวลานี้ก็คือการพึ่งพาตัวเองขั้นพื้นฐานที่พระองค์ท่านพระราชทาน น่าจะ 95% แล้ว

พิธีกร- แต่ว่าดั้งเดิมพี่พัชรีชอบทางด้านการเกษตรอยู่แล้วหรือเปล่าคะ

พัชรี- ไม่ชอบเลย คิดว่าเกษตรคงไม่เหมาะกับเรา สมัยเรียนยังเลือกเรียนการเมืองเลย แต่ไม่ได้ใช้การเมืองเลย ด้วยความที่เป็นนักเรียนการเมืองมาก่อน มีความรู้สึกว่าเลยได้ยินเสียงเตือนเร็วขึ้นกว่าคนอื่น เพราะเราสนใจระบบการเมือง นโยบายของรัฐ แต่ละครั้งๆ ก็ทำให้เรา....ถ้าพูดภาษาชาวบ้านก็คือรู้ทัน เลยทำให้เราเตือนตัวเอง หันมาฟังความรักความห่วงใยของพระองค์ท่านได้เร็วขึ้น ถือว่าโชคดี

พิธีกร- หลายท่านอาจจะคิดว่า พอพูดถึงปรัชญาของพระองค์ท่านแล้วจะต้องไปคู่กับการเกษตรเท่านั้น เป็นอย่างนั้นมั้ยคะคุณพัชรี

พัชรี- ถ้าปรัชญาของพระองค์ท่านจะต้องเกษตร ต้องไปคู่กันกับภาคเกษตร แล้วท่านเป็นพระราชา แล้วทำไมท่านยังทำ ใช่มั้ยคะ ยังมีเครือข่ายระดับครูบาอาจารย์ของดิฉัน เป็นเจ้าของโรงแรมระดับ 5 ดาว ยังนำไปปรับใช้ได้เลยค่ะ ฉะนั้นให้จำคำเดียว ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง คือการทำอะไรก็ได้ให้เหมาะกับฐานะของตัวเอง ทำอย่างไรให้เหมาะสม คุณต้องรู้จักตัวเองก่อน คุณเป็นใคร กินอะไร ใช้อะไร ได้มาจากไหน เสียไปกับอะไร แค่นี้เราก็จะรู้ จะสามารถเอาองค์ความรู้มาปรับใช้ได้อย่างเหมาะสม

ทีนี้มาที่คุณเฉลิมรัตน์บ้างนะคะ คุณเฉลิมรัตน์ ดิลกแพทย์ กรรมการบริษัทดี-คิดส์ จำกัด บริษัทที่ทำธุรกิจจัดเก็บและบริหารจัดการขยะ ซึ่งพอเราพูดถึงขยะ จะเป็นสิ่งที่คนไม่ต้องการ ทิ้ง แต่ขยะ 4.0 มีเรื่องเทคโนโลยี มีเรื่องของการนำเน็ตเวิร์กอะไรเข้ามาใช้ และจุดที่ทางดีคิดส์เข้าไปช่วยจัดเก็บและบริหารจัดการขยะที่ภูเก็ต ซึ่งก็ถือว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยว น่าจะอันดับ 1 ของประเทศไทย เรามีนักท่องเที่ยวปีๆ หนึ่งเยอะมาก ขยะก็ต้องเยอะมาก

ขออนุญาตช่วยเล่าถึงที่มาที่ไปว่ามาอยู่ ณ จุดนี้ได้อย่างไรคะ

เฉลิมรัตน์- สวัสดีค่ะ เฉลิมรัตน์ ดิลกแพทย์ จากบริษัทดี-คิดส์ เริ่มต้นทำธุรกิจการศึกษา แต่ด้วยว่าพอมีเพื่อนคนหนึ่งเขาได้รับการเลือกตั้งไปเป็นนายกที่ป่าตอง เราก็เข้าไป เขาบอกว่า สิ่งแวดล้อมของป่าตอง ณ จุดนั้นที่เราเข้าไปกำลังสูญเสียความสวยงามเนื่องมาจากขยะเยอะ เขาก็เลยได้เข้ามาทำ พูดตรงๆ ว่าไม่มีความรู้ด้านนี้เลยค่ะ ปีแรกไม่ได้ใช้เทคโนโลยีอะไรเลย เก็บวันแรก เก็บเท่าไหร่ไม่หมดค่ะ ถนนสายหนึ่งเก็บเกือบ 20 ครั้งขยะก็ไม่หมด จนพอมาปีที่ 2 เป็นความโชคดีของดิฉัน และ จ.ภูเก็ต

ภูเก็ตได้รับการคัดเลือกจากรัฐบาลให้เป็นสมาร์ทซิตี้ โดยนำร่องที่ จ.ภูเก็ต โดยมีป่าตอง กับเทศบาลนคร 2 จุด ท่านนายก โดยท่านเฉลิมลักษณ์ เก็บทรัพย์ บอกว่าลองดูในข้อดีเราพอจะมีอะไรที่ดึงมาใช้ในส่วนของสมาร์ทซิตี้ได้มั้ย เพราะอยากให้ป่าตองสมาร์ท ตัวดิฉันเองในลักษณะของการทำงานที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมก็มองว่า ด้วยพื้นฐานที่ทำคอมพิวเตอร์ เทคโนโลยีมาก่อน ก็มองว่าเทคโนโลยีนี่แหละจะมีส่วนช่วยในเรื่องของการจัดการขยะ กับจัดการบ้านเมืองได้

ท่านนายกก็เลยมอบมา 4 เรื่อง แอปพลิเคชัน จีพีเอส เซ็นเซอร์ แดชบอร์ด ซึ่งทั้งหมด แดชบอร์ด เป็นการจัดการที่ไม่ใช่ดีลแค่ตัวดิฉันเพียงคนเดียว เป็นการจัดการของภาพรวม ในส่วนของชุมชน นักท่องเที่ยว มีส่วนร่วมในการจัดการขยะ เพราะขยะไม่ได้เกิดจากดิฉันคนเดียว ขยะเกิดจากทุกคนที่เข้ามา ภูเก็ตใน 1 ปีจะมีนักท่องเที่ยวประมาณ 14 ล้านคน แต่เป็นนักท่องเที่ยวที่เป็นชาวต่างชาติอยู่ประมาณ 10 ล้าน ใน 10 ล้านมาป่าตองแน่นอน เพราะป่าตองถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่คนรู้จักทั่วโลก เพราะฉะนั้นทุกคนต้องมาใช้เงิน ทิ้งขยะ ทำขยะเกิดขึ้นมา ดิฉันคิดว่าทุกคน ไม่ใช่ตัวดิฉันมีหน้าที่เก็บคนเดียว ต้องมาช่วยกัน

จากนั้นก็กลับไปถ่ายทอดให้ท่านนายกฟังว่า ถ้าเป็นอย่างนั้นขอเสนอทำเรื่องแอปพลิเคชันในส่วนของการจัดการ จีพีเอสในส่วนของเรื่องการติดตามรถ เพื่อให้ได้ข้อมูล เซ็นเซอร์ ในส่วนของการติดตั้งบนถังขยะ และเราจะมองภาพรวมได้โดยใช้แดชบอร์ด

ในส่วนนี้เป็นการนำร่องของ จ.ภูเก็ต เดี๋ยวเราค่อยลงลึกกันในส่วนของอื่นๆ ต่อนะคะ

พิธีกร- ตอนนี้ของทางดีคิดส์ นี่คือดำเนินธุรกิจจัดการขยะมาประมาณเข้าปีที่ 4 จากเริ่มแรกเลย คุณเฉลิมรัตน์บอกว่าเก็บขยะกันไม่หวาดไม่ไหว ตอนนี้ดีขึ้นแล้วใช่มั้ยคะ

เฉลิมรัตน์- ใช้แอปพลิเคชันเข้ามาช่วย จากในส่วนของจีพีเอส และในส่วนของเซ็นเซอร์ ทำให้เรารู้ปริมาณของขยะ ว่าจุดไหนขยะเรามากขึ้น แล้วจุดไหนที่เราจะสามารถใช้พลังงานในเรื่องของน้ำมัน ในเรื่องของคน ในเรื่องของการจัดการให้มันรวดเร็ว จากข้อมูลพื้นฐานที่เราใส่ไปในเซ็นเซอร์ของรถและแอปพลิเคชันช่วย ก็คือไปเก็บขยะให้เร็วขึ้นพวกนี้ ทำให้ลดในหลายๆ ส่วนเข้ามา แล้วเป็นข้อมูลดิบให้กับเทศบาลในการจัดตั้งทำแผนในอนาคตในหลายๆ เรื่อง

เลยบอกว่าในส่วนของเทคโนโลยีดิจิตอลมันช่วยได้จริงๆ สำหรับในการทำให้เมืองสมาร์ท และโครงการของตัวดิฉันเองที่ทำในเรื่องนี้ เป็นการนำร่องที่จะต้องไปใช้ในหลายจังหวัดของประเทศไทยในอนาคตแน่นอน

พิธีกร- เดี๋ยวเราจะมาลงในรายละเอียดกันอีกครั้งว่า เทคโนโลยีที่ว่าจะมาช่วยในเรื่องของการจัดเก็บขยะ เก็บเสร็จแล้วเอาไปอย่างไรต่อไปด้วย เดี๋ยวจะวนกลับมาอีกรอบหนึ่ง

ทีนี้ขออนุญาตกลับมาที่คุณนวชัยอีกครั้ง อยากจะขอเรียนถามในเรื่องของเทคโนโลยี ทั้งในแง่มุมที่มา อย่างเอไอเอส เราเตรียมอะไรรองรับกับการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีเพื่อจะสนับสนุนเอสเอ็มอี และมองเทคโนโลยีโลกที่เปลี่ยนแปลงไป เราต้องปรับตัวอย่างไรด้วย

นวชัย- คำถามแรกก่อนนะครับ ทางเอไอเอสมีการเตรียมความพร้อมอย่างไร ความพร้อมที่เอไอเอสทำ ผมแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกคือการสร้างพื้นฐานที่เเข็งแรงของประเทศ โครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแรงให้กับประเทศ เราก็แบ่งเป็น 3 ส่วนเหมือนกัน

ส่วนแรกคือเรื่องของ Wireless Infrastructure เครือข่ายมือถือที่ท่านใช้อยู่ ตอนนี้หลายท่านอาจไม่ทราบ 3จี ครอบคลุมประชากรไทยตอนนี้มากกว่าเกือบๆ 99% ประมาณ 98.7% ของประชากรไทย

4 จี ตอนนี้โคฟเวอเรจประมาณ 98% ของประชาชนไทย แต่สำหรับเอสเอ็มอี โคฟเวอเรจสำคัญเพราะทำให้ท่านใช้ที่ไหนก็ได้ แต่สิ่งที่เอไอเอสให้ความสำคัญคือการออกแพกเกจให้เหมาะสมกับเอสเอ็มอี

เอสเอ็มอีจะต่างกับคนทั่วไปนิดหนึ่ง พฤติกรรมของเอสเอ็มอีคือ โทร.ติดต่อธุรกิจเยอะ ต่อให้ท่านใช้ไลน์เถอะครับ พฤติกรรมท่านโทร.ติดต่อธุรกิจกับลูกน้อง กับลูกค้า ยังไงก็เยอะกว่าบุคคลทั่วไป ฉะนั้นแพกเกจของเอสเอ็มเอส ส่วนใหญ่จะเน้นช่วยในเรื่องของค่าโทร.โทร.กันในกลุ่มองค์กรได้ราคาพิเศษ โทร.ไปหาคนอื่นในเครือข่ายเอไอเอส มีแพกเกจต่างๆ อันนี้คือส่วนแรกของ Infrastructure

ส่วนที่ 2 ก็เป็น Infrastructure เรื่องของฟิกซ์บรอดแบนด์ ท่านคงจะคุ้นเอไอเอสไฟเบอร์แล้ว สำหรับเอสเอ็มอี ผมเน้นนิดเดียว เรามีแพกเกจที่เหมาะกับคนทำธุรกิจ ปกติแพกเกจไฟเบอร์ตามบ้าน กลางวันกลางคืนได้สปีดเท่ากัน ท่านอาจจะซื้อ 10 เมก 20 เมก ก็แล้วแต่กลางวันกลางคืนได้ความเร็วนี้ตลอดทั้งวัน เต่เรามีแพกเกจชื่อว่า แพกเพาเวอร์บูทของเอสเอ็มอี เพราะเราเพิ่มสปีดให้ท่านเวลาทำงาน คือเวลากลางวัน ช่วงที่เป็น Office Hours ถ้าสนใจก็ลองไปค้นหาได้ แต่ส่วนที่ผมคิดว่าสำคัญกว่า คือเรื่องของดิจิตอลเซอร์วิสอินฟราสตรักเจอร์

กรณีของภูเก็ต คือตัวอย่างของการนำเทคโนโลยี Internet of Thing เข้ามาใช้ เอไอเอสเราจะสนับสนุนเรื่องของการเอาดิจิตอลเทคโนโลยีมาใช้ในเอสเอ็มอี หลักๆ กับธุรกิจ ผมว่ามี 2 เทคโนโลยีที่เอไอเอสทำอยู่ Internet of Thing เมื่ออาทิตย์ที่แล้ว เอไอเอสเราจัดงาน Digital Intelligent Nation 2018 เรียนเชิญ ดร.สมคิด ท่านรองนายกฯ ไปกล่าวเปิดงาน ดร.สมคิดท่านพูดเลยว่าเทคโนโลยี Internet of Thing เป็นเทคโนโลยีที่เปลี่ยนประเทศไทยให้เป็น Digital Intelligent Nation สิ่งที่เราประกาศในงานวันนั้น เราประกาศ AIS IoT Alliance Program ผมเรียนเชิญทุกท่านในห้องนี้เลยนะครับ

ถ้าธุรกิจของท่านเกี่ยวข้องกับเรื่องของ Internet of Thing โปรแกรมนี้เราเปิดรับทุกท่าน ตอนนี้เรามีองค์กรขนาดใหญ่ มหาวิทยาลัยมากกว่า 70 แห่งที่มาอยู่ใน Alliance Program ตรงนี้ และพร้อมจะมาช่วยเอสเอ็มอี ในการนำ Internet of Thing มาใช้กับธุรกิจ

ผมยกตัวอย่างกรณีของที่ภูเก็ต มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มอ.ที่หาดใหญ่ ก็เป็นที่ปรึกษาที่ภูเก็ตอยู่ เราทำกับ มอ.แต่ว่าเคสที่เราทำ เราทำที่หาดใหญ่ ก็ไปทำเรื่องของระบบเซ็นเซอร์ ที่วัดมลพิษในเมืองของหาดใหญ่ เรื่องของการป้องกันน้ำท่วม อันนี้ก็เป็นตัวอย่างในการนำ Internet of Thing ไปใช้ ซึ่งมีเอสเอ็มอีที่นำ Internet of Thing ไปใช้ แล้วมีคนมาช่วยทำ ถ้าสนใจไปดูที่เว็บไซต์ได้ www.aiap.ais.co.th ท่านสามารถเข้าไปได้

สุดท้ายคงเป็นเรื่องของ Cloud ‎เอสเอ็มอีหลายๆ รายคงใช้เรื่องของแอปพลิเคชันที่เป็นซอฟต์แวร์ในเรื่องขององค์กรเยอะขึ้นเรื่อยๆ อย่างที่ผมเรียน ช่วยทำให้องค์กรของท่านมีประสิทธิภาพมากขึ้น และลดค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการ เอไอเอสเราก็พยายามจะมี Cloud Services‎ ใหม่ๆ ออกมา

อีกมุมหนึ่งที่เราไปช่วยเรื่องของ Cloud Services เราไปช่วยกับสมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย เป็นสมาคมของซอฟต์แวร์เฮาส์ ในประเทศไทย เราไปช่วยสนับสนุนในเรื่องของ Cloud การนำซอฟต์แวร์ต่างๆ ของคนไทยไปอยู่บน Cloud แล้วก็ไปให้องค์กรต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงเอสเอ็มอี ใช้ Cloud Services ในราคาที่ย่อมเยามากขึ้น อันนี้คงเป็นทิศทางที่เอไอเอสสนับสนุนเรื่องของธุรกิจไทย เรื่องของเอสเอ็มอีในยุค 4.0

พิธีกร- มาที่คุณมะแอบ้าง เรานำเรื่องเทคโนโลยี เรื่องวิจัยและพัฒนา เรื่องของแนวโน้มพฤติกรรมผู้บริโภคในยุคดิจิตอลเข้ามาเป็นแนวทางในการพัฒนาผลิตภัณฑ์เราอย่างไรได้บ้าง

ทรรศมณฑ์- บริษัทของเราไม่เพียงแค่ว่าพัฒนาเกษตรกรในชุมชนใน จ.เชียงใหม่ ตอนนี้เราก็ได้พัฒนาสนับสนุนเกษตรกรในจังหวัดอื่นๆ ด้วย ซึ่งตอนนี้ก็มี จ.เชียงราย จ.ลำพูน และ จ.สระบุรี ที่สามารถปลูกฟักข้าว มะขาม ตอนนี้เข้าสู่ยุค 4.0 แล้ว ก็จะเน้นตลาดออนไลน์เป็นหลัก เพราะสะดวก เข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้รวดเร็วทุกเพศทุกวัย

ในปัจจุบันนี้เรื่องการจ่ายเงินก็สะดวกมากขึ้น ตอนนี้ที่ประเทศไทยเริ่มมีระบบการจ่ายเงินโดยที่ไม่ต้องพกเงินสดกันแล้ว มะแอก็เชื่อว่าในอนาคต เวลาเราเดินไปห้างสรรพสินค้า หรือแม้กระทั่งตลาดสด เราก็ไม่ต้องพกเงินไปแล้ว เพราะว่าตอนนี้ที่ประเทศจีนแค่เดินไปตลาดซื้อแค่หัวหอมลูกเดียว เราก็สามารถใช้วีแชต สแกนคิวอาร์โค้ดได้เลย

พิธีกร- คือตอนนี้อย่างทางผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่เราผลิตขึ้นมา ตอนนี้มีหลายตัวมั้ยคะ

ทรรศมณฑ์- มีหลายตัวค่ะ ตอนนี้มีเอสเซนส์ แชมพู ครีมนวด ช่วยเรื่องป้องกันผมร่วง

พิธีกร- แต่ตัวที่เราได้รับรางวัลก็คือ...

ทรรศมณฑ์- เอสเซนส์ น้ำตบมะขาม

พิธีกร- ในเรื่องของตลาด ที่เราทำทั้งใน และต่างประเทศ เราใช้ช่องทางอะไรเป็นหลักคะ

ทรรศมณฑ์- ตอนนี้เรามีทั้งวางจัดจำหน่ายในบริษัท ในชอปของเราที่เชียงใหม่ และในตลาดออนไลน์ ซึ่งมีหลายท่านจะถามว่าชาวต่างชาติมารู้จักผลิตภัณฑ์ของเราได้อย่างไร ของเรามีวางขายที่เซ็นทรัลเฟสฯ ที่เชียงใหม่ เขาก็มาตามที่อยู่ และซื้อไปส่งออกต่างประเทศ ของเราจะเน้นเป็นธุรกิจเล็กๆ ครอบครัวอยู่

พิธีกร- กำลังการผลิตเป็นอย่างไรบ้างตอนนี้

ทรรศมณฑ์- ถ้าพูดตรงๆ ก็ระดับกลางเพราะเพิ่งเริ่มต้น

พิธีกร- อย่างตลาดต่างประเทศ รวมไปถึงรางวัลที่เราได้รับ ช่วยในการทำตลาดอย่างไรบ้างคะ

ทรรศมณฑ์- ช่วยได้เยอะเลยค่ะ ช่วยสร้างความมั่นใจ มีรางวัลการันตี และความเชื่อถือให้กับคนในประเทศและต่างประเทศ

พิธีกร- น่าสนใจตรงที่ว่าเราใช้สมุนไพรเข้ามาด้วย

ทรรศมณฑ์- เป็นสารสกัด อย่างเอสเซนส์เราชูโรงมะขาม เพราะเป็นของไทย แต่ในขวดหนึ่งเรามีสารสกัดถึง 6 ชนิด เอาไว้สำหรับใช้ตัวเดียว คือจบเลย ไม่ต้องใช้ตัวอื่นแล้ว

พิธีกร- ตรงนี้เรามีความรู้เกี่ยวกับเรื่องเครื่องสำอางมาก่อนมั้ยคะ หรือการผสมสมุนไพรอันนั้นอันนี้ ต้องใช้หน่วยงาน หรือมหาวิทยาลัย หรือว่าใช้การวิจัย พัฒนาเข้ามาช่วย

ทรรศมณฑ์- ใช้หน่วยงานเข้ามาช่วยด้วยค่ะ แต่ว่าเริ่มต้นด้วยความชอบส่วนตัว จากนั้นเริ่มศึกษา เพราะก่อนหน้านี้เป็นคนแพ้สารสเตียรอยด์มาก่อน จึงเริ่มใส่ใจในการใช้ผลิตภัณฑ์ต่างๆ เริ่มศึกษา อ่านส่วนผสมในเครื่องสำอาง ว่าตัวนี้เราใช้ได้มั้ย เพราะเราแพ้แอลกอฮฮล์ด้วย เราไม่สามารถใช้ส่วนผสมของแอลกอฮอล์ได้ เริ่มใส่ใจรายละเอียด เริ่มคิดว่าถ้าสมมติเราวิจัยตัวนี้ขึ้นมาแล้ว ถ้าเกิดมีลูกค้าที่มีปัญหาเหมือนเรา เขาก็คงอยากจะหาผลิตภัณฑ์ที่ดีๆ ใช้เหมือนกัน และเราอยากจะส่งต่อให้ทุกๆ คนได้ใช้

พิธีกร- มาที่พี่พัชรีบ้าง เรื่องการเกษตรกับเทคโนโลยี มันดูอยู่ไกลกัน แต่จริงๆ มันสามารถผสมผสานกันได้ในแง่มุมไหนได้บ้างคะ

พัชรี- เทคโนโลยีกับการเกษตรโดยส่วนตัวสำคัญมากนะ ต้องเข้าใจว่าคนที่สนใจเกษตร หรือคนที่อยากจะเปลี่ยนแนวมาทำตรงนี้ แต่ด้วยวิถีชีวิต ถ้าคนเมืองสนใจอยากทำเกษตร แล้วพี่อยู่ปราจีนบุรี ต้องมีค่าเดินทางมั้ยคะ แต่ถ้ามีเทคโนโลยีเข้ามาช่วย เช่น ระบบการสื่อสาร โทรศัพท์ โซเชียลฯ ต่างๆ ช่วยได้มากเลย เราสามารถที่จะถ่ายทอดองค์ความรู้ หรือแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ผ่านเทคโนโลยีอันนี้ได้สะดวกมากขึ้น

บางคนอยู่ถึงเชียงราย อยู่สุรินทร์ อยากทำเรื่องนี้เป็น พี่ทำเป็นมั้ย คุยโทรศัพท์สอนกันทั้งวันยังมีเลย ทางไลน์ ทางเฟซบุ๊กบ้าง คือไม่ต้องเสียค่าเดินทางมา ขอแค่มีใจ พี่จะทำทุกอย่างให้พวกคุณได้รู้ ดังนั้นเทคโนโลยีสำคัญ ช่วยได้เยอะเลยค่ะ

พิธีกร- ที่บ้านพอดี มีสุข เราใช้ช่องทางหลักๆ คือเฟซบุ๊กใช่มั้ยคะ

พัชรี- มีเฟซบุ๊กส่วนตัวนะคะ พัชรี อิ่มรส และเพจ ส่วนแลกเปลี่ยนเรียนรู้บ้านพอดีมีสุข

พิธีกร- อยากให้พี่พัชรีเล่าว่า บ้านพอดีมีสุข ในนั้นมีอะไรบ้าง

พัชรี- พื้นฐานทั้งนั้นเลยค่ะ อย่างที่บอกตอนต้นว่า ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงจะมีวิธีการทำอยู่ 2 ขั้นตอน ขั้นตอนที่ทำแล้วประสบความสำเร็จคือ 4 พ. พอใช้ พออยู่ พอกิน มีของกินให้พอกิน มีของใช้ให้พอใช้ มีบ้านที่อยู่อาศัย มีความร่มเย็นเป็นสุขทั้งหมดต้องทำเอง ทำอย่างไรให้พออย่างนี้ พอจะมีอะไรแยกย่อยไปได้บ้าง ทั้งเรื่องพลังงาน เราก็สามารถพึ่งพาตัวเองได้ ปัจจัยการผลิตการเกษตรที่เราให้ความสำคัญ ไม่ว่าจะเรื่องปุ๋ย เรื่องอะไรก็ตาม เราจะทำเองพึ่งตัวเองทั้งหมด เราเอาหลักการพึ่งพาตัวเองที่พระองค์ท่านพระราชทานมาปรับใช้ทั้งหมด ทำของใช้ ต่อไปต้องมาเรียนรู้วิธีการทำเอสเซนส์ด้วยหรือเปล่าน้องมะแอ

ของใช้ สบู่ แชมพู ตั้งแต่เส้นผมจนเกือบทั้งตัว เราสามารถพึ่งพาตัวเองได้ทั้งหมด ลดค่าใช้จ่าย บางคนจะถามว่า พี่นกมีแต่สอน สอนฟรี แจกด้วย สอนเสร็จแล้วแจก เอาเงินมาจากไหน เอารายได้มาจากไหน ถูกถามคำถามนี้ถี่ๆ พี่บอกว่ารายได้ไม่ค่อยคิดถึง แต่คิดถึงรายจ่าย ทำอย่างไรเราจะควบคุมรายจ่ายให้ได้ เพื่อให้สิ่งที่เราเคยจ่ายมันเหลือกลับมาหาเรา แล้วส่วนที่เหลือเราก็จะแบ่งปันเท่านั้นเองก็ไม่เดือดร้อน ก็แบ่งปันคนอื่นได้ด้วย พื้นฐาน

พิธีกร- อย่างคนที่เข้ามาในบ้านพอดีมีสุข ของทางพี่พัชรี เข้ามาแล้วเขาจะได้อะไรกลับไปบ้างคะ ต้องเสียค่าใช้จ่ายมั้ย หรือฟังอย่างนี้แล้วไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายแน่เลย

พัชรี- ไม่ต้องเสียค่ะ ขอแค่มีใจ คนที่เข้ามาหาต้องมีใจ และต้องเปลี่ยนวิธีคิดของตัวเองให้ได้ ต้องมีความจริงใจกับตัวเอง ว่าคุณอยากจะเปลี่ยน อยากจะพึ่งพาตัวเองให้ได้จริงๆ ไม่ใช่กระแส จะเดินตามรอยเท้าพ่อ โมโห พูดคำนี้กันเหลือเกิน แต่ว่าไม่รู้จะเดินกันอย่างไร ฉะนั้นถ้าคุณมีใจคุณเดินได้แน่นอน พี่เชื่อว่าคนที่เข้ามาหาพี่ต้องรู้ว่าพี่ทำอะไร แล้วเขามั่นใจว่าพี่ตอบโจทย์เขาได้พี่ก็จะตอบโจทย์เขาให้ได้จริงๆ ทั้งหมด ฉะนั้นแล้วมีอะไรติดไม้ติดมือกลับบ้านแน่นอน ฟรีด้วย

พิธีกร- ตรงนี้พยายามเชื่อมโยงอยู่ นึกถึงท่านรัฐมนตรีที่พูดไว้ในช่วงต้นว่า เอสเอ็มอีในยุคนี้จุดที่สำคัญที่สุดคือต้องปรับ mindset ของตัวเองให้ได้ คือต้องมองโลก เหมือนเราหยิบแว่นอันใหม่มาใส่ และจะได้เข้าไปในยุคเทคโนโลยี ยุคดิจิตอลได้ คล้ายๆ กับปรัชญาของพระองค์ท่าน ถ้ามองอะไรแบบเดิม ก็จะคิดกำไร ขาดทุน พี่พัชรีบอกให้เรามองอีกมุมหนึ่ง กลับมาอีกมุมหนึ่ง ถามว่าอยู่ได้มั้ย อยู่ได้ มีความสุขมั้ย มีความสุข อันนี้อาจจะเป็นจุดหนึ่งที่สามารถนำมาปรับใช้กับธุรกิจของท่านได้

พัชรี- แล้วทุกคนก็จะรู้สึกถึงความมั่นคง ไม่เชื่อลองทำดู แต่พื้นฐานของมั่นคงจริงๆ นะ ต้องมีให้พอ 4 พ. พื้นฐานปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง พอกิน มีของกินให้พอกิน มีของใช้ให้พอใช้ มีบ้านที่อยู่อาศัย มีความร่มเย็นเป็นสุข เมื่อ 4 พ.นี้แล้ว คนมันจะรู้จักพอ เมื่อรู้จักพอ จะรู้จักแบ่ง พอรู้จักแบ่ง การเบียดเบียนจะน้อยลง ฉะนั้นการเอามาปรับใช้อย่างที่ท่านรัฐมนตรีท่านพูดตอนแรก มันเชื่อมโยงกันได้หมดเลย ปรับใช้ได้หมด ปรัชญาของพระองค์ท่านทันสมัย และล้ำสมัยมากด้วย

พิธีกร- ขออนุญาตมาที่พี่เฉลิมรัตน์บ้าง ทราบแล้วเรื่องการจัดเก็บ และการบริหารจัดการขยะ 4.0 มีแอปพลิเคชัน จีพีเอส เซ็นเซอร์ แดชบอร์ด อยากจะให้เล่าถึงรายละเอียดนิดหนึ่งวิธีการที่ใช้เครื่องไม้เครื่องมือเหล่านี้ มาจนถึงขั้นที่ตอนนี้การดูแลจัดเก็บขยะในภูเก็ตที่ป่าตอง ตอนนี้รู้สึกว่าสะอาดเรียบร้อย แถมยังมีประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมด้วย วิธีการกระบวนการเป็นอย่างไร

เฉลิมรัตน์- เมื่อก่อนในโลกของโซเชียลฯ ตั้งแต่ตอนที่เริ่มทำก็มีมาแล้ว เมื่อเจอขยะคนในป่าตองโพสต์เฟซบุ๊ก ลงในไลน์ ทุกๆ คนหลายคนในที่นี้คงจะเคยเห็นข่าวป่าตอง แล้วใครจะมาเที่ยวป่าตอง เพราะขยะอาจจะแค่กองเดียว ไม่ใช่ทั้งหมด ด้วยโจทย์พวกนี้เลยกลับไปนั่งคิดว่า วันนี้ต้องพยายามประชาสัมพันธ์สื่อทุกอย่างที่ว่าให้ทุกคนมีส่วนร่วมมาให้ได้ ให้ทุกคนแจ้งดิฉัน แล้วใครจะทราบเบอร์ดิฉันได้ พอดีมีตัวช่วยของสมาร์ทซิตี้เข้ามา ก็เลยพยายามจะให้ทุกคนโหลดแอปพลิเคชันตัวนี้ แต่กว่าที่แอปพลิเคชันตัวนี้จะมา จะใช้ได้ ใช้เวลาเกือบ 2 ปีในการพัฒนาเริ่มต้นมา เอาโปรแกรมสำเร็จรูปมา แล้วบอกให้เราใช้เลย ดิฉันบอกว่าไม่ใช่

ตอนนั้นเราเริ่มทำขยะ เราเริ่มรู้แล้วว่าปัญหาคือทิ้งไม่ถูกเวลา และไม่รู้ว่าจะแจ้งทางไหน เลยบอกเขาว่าแอปพลิเคชันนี้ไม่ได้ เราก็มีการปรับ ดิฉันใส่ข้อมูลที่ต้องการลงไป ดิฉันลอง อย่างดิฉันอยู่กรุงเทพฯ ลองใช้แอปพลิเคชันนี้ ใช้ได้ ขอกำจัดขอบเขตของขยะให้อยู่เฉพาะป่าตองนะ เพราะไม่งั้นใครที่ไหนก็ได้ทั่วประเทศ ดิฉันไม่ต้องไปเก็บหมดเหรอคะ

ในการเก็บก็ต้องมีการล้างข้อมูลเพื่อให้คนแจ้งรู้ว่าขยะกองนี้ได้ถูกเก็บไปแล้ว จะมีแอปพลิเคชัน 2 สี สีเขียว กับ สีเหลือง สีเขียวสำหรับชาวบ้านทั่วไปใช้ รวมถึงนักท่องเที่ยว เขาก็จะโหลดแอปพลิเคชันตัวนี้ มีทั้ง Android และ ios ทุกคนใช้ได้หมดเลย จะลิงก์กับเฟซบุ๊ก กับอีเมล เมื่อทุกคนโหลดไปแล้ว และมีขยะเกิดขึ้นมา เขาก็จะแจ้งเด้งมาที่หน้าจอดิฉัน ดิฉันก็จะส่งเจ้าหน้าที่ไป

ทีนี้ถามว่า แล้วจีพีเอสเกี่ยวอะไร ดิฉันก็จะมาดูในแดชบอร์ด ว่ารถคันไหนอยู่ใกล้ขยะกองนี้ ก็ไม่ต้องจัดรถม้าเร็วอะไรหรอกค่ะ ก็บอกผ่านจุดนี้ก็เก็บด้วยนะ หรือถ้าย้อนนิดหนึ่งก็ไม่ได้เสียเวลามาก ดีกว่าไปเอารถคันใหม่ไป ก็ให้เข้าไปเก็บ

ส่วนในเรื่องของเซ็นเซอร์ บางครั้งเซ็นเซอร์เมื่อเราดูในแดชบอร์ด มันเต็มแล้ว รถที่ผ่านไปถึงจะเป็นถังคอนเทนเนอร์เราเก็บรอบๆ ถัง เก็บมาในส่วนที่เป็นถังขยะได้ ไม่จำเป็นต้องยกถังคอนเทนเนอร์ ก็เก็บรอบถัง เพราะแจ้งมาแล้วว่า ตอนนี้ร้อยเปอร์เซ็นต์แล้ว เต็มล้น ไม่ต้องรอรอบของรถคอนเทนเนอร์ เราอาจจะต้องใช้เวลาครึ่งวัน ก็ไปเก็บก่อน เพื่อที่จะให้ชาวบ้านที่เขานำขยะไปทิ้งมีพื้นที่ แทนที่จะมาวางรอบๆ ถัง เพราะเมืองป่าตองต้องการความสะอาดถึง 24 ชม. และเป็นเมืองธุรกิจ ประชากรจริงๆ มีอยู่ประมาณ 20,000 กว่าคน

แต่ถ้าใช้ขยะในป่าตอง จ.ภูเก็ต ถือว่าเป็นอันดับ 1 ของจังหวัด ก็คือวันละ 150-160 ตัน ปีใหม่เชื่อมั้ยคะ 200 กว่าตัน เก็บเหนื่อยมาก ฉะนั้นถ้าไม่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย ไม่มีทางที่จะมีส่วนไหนเข้ามาทำได้เลย ชาวบ้านก็ไม่รู้จะเข้าถึงเราอย่างไร

ดิฉันยอมรับว่าตอนนี้ยังประชาสัมพันธ์ได้ในระดับหนึ่ง เพราะแอปพลิเคชันมีการปรับจนดิฉันพอใจ ก็ใช้เวลาปรับ ณ วันนี้เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ที่ใช้ได้ แล้วก็กำลังขยายไปที่อื่น แล้วในส่วนของการทำขยะตรงนี้ เราก็พยายามจะขยายต่อ เหมือนที่พี่เขาพูดในเรื่องของเกษตรพอเพียง ดิฉันก็มานั่งคิดว่า ขยะวันหนึ่ง 150-160 ตัน จากป่าตองลงไปในเมืองขึ้นเขา ลงเขารถดิฉัน 13 กิโลเมตร ก็จริง แต่ไม่ใช่ทางราบเลย ขึ้นเขาอันตราย

ถ้าเกิดวันไหนรถดิฉันเบรกแตกมีปัญหาแน่นอน ดิฉันก็พยายามจัดให้มีการคัดเเยกขยะออก เหมือนที่เศรษฐกิจพอเพียง คัดแยกขยะออกเบื้องต้น รีไซเคิลได้ก็พยายามจะรณรงค์ให้ลูกน้องเก็บขยะไปขายในเบื้องต้น ให้ชุมชนแยกขยะก่อนนะ ก่อนที่เราจะไปเก็บ และในส่วนที่เก็บขายได้ คุณก็เก็บขวดไว้นะ

ทีนี้เก็บขวดแล้วเอาไปไว้ไหน จะมีขยะอยู่ประมาณ 30% ที่เป็นเศษอาหาร เช่น มะพร้าวอ่อน วันหนึ่งเยอะมากที่ป่าตอง ดิฉันก็จะมีรถเฉพาะที่ไปเก็บมะพร้าวอ่อน พวกต้นไม้ เอามาทำปุ๋ย พอทำก็ได้มีการปรึกษาจาก พูดตรงๆ ไม่ใช่ผู้ชำนาญการ ทำไปเเบบที่พอเรียนรู้กันได้ พอจะปลูกต้นไม้ได้ ก็ไปขอพื้นที่โดยใช้การมีส่วนร่วม ภาคเอกชนที่เขามีที่ดินไม่ได้ใช้ ได้ทั้งหมด 11 ไร่ ก็เอาปุ๋ยจากเศษมะพร้าว ทางมะพร้าว ผัก เศษอาหาร 30% เอามาทำเป็นปุ๋ยหมัก และไปทดลองปลูก แล้วชาวบ้านชุมชนที่เขาเก็บขวด เราไม่ได้ขาย เราเอาขวดมาแลกผัก เพื่อเขาจะได้เอาผักสดๆ ไปกินโดยที่ไม่มีสารพิษ เพราะใช้การหมักโดยเศษอาหาร ธรรมชาติหมดเลย อาจจะไม่ใช่มืออาชีพอย่างพี่เขา แต่เป็นในลักษณะการเรียนรู้

ตัวดิฉันเองไม่ได้ปลูก แต่ไปบอกให้ชุมชนปลูก ชุมชนก็ช่วยปลูกหน่อยนะ ปลูกแล้วเอาขวดมาแลกนะ พยายามให้คนมารับซื้อ เขาก็จะได้นำเงินมาพัฒนาในสวนของเขา แต่จะบอกเลยว่า ไม่ขอใช้สารเคมีนะ ขอเป็นแค่ที่เราทำได้ในเศษอาหาร ซึ่งอันนี้ก็เพียงพอแล้ว

ถ้าใครเคยไปสวน 11 ไร่ ไมใช่ของดิฉันนะ ของชุมชน สวยงามมาก และเป็นปอดแห่งใหม่ของป่าตองไม่มีที่ใดเขียวขนาดนี้ในป่าตองเลย ที่ป่าตองตกไร่หนึ่ง 30 ล้านก็มี แต่ตรงนี้คิดดูว่า ดิฉันสามารถเอาที่ 11 ไร่มาทดลองปลูก เรียกได้ว่าขยะของดิฉันเข้าซึมลึกหมดทั้งชุมชน ทั้งชาวบ้าน นักท่องเที่ยว ตอนเย็นๆ จะเป็นที่ป้อนข้าวของลูกๆ ชุมชนก็เอาขวดมาแลก เหมือนตลาด พยายามที่จะหาผักหลายๆ อย่างให้เขามาแลก มีส่วนร่วม สรุปชุมชนเขาก็รักเรามากขึ้น ทำให้มีการดูแลว่า เกิดขยะเมื่อไหร่ แทนที่เราจะไปโพสต์ในเฟซบุ๊กเพื่อประจานเขาก็มาแจ้งที่ดิฉัน เพราะดิฉันก็จะไปนั่งอยู่แถวนั้น

ชาวบ้านก็แนะนำให้ปลูกผักแบบนั้นแบบนี้ ปุ๋ยก็มีอายุของมัน ดิฉันก็ไม่ทราบหรอกแต่ชุมชนเขาจะทราบ ดังนั้นชาวบ้านมีส่วนร่วมชุมชนมีส่วนร่วมมาทำงานตรงนี้หมดเลย มีรายได้กลับไป เฉลี่ยตกเดือนละแสนกว่าบาท ที่สามารถขายได้เฉพาะผัก 11 ไร่ แสนกว่าบาท เขาก็แบ่งกันในชุมชน โดยที่ดิฉันไมได้แตะเงินในกลุ่มนั้น เงินก็กลับไปบริหารในส่วนของการจัดการชุมชนให้ยั่งยืน โดยที่ดิฉันคิดว่าการมีส่วนร่วมยิ่งใหญ่กว่าการที่ดิฉันเอาเงินแล้วไปแจกเขา บอกช่วยโพสต์ ช่วยใช้แอปฯ หน่อยนะ แต่ถ้าวันนี้ดิฉันรณรงค์ในจิตวิทยาด้านนี้ได้ผลมากกว่า

อย่างเอไอเอสบอกว่าอยากจะมีส่วนร่วม ดิฉันจีบเลย บอกว่าช่วยทำต่อหน่อยได้มั้ย เพราะบ้านเมืองเรามันต้องช่วยกัน แค่บอกว่าให้ดิฉันเก็บให้สะอาด มันไม่ใช่โจทย์ แต่วิธีการที่เหมือนที่พี่ๆ เขาบอกคือ คุณต้องมีการคัดแยก ใช้อย่างไรให้น้อยลง อาจจะใช้ถุงพลาสติกน้อยลง ใช้โฟมน้อยลง เราพยายามเปลี่ยนบ้านเมืองของเรา ไม่ใช่จะให้ล้าสมัยนะ แต่ทำให้ยั่งยืน เพราะในป่าตองทุกอย่างทันสมัยหมด แต่เมื่อความทันสมัยเข้ามาทุกอย่างมันจะเสื่อมโทรมเร็วมาก แล้ววันนี้ป่าตองจะขายอะไร ถ้าทุกอย่างมันเสื่อมโทรม น้ำทะเลมันก็ต้องดำ เข้ามาแล้วเจอขยะ ใครจะอยากมาเที่ยว ยิ่งตอนนี้ต่างประเทศเขามีที่พักผ่อนเยอะกว่าบ้านเราอีก เราต้องทำอย่างไรให้บ้านเมืองเราล้ำกว่าที่อื่น เรามีทรัพยากรที่ดีอยู่แล้วเราต้องหวงแหน สิ่งที่สามารถจะทำให้การท่องเที่ยวยั่งยืน ดิฉันคิดอย่างนั้น

พิธีกร- ขออนุญาตถามในแง่มุมธุรกิจบ้าง ในแง่ธุรกิจนี่โอเคใช่มั้ยคะ

เฉลิมรัตน์- โอเคเลยค่ะ อย่างปีแรกๆ ที่ดิฉันบอกว่ามีถนนสายหนึ่งที่มีทั้งหมด 8 สายที่ดิฉันรับผิดชอบ สายหนึ่งในปีแรกค่าน้ำมันเยอะมาก แต่เมื่อเข้าระบบ เข้าการจัดการ เหมือนที่ทางเอไอเอสบอก ทำให้เรามีข้อมูลดาต้าว่า ถ้าเราใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย น้ำมัน คน ก็จะลดลง และในส่วนของเทคโนโลยีทำให้สิ้นเปลืองพลังงานน้อย ประหยัดได้ ขยะเพิ่มมากขึ้นแต่ถ้ามีการจัดการ ไปสู่เตาเผาน้อย ค่าน้ำมันก็น้อยลง ลดปริมาณขยะตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และไปสู่ปลายทางให้น้อยที่สุด

พิธีกร- ตอนนี้เราเห็นว่ามีจำนวนรถเก็บขยะเพิ่มขึ้น แต่ความสิ้นเปลืองควบคุมได้

เฉลิมรัตน์- มีรถขยะเพิ่มมากขึ้น เป็นเพราะว่าโซนของป่าตอง ใครเคยไปป่าตองจะรู้จักบางลาที่จะเป็นสายหลักของธุรกิจบันเทิง แต่ปัจจุบันไม่ใช่ ในเมืองป่าตองทุกอณูคือสถานที่ท่องเที่ยวหมด ฉะนั้นการที่จะ Management ต้อง 2 รอบ กลางวัน กับกลางคืน เพื่อให้รถมีการพัก เพราะค่อนข้างอันตรายในการขึ้นเขาลงเขา แบ่งรถเป็นกลางวันกับกลางคืน เพื่อให้ปลอดภัยมากที่สุด รถกลางวันก็ใช้กลางวัน รถกลางคืนก็ใช้กลางคืน เพราะว่าพวกนี้บางทีก็จะมีเสียมีซ่อม เราต้องมีรถเผื่อเอาไว้

พิธีกร- ทีนี้มาดูในแง่มุมการปรับกลยุทธ์ธุรกิจให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบ้าง เห็นเมื่อกี้ท่านอธิบดีมีนโยบายรัฐมากมาย ท่านรัฐมนตรีบอกว่า เป็นนโยบายวางลงมาเลยเพื่อ 4.0 ที่ว่า แต่ละท่านมีการปรับกลยุทธ์ธุรกิจให้สอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐยังไงบ้าง

นวชัย- เอไอเอสเรามีนโยบาย ชื่อว่า “ดิจิตอลฟอร์ไทย” เป็นนโยบายที่ซีอีโอของเอไอเอส คุณสมชัยประกาศว่า เอไอเอสเองจะทำดิจิตอลเพื่อคนไทย เพื่อธุรกิจไทย เพื่อประเทศไทย ตัวอย่างของดิจิตอลฟอร์ไทย ผมยกตัวอย่างมี 2-3 ตัวอย่าง ตัวอย่างแรกขอยกตัวอย่างเรามีแอปพลิเคชันชื่อว่า ร้านฟาร์มสุข เป็นอีคอมเมิร์ซแพลตฟอร์ม สำหรับวิสาหกิจชุมชน สำหรับโอทอป สำหรับสินค้าเกษตรแปรรูปต่างๆ ที่สามารถไปโพสต์สินค้า และจะมีคนไปซื้อในแอปพลิเคชันได้ ลองเสิร์จมีทั้งบนไอโอเอส และแอนดรอยด์ ร้านฟาร์มสุข และสามารถชำระเงินได้เลย ผ่านช่องทางการชำระเงินต่างๆ ของเอไอเอส เช่น เอไอเอสมีเอ็มเปย์ ยกตัวอย่างเอไอเอสสร้างขึ้นมา เพื่อให้ธุรกิจต่างๆ ขึ้นไปใช้

อีกตัวอย่างหนึ่งของดิจิตอลฟอร์ไทย คงเป็นเรื่อง Internet of Thing ที่ผมได้กล่าวไปแล้ว ถ้าท่านไปที่เชียงใหม่จะเห็นว่าตอนนี้จะมีโมโบค์ หลายๆ ท่านเคยได้ยินแล้ว โมไบค์เป็นจักรยานที่ถ้าท่านมีแอปพลิเคชันโมไบค์ ท่านมีเงินในกระเป๋าติดตัวในแอปพลิเคชันของโมไบค์ ท่านสามารถเอาแอปพลิเคชันไปสแกนที่รถจักรยาน มันจะมีคิวอาร์โค้ดอยู่ สแกนปุ๊บท่านสามารถเอาจักรยานนั้นขี่เล่นในคูเมืองเชียงใหม่ได้เลย เทคโนโลยีนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้าไม่มี Internet of Thing มันต้องมีเซ็นเซอร์ฝังอยู่ในรถ มันต้องมีตัวที่เชื่อมต่อกับเครือข่ายติดอยู่ในรถ

ตอนนี้เอไอเอสมีการลงเครือข่ายเทคโนโลยีเชื่อมที่ชื่อว่า Narrow Band IOT ผมคงไม่ลงรายละเอียดว่า Narrow Band IOT คืออะไร แต่เอาให้เข้าใจโดยเร็วว่า มันเป็นเทคโนโลยีที่ทำให้อุปกรณ์ที่ไม่มีไฟไปเลี้ยงมัน อย่างเช่นจักรยานไม่มีไฟไปเลี้ยงมัน ไม่มีการชาร์จแบตฯ ไม่มีอะไร สามารถต่ออินเทอร์เน็ตได้ โดยที่สามารถใช้งานได้เป็นเวลา 3 ปี 5 ปี 10 ปี ไม่ต้องไปเปลี่ยนใช้แบตฯ ก้อนเดียวอยู่ได้นานๆ ตัวอย่างของโมไบค์ที่เชียงใหม่ เป็นตัวอย่างของการเอาเทคโนโลยีในอนาคต Narrow Band IOT มาใช้ในจักรยาน

อีกตัวอย่างหนึ่งที่เอา Narrow Band IOT มาใช้คงเป็นเรื่องถังขยะ ถังขยะไม่มีไฟเลี้ยงมันใช่ไหมครับ ติดเซ็นเซอร์ปุ๊บใช้งานได้ อีกอันหนึ่งที่เราทำ เราทดสอบกับที่จุฬาฯ ที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ เราเอา Narrow Band IOT ไปเปิดในจุฬาฯ และเราเอาเซ็นเซอร์ไปติดไว้ที่พื้นถนนตรงที่เป็นที่จอดรถ เราทำเป็นระบบสมาร์ทปาร์กกิ้ง ถ้าท่านคุ้นเคยกับที่จอดรถในห้าง ท่านจะเห็นว่าที่จอดรถในห้างมีเซ็นเซอร์ไฟสีแดง สีเขียวใช่ไหมครับ และเห็นว่าเขามีการลากสาย ในห้างลากสายได้ เอาไฟเลี้ยงได้ แต่ถ้าเป็นพื้นที่กลางแจ้ง อย่างเช่นที่จุฬาฯ ที่จอดรถอยู่กลางแจ้ง อันนี้ลากสายไม่ได้ มีคนโดนไฟดูดแน่ๆ

ถ้าจะใช้อุปกรณ์ที่เป็นมือถือ มือถือที่เราใช้กันอยู่ เราต้องชาร์จแบตฯ กันแทบทุกวันเลยใช่ไหม อย่างเต็มที่อาจจะ 2 วันสักครั้ง ก็ยุ่งวุ่นวาย เพราะฉะนั้นเราทำอุปกรณ์ตัวหนึ่งขึ้นมา ไปวางไปติดตั้งที่พื้นถนน และทำระบบที่ทำให้รู้ว่า ที่จอดรถมีคนใช้หรือเปล่า มีคนจองหรือยัง แล้วเขียนเป็นแอปพลิเคชันให้คนรู้ว่า ถ้าจะไปจอดรถที่คณะวิศวะตอนนี้ไม่มีที่จอดแล้ว ไม่ต้องมา หรือถ้ามาตรงนี้ว่าง คุณไปจอดตรงนี้ได้

อันนี้เป็นตัวอย่างหนึ่งของการนำเทคโนโลยีดิจิตอลไปเปลี่ยนประเทศ เพราะฉะนั้นผมคิดว่าสิ่งที่เอไอเอสทำตอนนี้มีหลากหลายพื้นที่มากที่เราไปทำให้กับประเทศไทย เมื่อกี้ท่านรัฐมนตรีเกริ่นชื่อผมบนเวทีนิดหนึ่งว่า กำลังไปสนับสนุนทางกระทรวงอุตสาหกรรมที่จะทำเรื่องของแอปพลิเคชันเพื่อช่วยเอสเอ็มอีก็ยังมีอยู่ ตรงนั้นเป็นพื้นที่ที่เอไอเอสสนับสนุนประเทศ และอะไรที่เอไอเอสทำให้กับประเทศไทยได้ เราพยายามนำเทคโนโลยีไปใช้

พิธีกร- ขอบคุณค่ะ ทางผลิตภัณฑ์มะแอล่ะคะ หลายๆ ตัวเลย เราได้ปรับกลยุทธ์ยังไงให้เข้ากับนโยบายของรัฐไหม

ทรรศมณฑ์- ของเรายังเน้นเรื่องตลาดออนไลน์อยู่ ถ้าของมะแอในตลาดออนไลน์ ง่ายๆ เลยพยายามติดแฮชแท็กผลิตภัณฑ์ชื่อของเราเอาไว้เยอะๆ เวลาเราไปเสิร์ชกูเกิล เราสามารถลองได้ ลองเสิร์ชคำว่า น้ำตบมะขามจะขึ้นของเราเลย จะทำให้เสิร์ชง่ายขึ้น ซึ่งอันนี้ทำให้เราเวลากระจายข่าวหรืออะไรอย่างนี้ ทำให้ง่ายขึ้น

พิธีกร- ส่วนทางคุณพี่พัชรีล่ะคะ เรื่องการปรับ ต้องปรับตัวเองให้เข้ากับนโยบายรัฐหรือเปล่า จริงๆ เหมือนเราจะเดินตามแนวนโยบายของในหลวงพระองค์ท่านอยู่แล้ว น่าจะสอดคล้องโดยปริยายอยู่แล้วใช่ไหมคะ

พัชรี- ถ้าปรัชญาที่เราทำตามที่พระองค์ท่านสอน คือสอดคล้องอยู่แล้ว ถ้าถามว่า ถ้าเกิดระบบเศรษฐกิจ สังคมจะมุ่งพัฒนาเดินหน้า แต่ของปรัชญาจะมีทั้งแบบพื้นฐานที่มั่นคง พร้อมที่จะเดินหน้าไปได้ทุกๆ สถานการณ์

พิธีกร- ส่วนพี่เฉลิมรัตน์ล่ะคะ เรื่องนโยบายของรัฐกับธุรกิจของเรา เราได้นำมาช่วยให้มีส่วนส่งเสริมยังไงบ้างไหมคะ

เฉลิมรัตน์- อย่างที่บอกค่ะ พอทำเรื่องนี้แล้วโชคดีที่สมาร์ทซิตี้เข้ามาพอดี แล้วสมาร์ทซิตี้เขาเริ่มที่ภูเก็ตแห่งแรก เราได้เหมือนกับว่าได้ทดลองและทำพร้อมๆ กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อย่างเช่น เนคเทค และท่านผู้ว่าราชการจังหวัดท่านลงมาดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะ เรียกว่าตรงกับนโยบายโดยตรงเลย เพราะว่าขยะปัจจุบันถือเป็นนโยบายหลักของรัฐบาลชุดนี้ ที่จะทำขยะยังไงให้.. คือบ้านเมืองสะอาด ถึงบอกว่าขยะเป็น 4.0 เพราะว่าตรงกับนโยบายรัฐอยู่แล้ว ทำยังไงให้เมืองมันสมาร์ท โดยใช้เทคโนโลยีมาช่วยในการจัดการขยะ ของดิฉันตรงค่ะ

พิธีกร- แล้วจะเป็นโมเดลสำหรับจังหวัดอื่นๆ ด้วยต่อไป

เฉลิมรัตน์- ที่ทราบตอนนี้มีเชียงใหม่ และมีหลายจังหวัด อุดรฯ พัทยากำลังมาดูงาน และหลังจากทดลองภูเก็ตที่นำร่องแล้ว จะส่งต่อให้เทศบาลนคร และส่งต่อให้กับจังหวัดอื่นๆ โดยเร็วที่สุด เพราะว่าโครงการนี้จะต้องเสร็จภายใน 3 ปี นี่ 2 ปีแล้วใช่ไหม

พิธีกร- ค่ะ

เฉลิมรัตน์- จะต้องส่งมอบ และหลังจากนั้นจังหวัดอื่นๆ จะต้องเริ่มใช้ คิดว่าจังหวัดอื่นๆ ได้ใช้แน่นอน

พิธีกร- เดี๋ยวคำถามต่อไปจะเป็นคำถามสุดท้าย จะได้เผื่อเวลาที่จะให้ท่านผู้ประกอบการเผื่อว่าจะมีคำถามต่อวิทยากรของเรา และจะได้เตรียมคำถามไว้เลย สุดท้ายนี้อยากจะให้ทุกท่านพูดถึงเรื่องของแผนต่อไปในอนาคต ว่าเราจะทำอย่างไร มีเตรียมอะไร เพื่อที่จะสอดรับไปกับยุคดิจิตอลหรือเปล่า หลายคนบอกว่า เอไอเอสคงจะไม่ต้องพูดถึง disruptive technology ในแบบนี้ จริงๆ มันเป็นแบบนั้นหรือเปล่า หรือว่าเราพยายามจะสอดรับไปกับยุคดิจิตอลในอนาคตยังไงบ้าง

นวชัย- สิ่งที่เอไอเอสเตรียม เมื่อกี้ผมเรียนว่าในยุคดิจิตอลท่านเดินคนเดียวเหนื่อย ท่านต้องมีพาร์ตเนอร์ ท่านต้องมีเครือข่าย มีเน็ตเวิร์กกิ้งที่ช่วยกัน สิ่งที่เอไอเอสทำอยู่ อันนี้งานนี้ผมรับผิดชอบเลย คือปีนี้เดิมเรามีแพกเกจสำหรับเอสเอ็มอีอยู่แล้ว ทั้งที่เป็นมือถือ และไอเอสไอไฟเบอร์ ที่ผ่านมาเราเปิดให้เฉพาะนิติบุคคลซื้อได้ ตัวอย่างเช่น เรามีแพกเกจที่โทร.กันในกลุ่มไม่มีค่าใช้จ่าย โทร.ในหมู่พนักงานขอให้จดในนามนิติบุคคลเดียวกันไม่มีค่าใช้จ่าย ปีใหม่เรามีนโยบายเรื่องว่า จะให้บุคคลธรรมดาคนเดียวจดนิติบุคคลได้ เพราะฉะนั้นเราเลยประกาศเลยว่า แพกเกจที่เคยเป็นเอสเอ็มอี ที่เคยเป็นนิติบุคคลเท่านั้นที่จดได้ เราให้บุคคลธรรมดาจดได้แล้ว เพราะฉะนั้นจะช่วยท่านลดต้นทุนได้ ท่านลองดูถ้ามีค่าโทร.เยอะๆ ไปใช้อันนั้นได้

อีกอันหนึ่งซึ่งเอไอเอสทำอยู่ คือเรื่องของการทำ Ecosystem สร้างแพลตฟอร์มให้ธุรกิจเอาเทคโนโลยีไปใช้ ยกตัวอย่างอันนี้ผมพูด Internet of Thing เป็นพื้นที่หนึ่งที่จะมาช่วยธุรกิจในการทำเอาเทคโนโลยี Internet of Thing ไปใช้ อีกอันหนึ่งที่เรากำลังทำคือ Cloud Service ซึ่ง Cloud Service ผมยกตัวอย่างเดียวเลยที่อาจจะเหมาะกับเอสเอ็มอี หลายท่านอาจจะเคยได้ยินแอปพลิเคชันที่ชื่อว่า Office 365 ของ Microsoft อันนั้นเป็นซอฟต์แวร์สำหรับเอสเอ็มอีเลย ช่วยให้การทำงานออฟฟิศนั้นมีประสิทธิภาพเยอะขึ้น เอไอเอสมีซอฟต์แวร์พวกนี้ให้บริการ และพาร์ตเนอร์กับ Microsoft กับเอสเอ็มอีอยู่

เพราะฉะนั้นอันนี้คือสิ่งที่เราทำ ผมว่าเน้นเรื่องบริการพวกโทรคมนาคมพื้นฐาน และบริการดิจิตอลเป็นเรื่อง IoT กับ Cloud ในส่วนอื่นๆ อย่างที่ผมเรียน ผมยินดีน้อมรับถ้าท่านจะมีคอมเมนต์ว่า เอไอเอสทำอะไรให้กับเอสเอ็มอีได้ เพื่อให้ธุรกิจเอสเอ็มอีก้าวเข้าสู่ดิจิตอลได้เร็วขึ้น บางแอเรียเอไอเอสอาจจะไม่ถนัด ยกตัวอย่างง่ายๆ อย่างชื่อหัวข้องาน อีคอมเมิร์ช ผมว่ามีแพลตฟอร์มที่แข็งแรงอยู่แล้วในตลาด มีหน่วยงานภาครัฐเข้ามาช่วยซัปพอร์ต แต่เอไอเอสคงอยากไปช่วยในเรื่องของดิจิตอลเทคโนโลยีที่ดิสรัปมาป่วนวงการกันอยู่ว่ามีกำลังความสามารถอะไรที่เอไอเอสทำได้ เรายินดีเข้าไปช่วยทำทั้งหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน

พิธีกร- ขอบคุณค่ะ คุณมะแอล่ะคะ แผนต่อไปในอนาคตเราจะได้เห็นน้ำตบมะขามไปบุกตลาดที่ไหน หรือว่าเราจะทำอย่างไรต่อไป วางแผนยังไงไว้บ้างคะ

มะแอ- ที่วางแผนเอาไว้ อยากจะนำมะขามและสมุนไพรไทยต่างๆ ไปต่อยอดเรื่องเกี่ยวกับความงามของผลิตภัณฑ์ของคนไทย และอยากจะเป็นเด็กรุ่นใหม่ เป็นตัวแทนของคนไทย อยากเป็นกำลังใจให้ผลิตภัณฑ์ของไทยในแบรนด์อื่นๆ ด้วย อยากจะให้แบบว่า ตอนนี้คือคนไทยเป็นเที่ยวเกาหลีใช่ไหม ก็ไปเอาเครื่องสำอางของคนเกาหลีกลับมา เราอยากให้คุณเป็นตัวแทนคนไทยภูมิใจว่า ของคนไทยมีผลิตภัณฑ์ที่ดีเหมือนกัน และอยากให้คนต่างชาติมาเที่ยวประเทศไทย นำสินค้าของคนไทยที่ไม่ใช่แค่มะแอ ทุกๆ ผลิตภัณฑ์เลยนำกลับไปประเทศของเขา สร้างคุณภาพและความไว้วางใจให้กับทุกๆ คน

พิธีกร- ขอบคุณค่ะ ของพี่พัชรีล่ะคะ บ้านพอดีมีสุข ตอนนี้มีสุขล้นเปี่ยมเลย จริงๆ ต้องมีวางแผนต่อไปในอนาคตยังไงไหม

พัชรี- มีแน่นอน เพราะว่าปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมันจะมีวิธีปฏิบัติ 2 ขั้น อย่างที่บอกตอนต้น ขั้นพื้นฐาน และขั้นก้าวหน้า ขั้นก้าวหน้าน่าจะแปลกๆ หน่อยเปล่าถ้าจะพูดกับธุรกิจทำบุญ นี่คือขั้นก้าวหน้าของเศรษฐกิจพอเพียงในวิธีทำ และต้องทำให้ได้จริงๆ ทุกอย่างถึงจะมั่นคง ทำทาน แจก แลก ขั้นก้าวหน้า สุดท้ายแปรรูปผลิตภัณฑ์ที่เรามี แปรรูปจากป่า 3 อย่าง ป่า 3 อย่างประโยชน์ 4 อย่าง ไม่ใช่ป่าแบบเขาใหญ่ แต่ว่าเป็นป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์ทั้งอาหาร ยารักษาโรค พืชผักผลไม้ต่างๆ พวกนี้เมื่อเรามีพร้อมแล้ว เราสามารถที่จะเอาเทคโนโลยีการแปรรูปผลิตภัณฑ์อาหารเข้ามาใช้ แล้วอย่างน้องมะแอจะเรื่องสมุนไพร เอามาด้านความงาม นี่คือการต่อยอดองค์ความรู้ เพื่อจะเป็นต้นแบบว่า หากเราทำแบบนี้ เราถนัดแบบนี้ เราเอาเรื่องที่เราทำและถนัดที่สุดมา ถ้าพูดให้เข้าใจง่ายๆ มาเป็นเงิน มาเป็นตัวที่แบบจะหล่อเลี้ยงตัวเอง อันนี้คือขั้นสุดท้ายเลย จะไปถึงขั้นแปรรูปสมุนไพร พืชผัก ผลไม้ที่มีเป็นแบรนด์ของตัวเองอย่างที่น้องมะแอทำ และค่อยขายในราคาที่แบบเรา ในราคาที่แบบว่า ซื้อ 1 แถม 10 อะไรอย่างนี้ คือมีคุณธรรมกำกับเสมอ อันนี้เป็นแผนต่อไปน่าจะเริ่มทำกลางปี และต้องรวบรวมทั้งหาความรู้สมุนไพร อาหาร นำเทคโนโลยีต่างๆ มาปรับใช้ให้เข้ากัน ถึงบอกว่าปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงนี่ล้ำสมัยมาก แต่ต้องทำเป็นขั้นเป็นตอน ขั้นแรกพื้นฐานต้องมั่นคง ตอนนี้จะเริ่มเรียนเรื่องสมุนไพร เพราะปลูกเอาไว้เยอะมาก เรียนสมุนไพรมาดูสิ จะต่อยอดยังไง เพื่อเป็นภูมิปัญญา เพื่อที่จะส่งต่อให้กับเพื่อนๆ ที่จะเข้ามาแลกเปลี่ยนความรู้ที่ศูนย์แลกเปลี่ยนเรียนรู้บ้านอยู่ดีมีสุขด้วย จะมี 2 อย่างให้เห็นว่า เราจะมีองค์ความรู้เรื่องการแปรรูป แบ่งเพื่อนๆ ด้วย จากที่เคยแบ่งแค่พื้นฐานคือ 4 พอ เป็นต้นแบบ เป็นโมเดลให้ แต่ไม่ได้หมายความว่าแต่ละคนจะเหมือนกัน เพราะทุกคนชอบไม่เหมือนกัน อย่างน้องมะแอชอบเรื่องเครื่องสำอาง มะขามตัวเดียวไปเป็นเครื่องสำอางได้ มะขามตัวเดียวเป็นอาหาร เป็นขนมได้แล้วแต่ความถนัด อันนี้เราจะมีเพิ่มองค์ความรู้ และต่อยอดตรงนี้

พิธีกร- ค่ะ สุดท้ายพี่เฉลิมรัตน์ เราวางแผนในอนาคตยังไงบ้าง สำหรับดีคิดส์​ ขยะ 4.0

เฉลิมรัตน์- ตอนนี้ที่มีการทำมาแล้วคือ การคัดแยกมาทำปุ๋ย รีไซเคิล รียูส และอยากจะพัฒนาต่อไปเป็นถึงกับขนาดทำไฟฟ้า เพราะว่าขยะกำลังอยู่ในช่วงการศึกษา มีผู้ให้ความรู้เหมือนกันว่า ขยะเรามาอัดแท่งส่งโรงงานเตาเผาขยะได้ ซึ่งขยะแทนที่เราจะไปใช้ถ่านหินหรืออะไร เรามาใช้ขยะแทน มันจะมีประโยชน์มากกว่าไปฝังกลบ ดิฉันมองอย่างนั้น เลยมองว่าในการพัฒนาต่อไปอยากจะให้มันเกิดประโยชน์สูงสุด คือ ทำไฟฟ้าจากขยะ ขอบคุณค่ะ

พิธีกร- เอาล่ะค่ะ ต้องขอบคุณทุกๆ เคสต์เลย ขอบคุณวิทยากรของเราทั้ง 4 ท่าน ตอนนี้ถึงเวลาแล้ว ท่านผู้ประกอบการที่เข้าร่วมสัมมนามาด้วยกันจนถึงตอนนี้ เป็นโอกาสที่จะได้สอบถามกับท่านวิทยากรทุกท่านตรงๆ เลย ถ้ามีคำถามอะไรเรียนเชิญถามได้เลย มีไหมคะ มีคนถามข้อสงสัยอะไรเพิ่มเติมไหม มีด้านหลังเชิญค่ะ เดี๋ยวเจ้าหน้าที่จะนำไมโครโฟนไปให้ เพื่อที่จะได้ให้ท่านอื่นๆ ได้ยินคำถามกันด้วย

ผู้ประกอบการ- เรียนท่านวิทยากรทุกท่าน ก่อนอื่นต้องขอขอบคุณเครือผู้จัดการที่ได้จัดสัมมนาในวันนี้ ทำให้ผมได้มีโอกาสมาร่วมงาน และผมขอเรียนว่าผมไม่ได้อยู่ในวงการของเอสเอ็มอี แต่ว่ามาร่วมงานในวันนี้ทำให้ได้รับความรู้อย่างมากมาย สิ่งที่ท่านวิทยากรทุกท่านพูดนั้น ทำให้ผมนึกถึงภาษิตจีนบทหนึ่งที่กล่าวไว้ว่า (***ภาษาจีน***) ถ้าแปลออกมาถอดความเป็นภาษาไทยคือว่า 8 เซียนย่ำมหาสมุทร ต่างแสดงฝีมือเต็มที่

เพราะฉะนั้นทุกท่านถ้าอยู่ในองค์กร เปรียบเหมือนว่าทุกท่านทรงความรู้อย่างสูง ได้แสดงฝีไม้ลายมืออย่างเต็มที่ องค์กรของท่านที่พวกท่านอยู่คงมีความเจริญก้าวหน้าไปเรื่อย อย่างไรก็ตาม ผมขอสะท้อนมุมมองอีกมุมมองหนึ่ง ซึ่งไม่ได้อยู่ในเอสเอ็มอี แต่ว่าท่านวิทยากรที่ทำเกี่ยวกับเรื่องขยะ ถ้าเราสังเกตโดยเฉพาะในเมืองหลวงของเรา กรุงเทพมหานคร ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองศิวิไลซ์ในหลายๆ ด้าน แต่ว่าถ้าเราลองเดินไปตามจุดต่างๆ ที่โดยเฉพาะมีป้ายปักไว้ หรือมีเขียนไว้ว่า ห้ามทิ้งขยะ แต่ท่านเชื่อไหมว่า นั่นแหละขยะเต็มเลย ตรงนี้มันสะท้อนอะไร สะท้อนว่าวินัยของคนในชาติมันเป็นอย่างไร มันไม่มีวินัยเลย ความรับผิดชอบก็ไม่มี ตรงนี้จะทำอย่างไร ถ้าเราจะก้าวไป 4.0 หรืออนาคต หรือจะเป็น 5.0 อะไรต่อไปเรื่อยๆ ตรงนี้มันเป็นพื้นฐานหรือเปล่าที่เราจะต้องสร้าง ย้อนกลับไปเมื่อประมาณเกือบ 10 ปีที่ผ่านมา ในประเทศญี่ปุ่นที่เกิดแผ่นดินไหว และคลื่นสึนามิตามมา หน่วยงานของรัฐและเอกชนของประเทศญี่ปุ่น ได้มีการบรรเทาทุกข์ให้กับประชาชนของเขาที่ประสบกับภัยพิบัติ ผมเห็นแล้ว และผมเชื่อว่าทุกท่านที่ได้ดูผ่านสื่อคงจะเห็นเช่นเดียวกับผมว่า เขามีระเบียบวินัยอย่างสูง เขารับน้ำคนละ 1 ขวด เพื่อที่จะแบ่งปันให้กับคนข้างหลัง แต่ของเราไม่ใช่ ถ้ามีลักษณะอย่่างนั้นคงจะ.. โอ้โฮไม่รู้อะไรติดเต็มไม้เต็มมือไปหมด

ตรงนี้สะท้อนว่าย้อนกลับไปตรงวินัย ตรงนี้ผมอยากจะตั้งคำถามเชิญชวนให้ท่านวิทยากรได้ช่วยฉีกมุมมองออกไปว่า ตรงนี้มันคือความรับผิดชอบของใคร แน่นอนความรับผิดชอบส่วนตัวของผู้คน อันนี้ปฏิเสธไม่ได้ แต่เจ้าหน้าที่ของรัฐที่ถือกฎหมายอยู่ในมือปล่อยปละละเลย ไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ ตรงนี้หรือเปล่า อยากจะเชิญชวนให้ท่านวิทยากรได้สะท้อนมุมมองตรงนี้ได้หรือเปล่ามิทราบครับ

พิธีกร- ขอบพระคุณมากค่ะ อาจจะให้พี่เฉลิมรัตน์ช่วยสะท้อนเรื่องของวินัยคนในชาติกับเรื่องของการจัดการขยะ อาจจะเริ่มจากตัวเอง แต่จริงๆ ของทางบริษัทก็ทำควบคู่กันไปใช่ไหมคะ

เฉลิมรัตน์- ใช่ค่ะ ขอบคุณมากที่มีคำถามแบบนี้ จริงๆ ในเรื่องวินัยเรามาปรับในการใช้แอปพลิเคชัน เรามาปรับในเรื่องของการใช้จีพีเอสที่ติดตั้งในเรื่องของรถ เพราะว่าที่พี่เขาบอก จริงเลยค่ะ ตรงไหนที่ห้ามทิ้ง จะมีการทิ้ง และโดยเฉพาะที่ป่าตองหนักกว่าที่นี่อีก ถ้าเราเขียนภาษาไทยภาษาเดียวคงไม่รู้เรื่อง เพราะมีหลายเชื้อชาติ บอกตรงๆ เลยว่า การแก้ปัญหาตรงนี้ เริ่มจากคนนี่แหละ ตัวดิฉันเองไม่ใช่คนที่เก่งหมดทุกเรื่อง เราเข้าไปหาชุมชน เพราะคนที่จะเป็นตาให้กับเราได้ เป็นตาสับปะรดให้เราได้ต้องเริ่มจากชุมชน คำถามนี้เป็นคำถามที่ดีมาก เพราะว่าตัวดิฉันเองเมื่อมีการเห็นว่าขยะล้นเมือง ดิฉันจะมีการปลุกข้าราชการ เพราะว่าบางจุดที่ไม่มีถังขยะให้เขา ดิฉันจะขอวางถังขยะ ปรับเปลี่ยนเวลาทิ้ง ปรับถังที่ใช้สำหรับจัดเก็บ เพราะบางครั้งบางจุดบางที่เขาใช้มาเป็นสิบปี มันไม่ได้มีการปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงของสภาพชุมชน ชุมชนมากขึ้น หนาแน่นขึ้นไม่มีถัง หรืออย่างป่าตองจะมีถนนปลอดถัง เราจะกำหนดเวลาทิ้ง ส่วนในเรื่องของการที่ว่าจุดที่ไม่มีถัง เราพยายามใช้ในจุดของจีพีเอสในการใช้โซเชียล ดูจากแดชบอร์ดจะรู้เลยว่า ถนนสายนี้ใช้เวลาเก็บเยอะ แสดงว่ามีขยะเยอะ ถนนสายนี้ทำไมจุดนี้ใช้เวลาตั้งครึ่งชั่วโมง ทั้งที่ว่ามันเป็นแค่ทางผ่าน กลับไปดูเป็นเหมือนที่พี่เขาบอก กลายเป็นที่ทิ้งขยะทั้งที่ว่ามีป้ายห้าม ดิฉันนำเรื่องพวกนี้เข้าไปคุยในเทศบาล บอกว่าตรงนี้ขอทำเป็นจุดถังคอนเทนเนอร์ได้ไหม เพราะว่าชุมชนเริ่มขยาย ขอวางถัง หรือถังคอนเทนเนอร์ไม่ไหว อาจจะเป็นถังขยะธรรมดา เพื่อเป็นจุดผ่อนปรนให้เขาทิ้ง เพราะไม่อย่างนั้นแทนที่จะไปอยู่ในถัง มาอยู่ข้างนอกมันดูไม่สวยงามใช่ไหมคะ จุดนี้เราเริ่มจากเราแล้วสู่ชุมชน แล้วต้องไปขยับข้าราชการนิดหนึ่ง เพราะว่าข้าราชการเขาต้องทำแบบเดิมๆ แต่เรามีส่วนช่วยได้ในภาคเอกชนที่เราสะท้อนปัญหาไปว่า จุดนี้จากการประมวลผลในแอปพลิเคชันออกมาแล้ว ในแดชบอร์ดโชว์ว่า ถนนสายนี้ปกติใช้เวลาประมาณชั่วโมงหนึ่ง กลับกลายเป็นว่าใช้ 2 ชั่วโมง เพราะเราคำนวณแล้วใน 1 วัน ถนนสายนี้จะต้องมีใช้ 3 รอบของรถ เรากำลังใช้พลังงานเยอะเกินไป มันมาจากอะไร และเรากลับไปสู่ปัญหาว่า เป็นเพราะการทิ้งผิดที่ผิดเวลา เราได้กลับไปปรับ และขยับให้ข้าราชการไปทำการรณรงค์ หรือจัดการขยะที่มันตกค้าง เพื่อให้เป็นเมืองที่สวยงาม เมืองปราศจากขยะ จุดนี้ช่วยได้ และเราก็ทำอยู่ แต่มันไม่สำเร็จในวันนี้ มันต้องค่อยๆ ทำ และปรับกันไป เพราะว่าดิฉันเองเพิ่งทำเป็นปีที่ 4 ยอมรับว่ายังใหม่ แต่ว่าการมีส่วนร่วมสำคัญมาก

พิธีกร- ขอบคุณค่ะ คุณพัชรีอยากจะเสริมในส่วนนี้ด้วย

นวชัย- ผมขอเสริมนิดหนึ่ง ผมคิดว่าเทคโนโลยีมาช่วยส่งเสริมวินัยได้ด้วย และมาช่วย ขอโทษนะครับขอใช้คำแรง ดัดนิสัยที่ไม่ดีได้ ผมยกตัวอย่างอันนี้เรื่องที่เกิดขึ้นจากการเอาเทคโนโลยีมาใช้ เมื่อกี้ผมเล่าเรื่องเคสต์จักรยานที่ต้องมาแชร์กันใช้ ท่านอาจจะเห็นข่าวเมื่อตอนเทคโนโลยีมาใหม่ๆ มีคนแอบเอาจักรยานไปใช้เป็นการส่วนตัว เอาจักรยานไปทำเสียๆ หายๆ ไปโยนทิ้งนู่นนี่นั่น แต่สุดท้ายเมื่อทุกคนรู้ว่าเทคโนโลยีนี้มันมา และทำให้เกิดการใช้งานแบบแชร์ด้วยกันได้ แบ่งปันด้วยกันได้ สุดท้ายสังคมชุมชนช่วยกันดูแล มีคนจะเอาจักรยานไปใช้อย่างนี้ สุดท้ายคนช่วยกันดูแล คนที่อยู่ในพื้นที่นี้ช่วยกันดูแล เราเห็นตัวอย่างหลายๆ มหาวิทยาลัยเลยที่เราเอาโมไบค์ไปลง ทั้งที่เกษตรฯ และอีกหลายแห่ง ว่า มันเปลี่ยนนิสัย คนจะมาปรับช่วยกันส่งเสริม ช่วยกันดูแลจักรยาน จอดกันไม่ถูกที่ เอาไปอยู่ให้มันถูกที่ขึ้น อันนี้คือเทคโนโลยีที่มาช่วยสร้างนิสัยที่ดีขึ้น แต่เทคโนโลยีที่ช่วยปรับนิสัยที่ไม่ดี อันนี้ผมยกตัวอย่างเลย ทุกท่านคงทราบ เดี๋ยวนี้กล้องจราจรฉลาดมาก ท่านวิ่งเปลี่ยนเลนที่เป็นเส้นทึบ อนาคตจะมีใบสั่งมาบ้านท่านเยอะขึ้นเรื่อยๆ เพราะกล้องสามารถวิเคราะห์ได้ว่า ท่านกำลังวิ่งเปลี่ยนเลนในที่ที่เป็นเส้นทึบ

ในอนาคตที่จอดรถที่เป็นสีขาวแดง ไปจอดรถไว้ รู้เลยว่าเป็นรถทะเบียนอะไร อ่านภาษาไทยได้แล้ว ทะเบียน XXYYYY กรุงเทพมหานคร มีใบสั่งไปหาที่บ้านท่านได้ อันนี้ไม่เฉพาะสังคม ผมคิดว่าในธุรกิจท่านเอาเทคโนโลยีไปเปลี่ยนคนในองค์กรของท่านได้ อันนี้ผมยกตัวอย่างเลย เป็นเรื่องที่เอไอเอสได้รับการร้องขอจากลูกค้าหลายๆ รายเลยว่า ใช้ไลน์ในองค์กรมันมีปัญหา ปัญหาคืออะไรรู้ไหมครับ ปัญหาแรกคือ ไลน์มันเอาใครเข้ามาก็ได้ เพราะฉะนั้นความลับทางการค้า ความลับขององค์กรถ้าอยู่ในไลน์มีความเสี่ยง อันนี้อันที่หนึ่ง

อันที่ 2. ไลน์เราไม่รู้ว่าใครอ่านแล้วบ้าง สุดท้ายเอไอเอสเราไปหาพาร์ตเนอร์มา Develop ไลน์อีกเวอร์ชันหนึ่ง ผมเรียกว่าไลน์อีกเวอร์ชันหนึ่งแล้วกัน เป็นไลน์เวอร์ชันสำหรับธุรกิจ เพื่อให้ธุรกิจรู้ว่า ส่งข้อความนี้ไปในกลุ่มนี้ รู้เลยว่ามีใครอ่าน อ่านที่เวลาไหน นี่ไปปรับคนในองค์กรต้องอ่าน ต้องทำตาม ต้องรู้แล้วว่า มีการสื่อสารกันในองค์กรอย่างไร ไลน์นี้ถ้าแชร์รูปลงไปก๊อบปี้ไปเผยแพร่ต่อไม่ได้ เพราะเป็นความลับ เห็นไหมเทคโนโลยีมาปรับวิธีการทำงาน มาปรับวินัยของคนในองค์กรได้เหมือนกัน

เพราะฉะนั้นนี่เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่ผมเห็นว่า เทคโนโลยีมีทั้งบวกและลบ ในเชิงลบมีแหละเอาเทคโนโลยีไปทำในเรื่องที่มันไม่ค่อยดี แต่ผมคิดว่าถ้าเทคโนโลยีถูกใช้ให้ถูกต้อง ให้ถูกให้ควรมาช่วยสร้างสรรค์สังคมได้

พิธีกร- เรียกว่ามีข้อมูลที่เป็นประโยชน์มากมาย ซึ่งหวังว่าผู้ร่วมสัมมนา ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจะนำไปปรับใช้ และต่อยอดกับธุรกิจของท่านได้ ขอเสียงปรบมือให้กับวิทยากรของเราทุกท่านเลยค่ะ

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *




กำลังโหลดความคิดเห็น