ปัจจุบัน การเข้าถึงลูกค้า ผ่านช่องทางออนไลน์ อย่างโซเชียลมีเดีย นั้นมีความสำคัญอย่างมาก ดังนั้น การทำโฆษณาบนโลกออนไลน์ หัวใจสำคัญ คือ ต้องเข้าใจง่าย และคอนเทนต์ที่กระชับ ไม่ต้องเสียเวลาอ่านมาก
จึงเป็นที่มาของ อินโฟกราฟิก การแชร์กราฟิกบนโซเชียลมีเดีย เริ่มเกิดขึ้น และได้รับความนิยมอย่างมากในช่วง 2-3 ปี ที่ผ่านมา และรู้หรือไม่ ว่า จุดเริ่มต้นของธุรกิจอินโฟกราฟิกในประเทศไทย เกิดขึ้นจากผู้ชายคนนี้ “ นายธนโชติ วิสุทธิสมาน” เจ้าของ บริษัทอินโฟกราฟิก ประเทศไทย จำกัด หนึ่งในสตาร์อัพที่ประสบความสำเร็จ ภายในระยะเวลา เพียงแค่ 1 ปี หลังจากเริ่มดำเนินกิจการ
นายธนโชติ เล่าว่า ที่มาของอินโฟกราฟิก ในประเทศไทย เกิดขึ้นมาจาก ข้อมูลที่มีอยู่เยอะมาก ในช่องทางออนไลน์ การอ่านข้อมูลเยอะ มันน่าเบื่อ ก็เลยมีคนนำข้อมูลมาย่อ เพื่อให้อ่านและเข้าใจง่าย และใส่กราฟิกลงไป จึงได้เป็นที่มาของอินโฟกราฟิก ซึ่ง อินโฟกราฟิก เกิดขึ้นในต่างประเทศมาระยะหนึ่งแล้ว อยู่ในเพจดัง ที่รู้จักกันทั่วโลก แต่สำหรับประเทศไทย อินโฟกราฟิกเข้ามาพร้อมกับ การเติบโตของเฟซบุ๊ก
“ผมได้ก่อตั้ง อินโฟกราฟิก ประเทศไทย มาจนถึงวันนี้ ผ่านมาได้ 5 ปี จุดเริ่มต้นมาจากผมเรียนจบด้าน ICT จากมหาวิทยาลัยมหิดล และในระหว่างเรียนได้มีโอกาสทำโปรเจกต์ ที่เกี่ยวกับ งานกราฟิก และ แอปพลิเคชันต่างๆ ซึ่งผมเรียนด้านโปรแกรมเมอร์ อาศัยความเป็นโปรแกรมเมอร์ มาผสมผสานงานกราฟิก จนเมื่อเรียนจบมา ตัดสินใจเปิดบริษัท ทำแอปพลิเคชัน แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ก็ลองทำอินโฟกราฟิกมาใช้โปรโมทกิจการของเรา ตอนนั้นเราทำอินโฟกราฟิกใส่ในเพจของเราทุกวัน คนก็เริ่มรู้จักอินโฟกราฟิก และมีเอเย่นซี รายหนึ่ง รับทำเพจให้กับลูกค้า ไม่รู้จะเอาข้อมูลอะไรไปลง ก็เลยมาว่าจ้างเราทำอินโฟกราฟิก ได้ลูกค้าตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา แต่เราก็ทำควบคู่ไปกับการทำแอปพลิเคชัน ปรากฏว่า อินโฟกราฟิกกลับไปได้ดี เราก็เลยเลิกทำแอปพลิเคชัน หันมาลุยงานอินโฟกราฟิกอย่างเดียวเลย”
“ธนโชติ” เล่าว่า ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา อินโฟกราฟิกเริ่มได้รับความสนใจมากขึ้นเรื่อย ซึ่งเราเป็นรายๆ แรกลูกค้าวิ่งเข้ามาหาเราเป็นจำนวนมาก โดยการเปิดหน้าเพจ และนำผลงานอินโฟกราฟิกของเรา ไปนำเสนอ หน้าเพจทุกวัน และเปลี่ยนชื่อ จากLike me Thailand มาเป็น “อินโฟกราฟิก ไทยแลนด์”
โดยได้ลูกค้าที่ไม่ใช่เอเย่นซี แต่เป็นบริษัท ห้างร้านต่างๆ หันมาให้ความสำคัญกับการทำอินโฟกราฟิก เพราะเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่เป็นลูกค้าได้ง่าย ส่งให้ธุรกิจของเรามี การเติบโตปีหนึ่งไม่ต่ำกว่า 70-80% จากพนักงานไม่กี่คน ปัจจุบันมีพนักงานเพิ่มมากถึง 70 คน มีรายได้ หลักหลายล้านบาทต่อเดือน และในส่วนของเพจ หลังจากได้พยายาม กระตุ้นกระแสให้เรื่องราวของอินโฟกราฟิกเป็นที่รู้จัก ด้วยการโพสต์ผลงานทุกวัน วันนี้ มีคนติดตามเรามากกว่า 3 แสนคน
ส่วนราคาค่าบริการ เนื่องจาก อินโฟกราฟิกไทยแลนด์ เป็นบริษัทแรกที่ทำธุรกิจด้านนี้ ดังนั้น การตั้งราคาในช่วงแรกเมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา นั้น ราคาแตกต่างกันมากกับราคาในปัจจุบันหลายเท่าตัว ซึ่งเป็นราคากลางที่คู่ค้ารายอื่นๆ ตั้งใกล้เคียงกัน อาจจะมีแตกต่างกันบ้าง ด้วยคุณภาพของงาน
“วันแรกที่ลูกค้าติดต่อมาเพื่อ ขอให้เราช่วยทำอินโฟกราฟฟิกให้ เราคิดอยู่เหมือนกันว่าเราจะคิดราคาเท่าไหร่ เพราะเรายังไม่เคยมีลูกค้ามาก่อน ตอนนั้น คิดแค่ว่า ต้นทุนประมาณนี้ บวกอื่นๆ เพิ่มก็เลยคิดลูกค้า หลักพันบาท ส่วนหนึ่งเพื่อดึงดูดลูกค้ารายอื่นๆ ด้วย แต่พออินโฟกราฟิกเป็นที่รู้จัก เรามีการปรับรูปแบบการทำงาน มีแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบ มีการทำงานที่ยากขึ้น ในแบบที่คนทั่วไปทำไม่ได้ “
เนื่องจากตอนหลัง บริษัทต่างๆ ก็เริ่มทำกันเอง มีแผนกนี้ ขึ้นมา เขาไม่มาใช้บริการกับเรา ด้วยเหตุนี้เอง ทำให้เราต้องปรับตัวทำงานที่ยากขึ้นจากการทำอินโฟกราฟิก ทั่วไปภาพนิ่งใช้เวลาในการทำ 2-3 ชั่วโมง ขณะที่ของเรา ต้องใช้เวลานานถึง 4 วัน เมื่อลูกค้าทำเองไม่ได้ หรืองานซับซ้อนยุ่งยาก ก็จะมาใข้บริการกับเรา ส่วนราคามีการปรับตามคุณภาพของงาน
ทั้งนี้ ได้มีการปรับรูปแบบให้การบริการ จากอินโฟกราฟิกที่เป็นภาพนิ่ง มาเป็นงานอินโฟกราฟฟิกที่เป็นภาพเคลื่อนไหว ที่เรียกว่า โมชั่น อินโฟกราฟิก เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ง่ายขึ้น และส่วนหนึ่งต้องการที่เจาะกลุ่มลูกค้าที่เป็นเฉพาะกลุ่มมากขึ้น มองไปที่กลุ่มการศึกษา เพราะเป็นโปรแกรมเมอร์ นำเทคโนโลยีมาช่วยในการทำงาน ทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องที่ง่ายขึ้น ประกอบกับปัจจุบัน มีการนำ VR และ AR มาใช้มากขึ้น ระบบของเราก็จะรองรับระบบดังกล่าว ซึ่งผลงานที่ทำออกมาที่เป็นโมชั่นกราฟิก เช่น สื่อการเรียนการสอน ที่นำ VR และ AR เข้ามาใช้ เพราะลูกค้าของเรา ไม่ได้มีแค่ บริษัท เอกชน ยังมีหน่วยงานราชการ หรือ แม้แต่การหาเสียงเลือกตั้ง ครั้งที่ผ่านมา มีการมาจ้าง ให้เราทำคอนเทนต์ และอินโฟกราฟิก หรือ แม้แต่ลูกค้าในต่างประเทศเอง งานบางอย่าง ดูยุ่งยากเขาทำไม่ได้ ยังมีการมาว่าจ้างให้เราทำเช่นกัน ซึ่งถือว่าหาจุดแข็งของเราเจอ จึงไม่กลัวเรื่องการแข่งขัน
“ธนโชติ” บอกว่า การทำอินโฟกราฟิก ความยากไม่ได้อยู่ที่การคิดออกแบบกราฟิก ต่างๆ แต่ความยากของการทำงานตรงนี้ คือ การคิดคอนเทนต์ ที่จะสรุปออกมาและทำให้คนอ่านเข้าใจได้ง่าย ตรงนี้ อยากกว่า เทคโนโลยี ซึ่งปัจจุบัน การทำงานแต่ละชิ้นของเรา ต้องใช้คนทำงานถึง 3 กลุ่ม กลุ่มแรก ครีเอทีฟ กลุ่มที่ 2 กราฟิกดีไซน์ และกลุ่ม PRESS ที่จะทำหน้าที่ในการหาข้อมูลเพื่อมาพรีเซน ออกมาเป็นคอนเทนที่เข้าใจง่าย ซึ่งกลุ่มนี้ ต้องทำงานหนัก และต้องคอยหาข้อมูล ดังนั้น กลุ่มนี้ จึงเป็นกลุ่มที่มองว่า ทำงานยากสุด
สุดท้ายนี้ “ธนโชติ” ได้ฝากทิ้งท้ายไว้ว่า ปัจจุบันโลกเทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วมาก ทุกอย่างรอบตัวเราเต็มไปด้วยธุรกิจ ผมเอง ก็ไม่คิดเลยว่า ทุกอย่างจะรวดเร็วถึงขนาดนี้ อย่าง VR หรือ AR ผมยังมองว่า มันยังคงไม่มาตอนนี้ แต่ตอนนี้ ทุกอย่างเข้ามาเกลื่อนไปหมดแล้ว จากเดิมที่ผมแปลนไว้ว่า มุ่งทำ VR และ AR ในอีก 1-2 ปี ข้างหน้า แต่ตอนนี้ต้องคิดใหม่ และปรับตัวเพื่อมุ่งไปทางนี้เลย อย่าคิดว่า เห็นต่างชาติ เพิ่งเริ่มทำ รอสักพักค่อยคิดตาม คงไม่ได้ แล้ว เพราะเทคโนโลยีที่ทำในต่างประเทศ เพียงแค่ ไม่กี่ วัน หรือ กี่เดือน ก็เข้ามาเมืองไทย และคนไทยก็รับเทคโนโลยีนั้นได้อย่างรวดเร็ว ดังนั้น การเข่งขันในเรื่องเทคโนโลยี ต้องหาจุดแข็งของตัวเองให้เจอ และพัฒนาจุดแข็ง เพื่อให้คู่แข่งตามเราไม่ทัน
สนใจโทร. 09-0961-9388,09-8269-2356
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEs ผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *