xs
xsm
sm
md
lg

จากพ่อค้าตลาดนัด สู่เจ้าของแบรนด์หมวกกันน็อกสไตล์วินเทจ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สำหรับนักบิดแล้ว นอกจากการแต่งมอเตอร์ไซค์คันโปรด หมวกกันน็อกก็มีส่วนสำคัญที่นักบิดให้ความสำคัญต่อการเลือกหมวกกันน็อกที่แตกต่างไม่เหมือนใคร ทำให้หมวกกันน็อกกลายเป็นงานฝีมือที่สร้างงานสร้างอาชีพให้แก่สาวคนนี้ “ นางสาวนิศารัตน์ ขันบรรจง” เจ้าของร้าน หมวกกันน็อกแบรนด์ TDC Helmet

"นางสาวนิศารัตน์" เล่าว่า สำหรับหมวกกันน็อก TDC Helmet ของเราเป็นหมวกกันน็อกสไตล์วินเทจ โดยทางเราได้จ้างให้โรงงานแห่งหนึ่งเป็นผู้ผลิตให้ ส่วนหมวกของเราแตกต่างจากหมวกกันน็อกทั่วไปอย่างไรนั้น คำตอบคือ ตั้งแต่การผลิตเราจะเป็นคนออกแบบ และเลือกวัสดุเอง ส่วนประกอบเล็กๆ น้อยๆ ให้ความสำคัญ เช่น กระดุมที่ติดใส่เป็นสายหนัง หรือกระจกปิดด้านหน้ามีให้เลือกหลายสี แต่ความชัดเจนในการมองเห็นยังเหมือนเดิมตามมาตรฐานกฎจราจรบ้านเรา

ส่วนสำคัญที่แน่นอนไม่มีใครเลียนแบบได้นั้น คือ การตกแต่งและออกแบบหมวกด้วยลวดลายต่างๆ โดยการใช้เครื่องพ่นสีแอร์บรัชในการเพนต์ลวดลาย ส่วนรูปทรงของหมวก มีการเปลี่ยนแปลงตามความนิยม มาจนถึงปัจจุบันมีรูปทรงหมวกถึง 10 แบบ ซึ่งส่วนใหญ่ยังคงรูปแบบที่เป็นวินเทจตามความถนัด และความชอบของกลุ่มลูกค้า โดยลูกค้าของเราเป็นกลุ่มที่ชื่นชอบการขับขี่รถสไตล์วินเทจ การหาหมวกกันน็อกให้เข้ากับรถในตลาดปัจจุบันค่อนข้างหายาก และมีราคาแพง การที่เราผลิตหมวกสไตล์ย้อนยุคเป็นทางเลือกให้แก่ลูกค้ากลุ่มนี้ ที่เดิมต้องอาศัยการซื้อหมวกมือสองนำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น และปัญหาคือ หมวกมือสองถูกใช้งานมาแล้ว บางคนไม่กล้าใช้ แต่หมวกเราเป็นของใหม่ซึ่งเป็นทางเลือกให้แก่ลูกค้าได้
คุณนิศารัตน์ ขันบรรจง เจ้าของร้าน
นิศารัตน์ กล่าวต่อว่า ที่มาของการมาเปิดร้านหมวกกันน็อกแฮนด์เมดในครั้งนี้ เกิดขึ้นมาจากแฟนหนุ่มชื่นชอบการขับขี่มอเตอร์ไซค์โบราณ และมอเตอร์ไซค์ที่เลือกใช้เป็นมอเตอร์ไซค์ยี่ห้อ Vespa เวสป้า และเวสป้า โบราณราคาไม่ธรรมดา ดังนั้น การจะได้ครอบครองเวสป้าก็ต้องใช้เงินหลักหลายหมื่น บาท ไปจนถึงหลักแสนบาท แฟนก็เลยทำงานเสริม โดยการขายอะไหล่ และอุปกรณ์ตกแต่งรสเวสป้า โดยขายครั้งแรกที่ตลาดนัดรัชดา เป็นกลุ่มที่คนเล่นรถเวสป้า มักจะไปรวมตัวกันที่นั่น

หลังจากตลาดปิดตัวลงได้ย้ายมาขายที่ตลาดนัดรถไฟ สวนจตุจักร ซึ่งไม่ใช่ตลาดนัดของแหล่งคนรถมอเตอร์ไซค์อย่างเดียวเหมือนตลาดรัชดา คนเดินค่อนข้างหลากหลาย ซึ่งการที่ลูกค้าหลากหลายทำให้เราเริ่มมองหาสินค้าตัวอื่นๆ ที่เกี่ยวกับรถมอเตอร์ไซค์เก่า จึงเป็นที่มาของการนำหมวกกันน็อกมาขายตอนนั้น นำเข้าหมวกมือสองสไตล์วินเทจมาจากประเทศญี่ปุ่น

ทั้งนี้ การนำเข้าหมวกกันน็อกมือสองจากญี่ปุ่นเข้ามาเป็นล็อตจะไม่สามารถเลือกได้ จะมีทั้งที่ใช้ได้ และใช้ไม่ได้ บางล็อตได้ของใช้ไม่ได้เยอะกว่า ได้กำไรน้อย หรือ ไม่ก็ขาดทุน ก็เลยตัดสินใจว่าเราจะผลิตเอง พอดีได้รู้จักกับโรงงานผลิตหมวกรายหนึ่ง ผลิตหมวกส่งขายต่างประเทศอยู่แล้ว ก็เลยได้ติดต่อ จ้างให้เขาผลิตหมวกในแบบของเรา และจากร้านปูผ้า เริ่มเปิดหน้าร้าน ตอนนั้นเปิดที่แรกที่ตลาดนัดรถไฟศรีนครินทร์ จากขายหมวกมือสอง เปิดร้านขายหมวกมือหนึ่ง แต่ยังคงคอนเซ็ปต์ที่เป็นสไตล์วินเทจ และจากหมวกแบบเรียบ ก็เริ่มมีการนำลวดลายมาใส่เพื่อให้ได้หมวกที่แตกต่างจากในท้องตลาด มาจนถึงปัจจุบัน

สำหรับ ราคาหมวกอยู่ที่ 2,000 บาท ไปจนถึง 3,000 บาท ขึ้นอยู่กับวัสดุ และรูปแบบของหมวก โดยกลุ่มลูกค้า ผู้ชาย 70% และเป็นผู้หญิง 30% และนอกจากหมวกผู้ใหญ่ ยังได้ออกแบบหมวกเด็กออกมาจำหน่ายด้วย ซึ่งนอกจากลูกค้าในประเทศ ยังมีลูกค้าต่างประเทศ มาจากลูกค้ามาเดินเที่ยว และมาเจอเราเขาชื่นชอบในแบบหมวกที่เราทำขึ้นมา โดยเฉพาะตัวที่เป็นงานแฮนด์เมด เพราะหมวกที่เพนต์ลวดลายในต่างประเทศขายกันขั้นต่ำ 7-8 พันบาท ไปจนถึงหลักหมื่นบาท ในขณะที่ของเราขายเพียง 2-3 พันบาท

นิศารัตน์ บอกว่า จากจำนวนลูกค้าต่างประเทศที่เข้ามา ทำให้ยอดขายของเราเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงลูกค้าคนไทยเพิ่มมากขึ้น จากการที่คนไทยหันมาสนใจกับการเลือกหมวกกันน็อกเหมือนเป็นแฟชั่น บวกกับรถสไตล์วินเทจได้รับความนิยม ทำให้เรามีลูกค้าคนไทยเพิ่มขึ้น ซึ่งตลาดในประเทศไทยตอนนี้มีสาขาที่เป็นของเราเอง 2 สาขา และสาขาแฟรนไชส์ ซึ่งเป็นกลุ่มเพื่อนอีก 3 สาขา

อนึ่ง มีตลาดต่างประเทศดีลเข้ามาหลายประเทศ เราจึงมีแผนที่จะสร้างโรงงานผลิตของเราเอง แต่ตอนนี้อยู่ระหว่างการศึกษาแนวทางการทำโรงงาน คาดว่าในอนาคตอันใกล้นี้คงจะได้มีโรงงานและผลิตหมวกส่งออกไปขายยังต่างประเทศ และขยายตลาดในประเทศเพิ่มมากขึ้น ส่วนการแข่งขันมีค่อนข้างสูงในกลุ่มหมวกกันน็อกแฮนด์เมดสไตล์วินเทจ เพราะมีกลุ่มนักบิดที่มีฝีมือด้านงานศิลปะหันมาทำหมวกเพนตต์ลายมากขึ้น แต่งานฝีมือก็ต้องขึ้นอยู่กับลูกค้าว่าชอบแบบไหน ดังนั้นโดยส่วนตัวจึงไม่กลัวการแข่งขัน

สนใจโทร. 08-9115-8022




* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEs ผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *




กำลังโหลดความคิดเห็น