สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์แลเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ร่วมกับ บริษัท พรีเมียร์ โพรดักส์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ฟาร์มสตอรี่ จำกัด (ป.เจริญฟาร์ม) วิจัยและพัฒนา “ต้นแบบระบบน้ำหมุนเวียนเพื่อการเลี้ยงลูกปลานิลเชิงพาณิชย์” ด้วยแนวคิดยกกระชังปลาขึ้นมาบนบก ซึ่งสามารถควบคุมสภาพแวดล้อมได้ พร้อมช่วยลดความเสี่ยงในการสูญเสียลูกปลา และเพิ่มผลผลิตในขณะที่ใช้พื้นที่น้อยลง
ในการออกแบบและสร้างระบบเลี้ยงปลาที่มีระบบบำบัดในตัวใช้เทคโนโลยีที่ได้จากการวิจัยและพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ระบบมีความง่ายต่อการใช้งานและมีประสิทธิภาพดี ผ่านการทดสอบใช้งานในสภาวะการทำงานจริง โดยจะมีการหมุนเวียนน้ำจากบ่อปลาออกมาบำบัดในถังตัวกรองชีวภาพไนตริฟิเคชัน (Nitrification biofilter) ก่อนที่จะนำน้ำกลับไปใช้เลี้ยงปลา การหมุนเวียนน้ำเป็นระบบปิดช่วยให้ผู้เลี้ยงสามารถควบคุมสภาวะการเลี้ยงได้ดีกว่าระบบเปิด ลดการเปลี่ยนถ่ายน้ำ ลดโอกาสติดเชื้อโรคจากภายนอก และมีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
คุณปรัชญา นวไตรลาภ กรรมการบริษัท ฟาร์มสตอรี่ จำกัด (ป.เจริญฟาร์ม) กล่าวว่า ป.เจริญฟาร์มเป็นฟาร์มเพาะพันธุ์ปลาชั้นนำที่ผลิตและจำหน่ายพันธุ์ปลาคุณภาพให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงปลาทั่วประเทศมากว่า 33 ปี ซึ่งมีแนวคิดอยากจะทำการยกกระชังปลามาขึ้นบก จนได้มารู้จักกับ ดร.สรวิศ เผ่าทองศุข นักวิจัยไบโอเทค สวทช. ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีระบบหมุนเวียนน้ำเพื่อการเลี้ยงสัตว์น้ำ จนนำไปสู่การพัฒนาถังเลี้ยงปลานิลความหนาแน่นสูงระบบน้ำหมุนเวียน เป้าหมายหลักคือ การเลี้ยงปลาขนาด 2.5 กรัม ให้เป็นขนาด 30 กรัม แต่เรายังได้ทดลองเลี้ยงปลานิลตั้งแต่น้ำหนัก 30 กรัม ไปจนถึง 1 กิโลกรัมต่อตัวด้วยเช่นกัน
สำหรับระบบหมุนเวียนน้ำนี้ ผู้เลี้ยงสามารถเลี้ยงปลาได้ทุกสถานที่ในประเทศไทย และในทุกฤดูกาล รวมถึงสามารถนำไปใช้เก็บรักษาพ่อแม่พันธุ์ปลาที่มีมูลค่าสูงได้อีกด้วย โดยถังเลี้ยงปลาฯ ช่วยลดภาระเรื่องการจัดการเพื่อรับมือกับความเสี่ยงทางภัยธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม รวมถึงโรคที่อาจจะเกิดกับตัวปลา ส่งผลให้อัตราการรอดของปลาอยู่ในระดับที่ดีมากหรือประมาณ 90-100% โดยปลาที่เลี้ยงมีคุณภาพเนื้อไม่แตกต่างจากปลาที่เลี้ยงในระบบปกติ ไม่มีการใช้ยาปฏิชีวนะ ไม่มีกลิ่นโคลน ทำให้ผู้บริโภคได้รับประทานปลาที่สด สะอาด ปลอดภัยต่อสุขภาพ”
ด้าน ดร.สรวิศ เผ่าทองศุข หัวหน้าห้องปฏิบัติการเทคโนโลยีชีวภาพทางทะเล ไบโอเทค สวทช. กล่าวถึงการทำงานของถังเลี้ยงปลาฯ ว่า “ตัวถังเลี้ยงปลาออกแบบให้มีพื้นที่ผิวต่อความลึกของน้ำที่เหมาะสมสำหรับการเลี้ยงลูกปลานิล มีการระบายน้ำเสียและตะกอนของเสียออกจากบ่อได้อย่างสมบูรณ์ มีระบบเติมอากาศและการหมุนเวียนน้ำภายในถังเลี้ยงอย่างทั่วถึง ซึ่งเมื่อมีตะกอนขี้ปลา ปลาตายหรือปลาป่วย จะถูกดึงออกจากบ่อโดยอัตโนมัติผ่านทางท่อลำเลียงไปยังถังแยกปลาตาย ทำให้ผู้เลี้ยงสามารถติดตามจำนวนปลาที่ตาย และสามารถแยกปลาป่วยออกไปตรวจโรคเพื่อวางแผนการรักษาได้อย่างทันท่วงที
หลังจากนั้นน้ำจะถูกลำเลียงไปยังระบบแยกตะกอน น้ำจะถูกบำบัดในถังบำบัดระบบไนทริฟิเคชัน ด้วยการเปลี่ยนแอมโมเนียเป็นไนไตรท์และไนเตรท หลังจากนั้นน้ำจะถูกเก็บในถังและนำไปหมุนเวียนในบ่อต่อไป โดยมีการหมุนเวียนน้ำกับระบบบำบัดตลอดเวลา ทำให้ไม่ต้องเปลี่ยนน้ำหรือเติมน้ำเพิ่มเข้าไป ช่วยลดการใช้น้ำถึง 95% ซึ่งการดูแลบำรุงรักษาและล้างทำความสะอาดระบบทั้งหมดสามารถทำได้โดยพนักงานคนเดียวเท่านั้น โดยถังเลี้ยงปลาดังกล่าวเป็นระบบที่ประหยัดพลังงาน
เนื่องจากในระบบมีอุปกรณ์ที่ใช้ไฟฟ้าเพียง 2 ตัวเท่านั้น คือ ปั๊มน้ำ 1 ตัว และระบบเติมอากาศ 1 ตัว เนื่องจากว่าทำงานแบบ Gravity Flow คือออกแบบให้น้ำไหลตามแรงโน้มถ่วง นอกจากนี้ ถังปลายังสามารถรองรับปลาได้กว่า 30 กิโลกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งสูงกว่าบ่อดินที่รองรับเพียง 1 กิโลกรัมต่อลูกบาศก์เมตร หรือสูงกว่า 20-30 เท่า แต่ใช้พื้นที่ที่น้อยกว่าบ่อดิน ช่วยประหยัดต้นทุนได้เป็นจำนวนมาก”
ถังเลี้ยงปลานิลความหนาแน่นสูงระบบน้ำหมุนเวียนเป็นระบบที่จะช่วยให้อุตสาหกรรมการเลี้ยงปลามีความยั่งยืน ลดความเสี่ยงเรื่องการจัดหาและควบคุมคุณภาพน้ำภายในบ่อเลี้ยง และสามารถประยุกต์ใช้กับสัตว์น้ำชนิดอื่นๆ ได้ จากการสนับสนุนและร่วมมือกันของทั้ง 3 ฝ่าย ได้แก่ บริษัท พรีเมียร์ โพรดักส์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ฟาร์มสตอรี่ จำกัด (ป.เจริญฟาร์ม) และ สวทช. ในการร่วมกันผลักดันให้มีการนำระบบไปใช้อย่างกว้างขวางขึ้นในภาคเอกชน อีกทั้งยังมีความพยายามอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ถังเลี้ยงปลามีประสิทธิภาพที่ดียิ่งขึ้น ช่วยเพิ่มผลผลิต เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ในขณะที่มีต้นทุนที่ต่ำลง
สนใจติดต่อศูนย์ไบโอเทค โทร. 0-2564-7000
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEs ผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *