xs
xsm
sm
md
lg

ครม.อนุมัติมาตรการยกเว้นภาษีนักลงทุน “กลุ่มวิสาหกิจ” หน้าใหม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ครม.อนุมัติมาตรการยกเว้นภาษี ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยเป็นกลุ่มผู้ประกอบการวิสาหกิจ เริ่มต้นธุรกิจ ตามหลักเกณฑ์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติกำหนด ซึ่งอยู่ใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยคำนวณเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2561 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2562

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (30 ม.ค.) มีมติอนุมัติยกเว้นภาษีมาตรการสิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่นักลงทุนที่ลงทุนในวิสาหกิจเริ่มต้น (Angel Investor) ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไป และมอบหมายให้กระทรวงการคลังรับความเห็นของสำนักงบประมาณและสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีดำเนินการ

สำหรับรายละเอียดที่กระทรวงการคลังเสนอ กรณีที่ปัจจุบันมีการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมรายใหม่ ที่ประกอบอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยใช้เทคโนโลยีหลักเป็นฐานในกระบวนการผลิตและการให้บริการตามหลักเกณฑ์ที่สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติกำหนด และได้รับการรับรองจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ แต่ยังไม่มีการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่บุคคลธรรมดาซึ่งเป็นนักลงทุน (Angel Investor) ที่ลงทุนในวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup)

ดังนั้น เพื่อเป็นการส่งเสริมให้มีการลงทุนในหุ้นของผู้ประกอบการวิสาหกิจเริ่มต้น(Startup) ที่มีฐานะเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย และประกอบอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีศักยภาพในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ (New Engine of Growth) ในช่วงระยะเวลาการบ่มเพาะธุรกิจให้เข้มแข็ง มีศักยภาพ และยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ จึงสมควรให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่นักลงทุน (Angel Investor) ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาที่นำเงินไปลงทุนในบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลดังกล่าว

โดยได้ดำเนินการวิเคราะห์ผลกระทบของมาตรการในเรื่องนี้ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2558 แล้ว โดยรายงานว่ามาตรการในเรื่องนี้จะก่อให้เกิดผลกระทบ ดังนี้ 1. ช่วยให้ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมรายใหม่ที่มีการนำเทคโนโลยี นวัตกรรม การวิจัยและพัฒนาเชิงสร้างสรรค์ มีแหล่งเงินทุนที่จะนำไปใช้ในการดำเนินการในช่วงระยะเวลาการบ่มเพาะธุรกิจ ให้ธุรกิจมีความเข้มแข็งและมีศักยภาพอย่างต่อเนื่อง

2. ช่วยส่งเสริมการขับเคลื่อนโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศด้วยอุตสาหกรรมเป้าหมายสู่อุตสาหกรรมแห่งอนาคตของรัฐบาลภายใต้นโยบายประเทศไทย 4.0 รวมทั้งเป็นการส่งเสริมการดำเนินธุรกิจในรูปแบบนิติบุคคลมากยิ่งขึ้น 3. การยกเว้นภาษีเงินได้ข้างต้นจะส่งผลกระทบต่อรายได้ของรัฐเพียงเล็กน้อย แต่จะมีส่วนในการสร้างโอกาสแก่ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมรายใหม่ ให้มีฐานภาษีที่ยั่งยืน อันจะทำให้รัฐบาลสามารถจัดเก็บภาษีอื่นๆ ได้เพิ่มขึ้นในระยะยาว

ทั้งนี้ สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง ครั้งนี้ กำหนดให้ยกเว้นเงินได้พึงประเมินเท่าที่ผู้มีเงินได้จ่ายเป็นเงินลงทุนในหุ้นเพื่อจัดตั้งหรือลงทุนในหุ้นเพิ่มทุนของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่รวมกันทั้งหมดแล้วไม่เกิน 100,000บาท สำหรับปีภาษีนั้น โดยผู้มีเงินได้ต้องถือหุ้นในบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น ไม่น้อยกว่า 2 ปีต่อเนื่องกันนับแต่วันที่ลงทุนในหุ้นนั้น เว้นแต่ทุพพลภาพหรือตาย เป็นเงินได้พึงประเมินที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ทั้งนี้ เฉพาะที่ได้จ่ายไปในระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2561 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2562 และให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด

สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตามข้อ 1 ต้องมีคุณสมบัติและลักษณะดังต่อไปนี้ บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย และจดทะเบียนจัดตั้งขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2558 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2562 มีทุนชำระแล้วในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกิน 5 ล้านบาทและมีรายได้จากการขายสินค้าและการให้บริการในรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกิน 30 ล้านบาท ในรอบระยะเวลาบัญชีที่ผู้มีเงินได้ได้ลงทุนในบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น

ส่วนอุตสาหกรรมเป้าหมาย ที่จะได้รับการยกเว้นภาษีในครั้งนี้ ประกอบด้วย

(1) อุตสาหกรรมอาหารและการเกษตร (2) อุตสาหกรรมเพื่อประหยัดพลังงาน ผลิตพลังงานทดแทน และพลังงานสะอาด (3) อุตสาหกรรมฐานเทคโนโลยีชีวภาพ (4) อุตสาหกรรมการแพทย์และสาธารณสุข (5) อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว อุตสาหกรรมบริการ และอุตสาหกรรมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (6) อุตสาหกรรมวัสดุก้าวหน้า (7) อุตสาหกรรมสิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม และเครื่องประดับ(8) อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน (9) อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์ ซอฟต์แวร์และบริการสารสนเทศ และ (10) อุตสาหกรรมฐานการวิจัย พัฒนาและนวัตกรรม หรืออุตสาหกรรมใหม่

ทั้งนี้ โดยใช้เทคโนโลยีหลักเป็นฐานในกระบวนการผลิตและการให้บริการตามหลักเกณฑ์ที่สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติกำหนด และได้รับการรับรองจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติตามที่กำหนด และต้องเป็นผู้มีรายได้จากการขายสินค้าและการให้บริการของกิจการที่ประกอบอุตสาหกรรมเป้าหมายหรือรายได้เกี่ยวเนื่องกับกิจการที่ประกอบอุตสาหกรรมเป้าหมายอย่างใดอย่างหนึ่งหรือรวมกันไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของรายได้ทั้งหมดในรอบระยะเวลาบัญชีของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEs ผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *




กำลังโหลดความคิดเห็น