xs
xsm
sm
md
lg

ช่างซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้า ผันขาย “ชาบ่าเก่า” โชว์จุดขายดื่มแบบวันช็อตในขวดแบน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


แม้จะเป็นเครื่องดื่มที่ยุคนี้หาดื่มได้ทั่วไปสำหรับชานมเย็น แต่เมื่อจับมาอยู่ในแพคเกจใหม่กลับเพิ่มมูลค่าให้เจ้าของธุรกิจอย่างไม่น่าเชื่อ และยึดอาชีพการขายชาภายใต้ชื่อ “ชาบ่าเก่า” มาจนถึงปัจจุบันที่จากเดิมเคยรุกทำหลายธุรกิจแต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ

วีระพันธ์ คำมาเร็ว หรือ โย เจ้าของธุรกิจ “ชาบ่าเก่า” ที่แค่ชื่อก็สะดุดหู และเรียกความสนใจแก่ลูกค้าได้ไม่น้อย ที่มาของชื่อนี้เคยเป็นชื่อของร้านขายกางเกงยีนส์มือสองมาก่อน คำว่า ‘บ่าเก่า’ เป็นภาษาเหนือ ถอดความได้ว่า ของมือสองของใช้แล้ว และยังเป็นคำพ้องของคำว่า ‘ไม่เก่า’ ได้อีกด้วย

แต่กว่าจะมาเป็นธุรกิจชาบ่าเก่าที่ตอนนี้คุณโยยึดเป็นอาชีพหลักนั้น เขาได้ผ่านมาหลายอาชีพเริ่มจากการเป็นพนักงานบริษัทมากว่า 10 ปี ในตำแหน่งช่างซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้า สุดท้ายตัดสินใจลาออกจากบริษัทโดยเขาให้เหตุผลว่าหมดยุคที่ผู้คนจะซ่อมแล้ว และด้วยนิสัยส่วนตัวเป็นคนอยากรู้อยากเห็น ชอบเรียนรู้หาประสบการณ์ใหม่อยู่เสมอเขาจึงผันตัวมาเป็นพ่อค้าขายของที่ตลาดนัดเริ่มจากขายของกิ๊ฟชอบ แต่แค่เพียง 3 เดือนก็ต้องปิดกิจการ เนื่องจากไม่มีประสบการณ์ด้านการทำธุรกิจมาก่อน เขาตัดสินใจเปลี่ยนมาทำเสื้อมัดย้อมหวังกอบโกยเงินช่วงเทศกาลสงกรานต์ โดยนำไปขายที่จังหวัดเชียงใหม่ จากพื้นเพเป็นคนจังหวัดพะเยา ซึ่งได้รับการตอบรับดีมาก

ต่อมาเมื่อเทศกาลสงกรานต์จบลงรายได้ก็หดหายไป เขาเริ่มมองหาธุรกิจอื่นมาทดแทน โดยได้ไปรับกางเกงยีนส์มือสองจากจังหวัดสระแก้วมาจำหน่ายในตัวละ 150 บาท ซึ่งขั้นตอนก่อนจะนำมาขายค่อนข้างยุ่งยากและใช้พื้นที่ในการขายสินค้าตัวนี้มาก เขาใช้พื้นที่หน้าบ้านจังหวัดพะเยาเป็นหน้าร้าน การตอบรับของลูกค้าก็ไม่หวือหวามากนัก ทำให้เขามีเวลาคิดที่จะหาธุรกิจอื่นมาขายเสริมหวังใช้พื้นที่ว่างริมถนนหน้าบ้านให้เกิดประโยชน์

เขามองไปที่เครื่องดื่มอย่าง ‘ชา’ และ ‘กาแฟ’ ที่ใช้เงินลงทุนไม่สูงมากนักและน่าจะทำได้ไม่ยากซึ่งในช่วงนั้นกระแสแก้วมีหูกำลังเป็นที่นิยม ทำให้เขารู้สึกว่าผู้คนกำลังตอบรับกับภาชนะที่เป็นแก้วสำหรับการใส่เครื่องดื่ม กระทั่งเค้าไปเจอขวดแก้วแบนหรือที่รู้จักกันดีคือ ‘ขวดกั๊กแบน’ ที่ผู้คนจะนำไปบรรจุเครื่องดื่มแอลกอฮอร์ เขานำมาใส่กับชานม ทั้งๆ ที่เป็นคนที่ไม่ดื่มชาและกาแฟเลย อาศัยศึกษาสูตรเมนูเหล่านี้จากอินเตอร์เน็ต

จากเงินเริ่มต้นที่เหลืออยู่เพียง 2,000 บาท เขาลงทุนไปกับการซื้อขวดแบนและวัตถุดิบในการชงชาเดิม โดยช่วงแรกเลือกใช้ใบชาจากภาคใต้ แต่ด้วยค่าขนส่งและพื้นเพเป็นคนภาคเหนือจึงมองหาชาคุณภาพในท้องถิ่นเพื่อสร้างจุดขาย พร้อมออกแบบโลโก้และชื่อแบรนด์ภายใต้ชื่อว่า “ชาบ่าเก่า” แปลงชื่อมาจากร้านกางเกงยีนส์ที่เคยชื่อว่า “ยีนส์บ่าเก่า”

การที่เขาเลือกใช้ขวดแบนมาเป็นบรรจุภัณฑ์ทำให้สินค้าออกมาในสไตล์วินเทจดังนั้นเขาจึงมีการออกแบบโลโก้และเลือกใช้ฟอนต์ในสไตล์วินเทจจ้างคนออกแบบไม่นานและทำขายครั้งแรก ที่ถนนคนเดินจังหวัดพะเยาขายเฉพาะวันศุกร์ถึงวันอาทิตย์ ซึ่งเขาขายครั้งแรกในวันอาทิตย์ทำชาเตรียมไว้ประมาณ 90 ขวดผลตอบรับดีเกินคาดสินค้าขายหมดภายในครึ่งชั่วโมง ทั้งๆ ที่การจัดร้านธรรมดาและเรียบง่ายมาก เป็นการนำโต๊ะพับไปตั้ง ปูผ้า เลือกใช้กล่องโฟมแช่ชาหวังให้ลูกค้ารับประทานในรูปแบบเย็นโดยไม่ต้องใส่น้ำแข็งให้ดื่มในลักษณะการดื่มเหล้าแบบช็อต


“เราขายครั้งแรกที่ถนนคนเดิน ขายในราคาเพียงขวดละ 30 บาท ซึ่งหมดภายในเวลาอันรวดเร็วจากจุดเด่นที่ลูกค้าชื่นชอบคือรสชาติของชา กลิ่นชา และความเข้มข้นกลมกล่อมที่ไม่หวานเกินไปนัก โดยเราใช้ชาชงเพียงครั้งเดียวแล้วทิ้ง ทำให้ได้กลิ่นและรสชาติของชาแบบเต็มที่ เกิดกระแสการบอกปากต่อปากและเกิดเป็นกระแสที่คนพะเยาถ่ายรูปแล้วนำไปแชร์ในโลกโซเชียล”


แม้ร้านชาบ่าเก่า ในเดือนแรกจะมีเพียงเมนูเดียวคือชาเย็น ก็ถือว่าได้รับการตอบรับดีซึ่งเขาตระเวนขายไปทั่วเมืองพะเยาจากนั้นมีการปรับราคาขึ้นเป็นขวดละ 35 บาทและ 40 บาทในปัจจุบันเนื่องจากราคาวัตถุดิบอย่างนมและน้ำตาลขึ้นราคาก็ยังมีลูกค้าตอบรับดีเช่นเดิม


แต่ด้วยจุดด้อยของชาบ่าเก่า คือต้ องแช่เย็นและเก็บได้เพียงไม่กี่วันทำให้เขาคิดวิธีทำให้ชาเก็บได้นานขึ้น คือ เมื่อต้มชาเสร็จใหม่ร้อนๆ ก็นำไปน็อคน้ำแข็งจะทำให้ชาอยู่ได้นาน 7-10 วัน แต่ถ้าเมนูที่ไม่มีนมผสมจะอยู่ได้เป็นเดือน ซึ่งปัจจุบันเขาได้เพิ่มเป็นชาเขียว ชามะนาวโกโก้ น้ำอัญชันมะนาว เป็นต้น

ปัจจุบันร้านชาบ่าเก่ายึดทำเลที่จังหวัดเชียงใหม่ จากกระแสความนิยมที่จังหวัดพะเยาเริ่มเสื่อมถอย เขาเลือกเดินทางสู่หัวเมืองใหญ่ ตระเวนไปตามตลาดนัด ล่าสุดปักหลักที่ถนนคนเดินวัวลายขายในวันเสาร์ ส่วนวันพุธ-ศุกร์ จะขายบริเวณห้างเมย่า (Meya) และวันอาทิตย์ขายที่ตลาดออแกนิค ในสัปดาห์ที่ 1 และ 3 ของเดือนเท่านั้น รวมถึงมีลูกค้าชาวจีนมาเป็นลูกค้าประจำ โดยมีสัดส่วนประมาณ 60% และคนไทยอีก 40%


แม้ปัจจุบันยอดขายจะไม่หวือหวาอย่างในการทำธุรกิจช่วงแรก แต่ด้วยรายได้ที่เข้ามา เขายอมรับว่าพออยู่ได้แต่ก็ถือว่ามั่นคงพอสมควรเนื่องจากเป็นธุรกิจที่เป็นของกินเชื่อว่าไม่มีวันตายหากไม่หยุดพัฒนาผลิตภัณฑ์

***สนใจติดต่อ 086-429-1773 หรือที่ Facebook: ชาบ่าเก่า***
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEs ผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *




กำลังโหลดความคิดเห็น