xs
xsm
sm
md
lg

สถาบันอาหาร เปิดตัวแอป “Thai Halal” ตรวจสอบผลิตภัณฑ์ฮาลาล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายยงวุฒิ เสาวพฤกษ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม
สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดให้ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน Thai Halal ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบข้อมูลผลิตภัณฑ์ฮาลาลได้ทันทีเพียงกรอกเลขที่รับรองฮาลาล หรือสแกนคิวอาร์โค้ด/บาร์โค้ดของผลิตภัณฑ์ โดยใช้ฐานข้อมูลจาก สำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย และสถาบันอาหาร เพื่อต่อยอดจากการจัดทำเว็บไซต์ www.thaihalalfoods.com

นายยงวุฒิ เสาวพฤกษ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า  จัดทำเว็บไซต์ www.thaihalalfoods.com เพื่อเป็นแหล่งข้อมูลเชิงลึกด้านอาหารฮาลาลให้บริการแก่ภาคธุรกิจและผู้ที่สนใจ อาทิ ข้อมูลสถิติการค้า รายงาน บทวิเคราะห์ งานวิจัยตลาด หลักการและแนวทางปฏิบัติการใช้เครื่องหมายรับรองฮาลาล ตลอดจนการเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ การเป็นผู้ประสานงานให้ผู้ประกอบการที่ต้องการขอรับรองฮาลาล กับ สำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย รวมทั้งเสริมสร้างความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อให้เกิดชุมชนแห่งการเรียนรู้ด้านอุตสาหกรรมของประเทศในอนาคต

“วันนี้เราได้พัฒนาแอปพลิเคชัน Thai Halal ขึ้นมา ทั้งระบบ iOS และ Android เพื่อให้ผู้บริโภคที่ดาวน์โหลดมาใช้ สามารถตรวจสอบข้อมูลผลิตภัณฑ์ฮาลาลได้ทันทีว่าได้รับการรับรองฮาลาลจริงหรือไม่ โดยการใส่ข้อมูลเลขที่รับรองฮาลาล หรือ สแกนบาร์โค้ด หรือ คิวอาร์โค้ดของผลิตภัณฑ์ จะปรากฎข้อมูลวันที่ขอรับรอง และวันหมดอายุ หากข้อมูลผลิตภัณฑ์ยังไม่เข้าระบบจะแจ้งให้ตรวจสอบเพิ่มเติมที่สำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย”

นอกจากนี้ Thai Halal ยังเป็นช่องทางให้ผู้ประกอบการ สามารถนำผลิตภัณฑ์ของตนเองที่ผ่านการรับรองฮาลาลมาโปรโมตผ่านแอปพลิเคชันนี้ได้อีกด้วย โดยกรอกข้อมูลใบรับรองฮาลาล ข้อมูลผลิตภัณฑ์ และข้อมูลผู้ผลิต รอการตรวจสอบและอนุมัติตามลำดับ ทั้งนี้ จะใช้ฐานข้อมูลจาก สำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย และสถาบันอาหาร ทั้งนี้ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สถาบันอาหาร โทร. 02-422-8688 ต่อ 3203, 3204

อนึ่ง สถานการณ์การผลิตรวมทั้งการรับรองอาหารฮาลาลของไทยนั้น ปัจจุบันมีบริษัทที่ได้รับรองมาตรฐานอาหารฮาลาลกว่า 5,000 บริษัท เพิ่มขึ้นจากปี 2554 ที่มีสถานประกอบการในประเทศที่ขอรับการรับรองฮาลาล 2,188 ราย หรือเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 40 ต่อปี ในภาพรวมส่วนใหญ่เป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอาหารเป็นหลัก โดยมีสัดส่วนรวมกันสูงถึงร้อยละ 90 (ผู้ผลิตอาหาร 72%, ร้านอาหาร 13%, โรงเชือดและชำแหละเนื้อสัตว์ 3% และผู้นำเข้าอาหาร 2% โดยประมาณในปี 2554) ส่วนที่เหลืออื่นๆ อีกร้อยละ 10 เป็นผู้ประกอบการที่ผลิตและนำเข้าสินค้าอุปโภค เช่น ผู้ผลิตเครื่องสำอาง ยาสีฟัน ยาหรือสมุนไพร เป็นต้น ปัจจุบันคาดว่ามีผลิตภัณฑ์ที่ขอรับการรับรองฮาลาลสูงกว่า 100,000 รายการ เพิ่มขึ้นจาก 64,588 รายการในปี 2554 หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 20 ต่อปีโดยประมาณ

ตลาดเอเชียเป็นตลาดอาหารฮาลาลที่มีศักยภาพในการส่งออกสูงสุด จากสัดส่วนประชากรชาวมุสลิมที่มีอยู่ค่อนข้างสูงร้อยละ 32.6 ของจำนวนประชากรทั้งหมดในภูมิภาค โดยมาเลเซียได้ตั้งเป้าหมายเป็นศูนย์กลางฮาลาลของโลก (Global Halal Hub) ภายในปี 2563 โดยมีแนวทางการพัฒนาธุรกิจฮาลาลของประเทศแบบองค์รวม ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ประกอบกับการสร้างระบบนิเวศ ฮาลาล (Halal Ecosystem) ซึ่งรัฐบาลมาเลเซียให้การสนับสนุนด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล ของประเทศอย่างเต็มที่ ทั้งการจัดทำมาตรฐานฮาลาล การให้สิทธิประโยชน์และแรงจูงใจต่างๆ เช่น การยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับผู้ประกอบการในอุทยานฮาลาล (Halal Park) และผู้ประกอบการด้าน โลจิสติกส์ฮาลาล หรือที่เกี่ยวข้อง การลดหย่อนภาษีสองเท่าสำหรับค่าใช้จ่ายในการดำเนินการเพื่อขอการรับรองมาตรฐานฮาลาล เป็นต้น

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEs ผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น