xs
xsm
sm
md
lg

กสอ.ควงเกาหลีใต้พัฒนาเครื่องกระตุกหัวใจ คาดลดนำเข้ากว่า 9,000 ล้านบาท

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ลงนามบันทึกความร่วมมือ
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม จับมือภาคเอกชนเกาหลีใต้ ร่วมพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องมือและอุปกรณ์การแพทย์ หวังดันผู้ประกอบการไทยให้นำเทคโนโลยีการผลิตขั้นสูงมาใช้ นำร่องร่วมเกาหลีใต้พัฒนาเครื่องกระตุกหัวใจอัตโนมัติ เล็งเชื่อมโยงสู่ผู้ประกอบการและผู้ผลิตรายอื่นเพื่อให้เกิดการกระจายองค์ความรู้ในการผลิตใช้เองในประเทศลดนำเข้า คาด 5 ปีจะผลิตได้ 1 แสนเครื่อง

นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า แนวทางในการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายให้เกิดประสิทธิภาพอย่างหนึ่งคือ การเชื่อมโยงความร่วมมือกับองค์กรธุรกิจชั้นนำหรือประเทศที่มีความเชี่ยวชาญ เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนแนวคิด องค์ความรู้ เทคโนโลยีการผลิต นวัตกรรมใหม่ๆ รวมถึงผู้เชี่ยวชาญเฉพาะสาขา ฯลฯ ล่าสุดทางกรมฯ จึงได้จับมือสร้างความสัมพันธ์กับภาคอุตสาหกรรมของสาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) ซึ่งเป็นประเทศที่มีการพัฒนาผู้ประกอบการด้วยนวัตกรรม เทคโนโลยีการผลิตในระดับแนวหน้า ร่วมพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องมือและอุปกรณ์การแพทย์ ด้วยการนำโมเดลนวัตกรรมที่ทันสมัยมาสู่ผู้ประกอบการไทย เพื่อให้ทั้งสองประเทศได้รับประโยชน์ร่วมกัน

นายกอบชัยกล่าวเพิ่มเติมว่า แม้ว่าประเทศไทยจะเป็นประเทศที่มีฐานในด้านการผลิตและส่งออกอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่มีคุณภาพแห่งหนึ่งของภูมิอาเซียน แต่ก็ยังจำเป็นต้องได้รับการพัฒนาอีกมาก เนื่องจากการผลิตเครื่องมือแพทย์ของไทยยังเป็นการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีไม่สูงนักและเป็นเครื่องมือประเภทใช้แล้วทิ้ง เช่น ถุงมือยาง ถุงยางอนามัย หลอดฉีดยา แต่ในขณะเดียวกันประเทศไทยกลับนำเข้าเครื่องมือแพทย์ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เช่น เครื่องเอกซเรย์ เครื่องวินิจฉัยโรค จากต่างประเทศมากกว่าครึ่งของยอดขายเครื่องมือแพทย์ที่ผลิตเองในประเทศทั้งหมด ดังนั้น กสอ.จึงมุ่งหวังให้การร่วมมือครั้งนี้เป็นการกระตุ้นให้ผู้ประกอบการไทยได้มองเห็นและตระหนักถึงความสำคัญ พร้อมนำมาเปลี่ยนแปลงรูปแบบธุรกิจไปสู่การผลิตสินค้าที่สามารถแข่งขันได้มากขึ้น

สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้ กองพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีอุตสาหกรรม ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ได้ดึง บริษัท เมดิอาน่า จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำในด้านการพัฒนาเทคโนโลยีทางการแพทย์ของเกาหลีใต้ พร้อมด้วยทีมนักวิจัยของวิศวกรรม ภาควิชาชีวการแพทย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มาร่วมวิจัยและพัฒนาเครื่องกระตุกหัวใจอัตโนมัติ (เครื่อง AED) อุปกรณ์สำคัญที่จะช่วยชีวิตผู้ป่วยที่มีสภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน ซึ่งสภาวะดังกล่าวนั้นเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการเสียชีวิตสูงสุดอันดับที่ 3 รองจากมะเร็งและอุบัติเหตุ และคร่าชีวิตคนไทยมากถึง 54,000 คนต่อปี และด้วยสิ่งที่เกิดขึ้นในอนาคต อุปกรณ์ดังกล่าวจึงจำเป็นที่จะต้องติดตั้งในทุกอาคารและสถานที่ ทั้งยังจะต้องผลักดันให้สามารถผลิต วิจัย และพัฒนาได้โดยนักนวัตกรรมและผู้ผลิตในประเทศไทย เพื่อลดหรือทดแทนการนำเข้าให้น้อยลงกว่าปัจจุบัน ซึ่งมีราคาอยู่ที่ประมาณ 90,000 บาท ตลอดจนผลักดันให้สามารถนำงานวิจัยนี้เข้าสู่บัญชีนวัตกรรมไทย โดยคาดว่าภายใน 5 ปีจะสามารถผลิตอุปกรณ์ดังกล่าวได้ไม่ต่ำกว่า 100,000 เครื่อง ช่วยลดการเสียดุลการค้าได้ถึง 9,000 ล้านบาท
เครื่องกระตุกหัวใจ
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น