xs
xsm
sm
md
lg

มารู้จัก พืชดัดแปลงพันธุกรรม มีข้อดี ข้อเสียอย่างไร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เทคโนโลยีชีวภาพ หรือ ThaiBiotech ได้นำเสนอ ตัวอย่างของ พืช GMOs หรือ พืชดัดแปลงพันธุกรรม (Examples of GMOs, Plants) ดังนี้

มะเขือเทศ GMOs ทำให้ได้มะเขือเทศมีลักษณะที่ดีขึ้น มีความทนทานต่อโรคมากขึ้น จากการที่ใส่ antisense gene ของยีน(gene)ที่ผลิตเอนไซม์ polygalacturonase (PG) ทำให้เอนไซม์ polygalacturonase ถูกรบกวนการแสดงออก มีผลทำให้เนื้อของมะเขือเทศมีความแข็งมากขึ้นทำให้ลดความเสียหายหรือการบอบช้ำขณะทำการขนส่งลง ทำให้มะเขือเทศเน่าช้าลงหลังจากที่เก็บเกี่ยวแล้ว

มะละกอ GMOs ทำให้ได้มะละกอที่ต้านทานโรคห่าได้ หรือต้านทานโรคไวรัสใบด่างวงแหวนได้ และทำให้ได้มะละกอมีจำนวนเมล็ดที่น้อยลง

ถั่วเหลือง GMOs ทำให้ได้ถั่วเหลืองที่มีลักษณะที่ดีขึ้น จากการนำยีน(gene)จากแบคทีเรียใส่ลงไปในดีเอ็นเอ(DNA)ของถั่วเหลือง ทำให้ถั่วเหลืองมีความสามารถที่ทนทานต่อสารเคมีที่ปราบวัชพืชชนิด Roundup (glyphosate) หรือ glufosinate ได้ดีกว่าถั่วเหลืองแบบทั่วไป มีผลทำให้สามารถใช้สารเคมีชนิด Roundup ได้ในปริมาณที่มากขึ้น ก่อให้เกิดได้ผลผลิตของถั่วเหลืองมีจำนวนมากขึ้นไปด้วย, จากการที่ทำการ knocked out ยีน(gene)เดิมที่ทำให้เกิดไขมันชนิดอิ่มตัว ทำให้ได้ถั่วเหลืองที่มีไขมันชนิดอิ่มตัวน้อยลง, จากการที่นำยีน(gene)พวกยีนบีทีใส่ลงไปในถั่วเหลืองทำให้ถั่วเหลืองสามารถฆ่าหนอนแมลงที่เป็นศัตรูของถั่วเหลืองได้

ฝ้าย GMOs ทำให้ได้ฝ้ายที่สามารถฆ่าหนอนที่เป็นศัตรูของฝ้ายได้ โดยได้ใส่ยีน(gene)ของแบคทีเรียที่ชื่อ Bacillus thuringiensis var. kurataki (B.t.k) แทรกเข้าไปในโครโมโซม(chromosome)ของต้นฝ้าย ทำให้ฝ้ายสามารถที่จะสร้างโปรตีน Cry 1A ที่สามารถฆ่าหนอนที่เป็นศัตรูของฝ้ายได้

มันฝรั่ง GMOs ทำให้ได้มันฝรั่ง (Potato)ที่มีลักษณะที่ดีขึ้น มีคุณค่าทางสารอาหารที่เพิ่มมากขึ้นโดยได้ใส่ยีน(gene)ของแบคทีเรียที่ชื่อ Bacillus thuringiensis แทรกเข้าไปในยีน(gene)ของมันฝรั่ง ทำให้มันฝรั่ง GMOs มีคุณค่าทางสารอาหาร(เพิ่มปริมาณโปรตีน)ที่เพิ่มมากขึ้น และในบางชนิดอาจมีประโยชน์ในทางการแพทย์ที่สามารถผลิตวัคซีนที่เป็นประโยชน์กับมนุษย์ได้อีกด้วย

ข้าวโพด GMOs ทำให้ได้ข้าวโพดที่มีลักษณะที่ดีขึ้น สามารถสร้างสารพิษทำให้แมลงที่มากัดกินข้าวโพดตายได้ โดยได้ใส่ยีน(gene)ของแบคทีเรียที่ชื่อ Bacillus thuringiensis แทรกเข้าไปในยีน(gene)ของเมล็ดข้าวโพด จึงสามารถทำให้ข้าวโพดสร้างสารที่เป็นพิษต่อแมลงที่เป็นศัตรูของข้าวโพดได้ โดยเมื่อแมลงที่เป็นศัตรูของข้าวโพดมากัดกินข้าวโพด GMOs แมลงก็จะตายลง

อ้อย GMOs ทำให้ได้อ้อยที่มีลักษณะที่ดีขึ้น ทำให้สามารถต่อต้านยาฆ่าแมลง และมีปริมาณน้ำตาลซูโครสในปริมาณที่สูงขึ้น

ข้าว GMOsทำให้ได้ข้าวที่มีลักษณะที่ดีขึ้น สามารถทนแล้ง ทนเค็มได้ หรือ มีสารอาหารอย่างบีต้าแคโรทีน(beta-carotene) ที่เป็นสารเริ่มต้น (precursor)ของวิตามิน A ได้

พริกหวาน GMOs ทำให้ได้พริกหวานที่มีลักษณะที่ดีขึ้น จากการที่ใส่ยีน(gene) coat protein ของไวรัสลงไปในดีเอ็นเอ(DNA)ทำให้สามารถต้านทานไวรัสได้

สตรอเบอรี่ GMOs ทำให้ได้สตรอเบอรี่ที่มีลักษณะที่ดีขึ้น อย่างเช่น ผลของสตรอเบอรี่เน่าเสียได้ช้าลง ก่อให้เกิดความสะดวกในการขนส่งมากยิ่งขึ้น ทำให้ผลของสตรอเบอรี่มีสารอาหารเพิ่มมากขึ้น

แอปเปิล GMOs ทำให้ได้แอปเปิลที่มีลักษณะที่ดีขึ้น คือ ทำให้แอปเปิลมีความสดใหม่และมีความกรอบของผลแอปเปิลเป็นระยะเวลาที่ยาวนานขึ้นหรือคือทำให้ระยะเวลาในการเน่าเสียช้าลง (delay ripening) ทำให้แอปเปิลทนทานต่อแมลงต่างๆ ที่เป็นศัตรูของแอปเปิล

วอลนัท GMOs ทำให้ได้เม็ดวอลนัทมีลักษณะที่ดีขึ้น คือ ทนทานต่อโรคของวอลนัทมากขึ้น

คาโนลา(Canola) GMOs ทำให้ได้คาโนลา(Canola)มีลักษณะที่ดีขึ้น ต้านทานยาปราบวัชพืชพวก glyphosate หรือ glufosinate ได้ ทำให้ได้น้ำมันจากคาโนลา(Canola)มากขึ้น

สควอช(Squash) GMOs ทำให้ได้สควอช(Squash)มีลักษณะที่ดีขึ้น จากการที่ใส่ยีน(gene) coat protein ของไวรัสลงไปในดีเอ็นเอ(DNA)ทำให้สามารถต้านทานไวรัสได้

สำหรับข้อเสียของ GMOs ที่ต้องระวัง คือ ปัญหาเรื่อง ความเสี่ยงต่อความปลอดภัยของผู้บริโภคในการตัดต่อพันธุกรรมในพืช ทำให้พืช GMOs อาจมีการผลิตสารบางอย่างหรือโปรตีนบางชนิดที่ไม่พึงประสงค์ที่ไม่เหมือนจากในธรรมชาติที่พืชปกติชนิดนั้นผลิตออกมา เป็นผลอันเกิดจากการใส่ยีนที่ไม่มีอยู่ตามปกติของพืชชนิดนั้นลงไป สารหรือโปรตีนชนิดนั้นอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้บริโภคได้ ซึ่งในระบบสรีระวิทยาของพืชมีความซับซ้อนกว่าในแบคทีเรียหรือไวรัสมากอาจทำให้ไม่สามารถคาดการณ์ผลลัพธ์ได้ทั้งหมด ทั้งนี้ถ้าหากพืช GMOsผ่านการแปรรูปแล้ว จะมีความเสี่ยง(ในกรณีนี้)น้อยกว่า ที่ยังไม่ผ่านการแปรรูป

ส่วนผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ปัญหาเรื่องสารเคมีปนเปื้อน แม้ว่าจะมีการกล่าวว่าการปลูกพืช GMOs นั้นลดการใช้สารเคมี แต่ในทางปฏิบัติกลับมีการปลูกพืช GMOs ในเชิงพาณิชย์ที่มีการตัดต่อยีนให้ทนต่อไกลโฟเซต (Glyphosate) {ชื่อทางการค้าของไกลโฟเซตคือ ราวด์อั้พ (RoundUp) ผลิตโดยมอนซานโต้ เป็นยาปราบวัชพืชหรือยาฆ่าหญ้า} ที่นิยมปลูกกันแพร่หลายในหลายประเทศที่ปลูกพืช GMOsมีผลทำให้เกษตรกรใช้ไกลโฟเซตเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากกว่าเดิม ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทำให้มีการปนเปื้อนสารเคมีชนิดนี้เป็นจำนวนมาก รวมถึงสุขภาพของผู้ใช้สารเคมี ผู้คนในบริเวณใกล้เคียง และอาจรวมถึงผู้บริโภคด้วย แม้ว่าพิษของไกลโฟเซตนั้นจะไม่ร้ายแรงถึงขั้นตายในทันที แต่พิษของมันจะสะสมในร่างกายส่งผลเสียในระยะยาวได้และการใช้ไกลโฟเซตบ่อยๆอาจทำให้เกิด สุดยอดวัชพืช(Super Weed) ที่ทนทานต่อไกลโฟเซตได้

ปัญหาในเรื่อง การนำจีเอ็มโอ(GMOs)ออกสู่สิ่งแวดล้อมทั่วไป โดยอาจมีผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งอาจทำให้เกิดสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ใหม่ที่มีลักษณะเด่นเหนือกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิมในธรรมชาติมากจนกลืนสายพันธุ์ดั้งเดิมในธรรมชาติให้หายไปหรือสูญพันธุ์ไป หรืออาจเกิดลักษณะเด่นอะไรบางอย่างถูกถ่ายทอดไปยังสายพันธุ์ที่ไม่ต้องการ หรืออาจทำให้ศัตรูพืชดื้อต่อสารเคมีปราบศัตรูพืช อาจทำให้เกิด “สุดยอดแมลง(Super Bug)” หรือ “สุดยอดวัชพืช(Super Weed)”ได้

ข้อดีของ การทำGMOs
ประโยชน์ทางด้านการเกษตร ทำให้เกิดพืชที่ให้ผลผลิตมากขึ้น ผลใหญ่ขึ้น ได้พืชที่ทนต่อสภาพดินฟ้าอากาศ ทำให้เกิดพืชที่ทนต่อศัตรูพืช ลดการใช้สารเคมี ผลผลิตที่สามารถเก็บรักษาเป็นเวลานานและอยู่ได้นาน

ส่วนประโยชน์ต่อผู้บริโภค ทำให้เกิด พืช ผัก ผลไม้ มีคุณค่าทางโภชนาการเพิ่มมากขึ้น เช่น ทำให้มะเขือเทศมีวิตามินอีมากขึ้น ลดการขาดแคลนอาหารได้ เนื่องจากการปรับปรุงพันธุ์ให้มีผลผลิตและความต้านทานต่างๆมากขึ้น ประโยชน์ เชิงพาณิฃย์ ลดขั้นตอนและระยะเวลาของการผสมพันธุ์พืช เกิดพืชพันธุ์ใหม่ๆ ที่มีประโยชน์ในการพาณิชย์

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEs ผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น