xs
xsm
sm
md
lg

“ยิ้มสู้คาเฟ่” ร้านกาแฟของผู้พิการ.... .เพื่อผู้พิการ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ความพิการไม่ได้เป็นข้อบกพร่องของคนกลุ่มนี้อีกเลย เพราะทุกคนสามารถทำงานและเป็นเจ้าของร้านกาแฟได้โดยไม่ได้เป็นภาระต่อสังคม ซึ่งวันนี้มีตัวอย่างร้านกาแฟที่เกิดจากการรวมตัวของผู้พิการ ที่มีชื่อว่า Yimsoo Café (ยิ้มสู้คาเฟ่)
ศาสตราจารย์วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์” ประธานมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ และผู้ก่อตั้งร้านกาแฟ “ยิ้มสู้คาเฟ่” (ลำดับที่ 3ซ้าย)
สำหรับ Yimsoo Cafe (ยิ้มสู้คาเฟ่) เป็นร้านกาแฟในบรรยากาศนั่งสบายๆ อยู่ในซอยอรุณอมรินทร์ 39 กรุงเทพฯ จุดเด่นของร้านนี้คือ เสิร์ฟกาแฟออร์แกนิกและพร้อมเมนูอาหาร และภายในร้านยังมีมุมถ่ายรูปไว้ให้คนที่ชื่นชอบการถ่ายรูปอวดลงโซเชียล พร้อมบริการ Wi-Fi เรียกว่าครบสำหรับร้านกาแฟในยุคนี้

“ยิ้มสู้คาเฟ่” ก่อตั้งขึ้นโดย “มูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ” จุดประสงค์ของการก่อตั้งร้านแห่งนี้ต้องการสร้างรายได้ให้แก่ผู้ที่มีความบกพร่องทางด้านร่างกาย
น้องพิการทางการได้ยิน
"ศาสตราจารย์ วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์"  ประธานมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ และผู้ก่อตั้งร้านกาแฟ “ยิ้มสู้คาเฟ่” เล่าให้ฟังว่า ที่มาของ ยิ้มสู้คาเฟ่ เกิดขึ้นหลังจากวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ซึ่งในช่วงนั้นมีคนตกงาน มีนักธุรกิจล้มละลายเป็นจำนวนมาก บางคนยอมแพ้ถึงกับฆ่าตัวตาย ผมจึงได้ออกมาเขียหนังสือ “สู้ชีวิต เคราะห์สร้างโอกาส” ซึ่งเป็นการรวบรวมหลักธรรมคำสอนของ “มิสเจเนวีฟ คอลฟิลด์” (ผู้ก่อตั้งโรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพฯ) และ “ซิสเตอร์โรสมัวร์” (แม่อธิการโรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพฯ) เพื่อเป็นกำลังใจให้กับคนไทยผ่านพ้นวิกฤตในครั้งนั้นไปให้ได้ ซึ่งประสบความสำเร็จ เพราะคนที่ได้อ่านก็จะเข้าใจชีวิตมากขึ้น และมองเห็นโอกาสที่จะเดินต่อไป และรายได้จากการขายหนังสือ และเชิญชวนผู้อ่านหนังสือบริจาคเงิน เพื่อร่วมกันจัดตั้งมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่คนพิการ โดยมูลนิธิก่อตั้งขึ้นมาเมื่อปี 2542

ปัจจุบันมูลนิธิดังกล่าวถูกใช้เป็นพื้นที่นำเสนอผลงาน และเรื่องราวของผู้พิการในมิติต่างๆ รวมถึงมีผลงานศิลปะมากมายถูกจัดแสดงในสถานที่แห่งนี้ ที่นี่มีด้วยกัน 5 ชั้น มีบริการล่ามภาษามือทางไกล ศูนย์บริการจัดหางานคนพิการ ศูนย์เด็กเล็กเตรียมความพร้อมก่อนเข้าเรียน ศูนย์ฝึกอาชีพ และชั้นล่างสุด เปิดคาเฟ่

"ศาสตราจารย์ วิริยะ" เล่าว่า ในปี 2559 ได้นำพื้นที่ชั้นล่างของมูลนิธิฯ มาเปิดร้านคาเฟ่ ที่ชื่อว่า ยิ้มสู้คาเฟ่ วัตถุประสงค์ของการเปิด “ยิ้มสู้คาเฟ่” เพื่อใช้เป็นสถานที่พัฒนาคนพิการให้พึ่งพาตนเองได้ มีคุณภาพชีวิตที่ดีเท่าเทียมกับบุคคลทั่วไป เพราะคนพิการในสังคมจำนวนมากถูกปิดกั้นโอกาสหลายอย่าง เช่น การประกอบอาชีพ สาเหตุเพราะนายจ้างจำนวนไม่น้อยมองว่าคนที่อวัยวะไม่ครบ 32 อาจจะทำงานไม่มีประสิทธิภาพทัดเทียมคนปกติ
จุดบริการนั่งเล่นไวไฟ
“โดยสถานที่ถูกตกแต่งขึ้นเพื่อเอาใจคนรุ่นใหม่ที่ชอบถ่ายรูป จัดมุมถ่ายรูปไว้บริการ รวมไปถึงมีบริการปลั๊กไฟ และไวไฟ ส่วนของกาแฟ จุดเด่นคือ เราเสิร์ฟกาแฟออร์แกนิก ปลูกที่ดอยอินทนนท์ ได้การรับรองจากองค์การสหประชาชาติว่าเป็นกาแฟอินทรีย์ ปราศจากสารเคมี และนอกจากกาแฟ มีบริการอาหารด้วย ซึ่งแบ่งเป็น 2 โซน โซนกาแฟ และโซนอาหาร พื้นที่ร้านรองรับลูกค้าได้ถึง 100 คน ส่วนลูกค้าหลัก คือ นักศึกษา”

อย่างไรก็ตาม ด้วยเจตนารมณ์ของผู้ก่อตั้ง "ศาสตราจารย์วิริยะ" ต้องการจะใช้สถานที่แห่งนี้พัฒนาทักษะคนพิการ รวมถึงสร้างอาชีพ ดังนั้น พนักงานล้วนเป็นผู้ที่มีความบกพร่องทางด้านร่างกายทั้งสิ้น

“พนักงานที่ยิ้มสู้คาเฟ่ใช้วิธีประกาศรับสมัครทางอินเทอร์เน็ต ไม่คำนึงวุฒิการศึกษา ไม่จำกัดอายุ เพศ และวัย ปัจจุบันมีพนักงาน 6 คน หูหนวกทำงานหน้าร้าน 3 คน พนักงานพิการร่างกาย ในครัว 2 คน อายุ 55 ปี คนหูดี 1 คน ทุกคนจะมีรายได้ต่อเดือน เดือนละ 12,000 บาท”

“ศาสตราจารย์วิริยะ”  บอกว่า ยิ้มสู้คาเฟ่ หวังเป็นสถานที่ฝึกอาชีพให้ผู้พิการเข้ามาเรียนรู้ เพื่อว่าสักวันหนึ่งจะสามารถไปประกอบอาชีพเลี้ยงตัวได้ สำหรับกลุ่มลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการ 80 เปอร์เซ็นต์เป็นนักศึกษา ที่เหลือคือวัยทำงานและคนทั่วไป ชื่อ ยิ้มสู้คาเฟ่ มาจากชื่อบทเพลงพระราชนิพนธ์ “ยิ้มสู้” ที่ในหลวง รัชกาลที่ ๙ ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นเป็นขวัญ กำลังใจให้คนพิการได้สู้ชีวิต

สนใจ โทร. 0-2055-1901
จัดมุมเพื่อสร้างบรรยากาศสบายภายในร้าน

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEs ผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น