xs
xsm
sm
md
lg

สกว.ร่วมยกระดับของดีบุรีรัมย์ "กระยาสารทพอดีคำ" ต่อยอดจากวิจัยเชิงพาณิชย์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นักวิจัย สกว. ร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารของฝากของดีบุรีรัมย์หวังเพิ่มสมรรถนะทางธุรกิจของเอสเอ็มอี ทั้งเห็ดโคนญี่ปุ่นดองในน้ำซอส กระยาสารทพอดีคำ และกล้วยกรอบแปรรูป เพื่อสร้างจุดขายที่แตกต่าง และนำปราสาทหินเขาพนมรุ้งมาเป็นส่วนหนึ่งของรูปแบบบรรจุภัณฑ์ที่สะท้อนอัตลักษณ์ของจังหวัด

น.ส.สาวิตรี อกนิษฐ์เสนีย์ อาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ เปิดเผยถึงโครงการวิจัย “การสร้างศักยภาพและขีดความสามารถทางการแข่งขันผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์อาหารนำร่องจังหวัดบุรีรัมย์ เพื่อสร้างคุณค่าและมูลค่าเพิ่มอย่างยั่งยืน” โดยการสนับสนุนทุนวิจัยของฝ่ายการวิจัยมุ่งเป้า สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ว่า ตนและคณะวิจัยได้พัฒนาผลิตภัณฑ์เห็ดโคนญี่ปุ่น ผลิตภัณฑ์กระยาสารทและผลิตภัณฑ์จากกล้วย โดยคัดเลือกผู้ประกอบการที่มีคุณสมบัติเหมาะสมเข้ามาพัฒนาผลิตภัณฑ์

ทั้งนี้ผลิตภัณฑ์ด้านอาหารส่วนใหญ่มีรูปลักษณ์ รสชาติและบรรจุภัณฑ์ไม่ค่อยแตกต่างจากสินค้าโอทอป อายุการเก็บรักษาค่อนข้างสั้น บรรจุภัณฑ์ไม่ทันสมัยและสวยงาม ขาดการพัฒนารูปแบบและการทำการตลาดแนวใหม่ ขาดเงินทุน การใช้ประโยชน์ยังอยู่ในวงจำกัดเพราะขาดข้อมูลเชิงพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ ทำให้การพัฒนาศักยภาพด้านการลงทุนการบริหารจัดการการตลาด เทคโนโลยี เครื่องจักร และอุปกรณ์ มีค่อนข้างต่ำ อีกทั้งไม่มีบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางอาหาร

จากการศึกษางานวิจัยที่เกี่ยวข้องสามารถนำมาต่อยอดองค์ความรู้ของผลิตภัณฑ์จำนวน 2 ผลิตภัณฑ์ คือผลิตภัณฑ์เห็ดโคนญี่ปุ่นปรุงรสในน้ำซอส และผลิตภัณฑ์กระยาสารทพอดีคำ เมื่อนำสูตรกระบวนการผลิตจริงทำให้พบปัญหาของแต่ละผลิตภัณฑ์ ซึ่งผู้วิจัยได้พัฒนาปรับปรุงและทดลองพัฒนาสินค้าใหม่จำนวน 1 ผลิตภัณฑ์ คือผลิตภัณฑ์กล้วยกรอบแบบติดเปลือก (รสธรรมชาติ) และแบบไม่ติดเปลือก (รสปาปริก้า รสวาซาบิ)

คณะวิจัยได้ทดสอบการยอมรับทางการตลาดของผู้บริโภค เพื่อเป็นผลิตภัณฑ์อาหารนำร่องของจังหวัดบุรีรัมย์ โดยถ่ายทอดองค์ความรู้จากงานวิจัยสู่ผู้ประกอบการทั้ง 3 ราย จากนั้นนำเสนอสินค้าด้วยการแสดงสินค้าเพื่อให้ผู้บริโภคสร้างความรับรู้ของผลิตภัณฑ์จากกิจกรรมต่าง ๆทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างผู้ประกอบการและนักธุรกิจ นักธุรกิจกับนักธุรกิจ ผู้ที่สนใจทั่วไปเข้ามาเกิดพันธมิตรธุรกิจสร้างการค้าระหว่างกัน

งานวิจัยในครั้งนี้สามารถออกมาเชิงประจักษ์ในการวิจัยได้แล้วขายได้ เกิดผลิตภัณฑ์อาหารนำร่องของจังหวัดบุรีรัมย์ด้วยการนำทรัพยากรการผลิตมาพัฒนา จนกลายมาเป็นผลิตภัณฑ์ที่ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคทั้งรสชาติ รูปลักษณ์และความปลอดภัยต่อผู้บริโภค อีกทั้งสามารถนำมาเป็นของฝากของที่ระลึก ก่อให้เกิดเป็นการสร้างรายได้และอาชีพให้คนในชุมชนของจังหวัดบุรีรัมย์ และสร้างเศรษฐกิจภายในประเทศและต่างประเทศ ให้มีความสมดุลเป็นฐานรากในการพัฒนาประเทศไปสู่ความยั่งยืนต่อไป

“อุตสาหกรรมอาหารถือเป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญตามนโยบายของประเทศไทยที่ต้องการขับเคลื่อนอาหารไทยสู่ครัวโลก สร้างฐานการผลิตอาหารที่ใหญ่ที่สุด เพื่อสร้างรายได้และอาชีพให้กับคนในประเทศ งานวิจัยเชิงพาณิชย์จึงเป็นกุญแจสำคัญที่เข้าไปเพิ่มสมรรถนะทางธุรกิจของเอสเอ็มอีให้เติบโตอย่างมีประสิทธิภาพสู่การขยายผลของเศรษฐกิจในภาพรวม โดยสินค้าเหล่านี้มีวางจำหน่ายที่บุรีรัมย์คาสเซิล รวมถึงงานนิทรรศการและงานสินค้านวัตกรรม ร่วมกับ สกว. และหน่วยงานต่าง ๆ” อาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ กล่าว
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น