xs
xsm
sm
md
lg

ดร.เกริก. ครูเกษตรกร รุ่นใหม่ ..เดินตามรอยศาสตร์พระราชา ในหลวง ร.9

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดร.เกริก มีมุ่งกิจ
หลายคนคงจะรู้จัก กับ “ดร.เกริก มีมุ่งกิจ” กันบ้างแล้ว จากการทำงานด้านการเกษตร เจ้าของศูนย์ฝึกปฏิบัติงานวนเกษตรเขาฉกรรจ์ จังหวัดสระแก้ว และผู้ร่วมก่อตั้งโครงการ "คนกล้าคืนถิ่น" ที่ชวนคนไทยกลับบ้านมาทำอาชีพเกษตรกรรม รวมถึง เป็นประธานกรรมการบริหารธนาคารต้นไม้แห่งชาติ

ก่อนที่ ดร.เกริก จะมาทำการเกษตร เขาเคยมีรายได้เป็นหลักร้อยล้านบาท จากการทำธุรกิจที่ดิน จนวันหนึ่งบริหารงานผิดพลาด กิจการขาดทุน เรียกว่าล้มละลายกันเลยที่เดียว และสุดท้าย ได้เลือกที่จะกลับบ้าน พลิกพื้นดินของ ครอบครัว เดินหน้ามาทำการเกษตร บนที่ดิน จำนวน 99 ไร่ ที่เชาฉกรรจ์ จ.สระแก้ว

ดร.เกริก เล่าว่า ชีวิตการทำเกษตร ของเขา เริ่มต้นเมื่อ 9 ปีที่ผ่านมา โดยมีต้นแบบมาจากในหลวง รัชกาลที่ ๙ ซึ่งพระองค์ไม่ใช่คนจน แต่พระองค์ยังเลือกอยู่อย่างพอเพียง เพื่อเป็นตัวอย่าง และทรงเหนื่อยยาก ตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์ มุ่งพัฒนาการทำเกษตร ทรงคิดค้นหาวิธีต่าง เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ซึ่งเป็นอาชีพส่วนใหญ่ของคนไทย และทรงเล็งเห็นปัญหา ความมั่นคงทางอาหารในอนาคต โดยพระองค์พยายามทำอย่างไรให้ประชาชนของพระองค์ สมบูรณ์ มีความมั่นคงทางอาหาร เพราะเป็นทางรอดทางเดียว คือ การทำการเกษตร ผลิตอาหารให้เพียงพอในประเทศก่อนส่งออกจำหน่าย

สำหรับการทำการเกษตร “ดร.เกริก” แบ่งพื้นที่ กว่าครึ่งหนึ่งไปใช้กับการปลูกป่า เพราะมองว่า เมื่ออายุมากขึ้นอยู่ในวัยที่ไม่สามารถทำนา หรือปลูกผักได้ มีต้นไม้ที่เราปลูกทิ้งไว้ เป็นรายได้ เพราะต้นไม้ 1 ต้น สามารถทำรายได้หลักหมื่นบาท ไปจนถึงหลักแสนบาท ตอนนี้ยิ่งเวลาผ่านไป ต้นไม้มีคุณค่า มีราคา อยากเห็นคนไทยหันมาปลูกป่ากันมากๆ ปัจจุบันปรับสภาพพื้นที่ทำนา มาปลูกต้นไม้ เพราะถ้ามีต้นไม้สัก 1,000 ต้น ผ่านไป 10 ปี 20 ปี โอกาสที่จะมีเงินล้านไม่ใช่เรื่องยาก ในขณะที่เกษตรกรทำนา ปลูกผัก เท่าไหร่ถึงจะได้เงินล้านแบบนี้

หลังจากที่ดร.เกริก ได้เรียนรู้การทำการเกษตรด้วยตัวเอง มานานกว่า 3 ปี ถึงได้เป็นเกษตรกรเต็มตัว โดยมีรายได้จากพื้นที่ 99 ไร่ ถึงวันละ 20,000 บาท รายได้มาจาก การเผาถ่าน การขายน้ำส้มควันไม้ การทำต้นกล้าขาย ขายปุ๋ยที่ทำจากเศษใบไม้ และตัดหญ้าในพื้นที่ จากนาข้าว รวมถึง ช่วงที่รอต้นไม้ใหญ่ โต พร้อมนำมาทำเฟอร์นิเจอร์ขาย นำต้นพริกไทย มาปลูก มีรายได้จากพริกไทย การทำการเกษตรของ ดร. เกริก คือ จะปลูกผัก หรือ เลี้ยงสัตว์ จากความต้องการที่นำมาทำอาหาร ปลูกทุกอย่างที่กิน และเหลือ นำออกไปจำหน่าย

ดร.เกริก เล่าว่า หลังจาก ได้ทดลองทำการเกษตรมาได้ 5 ปี มีสื่อต่างๆ ให้ความสนใจ และนำเรื่องราวของผมไปเผยแพร่ ทำให้มีคนต้องการจะมาเรียนรู้การทำการเกษตร จึงได้เป็นที่มาของ ศูนย์ฝึกปฎิบัติการงานวนเกษตร ขึ้น ส่วนหนึ่งคือ เราก็ต้องการที่จะแบ่งปันสิ่งที่เราได้ทดลองทำและประสบความสำเร็จ ให้กับผู้ที่สนใจต้องการจะทำการเกษตร และอยากเห็นคนรุ่นใหม่ ที่ไปทิ้งบ้านเกิด ทิ้งครอบครัวไปทำงาน ได้กลับบ้าน และมาต่อยอดอาชีพการเกษตร ไม่ให้หายไปจากสังคมไทย เป็นที่มาของโครงการ คนกล้าคืนถิ่น ที่ผมทำอยู่ด้วย

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการทำการเกษตรไม่ใช่เรื่องง่าย หลายคนที่มาเรียนสุดท้ายก็ยอมถอยไป ซึ่ง 4-5 วัน ก็รู้แล้วละว่า เขาทำได้หรือไม่ เพราะการทำการเกษตรเป็นเรื่องที่เหนื่อยยากลำบาก ถ้าไม่มีความเพียรพยายามมากพอ คงจะทำไม่ได้ แต่ถ้าคนไหนที่ตั้งใจจริง ก็จะได้วิชา จากเราไป แต่ไม่ใช่ว่า เราจะให้คนที่มีงานทำดี ดี และมีความสุขกับงานออกมาทำการเกษตร แต่ถ้าใครที่ไม่มีความสุขกับการทำงาน ก็อย่าฝืน ทำ เพราะทำแบบมีความทุกข์ สุดท้ายส่งผลกระทบกับองค์กรในแบบที่เลวร้ายที่สุด ถ้ายังมีคนทำงานแบบมีไม่มีความสุขทำงานอยูู่ในองค์กรนั้น

สำหรับคนที่ตั้งใจ จะมาเรียน หลักสูตรของเรา ไม่ใช่วัน 2 วัน แต่นานถึง 5-6 เดือน มากินนอนอยู่ด้วยกัน ลงมือ ทำกันจริง ๆ หลักสูตร ที่สอน คือ เริ่ม ตั้งแต่การปรุงดิน การทำการเกษตรที่ดี จะต้องมีดินที่ดี การเติมจุลินทรีย์ลงในดิน จุลินทรีย์ จะไปช่วยย่อยสลายซากพืช และซากสัตว์ ซึ่งเป็นอาหารของพืช ช่วยให้ได้ดินที่ดี เหมาะกับการเพาะปลูก ไม่ใช่การใส่ปุ๋ยเคมี หรือการเผาต้นไม้

โดย หลักในการสอน เป็นเรื่อง ที่ดร.เกริก ทำอยู่ในพื้นที่ของเขาอยู่แล้ว  ไม่่ว่าจะเป็น เรื่องการเผาถ่าน และทำน้ำส้มควันไม้ การนำประโยชน์จากต้นไม้ โดยนำกิ่งไม้ที่ตัดทิ้ง มาใช้ให้เกิดประโยชน์ และถ้าเรามีต้นไม้ มีถ่าน ไม่ต้องไปพึงพลังงาน จากแก๊ส ที่เราก็ไม่รู้ว่าจะหมดไปวันไหน และสุดท้าย คือ การให้ความรู้เรื่องการตลาด ซึ่งที่ผ่านมาเกษตรกรปลูกพืชโดยดุูว่า พืชอะไรราคาดี ตลาดมีความต้องการเราก็จะปลูกตามๆ กันไป และต้นทุนสูง จากการใช้เคมี ซึ่งทุกวันนี้ เกษตรกร ยังยากจนอยู่ กระทรวงเกษตร ฯ ใช้เงินปีหนึ่งหลายล้านบาท เพื่อจัดอบรม ทั้งที่ไม่ประสบความสำเร็จ ก็ยังคงทำซ้ำ แบบเดิม ช่วยแก้ปัญหาความยากจนในเกษตรกรไม่ได้ 

ทั้งนี้ ผู้เข้าอบรมกับเรา จะสอนการทำเกษตรกร แบบใหม่ เริ่มจาก ทำการเกษตรแบบพึ่งตัวเองให้ได้ก่อน คือ ปลูกในสิ่งที่เราต้องการกิน และเหลือจากกิน ค่อยนำไปจำหน่าย ตามทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง ของ ในหลวง ร.๙ และเมื่อทำการเกษตรต้องมีเครือข่าย พอได้ผลผลิตออกมา ทำการตลาด โดยอาศัยการตลาดแบบดิจิตอล พอเรามีของดี สุดท้าย ตลาดก็จะมาเอง และเราก็จะเป็นคนกำหนดราคา ตรงนี้ ต่างหากที่จะทำให้การทำเกษตรประสบความสำเร็จ ต้องบอกว่า อาชีพเกษตร ไม่ใช่อาชีพของคนจนอีกต่อไป เพราะเมื่อทำเป็น เกษตรเป็นอาชีพที่ทำรายได้ มากกว่า การทำงานประจำ ที่มีเงินเดือน 15,000-20,000 บาท อย่างแน่นอน

สนใจโทร. 08-9090-4801

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEs ผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น