ไร่สุขสมาน “คุณอรชัญ พันธ์วิไล” เกษตรกรต้นแบบ ที่ประสบความสำเร็จ หลังจากเธอได้ปรับเปลี่ยนการทำเกษตรแบบเชิงเดียว มาเป็นเกษตรทฤษฎีใหม่ ตามแนวทางของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทำให้เธอมีชีวิตที่เปลี่ยนไป ในแบบที่เธอไม่คาดคิดมาก่อน
มาทำความรู้จัก กับ “คุณอรชัญ” เจ้าของไร่สุขสมาน ทำการเกษตรบนเนื้อที่ 28 ไร่ ที่อำเภอกันทรลักษณ์ จังหวัดศรีสะเกษ เธอได้เริ่มต้นอาชีพเกษตรกร ตั้งแต่ปี 2529 โดยเริ่มจากการปลูกพืชเชิงเดียว เหมือนกับเกษตรทั่วไปในยุคนั้น พืชที่ปลูก เช่น ปอ ,อ้อย ,ข้าวโพด สลับซับเปลี่ยนกันไป แต่ปัญหา คือ ยิ่งทำยิ่งขาดทุน ด้วยหลายเหตุผล ไม่ว่าจะเป็นต้นทุนที่สูง เพราะไม่สามารถทำเองได้ จำเป็นต้องจ้างทุกอย่าง และต้นทุนจากปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลง แต่พอถึงเวลาขายราคาผลผลิตตก เป็นอย่างนี้อยู่เรื่อยนานถึง 10 ปี สุดท้ายเธอมีหนี้สิน 250,000 บาท
จนเธอได้มารู้จักกับเกษตรทฤษฏีใหม่ของ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ตัดสินใจศึกษาอย่างจริงจังจากศูนย์เรียนรู้เกษตรทฤษฎีใหม่ หลายๆ แห่ง และค่อยนำมาปรับใช้กับพื้นที่เพาะปลูกของตนเอง ในปี 2549 เริ่มจากการแก้ปัญหาน้ำท่วม และน้ำแล้ง ได้เป็นผลสำเร็จ ด้วยการทำแก้มลิงในพื้นที่ เมื่อถึงฤดูฝนน้ำท่วม แก้ด้วยการปล่อยให้น้ำไหลผ่านออกไป โดยไม่มีอะไรไปขวาง หรือ ช่วงน้ำแล้งก็มีที่กักเก็บน้ำ พอแก้ปัญหาเรื่องน้ำได้ ทำการเกษตรอะไร ฤดูไหน ก็สามารถทำได้
"คุณอรชัญ" เล่าว่า ได้แบ่งพื้นที่ตามแนวทางเกษตรทฤษฎีใหม่ แบ่งพื้นที่เป็น 4 ส่วน ดังนี้ ทำนา สลับกับการปลูกพืชไร่ 30% (จำนวน 6 ไร่) บ่อน้ำ 30% (7 ไร่) ไม้ผล และไม้ยืนต้น 30% (10 ไร่) และที่เหลือ 10% แบ่งเป็นที่อยู่อาศัย และเลี้ยงสัตว์ (5ไร่) สัตว์เลี้ยงประกอบไปด้วย หมู 20 ตัว วัว 5 ตัว เป็ดเทศ 35 ตัว ไก่ไข่ 40 ตัว ไก่พื้นเมือง 100 ตัว ในบ่อน้ำ จะมีปลา หลายชนิด และภายในพื้นที่ มีโรงสีข้าว โรงเพาะเห็ด และล่าสุดได้ทำโรงเรือน เพื่อปลูกผักที่มีราคาแพง อย่างผักสลัด และมะเขือเทศราชินี โรงเรือน 1 โรงใช้พื้นที่ 1 งาน ใช้เงินลงทุนประมาณ 40,000 บาท เป็นการลงทุนที่คุ้มค่า 1โรงเรือนปลูกพืชสัก 2-3 ครั้งได้ทุนคืน
ส่วนไม้ผล ประกอบด้วย มะม่วง กระท้อน และฝรั่ง และยังมีไม้ยืนต้น เช่น ตะเคียน ยางนา มะค่ามอญ ไม้สัก ไม้พะยูน ฯลฯ ส่วนของนาข้าว จะทำสลับกับ การปลูกข้าวโพด ถั่วลิสง ถั่วเขียว เป็นการปลูกพืชหมุนเวียน และได้แบ่งพื้นที่จำนวน 1 ไร่ ทำโครงการชีววิถี ในแปลงจะทำทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการทำนา ปลูกผัก ผลไม้ บ่อเลี้ยงปลา และกันพืชที่บางส่วนเพื่อเลี้ยงไก่ และนำน้ำจากบ่อเลี้ยงปลา มารดน้ำผัก และได้ปุ๋ยจากมูลไก่
คุณอรชัญ บอกว่า การปรับเปลี่ยนในครั้งนี้ ใช้เวลาปรับมาเรื่อย สำเร็จอย่างเต็มตัวปี 2552 ใช้เงินลงทุนค่อนข้างสูงถึงหลักล้านบาท แต่เป็นการลงทุนแบบค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง ไม่ยืมเงินใคร สุดท้ายไม่เป็นหนี้ และหนี้ที่มีอยู่สามารถใช้หมดได้ภายในเวลาไม่กี่ปี หลังจากปรับทำการเกษตรแบบทฤษฎีใหม่
ปัจจุบัน ไร่สุขสมานมีรายได้ ต่อทุกวัน จากการเก็บผลผลิตขายวันละไม่ต่ำกว่า 2,500 บาท รายได้ต่อเดือนหลักแสนบาท คนทำงานเป็นคนในครอบครัวจำนวน 7 คน ผลผลิตที่ได้เป็นเกษตรปลอดภัย และจากการที่ไม่ใช้สารเคมี ทำให้สามารถลดต้นทุนลดลงไปถึง 60% ที่สำคัญ คือ ผลผลิตที่ได้จะขายได้ในราคาที่สูงกว่า พืชที่ใช้สารเคมี
เนื่องจากผลผลิตที่ได้ เป็นเกษตรแบบปลอดภัย ดังนั้น การหาตลาดจึงไม่ใช่เรื่องยาก สำหรับ “คุณอรชัญ” ปัจจุบัน ผลผลิตของเธอส่งขายให้กับร้านขายสินค้าเพื่อสุขภาพหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็นที่ สันติอโศก เลม่อนฟาร์ม และล่าสุด ส่งให้กับร้านเพื่อสุขภาพที่สนามบินสุวรรณภูมิ ฯลฯ เรียกว่า ผลผลิตที่ออกมาสามารถส่งจำหน่ายได้ทั้งหมด และเธอยังรับซื้อสินค้าจากเกษตรกรในพื้นที่ ที่หันมาทำการเกษตรแบบปลอดภัยด้วย
"คุณอรชัญ" บอกว่า ทุกวันนี้ เธอกินทุกอย่างที่ปลูก และปลูกทุกอย่างที่กิน อาหารทุกมื้อไม่จำเป็นต้องไปซื้อหาจากที่ไหน เพราะในไร่สุขสมานแห่งนี้ มีพร้อมทุกอย่าง และเหลือจากกินก็นำมาขาย แม้แต่ไม้ ที่ปลูกบ้าน วันนี้ ไม่ต้องซื้อ เพราะเราปลูกเอง ซึ่งการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ครั้งนี้ เป็นความสำเร็จเกินกว่าที่เราคาดคิด และที่สำคัญช่วยถ่ายทอดให้คนที่อยู่ในพื้น โดยเปิดเป็นศูนย์เรียนรู้ชุมชน ทุกคนที่มาทำอย่างเดียวกับเรา เขามีชีวิตที่ดีขึ้น อย่างมาก จากเป็นหนี้ ก็หมดหนี้ จากขับมอเตอร์ไซด์ วันนี้ขับกระบะ ชีวิตที่ดีขึ้นในวันนี้ ของครอบครัว และคนในหมู่บ้าน มาจากการน้อมนำเกษตรทฤษฎีใหม่ในหลวง รัชกาลที่ 9 มาใช้ และครั้งนี้เป็นเครื่องพิสูจน์ให้เห็นว่า เกษตรทฤษฎีใหม่ช่วยชุบชีวิตให้กับเกษตรกรไทยได้จริง
สนใจเรื่องราวของไร่สุขสมาน ติดต่อโทร. 08-9717-8774
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEs ผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *