xs
xsm
sm
md
lg

กสอ.เผยท่องเที่ยวภาตใต้โต ดันอุตฯ โรงแรมที่พักรับทรัพย์ถ้วนหน้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

 ดร.พสุ โลหารชุน อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมเผยธุรกิจโรงแรมได้อานิสงส์จากการท่องเที่ยว 580,000 ล้านบาท อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม 448,000 ล้านบาท โวภาคการท่องเที่ยวภาคใต้โตสุด คาดปีนี้นักท่องเที่ยวกลุ่มผู้สูงอายุดันธุรกิจสุขภาพและการแพทย์โต ขณะภาคบริการต้องนำเทคโนโลยีดิจิตอลเชื่อมธุรกิจ

ดร.พสุ โลหารชุน อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ความสำคัญของการท่องเที่ยวถือเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งสามารถเชื่อมโยงและส่งผลต่อทั้งการพัฒนาธุรกิจ อุตสาหกรรม การผลิตสินค้าและการบริการ รวมถึงการกระจายรายได้ไปสู่จังหวัดและชุมชน โดยภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจที่ได้รับอานิสงส์จากการท่องเที่ยวในปีที่ผ่านมานั้น พบว่าธุรกิจโรงแรมประมาณ 580,000 ล้านบาท อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มประมาณ 448,000 ล้านบาท อุตสาหกรรมและธุรกิจการขนส่งโดยสารทางบก ประมาณ 136,000 ล้านบาท อุตสาหกรรมและธุรกิจการขนส่งโดยสารทางอากาศ ประมาณ 122,000 ล้านบาท ธุรกิจบริการด้านนันทนาการและกีฬาประมาณ 100,000 ล้านบาท อุตสาหกรรมสินค้าชุมชนและโอทอป 80,400 ล้านบาท โดยยังก่อให้เกิดการจ้างงานอีกกว่า 4,230,000 คน (ที่มา : กระทรวงการท่องเที่ยวฯ, กรมการพัฒนาชุมชน) ส่วนทางด้านสถานการณ์ในไตรมาสที่ 1-2 ของปี 2560 สถานการณ์รายได้จากชาวต่างชาติมีมูลค่าทั้งสิ้นประมาณ 1.96 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 1.76 ล้านล้านบาทจากช่วงเดียวกันของปี 2559 ที่ผ่านมา (ที่มา : สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ) ซึ่งคาดว่าการเพิ่มขึ้นดังกล่าวจะส่งผลดีต่อภาคการผลิตและภาคบริการโดยเฉพาะในช่วงไฮซีซัน โดยมั่นใจว่าจะปรับตัวได้ดีตามอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง

ทั้งนี้ การเติบโตที่เกิดขึ้นยังคาดว่าในปีนี้จะเกิดนักท่องเที่ยวและรูปแบบกิจกรรมใหม่ๆ ด้วย เช่น นักท่องเที่ยวกลุ่มผู้สูงอายุ ที่เป็นผลดีอย่างมากสำหรับธุรกิจและอุตสาหกรรมในด้านสุขภาพ สปา การแพทย์ โรงแรมที่พักระยะยาว การเติบโตของกลุ่มนักท่องเที่ยวที่พึ่งพาระบบดิจิตอล เป็นผลให้เกิดระบบเศรษฐกิจแบ่งปัน ที่หลายๆ การผลิตสินค้าและบริการต้องปรับตัวเพื่อให้เกิดการเข้าถึงข้อมูลที่เข้าใจง่ายและบริการที่รวดเร็วมากขึ้น (โดยเฉพาะการปรับตัวเข้าสู่แอปพลิเคชัน เฟซบุ๊ก ไลน์ อินสตาแกรม) นอกจากนี้ องค์การการท่องเที่ยวโลก (UNWTO) ยังได้ประกาศให้ปี 2560 เป็นปีแห่งการท่องเที่ยวชุมชน และการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ซึ่งจะเป็นผลดีอย่างมากที่จะทำให้ชุมชนเข้ามามีบทบาทในการกำหนดแนวทางและสร้างสรรค์รูปแบบการผลิตสินค้าหรือบริการ เช่น หมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ การผลิตสินค้าโอทอป รวมถึงความนิยมในการท่องเที่ยวเชิงกีฬา การท่องเที่ยวเพื่อเยี่ยมชมสิ่งที่มนุษย์สร้าง และการท่องเที่ยวเชิงอาหาร และอื่นๆ ที่จะเกิดขึ้นอีกมากมาย เป็นต้น

ดร.พสุกล่าวต่ออีกว่า ภาคใต้ซึ่งเป็นภาคที่มีการท่องเที่ยวมากที่สุด มีรายได้จากการท่องเที่ยว 6.94 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2558 ที่มีมูลค่า 5.92 แสนล้านบาท (ที่มา : กระทรวงการท่องเที่ยวฯ) โดยเฉพาะในแถบภาคใต้ฝั่งอันดามันซึ่งมีจุดยุทธศาสตร์ที่เป็นเลิศในการเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลชั้นนำที่ติดอันดับและได้รับความนิยมจากคนทั่วโลก มีการท่องเที่ยวในปีที่ผ่านมามากกว่า 22 ล้านครั้ง ต่อเนื่องถึงการใช้จ่ายในการบริโภคด้านต่างๆ อีกประมาณ 4,700 บาท/คน/วัน (ที่มา : กรมการท่องเที่ยว) โดยจากการเติบโตของภาคนี้นับเป็นโอกาสอันดีในการที่จะเร่งพัฒนาทั้งอุตสาหกรรมการผลิต และธุรกิจด้านการบริการ เช่น อุตสาหกรรมด้านการแพทย์และสุขภาพ อุตสาหกรรมอาหารทะเลแปรรูป บริการด้านสปา โรงแรม โดยเฉพาะในจังหวัดกระบี่ พังงา และภูเก็ต ได้รับอานิสงส์จากการเพิ่มขึ้นด้านความต้องการบริโภค และการขยายเที่ยวบินสู่ท่าอากาศยานของจังหวัด

นอกจากนี้ ในด้านการเติบโตของธุรกิจโรงแรม คาดว่าภูเก็ตน่าจะมีการเพิ่มขึ้นของปริมาณห้องพักในปี 2560 ประมาณ 600 ห้อง และปี 2561 ประมาณ 800 ห้อง กระบี่จะมีการขยายโดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากจำนวนนักท่องเที่ยวจีนและจากกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย เช่น สวีเดน นอร์เวย์ และพังงา ก็น่าจะมีการขยายตัว เนื่องจากปัญหาความแออัดของนักท่องเที่ยวใน จ.ภูเก็ต จึงทำให้กลุ่มนักท่องเที่ยวยุโรปเดินทางสู่กระบี่และพังงามากขึ้น นอกจากนี้ ในกลุ่มภาคใต้ฝั่งอันดามันยังสามารถส่งเสริมการสร้างสรรค์สินค้าชุมชน การเชื่อมโยงด้านการเกษตร การทำธุรกิจสปา สตาร์ทอัพ การพัฒนาพื้นที่ท่องเที่ยวสู่กลุ่มไฮคลาสได้อีกด้วย

ส่วนแผนพัฒนาธุรกิจและอุตสาหกรรมที่เชื่อมโยงการท่องเที่ยวในปีงบประมาณต่อไป ยังคงมุ่งเน้นการส่งเสริมอุตสาหกรรมที่สอดรับโดยเฉพาะในกลุ่ม S-Curve เช่น อุตสาหกรรมอาหารแปรรูป การเกษตร การแพทย์และสุขภาพ ธุรกิจภาคบริการ พร้อมด้วยการมุ่งหน้าพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการในกลุ่มวิสาหกิจชุมชนภายใต้โครงการหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ หรือ CIV ให้มีการนำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาผนวกกับนวัตกรรมและเทคโนโลยีให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่เชื่อมโยงกับภาคท่องเที่ยวอีก 10 ชุมชน โดยจากความสำเร็จของ 9 หมู่บ้านในปีนี้ได้เกิดต้นแบบสินค้ากว่า 100 ประเภท และหลากหลาย ซึ่งโมเดลธุรกิจนี้จะเป็นตัวอย่างในการพัฒนาชุมชนถัดไปให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยกระทรวงอุตสาหกรรมได้ให้ธนาคาร SME Development Bank เตรียมมาตรการด้านสินเชื่อเพื่อ SMEs ที่ประกอบธุรกิจที่เชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวในวงเงิน 7,500 ล้านบาท พร้อมด้วยกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐในวงเงินอีก 20,000 ล้านบาท เพื่อให้ SMEs ทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงได้อย่างเต็มที่ และเกิดการพัฒนาธุรกิจอย่างครบวงจร
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น