xs
xsm
sm
md
lg

นศ.มจธ.เจ๋ง! คว้าชัยแดนกิมจิ ด้วยผลงาน “ภาพศิลปะจากเปลือกทุเรียนลดก๊าซอันตรายในบ้าน”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายโชติวัฒน์ จันทรเกษม นายดนุวัศ สาระธนะ และนางสาวภัทรานิษฐ์ กุลทรัพย์ปรีดี นักศึกษาชั้นปีที่ 4 ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี 3 นักศึกษาคว้าชัย
นักศึกษา ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีคว้ารางวัลผลิตภัณฑ์นวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์จากเกาหลีใต้ โชว์ผลงานภาพศิลปะจากถ่านเปลือกทุเรียนที่ลดก๊าซอันตรายในบ้าน สอดรับเทรนด์รักษ์สิ่งแวดล้อม ลดการเพิ่มปริมาณขยะ เพิ่มค่าของเหลือใช้

ผศ.ดร.สุรวุฒิ ช่วงโชติ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเครื่องมือและวัสดุ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มจธ. อาจารย์ที่ปรึกษาร่วมในโครงการ กล่าวว่า ทุเรียน พืชเศรษฐกิจสำคัญชนิดหนึ่งของไทยที่ได้รับความนิยมในการบริโภคทั้งในและต่างประเทศ โดยมีมูลค่าการส่งออกในแต่ละปีค่อนข้างสูง ทำให้เกษตรกรหันมาให้ความสนใจในการปลูกทุเรียนมากขึ้น จากการศึกษาพบว่าในปี 2015 มีปริมาณขยะจากเปลือกทุเรียนกว่า 200,000 ตัน เปลือกทุเรียนกลายเป็นของเหลือทิ้งจำนวนมากและเป็นปัญหาในการกำจัดทิ้ง จากปัญหาดังกล่าวนายโชติวัฒน์ จันทรเกษม นายดนุวัศ สาระธนะ และนางสาวภัทรานิษฐ์ กุลทรัพย์ปรีดี นักศึกษาชั้นปีที่ 4 ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี จึงได้มีการวิจัยและพัฒนานำเปลือกทุเรียนมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ ด้วยผลงานภาพศิลปะจากถ่านเปลือกทุเรียนที่ลดก๊าซอันตรายในบ้าน (Air Purification Art) และเป็นผลงานที่ได้รับรางวัล Gold Medal พร้อมถ้วยรางวัล และรางวัลพิเศษจาก KINEWS ในงานประกวดนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ The 3rd World Invention Innovation Contest (WiC 2017) ณ กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลีใต้
เข้ารับรางวัล Gold Medal พร้อมถ้วยรางวัล และรางวัลพิเศษจาก KINEWS ในงานประกวดนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ The 3 rd World Invention Innovation Contest (WiC 2017) ณ กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลีใต้
ทั้งนี้ ภาพศิลปะที่ลดก๊าซอันตรายในบ้านได้ผลิตจากการเผาเปลือกทุเรียนภายใต้บรรยากาศที่ควบคุมปริมาณออกซิเจน ทำให้ได้ถ่านที่มีรูพรุนสูงและยังคงรูปร่างของเปลือกทุเรียนที่มีลักษณะสวยงามเฉพาะสามารถนำมาเรียงต่อกันเพื่อทำเป็นผลงานศิลปะที่ประดับฝาผนังได้ เมื่อนำภาพศิลปะจากถ่านดังกล่าวมาชุบผิวด้วยตัวเร่งปฏิกิริยาเชิงแสงจะทำให้ภาพศิลปะที่ได้มีคุณสมบัติในการดูดซับก๊าซมลพิษจากรูพรุนของถ่านรวมกับการกำจัดก๊าซอันตรายด้วยกลไกการเร่งปฏิกิริยาเชิงแสงที่ผิวของถ่าน ทำให้ก๊าซมลพิษไม่ตันในรูพรุน ภาพศิลปะนี้จึงบำบัดอากาศได้อย่างต่อเนื่องโดยไม่ต้องเปลี่ยนวัสดุใหม่

“ภาพศิลปะบำบัดอากาศเรียกได้ว่าเป็นนวัตกรรมในการเพิ่มมูลค่าให้เปลือกทุเรียนที่เป็นวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาพัฒนาให้เกิดประโยชน์ มีความสวยงาม ช่วยลดปัญหาทางสิ่งแวดล้อมจากการทิ้งขยะ และยังได้ผลิตภัณฑ์ที่ช่วยบำบัดสิ่งแวดล้อมอีกทางหนึ่งด้วย” ผศ.ดร.สุรวุฒิกล่าว

ผศ.ดร.ภาติญา เขมาชีวะกุล อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มจธ. อาจารย์ที่ปรึกษาหลัก กล่าวเพิ่มเติมว่า เฟอร์นิเจอร์ และอุปกรณ์ตกแต่งต่างๆ ในบ้านที่ซื้อมาใหม่จะมีการปล่อยสารฟอร์มัลดีไฮด์ (Formaldehyde) ออกมา หากเราสัมผัสหรือสูดดมก๊าซฟอร์มัลดีไฮด์เข้าไปอาจทำให้เกิดการระคายเคืองตา จมูก ผิวหนัง และปอด และหากมีการสูดดมเข้าไปในปริมาณที่มากอาจจะเป็นอันตรายต่อร่างกายได้ ดังนั้นถ้ามีภาพศิลปะโดยใช้เปลือกทุเรียนมาติดตั้งภายในบ้านก็จะสามารถช่วยดูดซับก๊าซฟอร์มัลดีไฮด์ และช่วยลดก๊าซมลพิษที่อยู่บรรยากาศภายในบ้านของเราได้
ผลงานภาพศิลปะจากถ่านเปลือกทุเรียนที่ลดก๊าซอันตรายในบ้าน (Air Purification Art)
ด้านนายดนุวัศ สาระธนะ กล่าวว่า ภาพศิลปะจากเปลือกทุเรียนจะมีการเคลือบด้วยตัวเร่งปฏิกิริยาเชิงแสงที่มีคุณสมบัติสามารถดูดซับก๊าซฟอร์มัลดีไฮด์ได้ แต่เมื่อดูดซับไปในระยะหนึ่งจะไม่สามารถดูดซับก๊าซฟอร์มาลดีไฮด์ต่อไปได้ แต่หากนำภาพศิลปะที่เคลือบตัวเร่งปฏิกิริยาเชิงแสงไปติดตั้งในบ้านบริเวณที่มีแสงแดดเข้าถึงพลังงานจากดวงอาทิตย์จะสามารถทำปฏิกิริยากับตัวเร่งปฏิกิริยาเชิงแสง ที่เคลือบไว้ทำให้เกิดการสลายตัวของก๊าซฟอร์มัลดีไฮด์และทำให้ภาพศิลปะสามารถดูดซับก๊าซฟอร์มัลดีไฮด์ได้อย่างต่อเนื่อง และมีประสิทธิภาพมากขึ้น
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น