xs
xsm
sm
md
lg

9 ข้อควรรู้...สื่อโฆษณามัดใจลูกค้าภูธร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล College of Management หรือ CMMU เปิดเผยถึงผลการวิจัย "ภูธร มาร์เก็ตติ้ง" ล้วงลึก...อินไซต์ สื่อแบบใดจับใจตลาดท้องถิ่น เพื่อมัดใจคนต่างจังหวัด คำว่า “ภูธร” ในความหมายคือกลุ่มคนที่เกิดและอาศัยอยู่ในต่างจังหวัด เพศชายและหญิงอายุระหว่าง 20-50 ปี ในปัจจุบันมีประชากรทั่วประเทศไทยราว 65 ล้านคน (ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ 2559) แบ่งออกเป็น 4 ภาค โดยภาคกลางรวมจังหวัดที่อยู่ในตะวันออก แต่ไม่รวมกรุงเทพฯ และปริมณฑลที่ซึ่งประชากรที่อยู่ต่างจังหวัดคิดเป็น 85% ของประชากรทั้งประเทศ

ดังนั้น หากแบรนด์สินค้าและผลิตภัณฑ์สามารถครองใจผู้บริโภคต่างจังหวัดได้ ย่อมหมายถึงโอกาสในการขยายตลาดและสร้างผลกำไรมหาศาล เนื่องจากตลาดภูธรถือเป็นตลาดใหญ่มีเม็ดเงินสะพัดมากกว่าปีละ 3 แสนล้านบาท

@@@รู้จัก 9 สื่อทรงอิทธิพลมัดใจลูกค้าภูธร@@@

1. สื่อออนไลน์ (Online media)

กลุ่มตัวอย่างของคนต่างจังหวัดเข้าถึงสื่อออนไลน์อยู่ที่ 95% โดยคนส่วนใหญ่นิยมเล่นโซเชียลมีเดียในช่วงเวลา 20.00-24.00 น. และกิจกรรมที่ทำบนสื่อออนไลน์ อันดับ 1 คือ Facebook อันดับ 2 คือ LINE และอันดับ 3 คือ Youtube และ Instagram

2. สื่อ ณ จุดขาย (Point of sell)

กลุ่มตัวอย่างของคนต่างจังหวัดเคยเห็นสื่อภายในร้านค้าถึง 90% และตัดสินใจซื้อสินค้าจากสื่อประเภทนี้มากถึง 86% โดยป้ายยื่นและป้ายที่อยู่บนชั้นวางสินค้าเป็นป้ายที่กลุ่มตัวอย่างทุกภาคพบเห็นบ่อยที่สุด และเนื้อหาบนป้ายที่คนต่างจังหวัดชอบมากที่สุด คือ ป้ายบอกคุณสมบัติ ซึ่งโปรโมชันที่ชอบมากที่สุดคือ 1 แถม 1 แต่โปรโมชันที่คนต่างจังหวัดไม่ชอบเลยคือ การซื้อสินค้าครบจำนวนเงินตามที่กำหนดแล้วแลกสินค้าพรีเมียม ส่วนรูปแบบสื่อในร้านค้าที่คนต่างจังหวัดไม่ชอบ คือ “ป้ายโฆษณาสติกเกอร์ที่ติดบนพื้น”

3. สื่อทีวี (TV)

กลุ่มตัวอย่างของคนต่างจังหวัดเข้าถึงสื่อทีวีคิดเป็น 89% โดยเฉพาะภาคกลางและภาคอีสานรับสื่อประเภทนี้มากที่สุด ช่วงเวลาที่ดูทีวีมากที่สุดคือ 20.00-24.00 น. เฉลี่ยใช้เวลาดูประมาณ 1-2 ชั่วโมง ที่น่าสนใจคือคนต่างจังหวัดสามารถจดจำแบรนด์สินค้าจากสื่อทีวีได้ถึง 88% ช่องอันดับ 1 ที่คนต่างจังหวัดดูมากที่สุดคือ ช่อง one (31) รายการที่คนต่างจังหวัดพูดถึงมากที่สุดคือ ละครซิตคอม เช่น “ละครเป็นต่อ” และรายการประกวดร้องเพลง เช่น “รายการศึกวันดวลเพลง” อันดับ 2 คือ ช่อง 3 โดยรายการที่พูดถึงมากที่สุดคือ “เรื่องเล่าเช้านี้” และ “ข่าว 3 มิติ” และอันดับ 3 คือ ช่อง 7 ส่วนใหญ่นิยมดู “รายการกิ๊กดู๋สงครามเพลง” เนื่องจากเป็นพื้นที่ให้คนต่างจังหวัดได้แสดงออกถึงวัฒนธรรมเพราะเป็นเพลงที่ใช้ภาษาท้องถิ่น และ “รายการปลดหนี้” เพราะให้กำลังใจคนที่มีวิถีชีวิตคล้ายคลึงกัน

4. สื่อกลางแจ้ง (Out of home)

กลุ่มตัวอย่างของคนต่างจังหวัดมีมากถึง 83% ที่เคยพบเห็นสื่อกลางแจ้ง โดยสถานที่ที่พบเห็นสื่อนี้มากที่สุดคือ ตามสี่แยก รองลงมาคือ ห้างสรรพสินค้า ส่วนในแง่ของการจดจำแบรนด์สินค้า สื่อกลางแจ้งสามารถทำให้คนต่างจังหวัดจดจำแบรนด์สินค้ามากถึง 87% โดยอันดับ 1 คือ นอกจากป้ายนิ่งเป็นป้ายที่คนต่างจังหวัดพบเห็นมากที่สุดแล้ว คนต่างจังหวัดยังสามารถจดจำแบรนด์สื่อนี้ได้มากที่สุด อันดับที่ 2 คือ รถแห่ และอันดับสุดท้ายคือ ป้าย LED แต่ในเรื่องของการจดจำแบรนด์พบว่าไม่สามารถจดจำแบรนด์จาก LED ได้เลย

5. ใบปลิว (Brochure)

กลุ่มตัวอย่างของคนต่างจังหวัดยังรับสื่อใบปลิวอยู่ที่ 62% เหตุผลที่ยังรับใบปลิวอยู่คือ รู้สึกเกรงใจไม่กล้าปฏิเสธ แต่รับใบปลิวมาแล้วจะทิ้งทันที หรือเก็บไว้ไปทิ้งที่บ้าน แต่ในกรณีที่ไม่ทิ้ง และได้อ่านเนื้อหาในใบปลิวก็พบว่าคนต่างจังหวัด78% ซื้อสินค้าจากการได้รับใบปลิว

6. การบอกต่อ (Word of Mouth)

กลุ่มตัวอย่างของคนต่างจังหวัดเคยได้รับการบอกต่อมากถึง 62% ซึ่งการได้รับการบอกต่อของคนต่างจังหวัดมีทั้งหมด 3 ทาง ได้แก่ อันดับ 1 คือปากต่อปากหรือแบบตัวต่อตัว อันดับที่ 2 คือการได้รับการบอกต่อจากการแชร์หรือแท็กในโซเชียลมีเดีย และอันดับ 3 จากการอ่านรีวิวในเว็บไซต์หรือเว็บบอร์ด แต่ในแง่ของการตัดสินใจซื้อ เพื่อนจะมีอิทธิพลในการตัดสินใจซื้อมากที่สุด ในขณะที่ผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือครูไม่มีผลต่อการซื้อสินค้าจากการบอกต่อ แต่คนกลุ่มนี้ยังมีความสำคัญในการบอกข่าวประชาสัมพันธ์กับคนในชุมชน เช่น เสียงตามสาย เป็นต้น อีกทั้งคนต่างจังหวัดยังตัดสินใจซื้อจากการบอกต่อถึง 75%

7. สื่อวิทยุ (Radio)

กลุ่มตัวอย่างยังคงฟังวิทยุอยู่ 48% โดยภาคใต้เป็นภาคที่ฟังวิทยุมากที่สุดและนานที่สุด ใช้เวลาประมาณ 1-2 ชม. ในขณะที่ภาคอื่นๆ จะฟังน้อยกว่า 1 ชั่วโมงต่อวัน และช่วงเวลาส่วนใหญ่ที่คนต่างจังหวัดจะรับฟังวิทยุคือ ช่วงเช้า (06.00-10.00 น.)

8. การขายโดยพนักงานขาย (Personal Selling)

กลุ่มตัวอย่างของคนต่างจังหวัดส่วนใหญ่เข้าถึงพนักงานขายเหล่านี้เพียง 43% โดยสินค้าส่วนใหญ่ที่คนต่างจังหวัดเคยมีประสบการณ์ที่มีตัวแทนขายมานำเสนอสินค้า คือสินค้าประเภทประกันภัยหรือประกันชีวิต และสินค้าประเภทเครื่องสำอาง และประมาณ 55% ของคนที่เคยถูกเสนอขายสินค้าจากพนักงานจะซื้อสินค้าจากการเสนอขาย

9. บูทกิจกรรม (Booth)

กลุ่มตัวอย่างของคนต่างจังหวัดเคยเข้าร่วมบูทสินค้าเพียง 25% เท่านั้น โดยส่วนใหญ่จะเข้าร่วมบูทที่นำเสนอสินค้าประเภทอาหารและเครื่องดื่มที่จัดตั้งในห้างสรรพสินค้า แต่หากได้ลองเข้าไปแล้ว 79% ของกลุ่มตัวอย่างจะซื้อสินค้าจากบูทนั้นๆ
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น