กระทรวงพาณิชย์จัดกิจกรรมจับคู่เจรจาธุรกิจให้แก่ผลิตภัณฑ์ OTOP เพื่อช่วยส่งเสริมและขยายตลาดทั้งในและต่างประเทศ ระบุผู้ซื้อจากภาครัฐและเอกชนเข้าร่วมกว่า 40 ราย พร้อมมอบรางวัลสุดยอดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ OTOP จำนวน 14 รางวัล หวังเป็นต้นแบบให้รายอื่นๆ ก้าวตาม
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวในการเป็นประธานการเปิดงาน “การเจรจาธุรกิจและเชื่อมโยงช่องทางการตลาด OTOP Select 2017” ณ ห้องฟินิกซ์ 1-6 ศูนย์แสดงสินค้า อิมแพ็ค เมืองทองธานี ว่า กระทรวงพาณิชย์ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการการตลาดในคณะกรรมการอำนวยการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์แห่งชาติ ได้เร่งพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน OTOP เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากท้องถิ่นไทยเชื่อมโยงสู่เศรษฐกิจโลก
สำหรับงานในวันนี้ (11 ส.ค.) ประกอบด้วย การเจรจาธุรกิจและเชื่อมโยงช่องทางการตลาด OTOP Select 2017 แบ่งเป็น 3 กิจกรรม คือ 1) การเจรจาธุรกิจ (Business Matching) เป็นการสร้างโอกาสให้ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ OTOP ได้พบกับฝ่ายจัดซื้อของธุรกิจ Modern Trade เพื่อสร้างเครือข่ายธุรกิจและเจรจาขยายช่องทางการตลาดให้เปิดอย่างอิสระมากขึ้น และช่วยเปิดช่องทางลัดให้ผลิตภัณฑ์ OTOP สามารถกระจายสู่ทั่วประเทศและในตลาดต่างประเทศได้ 2) การสัมมนาใน 3 หัวข้อ ได้แก่เรื่อง พลิกแนวคิดสร้างกลยุทธ์การตลาด OTOP, การสร้าง Smart OTOP ในยุค 4.0 และการเข้าสู่ช่องทางการตลาด OTOP อย่างไรให้สำเร็จ กิจกรรมในส่วนนี้จะช่วยพัฒนาผู้ประกอบธุรกิจให้เข้าใจตลาด พร้อมเรียนรู้การทำธุรกิจจากผู้ที่ประสบความสำเร็จ และก้าวไปสู่การเป็น Smart OTOP Trader และ 3) การมอบรางวัลให้แก่ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ OTOP ที่เป็นที่สุดของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ OTOP ระดับประเทศ TOP of The Best OTOP Select 77 Experience จำนวน 14 รางวัล
นายสนธิรัตน์เผยด้วยว่า งานนี้มีภาครัฐและเอกชน (Buyer Trader) กว่า 40 รายเข้าร่วมการพิจารณาคัดสรรผลิตภัณฑ์ OTOP 3-5 ดาว จาก 77 จังหวัดทั่วประเทศ (เมื่อวันที่ 12-15 มิถุนายน 2560) ซึ่งมีผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการประเมินมาตรฐานคุณภาพจำนวน 2,011 ราย แบ่งเป็น 4 ประเภท คือ อาหารและเครื่องดื่ม, ผ้าและเครื่องแต่งกาย, ของใช้ของตกแต่ง และสมุนไพรที่ไม่ใช่อาหาร เข้าร่วมคัดเลือกเป็นผลิตภัณฑ์ OTOP ใน 3 ประเภท คือ 1) OTOP Select 2017 มีผู้ผ่านเกณฑ์จำนวน 1,253 ราย 2) Best of OTOP Select 77 Experience (ระดับจังหวัด) มีผู้ผ่านเกณฑ์จำนวน 314 ราย และ 3) TOP of The Best OTOP Select 77 Experience (ระดับประเทศ) มีผู้ผ่านเกณฑ์จำนวน 14 ราย โดยผลิตภัณฑ์เหล่านี้จะกลายเป็นต้นแบบให้กับผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ OTOP ได้ศึกษาและเป็นตัวอย่างให้ก้าวเดินตามความสำเร็จต่อไป
“อุปสรรคสำคัญที่ทำให้ผลิตภัณฑ์ OTOP ไทยไม่สามารถเติบโตได้แบบก้าวกระโดดคือ ผู้ผลิตไม่มีความเข้าใจกลไกการตลาด ไม่มีช่องทางการจำหน่าย กำลังการผลิตไม่เพียงพอทำให้ไม่ตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าได้ และหากผลิตในปริมาณมากทำให้สินค้าไม่ได้มาตรฐานตามที่กำหนด และส่วนใหญ่ไม่มีการรับรองคุณภาพตามเกณฑ์มาตรฐานส่งผลต่อความเชื่อมั่นของลูกค้า ปัญหาเหล่านี้กระทรวงพาณิชย์ได้ให้ความสำคัญและเดินหน้าพัฒนาองค์รวมอย่างเป็นระบบ พร้อมเป็นพี่เลี้ยงช่วยให้ผู้ผลิตสามารถบริหารจัดการธุรกิจในท้องถิ่นจนกระทั่งเปลี่ยนแปลงผลิตภัณฑ์ OTOP ให้เข้าสู่มาตรฐานสากลและพร้อมจำหน่ายในต่างประเทศได้” รมช.กล่าว
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์เล็งเห็นว่าผลิตภัณฑ์ OTOP ที่ได้ผ่านการคัดสรรในประเภทต่างๆ กว่าร้อยละ 50 มีศักยภาพและมีความพร้อมที่จะพัฒนาต่อยอดให้ก้าวไปสู่ตลาดต่างประเทศได้อย่างไม่ยาก โดยกระทรวงฯ จะดำเนินการพัฒนาผู้ผลิตและผลักดันผลิตภัณฑ์เหล่านี้ให้เติบโตควบคู่กับมาตรฐานอันเป็นที่ยอมรับในระดับสากล รวมถึงสร้างการรับรู้ให้ผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญาไทยกลายเป็นที่รู้จักทั้งในและต่างประเทศ
ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ประกอบการ OTOP ที่ขึ้นทะเบียนจำนวน 8,891 กลุ่ม/ราย และมีผลิตภัณฑ์จำนวน 98,436 ผลิตภัณฑ์ แบ่งเป็นประเภทอาหาร 31,175 ราย เครื่องดื่ม 4,146 ราย, ผ้าและเครื่องแต่งกาย 21,203 ราย, ของใช้ ของตกแต่ง และของที่ระลึก 29,511 ราย และสมุนไพรที่ไม่ใช่อาหาร 12,401 ราย (ข้อมูลจาก กรมการพัฒนาชุมชน) นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์ OTOP ยังสามารถสร้างมูลค่าทางการค้าได้สูงถึง 125,000 ล้านบาท และมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องไม่ต่ำกว่าร้อยละ 10 ต่อปี
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *