“น้ำตาลมะพร้าว” บรรจุใน “ปี๊บสังกะสี” จนกลายเป็นชื่อเรียกกันติดปากว่า “น้ำตาลปี๊บ” มีจุดอ่อนเรื่องมาตรฐานไม่สม่ำเสมอ และถูกตั้งข้อสงสัยเรื่องความสะอาดปลอดภัย ในอดีตที่ผ่านมาสินค้าประเภทนี้จึงจัดเกรดอยู่ในตลาดระดับกลางลงไป
แบรนด์ “บ้านตาลปึก” ซึ่งอยู่ในวงการผู้ผลิตและจำหน่ายน้ำตาลมะพร้าวมากว่า 40 ปี นับเป็นผู้บุกเบิกรายแรกๆ ของประเทศไทย ที่ลุกขึ้นมาพลิกโฉมน้ำตาลปี๊บ โดยนำเครื่องจักรมาใช้ในกระบวนการผลิต สร้างโรงงานที่ได้มาตรฐานความปลอดภัย และต่อยอดแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์จากน้ำตาลมะพร้าวแท้นานาชนิด ช่วยเพิ่มมูลค่าและสามารถขยายสู่ตลาดระดับบน รวมถึงส่งออกไปต่างแดนได้ด้วย
นภาพร เจริญพักตร์ ทายาทรุ่นสองของบริษัท เอ็น.อาร์.โคโคนัท จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายน้ำตาลมะพร้าว แบรนด์ “บ้านตาลปึก” เล่าว่า ครอบครัวยึดอาชีพขายน้ำตาลมะพร้าวมากว่า 40 ปี บุกเบิกโดยคุณพ่อที่พื้นเพเป็นชาว จ.เพชรบุรี ระยะแรกจะประกอบอาชีพในลักษณะซื้อมาขายไป รับน้ำตาลมะพร้าวบรรจุปี๊บจากผู้ผลิตทั่วไป แล้วนำไปวิ่งส่งขายตามตลาดค้าส่งต่างๆ
อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่พบเสมอๆ คือ น้ำตาลมะพร้าวที่รับมาขายคุณภาพไม่สม่ำเสมอ ที่แย่กว่านั้น ผู้ผลิตบางรายแอบผสมสารให้ความหวานอื่นๆ ลงไป ทำให้เสียรสชาติและความหอมนวลของน้ำตาลมะพร้าวแท้ๆ ไป จึงนำมาสู่การตัดสินใจครั้งสำคัญ ลุกขึ้นเป็นผู้ผลิตน้ำตาลมะพร้าวด้วยตัวเองเมื่อกว่า 30 ปีที่แล้ว
ทายาทรุ่นสองเล่าต่อว่า คุณพ่อของเธอแม้จะไม่ได้สำเร็จการศึกษาระดับสูงนัก แต่กลับเป็นผู้ประกอบการที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกลมาก ยอมลงทุนซื้อเครื่องจักรมาใช้ในการผลิตและบรรจุน้ำตาลมะพร้าว ซึ่งย้อนกลับไปเมื่อ 30 ปีที่แล้วถือเป็นความแปลกใหม่ และท้าทายอย่างยิ่ง เพราะแทบไม่มีผู้ผลิตน้ำตาลมะพร้าวรายใดทำมาก่อน
ส่วนเรื่องรสชาติของน้ำตาลมะพร้าวของแบรนด์ “บ้านตากปึก” นั้นเธอระบุว่า เป็นสูตรที่คิดค้นขึ้นมาเอง จุดเด่นคือมีความหวานนวล และกลิ่นหอมจากมะพร้าว หัวใจสำคัญเกิดจากคัดเลือกวัตถุดิบ “มะพร้าว” เกรดเอ จากสวนที่ไว้วางใจใน อ.แม่กลอง จ.สมุทรสงคราม และผลิตภายใต้โรงงานมาตรฐาน ทำให้สินค้าที่ออกมาคุณภาพและรสชาติสม่ำเสมอเหมือนกันทุกครั้ง
เธอเสริมต่อว่า ในอดีตกลุ่มผู้ผลิตน้ำตาลมะพร้าวบรรจุปี๊บจะแข่งขันกันด้วยการ “ตัดราคา” ผู้ผลิตเจ้าใดทำราคาได้ต่ำที่สุดก็จะได้รับคำสั่งซื้อจากลูกค้าขายส่งไปจำนวนมาก ทำให้มีผู้ผลิตบางรายแอบนำสารให้ความหวานอื่นๆ มาผสมในน้ำตาลมะพร้าว เพื่อจะลดต้นทุนผลิต ส่งผลกระทบให้เกิดปัญหาสินค้าน้ำตาลมะพร้าวที่ออกสู่ตลาด คุณภาพด้อยลงจนผู้บริโภคขาดความเชื่อถือ ดังนั้น การสร้างมาตรฐานเข้ามาตอบโจทย์ให้ลูกค้าเกิดความเชื่อมั่นว่าสินค้าจากผู้ผลิตรายนี้เป็นน้ำตาลมะพร้าวแท้ๆ 100% ช่วยให้แบรนด์ “บ้านตาลปึก” สามารถแจ้งเกิด และก้าวสู่แถวหน้าของวงการผู้ผลิตน้ำตาลมะพร้าวมาได้จนถึงปัจจุบัน
“เมื่อเรามีสินค้าที่ได้มาตรฐาน และไว้ใจได้ว่า เป็นน้ำตาลมะพร้าวแท้ 100% ลูกค้าที่ส่วนใหญ่เป็นตัวแทนค้าส่งค้าปลีกตามตลาดต่างๆ ก็เชื่อใจซื้อสินค้าจากเรามากขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงห้างสรรพสินค้า และซูเปอร์มาร์เกตต่างๆ ก็ให้โอกาสนำสินค้าเข้าไปวางจำหน่าย ทำให้แบรนด์ “บ้านตาลปึก” เริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้นเรื่อยๆ” นภาพรระบุ
ตลอดเส้นทางธุรกิจที่ผ่านมาของ “บ้านตาลปึก” พัฒนาสินค้าเสมอมา มุ่งตอบความต้องการของตลาดลูกค้าแต่ละกลุ่มให้มากที่สุด ด้วยการออกผลิตภัณฑ์น้ำตาลนานาชนิด มีทั้งทำเป็นน้ำตาลมะพร้าวบรรจุกระปุก บรรจุซอง ฯลฯ เพื่อเอาใจกลุ่มแม่บ้านใช้ในครัวเรือน ขณะเดียวกันก็ยังคงมีน้ำตาลมะพร้าวบรรจุ “ปี๊บ” แบบดั้งเดิม แต่เพิ่มเติมเรื่องความสะอาดปลอดภัย สำหรับบริการลูกค้ากลุ่มอุตสาหกรรมอาหารที่ต้องการใช้น้ำตาลมะพร้าวในปริมาณมากๆ
ในส่วนตัวของทายาทธุรกิจคนนี้ เธอเล่าว่า จบการศึกษาด้านวิศวกรรม ก่อนหน้านี้เคยทำงานในบริษัทเอกชนของต่างชาติเพื่อสั่งสมประสบการณ์ และกลับมาสานต่อธุรกิจครอบครัวเมื่อประมาณ 10 กว่าปีที่แล้ว มุ่งเน้นพัฒนาสินค้าให้ขยายตลาดกว้างไกลกว่าเดิม ตัวอย่างเช่น สร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ นำน้ำตาลมะพร้าวมาทำเป็นในรูปแบบ “syrup” หรือน้ำเชื่อมจากน้ำตาลมะพร้าวบรรจุขวด สะดวกใช้งานประกอบอาหารง่ายยิ่งขึ้น รวมถึงเหมาะส่งออกต่างแดนที่มีอากาศหนาวเย็น เพราะ syrup น้ำตาลมะพร้าวจะไม่จับตัวจนแข็ง จึงสามารถใช้ทดแทนน้ำผึ้งได้
นอกจากนั้น ยังเข้ามาพัฒนามาตรฐานการผลิตให้ได้ระดับสูงขึ้นไปอีก ขณะนี้ผ่านระดับ GMP แล้ว และกำลังได้รับระดับ HACCP อีกทั้งใช้ความรู้ทางวิศวกรรมมาพัฒนาเครื่องจักรให้ทันสมัย ช่วยเพิ่มกำลังผลิตและลดต้นทุนค่าแรงงาน ซึ่งส่วนหนึ่งได้เข้าโครงการสินเชื่อเพื่อเอสเอ็มอีของ “ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย” (ธพว.หรือ SME Development Bank) ซึ่งประโยชน์ที่ได้รับนอกจากมีเงินทุนดอกเบี้ยต่ำมาปรับปรุงเครื่องจักรแล้ว ยังได้รับการสนับสนุนด้านการตลาด เช่น พาเข้าโครงการอบรมความรู้ ทำสื่อประชาสัมพันธ์ให้ และพาออกงานแสดงสินค้าต่างๆ เป็นต้น ช่วยให้ธุรกิจมีศักยภาพเพิ่ม และส่งเสริมยอดขายเติบโตมากขึ้น
ทั้งนี้ ในปัจจุบันบริษัท เอ็น.อาร์.โคโคนัท จำกัด นับเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายน้ำตาลมะพร้าวรายใหญ่ที่สุด 1 ใน 3 ของประเทศไทย ตลาดหลักจะส่งให้แก่ผู้ค้าส่งตามตลาดสดทั่วไปนับร้อยรายทั่วประเทศ รวมถึงส่งเข้าโรงงานอุตสาหกรรมอาหาร ร้านอาหาร และร้านค้าปลีก ห้างสรรพสินค้าต่างๆ รวมถึงส่งออกต่างแดนมากกว่า 10 ประเทศ เช่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ยุโรป สหรัฐอเมริกา ฮ่องกง จีน สิงคโปร์ และไต้หวัน เป็นต้น
นภาพรเผยด้วยว่า ในตลาดน้ำตาลมะพร้าวมีผู้ผลิตหลักอยู่ประมาณ 20 ราย และรายย่อยๆ อีกมากกว่า 50 ราย ส่วนใหญ่ยังเน้นแข่งกันด้วยสงครามราคาต่ำ ในขณะที่แผนธุรกิจของ “บ้านตาลปึก” จะไม่ลงไปแข่งตัดราคา หากจะมุ่งยกระดับมาตรฐานการผลิตให้สูงขึ้นไป ควบคู่ออกสินค้าใหม่ต่อเนื่องเพื่อเพิ่มมูลค่า และที่สำคัญที่สุด จะรักษาจุดเด่นของธุรกิจ คือ ความมั่นใจของลูกค้า เมื่อหยิบสินค้าของ “บ้านตาลปึก” จะต้องได้รับน้ำตาลมะพร้าวแท้ๆ 100%
“ลูกค้าของเราส่วนใหญ่จะทำธุรกิจกันมามากกว่า 10 ปีขึ้นไป สิ่งที่ดิฉันยึดมั่นมาจากคุณพ่อ คือ เราต้องซื่อสัตย์ต่อลูกค้า และพยายามทำสินค้าให้ได้คุณภาพดีที่สุด แม้ว่าต้นทุนการผลิตจะเพิ่มขึ้นก็ตาม เพราะเราเชื่อว่าในที่สุดแล้วลูกค้าจะเลือกสินค้าที่คุณภาพ ยิ่งเทรนด์ความใส่ใจเรื่องสุขภาพเพิ่มมากขึ้น สินค้าคุณภาพเท่านั้นจะสามารถยืนอยู่ได้ในตลาดอย่างยั่งยืน” นภาพรกล่าวในตอนท้าย
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *