การใช้เทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตบวกความคิดสร้างสรรค์ หรือเรียกเก๋ๆ ว่า IoT (Internet of Things) เข้ามามีบทบาทในการทำเกษตรยุคใหม่มากขึ้นทุกขณะ ด้วยประโยชน์ สามารถเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุน และอำนวยสะดวกสบายแก่ผู้ปลูกได้เป็นอย่างดี อย่างเช่นรายของชุดโรงเพาะเห็ดอัจฉริยะ “ซี-การ์เด้น” (C-garden) สร้างระบบควบคุมการเปิดปิดรดน้ำอัตโนมัติผ่านอินเตอร์เน็ต ช่วยให้การเพาะเห็ดเป็นงานง่ายขึ้น สามารถจะดูแลได้จากทุกพื้นที่ในโลก
จิระศักดิ์ ถิระศุภศรี เจ้าของธุรกิจ ฟาร์มเห็ด C-garden ใน ต.บางปลา อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ เล่าว่า วิธีการทำงานของโรงเพาะเห็ดอัจฉริยะ “C-garden” จะเชื่อมโยงการทำงานผ่านอินเตอร์เน็ต โดยตัวโรงเพาะจะติดตั้งอุปกรณ์จับสัญญาณไวไฟ ส่วนผู้ปลูกจะควบคุมการทำงานผ่าน “สมาร์ทโฟน” โดยเข้าไปที่แอพพลิเคชั่น เพื่อกำหนดการเปิดปิดอุปกรณ์รดน้ำ และตรวจสอบความชื้นภายในโรงเพาะ รวมถึง ตั้งเวลาและปริมาณให้พ่นน้ำอัตโนมัติได้ด้วย ช่วยให้ผู้ปลูกมีความสะดวกสบาย สามารถดูแลการเพาะปลูกเห็ดได้ทุกเวลา และทุกพื้นที่ ซึ่งสามารถเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตได้
นอกจากนั้น อุปกรณ์โครงสร้างโรงเพาะเห็ดอัจฉริยะ “C-garden” ออกแบบให้ถอดประกอบได้ทั้งหมด เพิ่มความสะดวกในการขนส่ง โดยขณะนี้มีแบบ “ชุดสำเร็จรูป” ขนาดบรรจุก้อนเห็ดจำนวน 150 ก้อน ราคา 12,000 บาท กับรับออกแบบวางระบบในพื้นที่ตามที่ลูกค้าต้องการ
เจ้าของแนวคิด เสริมต่อว่า ชุดเพาะเห็ดอัจฉริยะดังกล่าว ต้องการตอบสนองการใช้งานของลูกค้าทั้งกลุ่มคนยุคใหม่ที่อยากจะเพาะเห็ดเพื่อเป็นงานอดิเรก หรือหารายได้เสริม รวมถึง กลุ่มผู้ต้องการจะเพาะเห็ดเพื่อเป็นอาชีพอย่างจริงจัง สามารถจะดูแลโรงเพาะเห็ดได้ด้วยตัวคนเดียว และที่สำคัญที่สุด จะมีเวลาออกไปทำตลาดมากยิ่งขึ้น แทนที่จะต้องมาคอยเฝ้าดูแลโรงปลูกตลอดเวลา
“การเพาะเห็ดแบบทั่วไป ผู้ปลูกต้องคอยดูแลการรดน้ำด้วยตัวเอง หรือจ้างคนมาดูแล ซึ่งค่าแรงพนักงานก็ถือเป็นต้นทุนของธุรกิจเช่นกัน การนำอินเตอร์เน็ตมาควบคุมการรดน้ำ จึงช่วยลดต้นทุนค่าพนักงาน นอกจากนั้น ยังลดภาระการดูแลในฟาร์ม ช่วยให้มีเวลาออกไปทำตลาดภายนอกได้ ซึ่งปัจจุบัน เห็ดเป็นที่ต้องการตลาดมากอยู่แล้ว เรื่องผลิตไม่ใช่เรื่องยาก แต่สิ่งที่ยากกว่า คือ การทำตลาด ดังนั้น หากสามารถนำสินค้าไปพบกับช่องทางตลาดที่เหมาะสมได้ โอกาสจะสำเร็จในอาชีพก็เป็นไปได้สูง” จิระศักดิ์ ระบุ
ด้วยพื้นฐานเรียนจบด้านวิศวกรรม เครื่องกล รวมถึง เป็นคนชอบคิดชอบประดิษฐ์อุปกรณ์ต่างๆ แถมมีพื้นฐาน ทำโรงงานประกอบอุปกรณ์เครื่องปรับอากาศ ดังนั้นที่ผ่านมา จิระศักดิ์ ใช้ความรู้ทุกด้าน มาสร้างสรรค์อุปกรณ์การเกษตรยุคใหม่หลากหลายชนิด เช่น “บ้านเห็ด” ซึ่งเป็นชุดเพาะปลูกเห็ดในครัวเรือน และ “เครื่องพ่นหมอกควันแบบพกพา” ช่วยอำนวยความสะดวกในการพ่นน้ำยาป้องกันแมลงได้ง่ายขึ้น เป็นต้น
ทั้งหมดทำขึ้นด้วยความรัก และเติมเต็มความฝันที่อยากจะเป็นเกษตรกรมายาวนาน พร้อมวางแผนจะยึดเป็นอาชีพหลัก หลังวัยเกษียณ ควบคู่กับสร้างประโยชน์ให้ความรู้การทำเกษตรแก่ผู้ที่สนใจด้วย
จิระศักดิ์ เล่าถึงจุดเริ่มต้นที่มาทำฟาร์มเห็ด C-garden ว่า ส่วนตัวทำธุรกิจเปิดโรงงานประกอบอุปกรณ์เครื่องปรับอากาศอยู่ที่ จ.สมุทรปราการ ซึ่งด้านหลังโรงงานมีพื้นที่ว่างเปล่าเหลืออยู่ประมาณ 1 ไร่ จึงคิดนำมาพัฒนาให้เกิดประโยชน์ ด้วยการทำเกษตร เมื่อ4 ปีที่แล้ว
ส่วนเหตุที่เลือกจะเพาะเห็ดนั้น เพราะเป็นพืชเศรษฐกิจ ปลูกง่ายได้ผลเร็ว และที่สำคัญ ได้สำรวจตลาดจากพ่อค้าแม่ค้าในย่านบางพลี พบว่ามีความต้องการเห็ดอย่างมาก ซึ่งเดิมผู้ค้าต้องขับรถบรรทุกไปซื้อผลผลิตเห็ดมาขายจากพื้นที่ไกลๆ เช่น ตามตลาดค้าส่งสินค้าเกษตร หรือจังหวดใกล้เคียง อย่างฉะเชิงเทรา ทำให้เสียเวลาและสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายจากการขนส่ง ดังนั้น เขาจึงไปเสนอว่า ถ้ามีเห็ดมาส่งขายให้ถึงที่เลย จะต้องการหรือไม่ ซึ่งคำตอบที่ได้รับกลับมา ตรงกันหมดว่า ให้มาส่งได้เลย พร้อมจะรับซื้อไว้ทั้งหมด ภายใต้เงื่อนไขว่า ต้องมาส่งทุกวันและปริมาณสม่ำเสมอ
ดังนั้น ก่อนจะลงทุนทำฟาร์มเห็ดอย่างจริงจัง เขามีฐานลูกค้ารอรับซื้อในมือที่แน่นอนอยู่แล้ว
จิระศักดิ์ เล่าต่อว่า เริ่มแรกหาความรู้ในการทำฟาร์มเห็ดด้วยตัวเอง จากหนังสือและอินเตอร์เน็ต รวมถึงไปดูงานที่ฟาร์มเพาะเห็ดหลายแห่ง และเข้าอบรมความรู้จากหน่วยงานต่างๆ เบื้องต้นลงทุนหลักแสนบาท ปรับปรุงพื้นที่ทำโรงปลูก จำนวน 3 โรง ปริมาณการปลูกโรงละ 5,000 ก้อน
“ช่วงแรก ผมอาศัยซื้อก้อนเห็ดจากฟาร์มอื่น มาปลูกแล้วส่งขายผู้ค้าในย่านบางพลี ต่อมาเมื่อเรามีความรู้ความชำนาญมากยิ่งขึ้น เริ่มพัฒนามาผลิตก้อนเห็ดด้วยตัวเอง ซึ่งแต่ละฟาร์มจะมีสูตรของตัวเอง โดยเห็ดของ C-garden จะมีคุณสมบัติเด่น คือ ช่อดอกดก กลีบหนา ดอกใหญ่ ทำให้ได้ผลผลิตน้ำหนักดี” เขาเผย
สำหรับเห็ดของฟาร์ม C-garden ปัจจุบันมีอยู่ 8 ชนิด ได้แก่ เห็ดนางฟ้าภูฐาน เห็ดนางรมฮังการี เห็ดหูหนู เห็ดขอนขาว เห็ดขอนดำ เห็ดยานางิ เห็ดฟาง และเห็ดโคนน้อย ปริมาณการส่งประมาณ 50 กิโลกรัมต่อวัน ในราคาต้นทุนผลิตประมาณ 20 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนราคาขายปลีกอยู่ที่ 60-70 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งในความเป็นจริง ตลาดยังมีความต้องการมากกว่านี้อีกมาก แต่ด้วยข้อจำกัดของพื้นที่ปลูก ซึ่งเวลาเต็มศักยภาพแล้ว ทำให้สามารถจะปลูกและส่งขายได้ปริมาณเพียงเท่านี้
จิระศักดิ์ เผยด้วยว่า ปัจจุบันฟาร์มเห็ด C-garden ยกระดับเป็นธุรกิจเกี่ยวกับเห็ดครบวงจร มีทั้งขายเห็ดสด ก้อนเห็ด อุปกรณ์การปลูกเห็ดทุกชนิด ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเห็ด เช่น แหนมเห็ด เห็ดสวรรค์ เป็นต้น นอกจากนั้น เปิดฟาร์มเป็นศูนย์อบรมและเรียนรู้วิธีการเพาะปลูกเห็ด รับรองโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
“ทุกวันนี้ ธุรกิจค้าเห็ดการแข่งขันสูง แต่ด้วยปริมาณความต้องการของตลาดที่สูงมากเช่นกัน จากเทรนด์รักสุขภาพ ทำให้ตลาดยังมีโอกาสเปิดกว้าง สิ่งสำคัญคนที่อยากจะมาประกอบอาชีพนี้ ต้องศึกษาหาความรู้ให้มากที่สุด โดยเฉพาะเรื่องระบบการดูแลโรงเรือน นอกจากนั้น ต้องพยายามหาตลาดรองรับให้ได้ เริ่มแรกอยากจะส่งขายในท้องถิ่นก่อน และเมื่อเพาะปลูกได้ปริมาณมากๆ แล้ว ควรจะขยายไปส่งตามตลาดค้าส่ง และต้องต่อยอดด้วยการแปรรูป ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยง เรื่องสินค้าเหลือขายไม่ออก รวมถึงยังช่วยเพิ่มมูลค่าผลผลิตด้วย” เจ้าของฟาร์มเห็ด C-garden กล่าว
เขากล่าวในตอนท้ายว่า อาชีพเกษตรเป็นสิ่งที่ฝันอยากทำมาตลอดชีวิต และเมื่อได้ลงมือทำจริง ยิ่งมีความสุขอย่างมาก และพร้อมจะถ่ายทอดความรู้ให้แก่ผู้อื่นๆ เสมอ โดยเปิดฟาร์มเห็ด C-garden ให้ผู้สนใจเข้ามาเรียนรู้ได้ตลอดเวลา นอกจากนั้น ยังได้ทำคลิปวิดีโอแนะนำวิธีการเพาะเห็ดผ่านทางออนไลน์ โดยผู้สนใจสามารถเข้าไปดูได้ฟรี
อีกตัวอย่างของการทำเกษตรกรยุคใหม่ ที่กำลังก้าวข้ามจากรูปแบบเดิมๆ สู่ Smart Farmer
สนใจหาความรู้การทำธุรกิจฟาร์มเห็ดหรือติดต่อธุรกิจ www.cgardenfarm.com , FB:ก้อนเชื้อเห็ด C-Garden , ID Line:@Cgardenfarm , IG: Cgardenfarmthailand หรือโทร.086-320-3956 และ 02-174-6034
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEs ผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *