xs
xsm
sm
md
lg

เปิดโมเดล 'โรงสกัดน้ำมันปาล์มไร้ขยะ' เพิ่มรายได้ชาวสวนด้วยการซื้อปาล์มสุกทุกทะลาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ทะลายปาล์มสุก
ขึ้นชื่อว่าเป็นพืชพลังงาน และเป็นพืชแห่งอนาคต อย่าง “ปาล์ม” ทำให้เกษตรกรที่อาศัยในพื้นที่ที่มีสภาพภูมิอากาศเหมาะสมอย่างจังหวัดในภาคใต้ยึดอาชีพนี้เป็นจำนวนมาก ไม่เว้นแม้แต่คนนอกพื้นที่ก็ให้ความสนใจไม่แพ้กัน อย่าง “บริษัท เพื่อกระบี่ปาล์มออยด์ จำกัด” โรงงานกลั่นน้ำมันปาล์ม ที่นอกจากจะรับซื้อจากเกษตรกรแล้ว ยังลงพื้นที่ให้ความรู้เกษตรกรด้วยการตัดปาล์มสุกขายเพื่อรายได้ที่มากกว่า
บริษัท เพื่อกระบี่ปาล์มออยด์ จำกัด
เมื่อ “นายบุญรักษ์ อุ่นยวง” มองเห็นอนาคตของปาล์มน้ำมัน ว่าต่อไปจะกลายเป็นแหล่งพลังงานที่สำคัญของไทยและคนทั่วโลก จึงคิดสร้างโรงงานกลั่นน้ำมันปาล์มขนาดเล็ก โดยได้ต้นแบบแนวคิดจากในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่พระองค์ได้สร้างโรงงานกลั่นปาล์มน้ำมัน เพื่อนำมาใช้ทดแทนน้ำมัน เนื่องจากพระองค์เชื่อว่าพลังงานใต้ดินมีวันหมด แต่พลังงานบนดินใช้อย่างไรก็ไม่หมด ทำให้นายบุญรักษ์ เลือกเดินบนเส้นทางสายนี้แม้จะไม่ใช่คนในกระบี่โดยกำเนิดก็ตาม
นายบุญรักษ์ อุ่นยวง กรรมการผู้จัดการ บริษัท เพื่อกระบี่ปาล์มออยด์ จำกัด
“เดิมผมทำงานในเมืองหลวงด้านคอมพิวเตอร์ แต่เมื่อถึงจุดอิ่มตัวก็คิดย้ายกลับบ้านเกิดที่ จ.สุราษฎร์ธานี หวังมาตั้งต้นทำธุรกิจที่มีอนาคต โดยให้ความสนใจในเรื่องของปาล์มน้ำมันที่ต่อไปจะกลายเป็นแหล่งพลังงานที่สำคัญของประเทศชาติ ซึ่งในการปลูก 1 ครั้งจะสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้นาน 30ปี ส่วนยางพาราจะมีอายุการเก็บเกี่ยวผลผลิตที่สั้นกว่า ขณะที่การปลูกถั่วเหลืองเพื่อผลิตน้ำมันในการบริโภคนั้น ต้นถั่วก็มีอายุสั้นเพียง 6เดือนเท่านั้น ก็ต้องปลูกใหม่ ดังนั้นการเลือกดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับปาล์มน้ำมันน่าจะเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุด”
เมล็ดปาล์ม
ในช่วงเริ่มต้นธุรกิจถือว่าบริษัทฯ เริ่มต้นจากศูนย์โดยไม่มีความรู้ในเรื่องปาล์มน้ำมันมาก่อน โดยรับซื้อทะลายปาล์มทั่วไป มีทั้งผลดิบและสุกปนกันในทะลาย และนำมาแปรรูปเป็นน้ำมันปาล์มดิบ เพื่อส่งต่อให้อุตสาหกรรมเครื่องสำอาง และโรงงานผลิตน้ำมันปาล์มเพื่อบริโภคต่อไป ขณะที่การก่อสร้างโรงงานและเงินทุนหมุนเวียนในการรับซื้อปาล์มใช้เงินลงทุนประมาณ 12.5 ล้านบาท โดยได้สินเชื่อจากธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว. หรือ SME Development Bank)
สีขาวด้านในคือ Kernel นำไปสกัดเป็นน้ำมันได้มูลค่าสูง
ต่อมาเมื่อเขาคลุกคลีอยู่ในแวดวงปาล์มมาได้ระยะหนึ่งก็ค้นพบว่า หากนำทะลายปาล์มสุกทั้งทะลายมาแปรรูปเป็นน้ำมันจะได้เปอร์เซ็นต์น้ำมันที่มากกว่าทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นจากเดิม ดังนั้นเขาจึงลงพื้นที่ให้ความรู้ในเรื่องดังกล่าวแก่เกษตรกรอย่างจริงจัง เพราะเขาคิดว่าหากเกษตรกรรับทราบเรื่องนี้ก็จะเกิดประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของของเกษตรกรเองและผู้ประกอบการ
กากปาล์ม มีโปรตีนสูงใช้เป็นอาหารสัตว์
“ผมลองคำนวณคร่าวๆ ว่าหากปริมาณน้ำมันดิบที่ได้จากทะลายปาล์มทั่วไป ที่มีทั้งผลดิบและผลสุก เราจะนำมาหีบได้เปอร์เซ็นต์น้ำมันประมาณ 17% แต่หากใช้ปาล์มสุกจะได้เพิ่มเป็น 20% ดังนั้นตอนนี้บริษัทฯ จึงรับซื้อเฉพาะทะลายปาล์มสุกทั้งทะลายเท่านั้น โดยเพิ่มราคาการรับซื้อให้สูงขึ้นตามเปอร์เซ็นต์น้ำมัน เช่น ถ้าเพิ่ม1% เกษตรกรจะมีรายได้เพิ่มอีก 30 สตางค์ ต่อกิโลปาล์ม ซึ่งถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ทำให้เกษตรกรชาวสวนปาล์มมีรายได้เพิ่มขึ้น”
ชั่งปาล์ม ก่อนนำทะลายสกัดเป็นน้ำมันปาล์มดิบ
นอกจากการช่วยเหลือให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นแล้ว บริษัทฯ ยังคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมในชุมชนด้วย เขาจึงออกแบบระบบโรงงานเป็นโรงสกัดน้ำมันปาล์มแบบแห้ง (Dry Process) ซึ่งจะไม่มีการใช้น้ำในการผลิตเลย จึงไม่มีน้ำเสียไหลลงสู่ชุมชน รวมถึงยังไม่มีขยะเหลือทิ้งด้วย คือ เปลือกจากเมล็ดปาล์มและทะลายปาล์มที่เหลือจากการหีบน้ำมัน จะถูกนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงในการอบลมร้อน เพื่อลดความชื้นแก่ผลปาล์ม โดยใช้เวลาอบร้อนประมาณ 3-4 ชั่วโมง ขณะที่กากปาล์มซึ่งมีโปรตีนสูง 8-9% จะถูกนำมาใช้เป็นอาหารสัตว์

ปัจจุบันน้ำมันปาล์มดิบจะถูกนำไปใช้ 2 อุตสาหกรรมหลัก ได้แก่ อุตสาหกรรมบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป สำหรับใช้ในการทอดบะหมี่ให้กรอบนาน และถูกนำไปทำเป็นน้ำมันปาล์มบรรจุขวดเพื่อการบริโภค ส่วนเมล็ดในสุดของผลปาล์ม (Kernel) ยังนำไปสกัดเป็นน้ำมันที่มีมูลค่าสูง โดยใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องสำอางค์ และอาหารเสริมต่อไป ซึ่งขณะนี้บริษัทฯ รับซื้อปาล์มสุกทุกทะลายจากเกษตรกรสูงสุดประมาณ 200-250 ตัน/วัน แปรรูปปาล์มสุกประมาณ 100-200 ทะลาย/วัน ซึ่งจะได้น้ำมันประมาณ 6 ตัน เหลือกาก 6 ตัน
คัดแยกผลปาล์ม


ล่าสุดเมื่อธุรกิจของเขาไปได้ดี และยังมีส่วนในการช่วยเหลือชุมชนและเกษตรกรชาวสวนปาล์ม ทำให้ภาครัฐฯ เห็นถึงความสำคัญ จึงอนุมัติเงินกู้ตามโครงการกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ” ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม วงเงินกู้ 3 ล้านบาท ดอกเบี้ยเพียง 1% ต่อปี นำมาซื้อเครื่องจักรสำหรับกระเทาะเมล็ดผลปาล์ม และยังได้เงินกู้จากโครงการสินเชื่อ SME Transformation Loan วงเงิน 2.3 ล้านบาท จากธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) สำหรับใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนเพื่อรับซื้อผลปาล์มจากเกษตรกรอีกด้วย


***สนใจติดต่อ บริษัท เพื่อกระบี่ปาล์มออยล์ จำกัด เลขที่ 104 ม.7 ถ.คลองท่อมใต้-ทุ่งใหญ่ ต.พรุดินนา อ.คลองท่อม จ.กระบี่ 81120 โทร.08-1787-6174***
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น