xs
xsm
sm
md
lg

ถอดรหัสตลาดUAE ขุมทรัพย์แสนล้าน โอกาสทอง SMEไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ธนาคารกสิกรไทย จัดสัมมนา  “เจาะตลาด UAE โอกาสเปิดเพิ่มยอดขาย”
ธนาคารกสิกรไทย เติมเต็มศักยภาพให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ “เอสเอ็มอี” ด้วยการมอบความรู้ และแนะช่องทางสร้างตลาดใหม่ในต่างแดน ผ่านการจัดสัมมนาใหญ่ หัวข้อ “เจาะตลาด UAE โอกาสเปิดเพิ่มยอดขาย” ระดมกูรูตัวจริงเสียงจริงในวงการ ตลอดจนสุดยอดเอสเอ็มอีไทยที่ไปดังไกลในตลาดตะวันออกกลาง โดยเฉพาะประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) ขึ้นเวทีให้ข้อมูลเชิงลึก ตลอดจนเล่าประสบการณ์ เพื่อเป็นต้นแบบและบทเรียนแก่ผู้ประกอบการไทยรายอื่นๆ เร่งยกระดับ และก้าวตามเพื่อจะไปปักธงธุรกิจในตลาด UAE ได้สำเร็จเช่นกัน
คุณพิภวัตว์ ภัทรนาวิก ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวเปิดงาน
**เผย “ตะวันออกกลาง” ตลาดใหม่ของเอสเอ็มอีไทย**

คุณพิภวัตว์ ภัทรนาวิก ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ธนาคารกสิกรไทยให้ความสำคัญต่อเอสเอ็มอีไทยอย่างมาก เพราะตระหนักดีว่า หากเอสเอ็มอีเข้มแข็งย่อมทำให้เศรษฐกิจประเทศแข็งแกร่งตามไปด้วย ที่ผ่านมา ธนาคารจึงจัดกิจกรรมพัฒนาศักยภาพเอสเอ็มอีต่อเนื่องและหลากหลายรูปแบบ หนึ่งในนั้น คือ การ “สัมมนา” ให้ความรู้ โดยล่าสุดจัดหัวข้อ “เจาะตลาด UAE โอกาสเปิดเพิ่มยอดขาย” เพื่อให้ข้อมูล สร้างโอกาสเอสเอ็มอีเปิดตลาดใหม่ ซึ่งประเทศแถบตะวันออกกลาง มีความน่าสนใจ จากกำลังซื้อมหาศาล มูลค่ามากกว่าแสนล้านบาทต่อปี และมีอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา ธุรกิจไทยที่ส่งออกสินค้าหรือบริการไปยังตลาดตะวันออกกลาง ส่วนใหญ่ยังเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ ดังนั้น โอกาสยังเปิดกว้างรอให้เอสเอ็มอีขยายธุรกิจในตลาดตะวันออกกลางได้มากเช่นกัน
การไปทำตลาดต่างแดน ไม่ใช่มีแค่เงินทุนแล้วจะสำเร็จ  ปัจจัยสำคัญต้องมี “ความรู้” และ “ความพร้อม” - คุณพิภวัตว์ กล่าว
“ตลาดตะวันออกกลางเป็นโอกาสทองของทั้งเอสเอ็มอีไทยและของประเทศไทย ที่จะช่วยเพิ่มมูลค่าการส่งออก ซึ่งการไปทำตลาดต่างแดน ไม่ใช่มีแค่เงินทุนแล้วจะสำเร็จ ปัจจัยสำคัญต้องมี “ความรู้” และ “ความพร้อม” เพื่อจะลดความเสี่ยงและเพิ่มโอกาสความสำเร็จ ทาง ธนาคารกสิกรไทยจึงจัดกิจกรรมนี้ ซึ่งนอกจากจะมอบความรู้แล้ว ภายในงานยังมีการออกบูธของหน่วยงานพันธมิตรจากภาครัฐและเอกชน เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของเอสเอ็มอีไทยที่ต้องการไปทำตลาดในต่างแดนได้อย่างครบวงจร” คุณพิภวัตว์ เผย
คุณพิภวัตว์ ภัทรนาวิก  (ขวา) และคุณอัครวุฒิ ตั้งศิริกุศลวงศ์ (ซ้าย) รองประธานสภาธุรกิจไทยในดูไบและรัฐตอนเหนือของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE)
**กูรูชี้ประเด็น UAE ร่ำรวยเงินทอง ต้องนำเข้าสินค้าอีกมากมาย **

คุณอัครวุฒิ ตั้งศิริกุศลวงศ์ รองประธานสภาธุรกิจไทยในดูไบและรัฐตอนเหนือของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) และ ประธานกรรมการบริหาร (CEO) บริษัท เวก้า อินเตอร์เทรด แอนด์ เอ็กซิบิชั่นส์ (ดูไบ) ผู้บุกเบิกและเชี่ยวชาญตลาดตะวันออกกลาง บรรยายหัวข้อ “กลยุทธ์เชิงรุกบุกตลาดใหม่” ว่า UAE มีประชากร ประมาณ 10 ล้านคน แบ่งเป็นคนท้องถิ่นประมาณ 1 ล้านคน ที่เหลือเป็นชาวต่างชาติ แม้จำนวนประชากรจะน้อย แต่กลับมีความน่าสนใจสูง จากความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ เพราะเป็นผู้ส่งออกน้ำมันและก๊าซธรรมชาติรายสำคัญของโลก รวมถึงต่างชาติเข้ามาลงทุนจำนวนมาก ส่งให้ GDP ของ UAE มูลค่ากว่า 370.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ข้อมูล พ.ศ.2558 โดยธนาคารโลก) ประชากรมีรายได้เฉลี่ยสูงถึง 4 หมื่นเหรียญสหรัฐต่อคนต่อปี (ข้อมูล พ.ศ.2558 โดยธนาคารโลก) และส่วนใหญ่อยู่ในวัยทำงาน จึงมีการจับจ่ายง่ายและมีปริมาณสูง
ได้รับความสนใจจากผู้เข้าฟังอย่างล้นหลาม
นอกจากนั้น ที่ตั้ง UAE อยู่ศูนย์กลางภูมิภาค เชื่อมต่อการค้าและการเดินทางทั้งทางบกและอากาศไปประเทศอื่นๆ ของตะวันออกกลาง ต่อเนื่องถึงทวีปแอฟริกา และยุโรป อีกทั้ง UAE ให้ความสำคัญในการพัฒนาเมืองรองรับสังคมผู้สูงอายุ และในปี ค.ศ.2020 นครดูไบจะรับหน้าที่เจ้าภาพจัด“เวิลด์ เอ็กซ์โป 2020” ปัจจัยดังกล่าว ส่งผลให้เกิดการก่อสร้างใหม่ เช่น ที่พัก ห้างสรรพสินค้า ฯลฯ และเกิดการจ้างงานจำนวนมาก จึงเป็นโอกาสของธุรกิจสินค้าก่อสร้าง อุปกรณ์ตกแต่ง สินค้าอุปโภคบริโภคต่างๆ ที่เข้ามารองรับการเติบโตดังกล่าว

ผู้เชี่ยวชาญตลาด UAE เผยต่อว่า ประเด็นน่าสนใจที่สุด คือ ประเทศ UAE มีความร่ำรวยด้านเงินทอง แต่กลับไม่สามารถจะผลิตสินค้าต่างๆ ได้ด้วยตัวเอง โดยเฉพาะ “สินค้ากลุ่มอาหาร” เนื่องจากข้อจำกัดเรื่องสภาพแวดล้อม จำเป็นต้องนำเข้าแทบทุกชนิด นี่จึงเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยและชาติอื่นๆ ที่จะนำเสนอสินค้าเข้ามาทำตลาดในดินแดนแห่งนี้
คุณอัครวุฒิ ตั้งศิริกุศลวงศ์   บรรยายหัวข้อ “กลยุทธ์เชิงรุกบุกตลาดใหม่”
ทั้งนี้ จากข้อมูลของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ พบว่ามูลค่าการส่งออกของสินค้าไทย มายัง UAE ปี พ.ศ.2559 ประมาณ 1แสนล้านบาท ขณะที่มูลค่าการส่งออกช่วงเดือน ม.ค.-พ.ค.ปีนี้ (2560) มีมูลค่า 3.99หมื่นล้านบาท สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ ชิ้นส่วนรถยนต์ อัญมณี เครื่องสำอาง เครื่องปรับอากาศ และอาหาร เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ตัวเลขดังกล่าว ยังถือเป็นส่วนน้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับการนำเข้าสินค้าทั้งหมดจากทั่วโลกของ UAE ที่มีมูลค่าประมาณ 200.66 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (ข้อมูลปี พ.ศ.2555 โดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์) รวมถึง หากเจาะลึกลงไป ธุรกิจไทยที่เข้ามาทำตลาดใน UAE แทบทั้งหมดเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ ส่วนเอสเอ็มอีไทยยังมองข้ามและไม่กล้าเข้ามามากนัก สาเหตุเพราะกังวลเรื่องระยะทางไกล การทำตลาด ความแตกต่างด้านวัฒนธรรม และอยากมุ่งเน้นทำตลาดอาเซียนมากกว่า ทั้งที่โดยพื้นฐานแล้ว ชาว UAE รู้จักและชื่นชอบสินค้าไทยมาก จากการเดินทางมาเที่ยวเมืองไทย และจดจำสินค้าไทยในฐานะของดี ราคาสมเหตุสมผล รวมถึง สินค้าของธุรกิจเอสเอ็มอีหลายชนิดมีศักยภาพและโอกาสอย่างสูงใน UAE ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจด้านสุขภาพ ธุรกิจก่อสร้าง อุปกรณ์ตกแต่ง และธุรกิจด้านอาหาร

สำหรับกลยุทธ์ในการทำตลาด UAE นั้น เขาแนะนำว่า อันดับแรกต้องเข้าใจวัฒนธรรมของชาวอาหรับอย่างลึกซึ้ง พยายามเรียนรู้และสร้างความไว้วางใจ ควบคู่กับใช้สื่อออนไลน์ ซึ่งกำลังได้รับความนิยมอย่างมากเป็นช่องทางทำตลาด รวมถึงการออกงานแสดงสินค้า และร่วมกิจกรรมจับคู่ธุรกิจ
บรรยากาศภายในห้องสัมมนา
ทั้งนี้ เทรนด์ธุรกิจที่น่าสนใจใน UAE ซึ่งเอสเอ็มอีไทยควรนำไปปรับเป็นกลยุทธ์ เพื่อผลิตสินค้าหรือบริการให้เหมาะสม คือ การเติบโตของ E-Commerce การก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุที่ต้องการสินค้าเพื่อสุขภาพ ผู้หญิงและเยาวชนเข้ามามีบทบาทมากขึ้น มีการก่อสร้างใหม่จำนวนมาก ภาครัฐสนับสนุนการท่องเที่ยว เช่น ประกาศยกเลิกวีซ่า นักท่องเที่ยวจีน และรัสเซีย เกิดการลงทุนในธุรกิจพลังงานยั่งยืน และก้าวสู่การเป็น SMART CITY ส่งผลต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมด้านไอที

“ณ วันนี้ ตลาด UAE มีศักยภาพพร้อม กำลังซื้อสูงมาก และเนื่องจากเขาไม่สามารถจะผลิตสินค้าต่างๆ ได้เอง ในขณะที่ชาว UAE รู้จักและนิยมสินค้าไทยอยู่แล้ว นี่จึงเป็นโอกาสสำหรับเอสเอ็มอีไทยในการขยายตลาด ขอเพียงว่าก่อนจะเข้ามา ต้องเตรียมตัวให้พร้อม โอกาสจะสำเร็จก็จะมากตามไปด้วย” คุณอัครวุฒิ ระบุ
ภายนอกงาน มีจัดกิจกรรมออกบูธของหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน
 เสวนาในหัวข้อ “เทคนิคสินค้า SMEไทยดังไกลในตะวันออกลาง”
*** เปิดประสบการณ์สุดยอดเอสเอ็มอีไทยดังไกลในตะวันออกกลาง ***

ในช่วงที่ 2 ของงานสัมมนาดังกล่าว เอสเอ็มอีไทย 4 ราย ที่ไปประสบความสำเร็จในตลาดตะวันออกกลาง มาเล่าเส้นทางธุรกิจตลอดจนประสบการณ์ทำตลาด ในหัวข้อ “เทคนิคสินค้า SMEไทยดังไกลในตะวันออกลาง” ประกอบด้วย คุณดวงฤทัย โชติบูรณ์วงศ์ เจ้าของธุรกิจเครื่องสำอาง แบรนด์ "YC" , คุณอัครพัจน์ ตั้งตรงจิตร เจ้าของธุรกิจยาดมและยาสมุนไพร แบรนด์ “เฌอเอม” , คุณประภัสสรา รติพรทิพย์ เจ้าของธุรกิจกระเป๋าสตรี แบรนด์ “Jane Lily” และคุณภูริตา อัคฆกาญจนสุภา เจ้าของธุรกิจเครื่องดื่ม แบรนด์ "PS"
คุณดวงฤทัย โชติบูรณ์วงศ์  เจ้าของธุรกิจเครื่องสำอาง  แบรนด์ YC
**เครื่องสำอาง "YC" แนะสร้างความไว้วางใจเป็นกุญแจแห่งความสำเร็จ **

เริ่มต้นจาก “คุณดวงฤทัย โชติบูรณ์วงศ์” ผู้ผลิตสินค้าเครื่องสำอาง แบรนด์ "YC" เล่าว่า เริ่มทำธุรกิจจากความชื่นชอบสินค้าเพื่อความสวยงาม และเคยทำงานในโรงงานผลิตเครื่องสำอาง จนกลายเป็นแรงบันดาลใจอยากจะก้าวมาเป็นเจ้าของแบรนด์เครื่องสำอางด้วยตัวเอง

ทั้งนี้ มองว่าการทำตลาดเครื่องสำอางในเมืองไทย การแข่งขันสูง และจำเป็นต้องใช้เงินทุนมาก จึงเลือกจะไปทำตลาดในต่างแดนแทน โดยสนใจตลาด UAE เพราะมีกำลังซื้อสูง และมีความต้องการสินค้าประเภทนี้อยู่แล้ว ส่วนวิธีทำตลาดเบื้องต้น อาศัยทำสินค้าตัวอย่างแล้วไปออกงานแสดงสินค้าที่นครดูไบ ซึ่งได้รับออเดอร์ทันที หลังจากนั้น จึงมีเงินทุนมาต่อยอดธุรกิจ จนปัจจุบันส่งออกไปแล้วกว่า 45 ประเทศทั่วโลก เช่น ยูเออี อิหร่าน อิรัก คูเวต บาห์เรน โอมาน ซาอุดิอาระเบีย ซูดาน จอร์แดน และเยเมน เป็นต้น

“เวลาไปทำตลาดต่างประเทศ สิ่งสำคัญต้องทำให้ลูกค้าเกิดความไว้วางใจ ดังนั้น จำเป็นอย่างมากที่ตัวเจ้าของธุรกิจต้องไปออกบูธเจรจาการค้าด้วยตัวเอง เพราะไม่มีใครจะรู้จักธุรกิจของเราได้ดีกว่าตัวเราเอง เมื่อเราซื่อสัตย์ต่อลูกค้า จนเขาไว้วางใจแล้ว ในอนาคต เราจะสามารถจะขายสินค้าได้ทุกชนิด ไม่จำเป็นต้องผลิตเองเสมอไป ก็สามารถจะต่อยอดธุรกิจได้” เจ้าของแบรนด์เครื่องสำอาง YC เผย
คุณอัครพัจน์ ตั้งตรงจิตร  เจ้าของธุรกิจยาดมและยาสมุนไพร แบรนด์ “เฌอเอม”
** ยาดม “เฌอเอม” เผยตลาด UAE เพิ่มมูลค่าสินค้าได้ 4 เท่า **

ด้านคุณอัครพัจน์ ตั้งตรงจิตร กรรมการผู้จัดการ หจก.จิสประพัจน์ ผู้ผลิตยาดมและยาสมุนไพร แบรนด์ “เฌอเอม” เผยว่า ทำธุรกิจนี้มากว่า 20 ปี จนชื่อเสียงเป็นที่รู้จักของชาวต่างชาติ มักซื้อหากลับไปเป็นของฝากของขวัญ ยามเดินทางมาเที่ยวเมืองไทย ทำให้เห็นโอกาสต่อยอดธุรกิจด้วยการส่งออกไปต่างประเทศ ทั้งรูปแบบผ่านตัวแทนขาย และออกงานแสดงสินค้า

เขาเผยด้วยว่า สินค้าไทยที่ส่งไปขายยัง UAE สามารถทำราคาได้ดี เนื่องจากคนท้องถิ่นมีกำลังซื้อสูงมาก และเชื่อมั่นในสินค้าไทยอยู่แล้ว ตัวอย่างเช่น ยาดม “เฌอเอม” ขายในประเทศ ราคา 100 บาท แต่สินค้าชนิดเดียวกันไปขายที่ UAE สามารถทำราคาได้ถึง 400 บาท

อย่างไรก็ตาม ก่อนจะทำตลาดในต่างแดน ควรศึกษาข้อมูลให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะแม้แต่ประเทศแถบตะวันออกกลางด้วยกัน รายละเอียดของแต่ละประเทศ ยังแตกต่างกันออกไป โดยเฉพาะหากเป็นสินค้าประเภท “ยา” ยิ่งมีความละเอียดในกระบวนการของสาธารณสุขแต่ละประเทศมากขึ้นไปอีก ดังนั้น จำเป็นต้องวางแผนธุรกิจให้รอบคอบ

คุณประภัสสรา รติพรทิพย์ เจ้าของธุรกิจกระเป๋าสตรี แบรนด์ “Jane Lily” นอกจากจะเป็นวิทยากรแล้ว ยังนำสินค้ามาโชว์ด้วย
** เข้าใจไลฟ์สไตล์คนท้องถิ่นให้ลึกซึ้ง สูตรสำเร็จกระเป๋า “Jane Lily” **

คุณประภัสสรา รติพรทิพย์ เจ้าของกระเป๋าสตรี แบรนด์ “Jane Lily” เผยว่า เริ่มต้นธุรกิจจากการผลิตและเปิดร้านขายกระเป๋าในห้าง MBK ทำให้รู้ได้ว่าลูกค้าสุภาพสตรีชาวอาหรับ ชื่นชอบกระเป๋าของร้านอย่างมาก โดยลูกค้าชาวอาหรับ 1 คนจะมีปริมาณซื้อเท่ากับลูกค้าต่างชาติทั่วไปถึง 10 คน และเพื่อต้องการเพิ่มยอดขาย จึงตัดสินใจส่งออกสินค้าไปขายที่ตะวันออกกลางโดยตรง

สิ่งที่ทำให้กระเป๋า “Jane Lily” ครองใจลูกค้าได้นั้น เธอชี้ไปที่การจับไลฟ์สไตล์ และวัฒนธรรมของลูกค้าเป้าหมายได้อย่างลึกซึ้ง ทั้งลวดลาย สี และประโยชน์ใช้สอย ฯลฯ ตัวอย่างเช่น ชาวอาหรับจะรักแมว ถ้านำมาเป็นลายกระเป๋าจะถูกใจลูกค้าอย่างยิ่ง แต่หากเป็นลายสุนัขจะขายไม่ได้เลย อีกตัวอย่าง ชาวอาหรับนิยมดื่มน้ำชาและกาแฟ ทางแบรนด์ “Jane Lily” จึงทำกระเป๋าสำหรับปิกนิกที่เหมาะจะเก็บอุปกรณ์ดื่มน้ำชาและกาแฟได้สะดวก ช่วยให้สินค้าขายดีอย่างยิ่ง เป็นต้น

“ยิ่งเรารู้จักลูกค้าเป้าหมายของเรามากเท่าไร ก็จะยิ่งผลิตสินค้าได้โดนใจลูกค้ามากขึ้นเท่านั้น ซึ่งชาวอาหรับมีกำลังซื้อสูงอยู่แล้ว ขอให้สินค้าโดนใจ เขาพร้อมจะจ่ายเสมอ ดังนั้น การผลิตสินค้าใดๆก็ตาม ต้องทำตามความต้องการของลูกค้า อย่าทำตามความต้องการของตัวเอง” คุณประภัสสรา แนะนำ
ณภูริตา อัคฆกาญจนสุภา เจ้าของธุรกิจเครื่องดื่ม แบรนด์ PS
**เครื่องดื่ม “PS” ฟันธง เฟ้นเจอคู่ค้าตัวจริง คือหัวใจของธุรกิจ ***

ตบท้ายโดยคุณภูริตา อัคฆกาญจนสุภา กรรมการผู้จัดการ บริษัท เทรดดิ้ง เอพลัส จำกัด ผู้ผลิตเครื่องดื่มแบรนด์ "PS" ที่เริ่มต้นจากการเป็นตัวแทนนำสินค้าอุปโภคบริโภคต่างๆ จากประเทศไทยส่งไปขายตะวันออกกลาง จนเห็นโอกาสที่สินค้าประเภทเครื่องดื่มมีคำสั่งซื้อสม่ำเสมอต่อเนื่อง จึงก้าวมาเป็นผู้ผลิตและส่งออกเครื่องดื่มภายใต้แบรนด์ตัวเองเมื่อประมาณ 5 ปีที่แล้ว

เธอแนะนำว่า การทำตลาดต่างแดน สิ่งสำคัญต้องเลือกหาคู่ค้าท้องถิ่นที่เป็นผู้ประกอบการตัวจริงให้จงได้ ไม่ใช่เป็นเพียงแค่ตัวแทนมารับสินค้าไปขายต่อ เพราะการมีคู่ค้าเป็นผู้ประกอบการตัวจริง จะช่วยบอกข้อมูลในแต่ละพื้นที่ได้อย่างลึกซึ้ง ถูกต้อง ไม่ว่าจะเป็นด้านกฎหมาย การนำเข้าส่งออก ข้อมูลตลาด ฯลฯ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ หากไม่ใช่คนท้องถิ่นแล้ว แทบไม่มีทางจะรู้และเข้าใจได้เลย

นอกจากนั้น เธอฝากถึงผู้ประกอบการที่กำลังคิดอยากจะทำตลาดต่างประเทศ อันดับแรก คือ เมื่อคิดแล้วต้องลงมือทำ จากนั้น ทำแล้วต้องทบทวน หากมีข้อผิดพลาด ให้นำกลับมาแก้ไข และหากเกิดอุปสรรค จงอย่าท้อถอย
บรรยากาศภายนอกห้องสัมมนา
*** ระดมพันธมิตร ตอบโจทย์เอสเอ็มอีโกอินเตอร์ครบวงจร ***

นอกจากการสัมมนาบนเวทีแล้ว ในงานครั้งนี้ ยังมีการออกบูธของหน่วยงานพันธมิตรต่างๆ ได้แก่ บูทให้คำปรึกษาแนะนำการทำธุรกิจในตะวันออกกลาง และการเตรียมความพร้อมเบื้องต้นจากภาคธุรกิจ ได้แก่ ด้านกลุ่มสินค้าอาหาร โดยบริษัท วันเนส จำกัด และบริษัท เทรดดิ้ง เอพลัส จำกัด กลุ่มสินค้าแฟชั่น และสินค้าเพื่อความงาม โดย หจก. เจนลิลลี่ และ เอ็ม เอส กรุ๊ป และกลุ่มสินค้าและผลิตภัณฑ์สมุนไพร โดย บริษัท ไอคอนเน็ค อินเตอร์กรุ๊ป จำกัด และ หจก. จิสประพัจน์

บูธจากภาครัฐ ได้แก่ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว) โครงการต่างๆ ที่สนับสนุนSME นอกจากนั้น ยังมีทั้งบูธของสภาอุตสาหกรรม การปรึกษาด้านการขนส่งสินค้า โดยบริษัท PC Logistic. ปรึกษาด้านฮาลาล โดยสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยคำปรึกษาด้านการร่วมกิจกรรมเปิดตลาดยูเออีและตะวันออกกลาง โดยบริษัท เวก้า อินเตอร์เทรด แอนด์ เอ็กซิบิชั่นส์ (ดูไบ) การให้คำปรึกษาการตลาดการค้าในตะวันออกกลาง โดยสภาธุรกิจไทยในดูไบและรัฐตอนเหนือของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (TBC) และธนาคารกสิกรไทย นำเสนอและให้คำปรึกษาด้านการเงินสำหรับธุรกิจนำเข้า-ส่งออก

ทั้งหมดนี้ เกิดขึ้นในงานสัมมนา “เจาะตลาด UAE โอกาสเปิดเพิ่มยอดขาย” โดย ธนาคารกสิกรไทยเพื่อมุ่งมั่นติดอาวุธทางปัญญาแก่เอสเอ็มอีไทย เพื่อก้าวไกลไปสยายปีกการค้าในตลาดต่างแดน
ภายนอกงาน มีจัดกิจกรรมออกบูธของหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEs ผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น