“บ๊ะจ่าง” เป็นอีกเมนูสุดโปรดของหลายต่อหลายคน ด้วยรสชาติและกระบวนการทำที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวอย่างยิ่ง ทว่า ด้วยข้อจำกัดเก็บในอุณหภูมิปกติได้เพียงประมาณ 1-2 วันเท่านั้น จึงเป็นเรื่องยากจะซื้อหากลับไปเป็นของฝากแก่ญาติสนิทมิตรสหาย หรือนำติดตัวไปกินยามเดินทาง
ปัญหาดังกล่าวถูกนำมาแก้ไข พัฒนากระบวนการผลิต ให้สามารถเก็บไว้ในอุณหภูมิปกตินานประมาณ 7 วัน พร้อมทำบรรจุภัณฑ์ใหม่สวยงามน่ามอง ภายใต้แบรนด์ “คนแซ่ล้อ” เพื่อต้องการให้เป็นอีกทางเลือกสำหรับผู้มาเที่ยว จ.สุพรรณบุรี โดยเฉพาะ ต.อู่ทอง ได้ซื้อหาบ๊ะจ่างสูตรกว่า 30 ปี กลับไปเป็นของฝากได้
นายกิตติ์ธเนศ พุฒพีระวิทย์ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านหนองเสือ ต.อู่ทอง อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี เผยว่า ครอบครัวเป็นชาวจีนเดินทางมาจากเมืองซีเต๊กอุ๊ย ประเทศจีน โดยคุณแม่นำสูตร “บ๊ะจ่าง” จากบ้านเกิดแผ่นดินใหญ่มาทำขายในตลาดท่ามะกา ก่อนย้ายมาอยู่ตลาดอู่ทองในปัจจุบัน รวมระยะเวลาที่ทางบ้านยึดอาชีพขายบ๊ะจ้างมากกว่า 30 ปี
สำหรับบ๊ะจ่างที่ขายมายาวนานกว่า 30 ปี เป็นสูตรต้นตำรับสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น มีจุดเด่นรสชาติกลมกล่อม และเข้มพริกไทย ใช้วัตถุดิบและเครื่องปรุงที่คัดสรรมาอย่างดี เช่น หมูหมักสูตรพิเศษ เห็ดหอม กุนเชียง ไข่เค็มแดง เป็นต้น และที่ไม่เหมือนใคร จะใส่ธัญพืชต่างๆ ด้วย ทั้งงาดำ งาขาว ถั่วเขียว และลูกเดือย โดยนำมาคลุกเคล้าด้วยความพิถีพิถัน และห่อด้วยใบไผ่
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ลูกค้าจะเป็นเฉพาะแค่คนในชุมชนเท่านั้น ไม่เคยออกไปทำตลาดนอกพื้นที่เลย กระทั่งเมื่อทาง “องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน” (อพท.) สำนักนายกรัฐมนตรี ดำเนินแผนยกระดับ อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี สู่การเป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่เชิงวัฒนธรรม โดยมอบหมายให้ “สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม” (ISMED) ส่งเสริมความรู้แก่ผู้ประกอบการชุมชน และพัฒนา “สินค้าโบราณในท้องถิ่น” ให้มีรูปลักษณ์ที่โดดเด่น ทันสมัย เหมาะเป็นของฝากของขวัญแก่นักท่องเที่ยว โดย “บ๊ะจ่าง” จากตลาดอู่ทองเป็นหนึ่งในสินค้าโบราณที่ได้รับคัดเลือกเข้าสู่การพัฒนา เนื่องจากเป็นเจ้าเก่าแก่ประจำท้องถิ่น อีกทั้ง ใช้วัสดุ “ใบไผ่” ซึ่งถือเป็นอีกพืชเด่นประจำเมืองอู่ทอง
นายกิตติ์ธเนศ เล่าด้วยว่า เดิมบ๊ะจ่างจะมีข้อจำกัดที่เก็บไว้ในอุณหภูมิปกติได้อย่างมากแค่ 1-2วันเท่านั้น ดังนั้น ได้ร่วมกับทาง อพท. และ ISMED หากรรมวิธี ขยายเวลาการเก็บรักษาในอุณหภูมิปกติได้นานยิ่งขึ้น เพื่อเหมาะแก่การที่นักท่องเที่ยวจะซื้อกลับไปเป็นของฝาก โดยการพัฒนาดังกล่าว หน่วยงานภาครัฐสนับสนุนค่าใช้จ่ายต่างๆ ทั้งหมด ใช้เวลาพัฒนาร่วมกันนานกว่า 1 ปีจึงสำเร็จ มีขั้นตอนสำคัญๆ คือ หลังจากนึ่งบ๊ะจ่างจนสุกแล้ว จะห่อด้วยพลาสติกสุญญากาศ ตามด้วยนำไปต้มในน้ำเดือด 15นาที จากนั้นจึงน็อกด้วยน้ำเย็นจัด วิธีนี้จะทำให้สามารถเก็บในอุณหภูมิปกติได้ 7 วัน และหากเก็บในตู้แช่เย็นจะอยู่ได้นานไปเรื่อยๆ
ส่วนด้านบรรจุภัณฑ์ ทาง ISMED ทำหน้าที่พัฒนาปรับรูปโฉมมาใส่กล่องกระดาษ ใน 1 กล่องประกอบด้วยบ๊ะจ่าง จำนวน 5 ลูก ราคาขายปลีกที่กล่องละ 150 บาท นอกจากนั้น ยังสร้างแบรนด์ว่า “คนแซ่ล้อ” ซึ่งนำมาจากนามสกุลดั้งเดิมของครอบครัว บ่งบอกว่า เป็นเจ้าเก่าแก่สืบทอดสูตรมาจากประเทศจีนแผ่นดินใหญ่ รวมถึง ยังสร้างความผูกพันในหมู่คนแซ่เดียวกัน อยากจะช่วยเหลือซื้อหาไปลิ้มลองรสชาติ
“ที่ผ่านมา คนมาเที่ยวสุพรรณบุรี เวลาจะซื้อของฝาก ก็จะนึกถึงแค่ “ขนมสาลี” แต่จากที่ อพท. และ ISMED เข้ามาช่วยยกระดับสินค้าชุมชน ต่อไปนักท่องเที่ยวจะมีทางเลือกในการซื้อหาของฝากที่หลากหลายยิ่งขึ้น โดยเฉพาะคนที่มาเที่ยว อ.อู่ทอง ซึ่งถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่เชิงวัฒนธรรม จะได้เลือกซื้อสินค้าโบราณของท้องถิ่นแท้ๆกลับไป ซึ่งจะช่วยเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างงานสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน” นายกิตติ์ธเนศ ระบุ
สำหรับแผนการตลาดต่อไปของบ๊ะจ่าง “คนแซ่ล้อ” นั้น เขาเผยว่า นอกจากจะขายในท้องถิ่นสำหรับบริการนักท่องเที่ยวแล้ว เตรียมจะนำไปฝากขายตามร้านของฝากประจำจังหวัด ควบคู่กับขายผ่านออนไลน์ รวมถึง ขายตามงานแสดงสินค้าชุมชนต่างๆ ด้วย
นอกจากบ๊ะจ่างที่ได้เข้าโครงการพัฒนาสินค้าแล้ว ในท้องถิ่นบ้านหนองเสือกับหมู่บ้านอื่นๆ ใน ต.อู่ทอง ยังมีสินค้าโบราณต่างๆ ผ่านเข้าสู่กระบวนการยกระดับ รวม 15 รายการ เช่น ขนมกงโบราณ ขนมต้มสมุนไพร ขนมทองม้วน ถั่วกรอบแก้ว ลูกปัดสลัดงา เครื่องจักรสานจากไม้ไผ่ ข้าวอินทรีย์ มันกรอบ ยาดมสมุนไพร และเหรียญจำลองสมัยทวารวดี เป็นต้น
นายสมจินต์ ชาญกระบี่ รักษาการ ผู้จัดการองค์การพื้นที่พิเศษเมืองโบราณอู่ทอง กล่าวว่า เมืองโบราณอู่ทองมีประวัตศาสตร์ยาวนาน และเดินทางสะดวก เพราะอยู่ใกล้เมืองหลวง อีกทั้ง มีเส้นทางท่องเที่ยวเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวหลากหลาย ทั้งเชิงวัฒนธรรมและธรรมชาติ ดังนั้น เหมาะอย่างยิ่งต่อการยกระดับพื้นที่แห่งนี้สู่แหล่งท่องเที่ยว ซึ่งจะช่วยสร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่ท้องถิ่น จะนำไปสู่ชุมชนอยู่ดีมีสุข โดยการส่งเสริมให้เกิดกิจกรรมการท่องเที่ยวนั้น จะให้ชุมชนมีส่วนร่วม ขณะเดียวกัน การยกระดับสินค้าเมืองโบราณอู่ทองเพื่อให้เป็นสินค้าที่ระลึก จะช่วยต่อยอดเรื่องราวภูมิปัญญา และอัตลักษณ์ท้องถิ่นในพื้นที่พิเศษเมืองโบราณอู่ทองให้มีความโดดเด่นน่าสนใจยิ่งขึ้น พร้อมกับเหมาะสมกับความต้องการของตลาดในปัจจุบันด้วย
“การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้มีหน้าที่และบทบาทสำคัญทางการตลาดมากขึ้น เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลต่อยอดขายสินค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าวิสาหกิจชุมชนหรือโอทอปที่มีความคล้ายคลึงกันและมีสินค้าที่ออกสู่ตลาดค่อนข้างมาก ดังนั้น บรรจุภัณฑ์ที่สวยงาม โดดเด่นสะดุดตา หรือมีคุณลักษณะที่แปลกกว่า ก็จะมีความได้เปรียบในการดึงดูดความสนใจจากผู้บริโภค และส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อ/ไม่ซื้อของผู้บริโภคได้ ทั้งยังสามารถสร้างจุดขายโดยนำไปเป็นของฝากหรือของที่ระลึกที่สามารถ สร้างความประทับใจระหว่างผู้ให้และผู้รับได้เป็นอย่างดี” นายสมจินต์ กล่าว
ต่อไปหากมาเที่ยว จ.สุพรรณบุรี นอกจากขนมสาลีแล้ว สินค้าโบราณในท้องถิ่นเมืองอู่ทองที่ผ่านกระบวนการยกระดับ นับเป็นสิ่งควรค่า เหมาะจะซื้อหาติดไม้ติดมือกลับไปเป็นของฝากด้วยเสมอ
ติดต่อ โทร.063 209 3201
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *