xs
xsm
sm
md
lg

"เกี่ยวข้าว by RICHY RICE" ติดปีกข้าวสังข์หยดให้เป็น “สแน็ค”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผลิตภัณฑ์ข้าวสังข์หยดแปรรูป แบรนด์ เกี่ยวข้าว by RICHY RICE
ผลิตภัณฑ์ขนมขบเคี้ยว หรือ “สแน็ค” (snack) ทำจาก “ข้าวสังข์หยด” จ.พัทลุง ในชื่อเครื่องหมายการค้า "เกี่ยวข้าว by RICHY RICE" เป็นนวัตกรรมแปรรูป เพื่อยกระดับผลผลิตการเกษตร ก่อประโยชน์ ทั้งเพิ่มมูลค่า ลดความเสี่ยงเรื่องราคาวัตถุดิบผันผวน และสามารถขยายตลาดให้กว้างไกลกว่าเดิม ด้วยการส่งออกไปต่างประเทศ นับเป็นโมเดลการทำธุรกิจเกษตรยุคใหม่ของเอสเอ็มอีไทย โดย “บริษัท ริชชี่ ไรซ์ โปรดักส์ จำกัด”
กนิดา เสนีย์   กรรมการผู้จัดการ บริษัท ริชชี่ ไรซ์ โปรดักส์ จำกัด
กนิดา เสนีย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ริชชี่ ไรซ์ โปรดักส์ จำกัด เจ้าของผลิตภัณฑ์ข้าวสังข์หยด บรรจุถุง แบรนด์ “RICHY RICE” และผลิตภัณฑ์ข้าวสังข์หยดแปรรูป แบรนด์ "เกี่ยวข้าว by RICHY RICE" เล่าว่า เข้ามาทำธุรกิจเกี่ยวกับข้าวเมื่อประมาณ 8 ปีที่แล้ว โดยไม่เคยมีพื้นฐานใดๆ ในวงการนี้มาก่อนเลย แต่เนื่องจากเห็นว่าในบ้านเกิด จ.พัทลุง มีของดีอย่างข้าวพันธุ์ “สังข์หยด” ที่เป็นพันธุ์โบราณ คุณประโยชน์ทางสารอาหารสูงมาก ทว่า เวลานั้น กลับประสบปัญหาราคาตกต่ำอย่างหนัก เหลือแค่กิโลกรัมละประมาณ20 บาท ดังนั้น ทดลองลงทุนเบื้องต้นแค่ 6,000 บาท ซื้อข้าวสังข์หยดเป็นกระสอบมาเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ แบ่งบรรจุใส่ในถุงสูญญากาศ ขนาดถุงละ 1 กิโลกรัม ทำให้สินค้าเพิ่มความสวยงาม ดูสะอาดปลอดภัย และน่ารับประทานมากขึ้น จากนั้น นำไปเสนอวางขายในโมเดิร์นเทรด
ผลิตภัณฑ์ข้าวสังข์หยด บรรจุถุง แบรนด์ “RICHY RICE”
จากการเปลี่ยนโฉมบรรจุภัณฑ์ดังกล่าว ปรากฏว่า สินค้าได้ผลตอบรับดีมาก ทำให้ขยายกำลังผลิตเพิ่มเติม โดยสร้างเครือข่ายเกษตรกรเพื่อป้อนวัตถุดิบ มีสมาชิกยุคบุกเบิก 45 ราย โดยแจกเมล็ดพันธุ์ข้าวสังข์หยดคุณภาพดีให้เกษตรกรนำไปปลูก เพื่อจะควบคุมคุณภาพผลผลิต พร้อมขอความร่วมมือให้ปลูกโดยปลอดสารเคมี หากปฏิบัติตามเงื่อนไข จะรับซื้อผลผลิตทั้งหมดในราคาที่สูงกว่าท้องตลาด

“ข้าวพันธุ์สังข์หยดได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสินค้าบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ “GI” (Geographical Indication) มีการปลูกในพื้นที่ จ.พัทลุง มากว่า 100 ปีแล้ว แต่ก่อนหน้านี้ เกษตรกรปลูกกันมากโดยขาดการวางแผน ทำให้ผลผลิตออกมาก แต่คุณภาพต่ำ จนเกิดปัญหาล้นตลาดและราคาตกต่ำ ดิฉันจึงคิดเข้ามาแก้ปัญหานำข้าวมาเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ ใส่ถุงสุญญากาศ ควบคู่กับลงพื้นที่ส่งเสริมเกษตรกรให้หันมาปลูกข้าวด้วยมาตรฐานความปลอดภัย ช่วยให้ข้าวของเรา ดูสวยงาม มีคุณภาพสูง จึงได้รับความนิยมจากลูกค้าอย่างมาก มียอดขายเพิ่มขึ้นนับสิบเท่าในปีเดียว” กนิดา เล่าถึงธุรกิจช่วงเริ่มต้น

ช่วง 2-3 ปีแรก ข้าวสารสังข์หยด ติดแบรนด์ “RICHY RICE” ประสบความสำเร็จอย่างสูง แถมยังได้รับการันตีโอทอประดับ 5 ดาว ช่วยให้ชื่อเสียงยิ่งโดดเด่น พร้อมกับกระจายช่องทางขายอย่างกว้างขวางตามโมเดิร์นเทรด และห้างสรรพสินค้าทั่วประเทศ

อย่างไรก็ตาม เมื่อก้าวสู่ปีที่ 4-5 ยอดขายกลับลดลงอย่างมาก เมื่อเจาะลึกลงไปในรายละเอียดพบสาเหตุสำคัญเกิดจากมีคู่แข่งเพิ่มขึ้นจำนวนมาก ซึ่งล้วนขายสินค้าใกล้เคียงกัน ทั้งข้าวพันธุ์สังข์หยดจากพัทลุงโดยผู้ประกอบการรายอื่น และข้าวสารพันธุ์อื่นๆ จากทั่วประเทศ ต่างหันมาบรรจุถุงสุญญากาศเช่นกัน ทำให้สินค้าในตลาดคล้ายกันไปหมด จนขาดความโดดเด่นโดนใจลูกค้า

สถานการณ์ดังกล่าว กนิดาเล็งหาทางแก้ไข ด้วยแนวคิดจะนำข้าวสังข์หยดมา “แปรรูป” เป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ หวังเพิ่มมูลค่าและฉีกหนีการแข่งขัน ซึ่งจากการหาข้อมูลและสำรวจตลาด ลงตัวที่จะแปรรูปเป็น “ขนมขบเคี้ยว” หรือ “สแน็ค” (snack) เนื่องจากรู้ข้อมูลว่า ในตลาดเวลานั้นมีผู้ผลิตสแน็คจากข้าวเพียง 2 รายเท่านั้น ขณะที่มูลค่าตลาดสแน็คทั้งไทยต่างประเทศนั้นมหาศาลนับหมื่นล้านบาท ถ้าดึงส่วนแบ่งตลาดมาได้เพียงเล็กน้อย ธุรกิจก็ประสบความสำเร็จแล้ว

“ดิฉันและทีมงานใช้เวลาพัฒนาสินค้าแปรรูปจากข้าวสังข์หยดนานนับปี จนได้เป็น “ขนมข้าวสังข์หยดอบกรอบ” ซึ่งปัจจุบัน พัฒนามีทั้งหมด 10 รสชาติ ใช้แบรนด์ว่า "เกี่ยวข้าว by RICHY RICE" ซึ่งคำว่า “เกี่ยวข้าว” สื่อความหมายด้านแรก คือ การเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าว และอีกด้าน คือ เป็นผลิตภัณฑ์แปรรูปที่เกี่ยวเนื่องกับข้าว ซึ่งดิฉันมองว่า ประโยชน์ของการแปรรูป จะช่วยเพิ่มมูลค่าให้วัตถุดิบ ลดความเสี่ยงเรื่องราคาข้าวผันผวน สามารถควบคุมคุณภาพสินค้าได้ง่ายกว่าของสด และยังฉีกหนีการแข่งขันจากตลาดค้าข้าวสารทั่วไป ซึ่งต่อสู้กันอย่างดุเดือดมาก” กนิดา อธิบาย
“มองย้อนกลับไป ดิฉันคิดว่าธุรกิจเรา “โตได้ด้วยปัญหา” เพราะตั้งแต่เริ่มต้น เกิดจากอยากแก้ปัญหาราคาข้าวสังข์หยดตกต่ำ อีกทั้ง ตอนเกิดปัญหาข้าวสารบรรจุถุงคู่แข่งมาก ทำให้ต้องพัฒนาสู่การแปรรูป ช่วยให้ตลาดโตมากกว่าเดิม - กนิดา กล่าว
ผลจากความพยายามต่อยอดข้าวสารมาเป็นผลิตภัณฑ์แปรรูป เมื่อส่งสแน็คข้าวสังข์หยดอบกรอบลงสู่ตลาดได้รับความนิยมทันที ทั้งจากลูกค้าในประเทศ อีกทั้ง ได้รับออเดอร์จากลูกค้าต่างประเทศ เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ ทวีปยุโรป และจีน เป็นต้น ส่งให้ธุรกิจเพิ่มความแข็งแกร่งกว่าที่ผ่านมา เพราะมีฐานสินค้าสองกลุ่ม ทั้งขายข้าวสาร กับขายสินค้ากลุ่มแปรรูป โดยปัจจุบันสัดส่วนรายได้ของสินค้าแปรรูปคิดเป็นกว่า 50% ของรายได้รวมทั้งหมดแล้ว และเชื่อว่า ในอนาคตจะก้าวมาเป็นรายได้หลักของบริษัททดแทนการขายข้าวสารด้วยซ้ำ

ปัจจุบัน บริษัท ริชชี่ ไรซ์ โปรดักส์ จำกัด มีส่วนช่วยสร้างงานสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรในท้องถิ่นด้วย โดยมีเกษตรกรเข้ามาเป็นเครือข่ายปลูกข้าวและส่งให้กว่า 10 กลุ่ม หรือกว่า 400-500 ราย ปริมาณการรับซื้อข้าวเปลือก เฉพาะข้าวสังข์หยด ปีละ 500-600 ตันต่อปี ส่วนข้าวพันธุ์อื่นๆ กว่า 1,000 ตันต่อปี นอกจากนั้น บริษัทฯ ยังส่งเสริมให้สมาชิกเพาะปลูกข้าวในมาตรฐานความปลอดภัย ยกระดับสู่เกษตรอินทรีย์ และรับซื้อผลผลิตในราคาสูงกว่าท้องตลาดเฉลี่ยประมาณ 20% ช่วยให้สมาชิกมีรายได้เพิ่มและความเป็นอยู่ดีขึ้นด้วย

เธอเผยด้วยว่า เนื่องจากการรับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกรในแต่ละปี จำเป็นต้องใช้เงินทุนจำนวนสูงมาก บริษัทฯ ได้ใช้บริการสินเชื่อจากสถาบันการเงิน โดยบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ค้ำประกันสินเชื่อให้แทน จนได้รับอนุมัติเงินทุน นำไปใช้หมุนเวียนและขับเคลื่อนธุรกิจ ที่ผ่านมา บสย.ค้ำประกันสินเชื่อครั้งแรกใน ปี พ.ศ.2558 จำนวน 5 ล้านบาท ต่อมากิจการขยายตัว จึงขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินเพิ่มเติม และให้ บสย. ค้ำประกันสินเชื่ออีกครั้งเป็นสัญญาที่ 2 เมื่อต้นปี 2560 จำนวน 6.50 ล้านบาท รวมการค้ำประกันทั้งสิ้น 11.50 ล้านบาท แสดงให้เห็นว่า กลไกการค้ำประกันสินเชื่อของ บสย. มีบทบาทสำคัญที่ช่วยให้สามารถดำเนินธุรกิจได้ต่อเนื่อง ตั้งแต่เริ่มต้นและขยายตัว

นับจากจุดเริ่มต้นที่ใช้เงินลงทุนแค่ 6,000 บาท ผ่านมา 8 ปี สามารถผลักดันให้ข้าวสังข์หยด บรรจุถุง แบรนด์ “RICHY RICE” และผลิตภัณฑ์แปรรูป แบรนด์ "เกี่ยวข้าว by RICHY RICE" ก้าวสู่สินค้าเกรดพรีเมียม วางขายในห้างสรรพสินค้าชั้นนำทั่วประเทศ รวมถึง ส่งออกต่างประเทศสำเร็จ กนิดา ระบุว่า สิ่งสำคัญที่ช่วยให้มาถึงวันนี้ได้ เกิดมาจากการไม่วิ่งหนีปัญหา ทุกครั้งที่มีอุปสรรคเข้ามาจะพยายามค่อยๆ แก้ไข สินค้าทุกชนิดของ RICHY RICE ที่วางขายเป็นผลผลิตจากการแก้ไขปัญหาจนได้ผลดีทั้งสิ้น และเมื่อทำสำเร็จได้ ธุรกิจจะแข็งแกร่งมากกว่าที่เคยเป็นมา

“มองย้อนกลับไป ดิฉันคิดว่าธุรกิจเรา “โตได้ด้วยปัญหา” เพราะตั้งแต่เริ่มต้น เกิดจากอยากแก้ปัญหาราคาข้าวสังข์หยดตกต่ำ อีกทั้ง ตอนเกิดปัญหาข้าวสารบรรจุถุงคู่แข่งมาก ทำให้ต้องพัฒนาสู่การแปรรูป ช่วยให้ตลาดโตมากกว่าเดิม ดังนั้น ทุกปัญหาที่เข้ามา ดิฉันเชื่อว่า ถ้าเรามีสติ จะสามารถแก้ไขได้ทุกอย่าง และเมื่อแก้ปัญหาได้สำเร็จแล้ว บทเรียนจากปัญหาต่างๆ ที่ผ่านมา จะทำให้เราเกิดการเรียนรู้ เพื่อจะไม่ผิดซ้ำอีก นั่นเท่ากับธุรกิจจะแข็งแกร่งเพิ่มขึ้นด้วย” เธอทิ้งท้าย

นี่คือแนวคิดของผู้ประกอบการธุรกิจเกษตรยุคใหม่ที่มุ่งเรียนรู้และพัฒนาตัวเองเสมอ เพื่อจะสร้างธุรกิจสู่ความยั่งยืนให้จงได้

ติดต่อโทร. 080 599 7844, www.facebook.com/Richy-Rice-House

บทความโดย: บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.)

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น