ใครว่าอาชีพเกษตรกรทำแล้วมีแต่จน ไม่มีทางลืมตาอ้าปากได้ ทว่า “วิสาหกิจชุมชนเกษตรกรรมยั่งยืนน้ำอ้อม” แห่ง ต.น้ำอ้อม จ.ยโสธร พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ขอเพียงรวมกลุ่มกันให้เข้มแข็ง มีการวางแผนการผลิตดี มองให้ขาดว่าตลาดต้องการอะไร สินค้าอันเป็นผลผลิตจากเกษตรกรรมย่อมทำเงิน และสร้างเนื้อสร้างตัวให้เกษตรกรได้อย่างแน่นอน
กว่าจะมารวมตัวกันเป็นเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนเข้มแข็งเช่นวันนี้ “สายันต์ สีถาน” ในฐานะกรรมการและการตลาดเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนเกษตรกรรมยั่งยืนน้ำอ้อม ต.น้ำอ้อม จ.ยโสธร เล่าว่า ในอดีตนั้นเกษตรกรในชุมชนเคยปลูกข้าวโดยใช้สารเคมีมาก่อน ทั้งปุ๋ยเคมี สารกำจัดวัชพืช สารป้องกันกำจัดโรคและแมลงศัตรูพืช ผลกระทบที่ตามมาคือ เกิดการปนเปื้อนในผลผลิตและแหล่งน้ำ รวมถึง สุขภาพและคุณภาพชีวิตของเกษตรกรพลอยย่้ำแย่ตามไปด้วย
จนเมื่อปี พ.ศ. 2542 ชาวบ้านหันหน้าเข้าหากันเพื่อแก้ปัญหาอย่างจริงจัง บทสรุปที่ได้คือ การเปลี่ยนมาปลูกข้าวตามแนวทาง “เกษตรอินทรีย์” เพื่อลดต้นทุนในการซื้อสารเคมี ใช้เวลาประมาณ 4 ปี ในการปรับปรุงบำรุงดิน ค่อยๆ ลดการใช้สารเคมีลง และเติมจุลินทรีย์ ปุ๋ยพืชสด และมูลสัตว์ลงไปทดแทน จนดินกลับมาอุดมสมบูรณ์ดังเดิม
ข้าวอินทรีย์ที่ปลูกได้จากดินที่ดี ไม่ทำให้ชาวนาตำบลน้ำอ้อมต้องผิดหวัง เพราะได้ทั้ง “ราคา” และ “มูลค่า” ที่เพิ่มมากขึ้น เมื่อข้าวอินทรีย์จัดเป็นสินค้าระดับบนในตลาดเฉพาะกลุ่ม โดยเฉพาะในหมู่ผู้รักสุขภาพที่ต้องการบริโภคข้าวอินทรีย์ปลอดสารเคมี ทางเครือข่ายจึงสามารถกำหนดราคาขายข้าวอินทรีย์ได้เอง ไม่ต้องพึ่งพามาตรการภาครัฐ หรือราคาผันผวนไปตามกลไกตลาด
“ยอมรับว่าช่วงแรกไม่ค่อยมั่นใจเท่าไร แต่พอลงมือทำ มันเห็นผลจริงๆ เมื่อ 2 ปีที่แล้วเราเพิ่งปรับกระบวนการปลูกข้าวอินทรีย์แบบใหม่ จากนาหว่านที่เคยใช้เมล็ดพันธุ์ 25-30 กิโลกรัมต่อไร่ เปลี่ยนมาเป็นนาหยอดข้าวแห้งที่ใช้เมล็ดพันธุ์เพียง 5-10 กิโลกรัมต่อไร่ จึงช่วยลดต้นทุนด้านเมล็ดพันธุ์ในการปลูกไปได้มาก โดยใช้วิธีหยอดเมล็ดพันธุ์ด้วยเครื่องจักร สอดรับกับนโยบายภาครัฐที่ต้องการให้ใช้เทคโนโลยีในการทำเกษตรยุค 4.0
ที่สำคัญเราได้ผลผลิตต่อไร่ที่ดีกว่า จากนาหว่านที่ได้ 500 กิโลกรัม เพิ่มเป็น 600-700 กิโลกรัมเมื่อทำนาหยอด สภาพดินก็ร่วนขึ้นเมื่อหันมาใช้ปุ๋ยหมักชีวภาพ ปุ๋ยคอก ส่วนยาฆ่าแมลงก็ทำเองจากสารสกัดธรรมชาติ ทำให้ต้นทุนในการทำนาลดลงอย่างเห็นได้ชัด จากเดิมต้องลงทุนไร่ละ 4,800 บาท ตอนนี้เหลือ 2,400 บาท ทำให้ชาวนามีเงินเหลือมากขึ้น”
สายันต์เล่าต่อว่า เมื่อดินดีพร้อมจะผลิตข้าวอินทรีย์ป้อนสู่ตลาด ทางกลุ่มได้จดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชนเมื่อปี พ.ศ.2552 ขณะนี้มีเนื้อที่ปลูกข้าว รวมกว่า 20,000 ไร่ ได้รับการรับรองเป็นพื้นที่ปลูกข้าวอินทรีย์ 80% มีโรงสีชุมชนและโรงบรรจุภัณฑ์ข้าวอินทรีย์จดทะเบียนภายใต้ตรา “ขวัญน้ำอ้อม” ปัจจุบันมีสมาชิกกลุ่ม 937 ครัวเรือน ครอบคลุม 5 จังหวัด คือ ยโสธร บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ สุรินทร์ และอำนาจเจริญ จาก 4 ตำบล 3 อำเภอ โดยสมาชิกเกิน 80% อยู่ในตำบลน้ำอ้อม จ.ยโสธร
สำหรับกำลังการผลิตข้าวในปัจจุบัน มีข้าวเปลือกอินทรีย์อยู่ราว 4,000-5,000 ตันต่อปี เพื่อผลิตเป็นสินค้าตามออเดอร์ลูกค้าภายใต้ตรา “ขวัญน้ำอ้อม” ประกอบด้วย ข้าวหอมมะลิอินทรีย์ ข้าวกล้องหอมมะลิอินทรีย์ ข้าวกล้องมะลิแดงอินทรีย์ ข้าวกล้องสามสี ข้าวมะลินิลอินทรีย์ และตระกูลข้าวแข็งที่นิยมนำไปผลิตเป็นเส้นพาสต้าและเส้นบะหมี่ ส่วนผลิตภัณฑ์เด่นของกลุ่มต้องยกให้แก่ “ข้าวหอมมะลิอินทรีย์ในเขตทุ่งกุลาร้องไห้” จ.ยโสธร ซึ่งส่งออกไปต่างประเทศเป็นหลักกว่า 90% อาทิ ฝรั่งเศส เบลเยี่ยม ออสเตรีย เนเธอร์แลนด์ สหรัฐอเมริกา ฮ่องกง ไต้หวัน เป็นต้น
ทั้งนี้ ข้าวอินทรีย์ “ขวัญน้ำอ้อม” ได้รับการคัดสรรเป็นสินค้า OTOP ระดับ 4 ดาว และได้รับอนุญาตให้ใช้สัญลักษณ์สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ไทย (Geographical Indications : GI) สำหรับข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ ซึ่งออกโดยกรมทรัพย์สินทางปัญญา อีกทั้ง สินค้ายังได้รับการยอมรับในตลาดสากล การันตีด้วยมาตรฐานเกษตรอินทรีย์จาก BCS/USDA สหภาพยุโรป และได้เป็นหนึ่งในสมาชิกตลาดการค้ายุติธรรม หรือแฟร์เทรด (FLO) ทั้งยังได้ใบรับการตรวจรับรองแปลงปลูกข้าวมาตรฐานเกษตรอินทรีย์จากสถาบันรับรองเกษตรอินทรีย์ของสหภาพยุโรป หรือ สถาบัน BCS ประเทศเยอรมนีอีกด้วย
“ทุกวันนี้ทางกลุ่มได้นำระบบ QR Code มาใช้เพื่อทำระบบสืบย้อนกลับจากมือผู้บริโภคถึงแหล่งผลิต โดยจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างยโสธรกับสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ รวมไปถึงสำนักงานสภาเกษตรกรแห่งชาติ เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลการตรวจสอบสินค้าไปยังผู้บริโภค เมื่อสแกน QR Code บนบรรจุภัณฑ์ข้าวอินทรีย์ทั้ง 6 ชนิด ผู้บริโภคจะได้เห็นข้อมูลผ่านทางเว็บไซต์ของชุมชน และทราบว่าข้าวชนิดนี้มาจากนาแปลงไหน ผลิตอย่างไร ซึ่งช่วยสร้างตัวตนให้กับชาวนาตำบลน้ำอ้อมอย่างมาก ทั้งยังเป็นช่องทางในการส่งเสริมการขายได้อีกด้วย”
ทั้งหมดแสดงให้เห็นถึงก้าวย่างที่สำคัญของเกษตรกรไทย ในการยกระดับคุณภาพสินค้า และเป็นแบบอย่างในการรักษาเสถียรภาพของราคาผลผลิตทางการเกษตรแบบยั่งยืนในอนาคต สายันต์บอกว่า ปัจจุบันทางกลุ่มให้ความเป็นธรรมกับสมาชิกโดยได้ตั้งราคารับซื้อข้าวเปลือกอินทรีย์จากสมาชิกตามปริมาณสัดส่วนอยู่ที่ 14-15 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งเป็นราคาสูงกว่าข้าวที่ปลูกปกติทั่วไป นอกจากนี้ ทางกลุ่มยังไม่เคยมีปัญหาเรื่องข้าวค้างสต๊อก เพราะจะทำผลผลิตตามออเดอร์เท่านั้น และขายปีต่อปี โดยมีระบบการขายตามลำดับที่ลูกค้าสั่ง จะไม่ผลิตออกมาจนล้นตลาดไม่มีใครรับซื้อเด็ดขาด
อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมาทางกลุ่มเคยประสบปัญหาเรื่องเงินทุนเพื่อจะรับซื้อข้าวจากสมาชิก จำต้องอาศัยเงินกู้เพิ่ม จึงได้หันหน้าเข้าปรึกษาธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ซึ่งเป็นแหล่งเงินทุนที่ใกล้ตัวเกษตรกรมากที่สุด ด้วยความที่สมาชิกมีความเข้มแข็ง มีแผนธุรกิจที่ชัดเจน จึงได้เงินทุนเพิ่มมาอีก 3.5 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม เงินก้อนแรกยังไม่เพียงพอต่อการนำไปต่อยอดธุรกิจ จำเป็นต้องขอสินเชื่อเพิ่มอีก ซึ่งทางบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม หรือ บสย. เข้ามามีบทบาทสำคัญ ช่วยเหลือในเรื่องค้ำประกันเงินกู้ให้แทน ในโครงการ “หนึ่งตำบลหนึ่งSMEเกษตร” ผลักดันกลุ่มให้ได้รับเงินทุนมาหมุนเวียนในธุรกิจเพิ่มอีก 18.5 ล้านบาท ช่วยเสริมสภาพคล่องสามารถรับซื้อข้าวของสมาชิกเพื่อรอการขายได้มากขึ้น
“หากเราไม่ได้รับการช่วยเหลือจาก บสย. ทางสมาชิกก็จะยังคงติดปัญหาเรื่อยไป เพราะด้วยเงินทุนที่ทางกลุ่มมีนั้นไม่เพียงพอต่อผลผลิตที่ทางกลุ่มนำมาขายให้ได้ ต้องขอขอบคุณ บสย. อย่างมาก กับการสนับสนุนการค้ำประกันเงินทุนให้กับทางกลุ่ม ซึ่งช่วยต่อชีวิตให้สมาชิกได้มีรายได้และทำมาหาเลี้ยงชีพต่อไป”
สำหรับสมาชิกใหม่ที่ต้องการเข้าร่วมกลุ่มกับเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนเกษตรกรรมยั่งยืนน้ำอ้อมนั้น จำเป็นต้องผ่านเกณฑ์การตัดสิน และผ่านระเบียบการคัดเลือกจากคณะกรรมการก่อน เพราะทางกลุ่มต้องการได้เกษตรกรที่มีความตั้งใจจริง และพร้อมทุ่มเทให้แก่การปลูกข้าวแบบเกษตรอินทรีย์ ไม่ใช่เพียงเข้ามาเพื่อหวังผลประโยชน์ด้านราคาและกำไรในการขายข้าว เนื่องจากทางกลุ่มเน้นการควบคุมคุณภาพในการปลูกข้าวเป็นสำคัญ
สุดท้าย สายันต์ย้ำว่า การทำเกษตรอินทรีย์ คือ “ทางรอด” ไม่ใช่ “ทางเลือก” ของเกษตรกรไทย เพราะการทำเกษตรอินทรีย์มีต้นทุนต่ำ แต่ให้ผลผลิตสูง แถมมอบสุขภาพที่ดี ราคาที่ดี และสร้างพลังในการต่อรองตลาดให้กับกลุ่มเกษตรกรได้ เพียงพลิกมุมคิดใช้ “ตลาด” เป็นต้นทางไปกำหนดกำลังการผลิต รับรองว่าเกษตรกรจะสามารถยืนได้ด้วยขาของตนเองอย่างเข้มแข็ง มีรายได้ที่มั่นคงและชีวิตที่ยั่งยืนได้อย่างแน่นอน
สนใจสั่งซื้อข้าวสามารถติดต่อได้ที่ เครือข่ายวิสาหกิจชุมชนเกษตรกรรมยั่งยืนน้ำอ้อม อ.ค้อวัง จ.ยโสธร โทร.045-756-980, 085-222-7553 หรือ E-mail : k_nam-om@hotmail.com เฟสบุ๊ค เครือข่ายวิสาหกิจชุมชนเกษตรกรรมยั่งยืนน้ำอ้อม
บทความโดย: บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.)
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *