โรงงาน “ธูปหอมมงคลนิมิตร” จาก ต.หนองกระทุ่ม อ.เดิมบางนางบวช จ.สุพรรณบุรี นับเป็นต้นแบบวิสาหกิจชุมชนเข้มแข็ง โดยนำภูมิปัญญาประจำท้องถิ่นมาสร้างอาชีพ และต่อยอดเติมนวัตกรรมสมัยใหม่ ช่วยให้สินค้าโดดเด่น มีคุณสมบัติธูปจุดติดง่าย ส่งกลิ่นหอมชื่นใจ และมีควันน้อยปลอดภัยต่อสุขภาพผู้ใช้ ผลักดันให้กิจการเติบโตต่อเนื่อง สามารถสร้างเงินหลักสิบล้านบาทต่อปี
ประญัติ สมเพ็ชร ผู้บุกเบิกและแกนนำกลุ่มวิสาหกิจชุมชนธูปหอมมงคลนิมิตร เผยว่า เริ่มต้นประกอบอาชีพนี้มากว่า 30 ปีแล้ว จากเดิมเคยทำนา ทว่า เวลานั้นประสบปัญหาภัยแห้ง จึงชักชวนเกษตรกรในท้องถิ่นรวมกลุ่มกันเพื่อมองหาช่องทางทำมาหากินรูปแบบอื่นๆ ซึ่งในท้องถิ่น มีภูมิปัญญาการทำ “ธูป” ที่ถ่ายทอดกันมายาวนานรุ่นต่อรุ่นอยู่แล้ว ก่อให้เกิดแรงบันดาลใจที่จะนำของดีประจำท้องถิ่นมาสร้างงานสร้างรายได้ ซึ่งเบื้องต้นมีผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มเพียง 4 คนเท่านั้น
เนื่องจากเวลานั้น ผู้ผลิตธูปยังมีจำนวนไม่มาก ประกอบกับธูปที่ทำโดยกลุ่มวิสาหกิจชุมชนธูปหอมมงคลนิมิตร มีคุณภาพดี และขายในราคาย่อมเยา ช่วยให้สินค้าเป็นที่นิยมของตลาด ได้รับคำสั่งซื้อจากทั่วประเทศ ส่งให้กิจกรรมเติบโตขึ้นโดยลำดับ ถึงขั้นเคยได้รับรางวัลชนะเลิศสินค้าเด่น ประจำ จ.สุพรรณบุรี เมื่อปี 2550 และยังได้รับการันตีเป็นสินค้าโอทอป ระดับ 4 ดาวอีกด้วย
ถึงแม้ธูปแบบดั้งเดิมที่ขายมายาวนาน จะได้รับความนิยมต่อเนื่อง ทว่า โรงงาน “ธูปหอมมงคลนิมิตร” พยายามพัฒนาสินค้าใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง มีทั้งทำเป็นธูปหอมสมุนไพรเพื่อส่งเข้าร้านสปา และปรับขนาดธูปให้หลากหลาย เพื่อเหมาะสมต่อการใช้งานของลูกค้าในวาระต่างๆ และที่สำคัญ เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ พัฒนานวัตกรรม “ธูปไร้ควัน” สร้างความปลอดภัยแก่ผู้ใช้งาน ช่วยให้สินค้าสามารถเพิ่มมูลค่า เปิดสู่ตลาดใหม่ สร้างยอดขายเพิ่มทวีคูณจากเดิมหลายเท่าตัว
“เมื่อประมาณ 10 ปี เกิดกระแสความกังวลจากอันตรายของควันธูป ทางอาจารย์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้เข้ามาช่วยเหลือกลุ่มฯ โดยพัฒนาให้ธูปมีคุณสมบัติพิเศษ จุดติดง่าย และที่สำคัญควันน้อย ไม่ทำให้แสบตา ปลอดภัยต่อผู้ใช้ ซึ่งคุณสมบัติดังกล่าว เกิดจากการพัฒนาสูตรส่วนผสม โดยใช้วัตถุดิบหลัก เช่น ผงของไม้สัก ไม้ประดู่ เปลือกหอยบด เป็นต้น”
เขาเผยต่อว่า หลังจากเริ่มนำธูปไร้ควันออกขายสู่ตลาด ได้ผลตอบรับดีมาก โดยสามารถขายได้มูลค่าสูงกว่าธูปแบบธรรมดา 2-3 เท่าตัว และขยายฐานลูกค้าสู่กลุ่มผู้รักสุขภาพ ช่วยให้ยอดขายเติบโตแบบก้าวกระโดด จากเดิมที่เฉลี่ยรายได้เกือบแตะหลักแสนบาทต่อเดือน เพิ่มเป็นหลักล้านบาทต่อเดือน
นอกจากตอบโจทย์เรื่องสุขภาพได้แล้ว อีกจุดขายได้เชื่อมโยงให้ธูปเป็นอุปกรณ์ที่สร้างสุขทางใจ ผ่านกลิ่นหอมนานาชนิด เมื่อจุดธูปแล้ว กลิ่นที่สูดดมเข้าไปจะช่วยผ่อนคลายบำบัดจิตใจในด้านต่างๆ ตัวอย่างเช่น “กลิ่นตะไคร้หอม” เหมาะสำหรับผู้ที่มักลังเลในการตัดสินใจ ไม่ค่อยแสดงความรู้สึก กลิ่นนี้จะช่วยกระตุ้นการแสดงออกและสื่อสาร หรือ "กลิ่นลาเวนเดอร์" ช่วยในการผ่อนคลายกล้ามเนื้อ รักษาอาการปวดศีรษะ นอนไม่หลับ ส่วน "กลิ่นกำยาน" ช่วยลดความตึงเครียด เหนื่อยล้า และภาวะกดดันของจิตใจ เป็นต้น
สำหรับช่องทางตลาด ส่วนใหญ่จะขายส่งตามร้านอุปกรณ์สังฆภัณฑ์ทั่วประเทศ รวมถึงรับจ้างผลิตธูปให้แก่โรงงานอื่นๆนำไปติดแบรนด์ต่างๆ โดยมีสินค้าให้เลือกทั้งแบบซอง แบบห่อ และแบบกล่อง ราคาเริ่มต้นแค่ซองละ 1 บาท บรรจุธูป 6 ก้าน ถึงเป็นกระปุกใหญ่ 400 บาท บรรจุธูป 3,000 ก้าน
ประญัติ เล่าข้อมูลที่น่าทึ่งว่า ตั้งแต่ประกอบอาชีพนี้มา ยอดขายเติบโตสม่ำเสมอทุกปี ไม่ว่าสภาพเศรษฐกิจภายนอกจะเป็นอย่างไร ธูปหอมของกลุ่มฯ ยังขายดีเสมอ เนื่องจากเป็นอุปกรณ์ที่ชาวพุทธจำเป็นต้องใช้กราบไหว้บูชาพระเป็นประจำ ยิ่งในช่วงเศรษฐกิจย้ำแย่ ธูปกลับยิ่งขายดีขึ้นไปอีก เพราะคนต้องการใช้กราบไหว้ขอพรจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เพื่อเป็นที่พึ่งทางจิตใจ
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ พบปัญหาธุรกิจ เรื่องขาดเงินทุนหมุนเวียนก้อนใหญ่ที่จะซื้อวัตถุดิบเพื่อผลิตธูปเก็บเป็นสต็อกไว้ปริมาณมากๆ ต้องอาศัยวิธีแบบทำไปขายไปเรื่อยมา ดังนั้น ในช่วงฤดูฝนของแต่ละปี ยากจะตากแดดให้ธูปแห้งสนิทได้ จึงมีสินค้าขายได้น้อยกว่าออเดอร์ที่มีเข้ามา พลาดโอกาสทำเงินไปอย่างน่าเสียดาย ทว่า ปัญหาดังกล่าวหมดสิ้นไป เนื่องจากรัฐบาลมีโครงการสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยพิเศษให้แก่ผู้ประกอบการโอทอปและวิสาหกิจชุมชน ผ่านสถาบันการเงินของภาครัฐ โดยให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ทำหน้าที่ค้ำประกันแทนใน “โครงการค้ำประกันสินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการ OTOP และวิสาหกิจชุมชน” ช่วยให้ได้รับอนุมัติเงินทุนต่อเนื่องรวมทั้งสิ้นจำนวน 10 ล้านบาท มาใช้ซื้อวัตถุดิบ รวมถึงซื้อเครื่องจักรใหม่ ทำให้ปัจจุบัน สามารถจะผลิตธูปเก็บเป็นสต็อก เตรียมไว้ขายได้ตลอดทั้งปีแล้ว
จากเบื้องต้นมีสมาชิกเพียง 4 คน ปัจจุบัน กลุ่มวิสาหกิจชุมชนธูปหอมมงคลนิมิตร จำนวนสมาชิกเพิ่มถึงเกือบ 50 คน มีกำลังผลิตธูปกว่า 10 ตันต่อเดือน สร้างรายได้เข้าถึงกลุ่มหลักล้านบาทต่อเดือน ซึ่งกระจายไปยังสมาชิกรายละไม่ต่ำกว่าหลักหมื่นบาทต่อเดือน ช่วยให้ชุมชนมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น สามารถอยู่ทำงานได้ในบ้านเกิด ไม่ต้องดิ้นรนไปหางานทำต่างถิ่น
ธูปหอมมงคลนิมิตร เริ่มต้นแจ้งเกิดโดยใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น ต่อยอดด้วยนวัตกรรมยุคใหม่โดยสถาบันการศึกษา และติดปีกก้าวไกลด้วยการมาตรการสนับสนุนของภาครัฐ ถือเป็นต้นแบบความร่วมมือตามนโยบายประชารัฐที่ก่อให้เกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม
โทร. 081-843-1995, 035-575-034
บทความโดย : บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.)
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEs ผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *