xs
xsm
sm
md
lg

สสว.เดินหน้า “สินเชื่อประชารัฐเพื่อ SME รายจิ๋ว” ให้ยืมฟรี 2 แสนบาท ไม่มีดอก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นางสาลินี วังตาล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ( สสว. )
สสว.รับลูกเดินหน้ามาตรการช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีรายย่อยและวิสาหกิจชุมชน โยกเงินจาก “กองทุนฟื้นฟู SME” จำนวน 500 ล้านบาท มาดำเนิน “โครงการสินเชื่อประชารัฐ เพื่อ Micro SME” ให้ยืมรายละ 2 แสนบาท โดยไม่มีดอกเบี้ย ระยะเวลา 10 ปี และปลอดเงินต้น 3 ปีแรก อนุมัติด่วนใน 7 วัน คาด 2,500 รายเข้าถึงแหล่งทุน คาดปล่อยหมดใน 2 เดือน

นางสาลินี วังตาล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดงานแถลงข่าว และรับคำขอสินเชื่อประชารัฐ เพื่อ Micro SME (Micro SME Loan) ว่าเมื่อไม่นานมานี้จากการประชุมคณะกรรมการสานพลังประชารัฐกลุ่มเอสเอ็มอี ซึ่งมีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้เห็นชอบมาตรการส่งเสริมและช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยๆ (Micro SME) โดยเฉพาะภาคเกษตรให้มากที่สุด ทาง สสว.นำเสนอใน 2 ด้านหลัก ซึ่งมาตรการทั้ง 2 ด้านนี้ได้ผ่านความเห็นชอบของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายอุตตมะ สาวนายน ประธานอนุกรรมการของ สสว.แล้ว โดยแบ่งความช่วยเหลือเป็น 2 ด้าน ได้แก่ 1. การให้ความช่วยเหลือทางการเงิน และ 2. การเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน

ทั้งนี้ ในด้านแรกซึ่งเป็นความช่วยเหลือทางการเงินนั้น สสว.จะจัดสรรเงินจาก “กองทุนฟื้นฟู SME” วงเงิน 2,000 ล้านบาท ที่รัฐบาลมอบหมายให้ สสว.ดำเนินการ ซึ่งปัจจุบันปล่อยไปจำนวน 400 ล้านบาท ยังมีวงเงินเหลืออยู่ 1,600 ล้านบาท โดยเบื้องต้นจะแบ่งมาจำนวน 500 ล้านบาท สำหรับมาปล่อยกู้ให้แก่ SME รายย่อย (Micro SME) และวิสาหกิจชุมชน รายละไม่เกิน 2 แสนบาท โดยไม่ต้องมีหลักประกันและไม่คิดดอกเบี้ย เป็นเงินกู้ระยะยาว 10 ปี เพื่อให้กิจการรายย่อยนำไปใช้เป็นทุนหมุนเวียนหรือปรับปรุงกิจการ

นางสาลินีเผยด้วยว่า สสว.ได้ปรับปรุงวิธีการปล่อยกู้ให้ง่าย และรวดเร็วขึ้นในลักษณะเดียวกันกับ Program Lending ที่สถาบันการเงินใช้ในการให้สินเชื่อ credit card หรือ personal loan โดย สสว.ตั้งเป้าไว้ว่าจะพยายามอนุมัติเงินกู้ให้ได้ภายใน 7 วันทำการ นับตั้งแต่ผู้ประกอบการยื่นคำขอกู้ และได้พยายามจัดขั้นตอนการเบิกจ่ายเงินกู้ให้รวดเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะ สสว.ตระหนักดีว่าผู้ประกอบการรายย่อยมักประสบปัญหาขาดแคลนเงินทุนหมุนเวียน

ทั้งนี้ คุณสมบัติของผู้ประกอบการรายย่อย และวิสาหกิจชุมชนที่สามารถขอกู้ได้ คือ 1) มีสถานประกอบการเป็นหลักแหล่งหรือมีการจดทะเบียนการค้า หรือทะเบียนพาณิชย์ หรือทะเบียนอื่นใดกับหน่วยงานราชการโดยอาจจะเป็นบุคคลธรรมดา คณะบุคคล หรือนิติบุคคลก็ได้ 2) ดำเนินกิจการแล้วไม่ต่ำกว่า 1 ปี และมีความตั้งใจที่จะดำเนินกิจการต่อไป และ 3) เป็นลูกค้าของสถาบันการเงิน ซึ่งมีความหมายกว้าง ครอบคลุมคือ ธนาคารทุกประเภท กิจการ Non Bank ทุกประเภท เช่น ลิสซิ่ง บัตรเครดิต Nano Finance เป็นต้น ทั้งนี้ผู้ประกอบการอาจจะเป็นลูกค้าปกติที่สามารถจ่ายชำระได้ หรือเป็น NPL ก็ได้

ผอ.สสว.เผยด้วยว่า วงเงินให้กู้ยืมจะมุ่งเน้นที่เอสเอ็มอีรายย่อยและวิสาหกิจชุมชน คาดว่าจะปล่อยให้แก่ผู้ประกอบการได้จำนวน 2,500 ราย คาดว่าจะปล่อยได้หมดวงเงินเบี้องต้น 500 ล้านบาท ภายในไม่เกิน 2 เดือน และหากมีความจำเป็น สสว.อาจจะนำเงินจาก “กองทุนฟื้นฟู SME” ที่เหลืออีกกว่า 1,000 ล้านบาท มาปล่อยเพิ่มเติม และหากยังมีความต้องการมากกว่านั้นอีก จะเสนอไปยังรัฐบาลเพื่อให้พิจารณาจัดสรรงบประมาณมาเพิ่มเติมต่อไป โดยผู้ประกอบการที่สนใจร่วมโครงการดังกล่าวสามารถติดต่อมาได้ที่ สสว.โดยตรง

ทั้งนี้ ได้เชิญผู้ประกอบการรายย่อยจำนวน 40 ราย จาก 7 จังหวัด ได้แก่ อุทัยธานี นครราชสีมา พระนครศรีอยุธยา ชุมพร เพชรบุรี ชัยนาท สระบุรี และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่ส่งสินค้าเข้าไปขายในร้านค้าประชารัฐสุขใจ shop จำนวน 406 ราย จาก 31 จังหวัด รวมเป็นผู้ประกอบการจำนวนทั้งสิ้น 446 ราย ที่ให้ความสนใจมายื่นคำขอกู้เงิน ผู้ประกอบการเหล่านี้ได้กรอกแบบฟอร์มขอกู้เงิน และเข้าสู่กระบวนการพิจารณาอนุมัติเป็นล็อตแรก วงเงินสินเชื่อ 89.2 ล้านบาท

สำหรับในด้านที่ 2 คือ การเพิ่มความสามารถในการแข่งขันเพื่อให้กิจการรายย่อย สามารถดำเนินต่อไปได้อย่างยั่งยืน และมีโอกาสจะขยายตัวได้ตามศักยภาพ สสว.ได้จัดงบประมาณ 100 ล้านบาท โดยจะดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานภาคีใน 3 เรื่อง คือ

1) การให้ความรู้ด้านการตลาด แก่ผู้ประกอบการรายย่อยในภูมิภาคทั่วประเทศ โดยเฉพาะการวิเคราะห์พฤติกรรมของผู้บริโภค เพื่อผู้ประกอบการจะมีความเข้าใจว่า ควรจะปรับปรุงสินค้า/บริการ อย่างไร เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อในเขตเมือง ในกรณีที่ต้องมีการปรับปรุง สสว.จะหาโครงการอื่นเข้ามารองรับต่อไป

2) การยกระดับมาตรฐานสินค้าให้ถูกสุขอนามัยไม่มีผลเสียต่อสุขภาพ เป็นปัจจัยที่ผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก สสว.จะดำเนินการในเรื่องนี้ร่วมกับ อย.(สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา) และบริษัท Central Lab ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ สสว. กับกระทรวงการคลัง โดยจะเน้นกลุ่มสินค้าประเภทอาหาร เครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์อาหารเสริม

และ 3) จูงใจให้ทำบัญชีอย่างถูกต้อง เป็นโปรแกรมสำหรับผู้ประกอบการรายย่อยที่มีสินค้า/บริการเป็นที่ต้องการของตลาดอยู่แล้ว และมีความต้องการที่จะขยายกิจการ ให้เติบโตได้อย่างมั่นคง สสว.จะจัดดำเนินการร่วมกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEs ผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น