ท่ามกลางตึกสูงและสิ่งก่อสร้างยุคใหม่ที่อัดแน่นใน ซ.ทองหล่อ23 กลับมีออแกนิคคาเฟ่ “ปฐม” (Patom) แทรกตัวอยู่เปรียบเสมือนโอเอซีสใจกลางกรุง ภายในเต็มเปี่ยมด้วยพื้นที่สีเขียว อุดมไปด้วยต้นไม้ดอกไม้แสนร่มรื่น สะดุดตาให้หยุดมอง อยากแวะเข้าพักผ่อน
เบื้องหลังของสถานที่ดังกล่าว ไม่ได้เป็นเพียงร้านอาหารที่แต่งสวยและบริการเมนูสุขภาพเท่านั้น หากจุดหมายหลักต้องการขยายแนวคิดธุรกิจส่งเสริมการทำเกษตรอินทรีย์ โดยใช้ร้าน Patom เป็นปลายทางในการคืนความสุขแก่คนเมือง ทั้งทางกายจะได้กินอาหารดีต่อสุขภาพ และทางใจ ได้มีส่วนร่วมส่งเสริมเกษตรกร ให้หันกลับมาประกอบอาชีพโดยปลอดสารเคมี ซึ่งจะเกิดประโยชน์แก่ทั้งผู้ปลูกและสิ่งแวดล้อมโดยรวม
อนัฆ นวราช ทายาทรุ่น 3 ของ “สวนสามพราน” จ.นครปฐม ในฐานะผู้ดูแลออแกนิคคาเฟ่ “ปฐม” เล่าที่มาของร้าน เป็นการต่อยอดจากโครงการ “สามพรานโมเดล” ภายใต้การทำงานของ “มูลนิธิสังคมสุขใจ” ซึ่งบุกเบิกโดยพี่ชาย (อรุษ นวราช กรรมการผู้จัดการ สามพราน ริเวอร์ไซด์) ตั้งแต่ประมาณ 7 ปีที่แล้ว โดยส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่ จ.นครปฐม และใกล้เคียง หันกลับมาทำเกษตรอินทรีย์ โดยจะรับซื้อผลผลิตในราคาประกัน เพื่อใช้ภายในสวนสามพราน ซึ่งปัจจุบันมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 11 กลุ่ม ประมาณ 120 คน
“การส่งเสริมให้เกษตรกรกลับมาปลูกพืชโดยวิธีธรรมชาติ นับเป็น “ต้นน้ำ” เพื่อจะได้ผลผลิตคุณภาพดี และเมื่อประมาณ 2 ปีที่แล้ว ผมเข้ามาช่วยโครงการ ดูแลด้าน “กลางน้ำ” โดยนำผลผลิตจากเกษตรกรในโครงการ แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น สบู่ แชมพู น้ำนมขวด น้ำกุหลาบ ฯลฯ เพื่อใช้และขายแก่ลูกค้าที่มาเยือนสวนสามพราน ภายใต้แบรนด์ “ปฐม” (Patom) สื่อว่าอยู่ในพื้นที่ จ.นครปฐม และเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีจุดเริ่มต้นจากธรรมชาติแท้ๆ” อนัฆ เล่า
นอกจากนั้น ด้าน “ปลายน้ำ” มุ่งสนับสนุนช่องทางตลาด ที่ผ่านมา ดำเนินการในหลากหลายรูปแบบ เช่น เปิด “ตลาดนัดสุขใจ” ให้เกษตรกรในโครงการมาออกร้านขายสินค้าเกษตรอินทรีย์ฟรี ทุกวันเสาร์ และอาทิตย์ รวมถึงจัดงาน “วันสังคมสุขใจ” ซึ่งเป็นมหกรรมสินค้าเกษตรอินทรีย์ประจำปี ทั้งหมดใช้พื้นที่ภายในสวนสามพราน
และเมื่อปลายปีที่แล้ว (2559) เพื่อจะขยายช่องทางตลาดให้กว้างขวางยิ่งขึ้น เชื่อมโยงให้คนเมืองได้ซื้อสินค้าเกษตรอินทรีย์ราคายุติธรรมจากผู้ปลูกโดยตรงได้สะดวก ไม่ต้องเดินทางไปถึงสวนสามพราน จึงเป็นที่มาของการนำที่ดินของครอบครัว ซึ่งอยู่ใน ซ.ทองหล่อ23 มาทำเป็นออแกนิคคาเฟ่ Patom เริ่มเปิดบริการเมื่อต้นปี พ.ศ.2560 ที่ผ่านมา
อนัฆ เล่าต่อว่า ใช้เงินลงทุนในการก่อสร้าง ไม่รวมค่าที่ดินประมาณ 5 ล้านบาท เนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 300 ตารางวา แบ่งสัดส่วนเท่าๆ กันระหว่างส่วนร้าน ลานจอดรถ และพื้นที่สวน โดยตัวอาคารเป็นเรือนกระจก ออกแบบเน้นเรียบง่าย มีการนำไม้เก่าจากแพสวนสามพรานมาใช้ก่อสร้าง รับรองลูกค้าได้ประมาณ 30 คน ส่วนรอบๆ แวดล้อมด้านสวนสวยที่เต็มไปด้วยต้นไม้และดอกไม้นานาพันธุ์
ขณะที่เมนูอาหารจะบริการในรูปแบบ “อาหารกล่อง” เพื่อบ่งบอกจุดยืนของร้านที่ต้องการให้เกิดความสงบเรียบง่าย โดยจะทำเพียงวันละประมาณ 30-50 กล่องเท่านั้น ในราคาประมาณกล่องละ 100 กว่าบาท เน้นเมนูอาหารไทยเพื่อสุขภาพ เช่น ข้าวน้ำพริกลงเรือ ข้าวน้ำพริกข่าสูตรคุณทวด เป็นต้น บนกล่องระบุคุณประโยชน์ของสารอาหารที่จะได้รับ ขณะที่วัตถุดิบเกือบทั้งหมดที่ใช้ประกอบอาหาร ล้วนเป็นสินค้าเกษตรอินทรีย์จากเกษตรกรในโครงการสามพรานโมเดล
นอกจากอาหารกล่องแล้ว ยังขายสินค้าจากธรรมชาติอื่นๆ เช่น เครื่องดื่มกาแฟ น้ำผลไม้ ขนมไทย ผักสด ผลไม้ และผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเกษตรอินทรีย์ เช่น สบู่ แชมพู โลชั่น ฯลฯ นอกจากนั้น ทุกวันเสาร์ที่ 2 ของเดือน จะเปิดเป็นตลาดนัดสินค้าออแกนิค เชิญเกษตรกรในโครงการ ให้นำผลผลิตมาขายโดยตรง และทุกวันหยุดสุดสัปดาห์จะมีจัดกิจกรรมอบรมความรู้ต่างๆ ด้านเกษตรอินทรีย์ด้วย
“สิ่งสำคัญของร้าน Patom ผมต้องการให้เกิดความเรียบง่ายที่สุด จึงวางระบบเป็นอาหารกล่อง ลูกค้าบริการตัวเอง หยิบเลือกแล้วไปนั่งกินบริเวณใดในร้านก็ได้ เพราะเราไม่ต้องการให้เป็นร้านอาหารที่ดูวุ่นวาย พนักงานต้องเดินไปมารับบิลและเสิร์ฟ”
“ส่วนผนังของร้าน จะมีแผนผังบ่งบอกที่มาของวัตถุดิบแต่ละตัวว่า มาจากเกษตรกรคนไหน สวนใด ลูกค้าสามารถมองย้อนกลับไปเห็นถึง “กลางน้ำ” และ “ต้นน้ำ”ได้ นอกจากนั้น รายได้จากการขาย 3% จะมอบให้แก่มูลนิธิสังคมสุขใจ เพื่อสนับสนุนให้เกษตรกรทำเกษตรอินทรีย์ต่อไป ดังนั้น จุดหมายหลักของร้านแห่งนี้จึงเป็น “ปลายน้ำ” ของโครงการสามพรานโมเดล ที่ช่วยคืนความสุขทางกายให้คนเมืองได้กินอาหารออแกนิคที่ดีต่อสุขภาพ ในขณะเดียวกัน เขายังมีส่วนร่วม ในการส่งเสริมเกษตรกรให้มีรายได้จากการทำเกษตรอินทรีย์ เกิดเป็นความสุขทางใจ จากการช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน” อนัฆ อธิบายแก่นของร้าน
ทายาทรุ่น 3 สวนสามพราน เผยด้วยว่า ระยะแรกที่เปิดร้านแทบไม่มีลูกค้าเลย เนื่องจากทำเลอยู่ในซอยลึก อย่างไรก็ตาม หลังลูกค้ากลุ่มแรกๆ เข้าใช้บริการและประทับใจในดีไซน์และเอกลักษณ์ ช่วยบอกต่อ ประกอบกับ ทางร้านทำตลาดผ่านสังคมออนไลน์ อีกทั้ง ได้รับเลือกเป็น 1 ใน 50 ร้านอาหาร ตอบโจทย์คนเมืองผู้รักสุขภาพ ในพ็อกเก็ตบุ๊ค “Healthicious Dishes” ซึ่งบัตรเครดิต "เคทีซี" จัดส่งให้สมาชิก ช่วยให้ร้านเป็นที่รู้จักและได้รับความนิยมมากขึ้นตามลำดับ
ในส่วนรายได้ หลังเปิดมา 4 เดือน เฉลี่ยหลักแสนบาทต่อเดือน กลุ่มลูกค้าหลักคือ ผู้รักสุขภาพ มีตั้งแต่วัยรุ่น วัยทำงาน และกลุ่มครอบครัว ตลอดจนนักท่องเที่ยว ส่วนแผนต่อไป กำลังเสริมบริการอาหารช่วงเช้า นอกจากนั้นเตรียมนำผลิตภัณฑ์แปรรูปต่างๆ ขยายส่งออกต่างประเทศ นอกจากนั้น ยังมีบริการส่งอาหารกล่องในพื้นที่รอบๆ ร้านด้วย
“ผมวางเป้าให้ร้านนี้ สามารถจะอยู่ได้ด้วยตัวเอง และทำหน้าที่สร้างแบรนด์ Patom ให้เป็นที่รู้จักและจดจำในฐานะศูนย์รวมผลิตภัณฑ์ออแกนิคครบวงจรจากเกษตรกรโดยตรงที่ไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง และหากเป็นไปได้ อยากให้แนวคิดธุรกิจส่งเสริมเกษตรอินทรีย์กระจายไปในวงกว้าง เพราะยิ่งมีมากเท่าใด ก็จะยิ่งดีต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของคนไทย” อนัฆ ทิ้งท้าย
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง:
เปิด “สามพรานโมเดล” อาณาจักรเกษตรอินทรีย์ สดจากสวนสู่ผู้บริโภค
“ปฐม” ส่งเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพขายห้าง ชูออร์แกนิกแท้ 100%
เปิดงาน “สังคมสุขใจ” จุดพลุเทรนด์เกษตรอินทรีย์ กระตุ้นธุรกิจท่องเที่ยว
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *