บริษัท สยามอินเตอร์ คูล จำกัด อยู่ในวงการผู้ผลิตและจำหน่ายตู้แช่เย็นมากกว่า 25 ปี และเมื่อทายาทรุ่นสองอย่าง “กิตตินันท์ ตั้งสิริมานะกุล” เข้ามาสานต่อ ได้ยกระดับตู้แช่ให้กลายเป็นหนึ่งในเฟอร์นิเจอร์สุดหรู ควบคู่ใส่นวัตกรรมเชื่อมโยงอินเทอร์เน็ต สามารถควบคุมและติดตามผลการทำงานผ่านสมาร์ทโฟน รวมถึงแจ้งซ่อมได้ตลอดเวลา ช่วยให้สินค้าเปิดสู่ตลาดใหม่ระดับบน ขายได้มูลค่าเพิ่มและฉีกหนีคู่แข่ง
ทายาทธุรกิจวัย 33 ปี ในฐานะกรรมการผู้จัดการ บริษัท สยามอินเตอร์คูล จำกัด เผยที่มาธุรกิจ บุกเบิกโดยคุณพ่อ (เสริม ตั้งสิริมานะกุล) ตั้งแต่เมื่อกว่า 25 ปีที่แล้ว โดยบริษัทถือเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายตู้แช่เย็นอันดับ 3 ของประเทศ จากผู้ผลิตทั้งหมดในตลาดประมาณ 10 กว่าราย มีสัดส่วนตลาดประมาณ 10% จากมูลค่ารวม
“ธุรกิจเราเติบโตมาจากการเน้นเป็นผู้รับจ้างผลิตตู้แช่เย็นในซูเปอร์มาร์เกตต่างๆ รวมถึงทำตู้แช่เย็นในร้านอาหาร ร้านกาแฟ อย่างไรก็ตาม ในระยะหลังผู้ผลิตในวงการต่างหันมาแข่งขันด้านราคาต่ำ ขณะที่การขยายสาขาของซูเปอร์มาร์เกตลดจำนวนลง จึงไม่สามารถจะทำตลาดแมส ผลิตปริมาณมากๆ แต่ได้กำไรต่อหน่วยน้อยอีกต่อไป ทางสยามอินเตอร์ คูล จึงพยายามจะเปลี่ยนตำแหน่งสินค้าตู้แช่เย็นไปสู่ตลาดใหม่ระดับพรีเมียมที่ผลิตในปริมาณน้อยแต่สร้างมูลค่าได้สูง” กิตตินันท์เผยถึงโจทย์ในการเข้ามารับช่วงธุรกิจเมื่อประมาณ 3 ปีที่แล้ว
กิตตินันท์เรียนจบมาด้านไอที ดังนั้น พยายามเชื่อมโยงนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาต่อยอดกับการผลิตของบริษัทที่โดดเด่นอยู่แล้ว ซึ่งการบ้านเพื่อยกระดับตู้แช่เย็นถูกนำมาวิเคราะห์โดยใช้ปัญหาที่ผ่านมาของลูกค้าเป็นตัวตั้ง พบประเด็นสำคัญอันดับแรก คือ เมื่อผู้ผลิตส่งมอบสินค้าให้แก่ลูกค้าแล้ว มักไม่มี “บริการหลังการขายที่ดีพอ” หากตู้แช่เกิดปัญหา ลูกค้าไม่รู้จะหาช่างที่มีคุณภาพมาซ่อมได้จากที่ใด
และประเด็นต่อมา คือ เดิมตู้แช่เย็นมักถูกมองข้ามเรื่องความ “สวยงาม” เมื่อนำไปวางแล้วมักไม่เข้ากับสถานที่ ดังนั้น สยามอินเตอร์ คูลเลือกจะสร้างสรรค์ตู้แช่รูปแบบใหม่ ที่มีขีดความสามารถสูงขึ้นโดยการเชื่อมโยงกับระบบอินเทอร์เน็ตเพื่อให้ตอบสนองงานบริการให้ดียิ่งขึ้น ในขณะเดียวกัน มีดีไซน์สวยงามโดดเด่น เสมือนเป็นเฟอร์นิเจอร์ชิ้นหรูในการตกแต่งสถานที่
กิตตินันท์อธิบายต่อว่า นวัตกรรมที่สร้างขึ้นจะเชื่อมโยงระบบไอทีกับตู้แช่เย็น โดยตู้แช่ทุกใบที่ลูกค้าสั่งซื้อไปจะถูกเก็บข้อมูลในคลังฐานข้อมูล รูปแบบการทำงาน เจ้าของตู้แช่จะได้รับรหัสผ่านสำหรับควบคุมอุณหภูมิความเย็นและความชื้นตามที่ต้องการผ่านสมาร์ทโฟน อีกทั้งมีระบบรายงานผลการทำงาน หรือมอนิเตอริ่ง (Monitoring) ผ่านแอปพลิเคชันเซอร์วิสลิงก์ (Service Link) ที่รองรับทั้งระบบปฏิบัติการไอโอเอส (IOS) และแอนดรอยด์ (Android) ทำให้สามารถติดตามดูการทำงานของตู้แช่ได้ตลอดเวลา และหากเครื่องเกิดขัดข้อง สามารถแจ้งปัญหาทั้งทาง SMS และอีเมลไปยังช่างที่ปัจจุบันมีเครือข่ายกว่า 1,200 คนทั่วประเทศได้ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งจะเข้าแก้ไขได้ภายในเวลา 6 ชั่วโมง
ทั้งนี้ เพื่อควบคุมมาตรฐานการทำงานของช่าง ได้วางระบบตรวจสอบการทำงานเพื่อให้ช่างทุกคนต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด อีกทั้งอะไหล่และอุปกรณ์ต่างๆ ต้องรับจากแหล่งที่บริษัทกำหนดเท่านั้น รวมถึงจะมีการตีราคาค่าบริการให้ลูกค้าทราบล่วงหน้า ป้องกันปัญหาช่างเรียกเก็บค่าบริการสูงเกินจริง
ส่วนด้านความสวยงาม มีเครือข่ายทีมออกแบบมืออาชีพ ที่จะสร้างสรรค์ให้ตู้แช่เป็นเหมือนเฟอร์นิเจอร์ชิ้นเอกที่เหมาะแก่สถานที่ต่างๆ รวมถึงสามารถใช้งานได้อย่างเหมาะสมด้วย
เมื่อสร้างนวัตกรรมและดีไซน์อันโดดเด่นแล้ว สยามอินเตอร์คูล เลือกวางตำแหน่งให้ตู้แช่มิติใหม่มุ่งจับลูกค้าตลาดบน โดยเฉพาะการทำตู้แช่และห้องแช่สำหรับเก็บ “ไวน์” เนื่องจากเป็นเครื่องดื่มที่ต้องการความเอาใจใส่สูง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการควบคุมความชื้นและอุณหภูมิ และที่สำคัญลูกค้ากลุ่มนี้มีกำลังซื้อสูงมาก
“เหตุผลที่ผมเลือกจะเน้นตลาดผู้ผลิตตู้แช่และห้องแช่ไวน์ในเมืองไทย เพราะมีคู่แข่งน้อยมาก และหากเจาะจงเป็นตู้แช่และห้องแช่ไวน์มีการนำนวัตกรรมและดีไซน์มาเพิ่มค่าเราถือเป็นรายแรกและรายเดียวในเมืองไทย อีกทั้งกลุ่มผู้นิยมไวน์จะมีกำลังซื้อสูงมาก โดยไวน์บางขวดราคาแตะหลักแสนบาท จำเป็นต้องได้รับความเอาใจใส่ในการเก็บรักษาสูงมาก ซึ่งเจ้าของไวน์แต่ละคนมักจะอยากโชว์ไวน์ และมีความสุขที่ได้พูดคุยเล่าประสบการณ์ของไวน์แต่ละขวดในหมู่คนคอเดียวกัน ซึ่งคนกลุ่มนี้จะจับจ่ายโดยใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผล จึงกล้าจะจ่ายในราคาสูงได้” กิตตินันท์ระบุเหตุผลในการเลือกทำตลาดดังกล่าว
เนื่องจากผู้รักไวน์เป็นกลุ่มที่เฉพาะเจาะจงมากๆ วิธีการที่จะทำตลาด อาศัย “สถาปนิก” ซึ่งเป็นผู้ออกแบบสถานที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโรงแรม 5 ดาวหรือบ้านพักอาศัย ทำหน้าที่ตัวแทนไปเสนอสินค้าแก่เจ้าของสถานที่ โดยชูจุดเด่นเรื่องนวัตกรรมและความสวยงาม ขณะเดียวกัน ใช้วิธีออกงานแสดงสินค้าเพื่อแนะนำนวัตกรรม และหาพันธมิตรสถาปนิกรายใหม่ๆ อย่างล่าสุด ออกบูทในงาน “สถาปนิก’60” ระหว่างวันที่ 2-7 พฤษภาคม 2560 ณ เมืองทองธานี
กิตตินันท์เผยด้วยว่า บริษัทฯ ใช้เงินลงทุนในการพัฒนาตู้แช่แนวใหม่กว่า 10 ล้านบาท โดยเป็นซอฟต์แวร์ที่เขียนขึ้นมาเอง รวมถึงสร้างระบบเครือข่ายและกระจายสินค้าไปยังทีมช่างให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ขณะที่ด้านการผลิต บริษัทฯ มีพื้นฐานสามารถผลิตตู้แช่รูปแบบต่างๆ ได้ครบวงจร ตั้งแต่ตู้แช่น้ำราคาเริ่มต้น 18,500 บาท ไปจนถึงห้องแช่ไวน์ ขนาด 4x2 ตาราเมตร ราคาประมาณ 3 ล้านบาท ซึ่งหากเพิ่มเติมใส่นวัตกรรมการเชื่อมโยงไอทีเข้าไปจะเพิ่มมูลค่าจากเดิมได้ประมาณ 15% นอกจากนั้น ยังสามารถสร้างรายได้จากงานบริการเสริมที่คิดอัตราครั้งละประมาณ 1,200 บาท ซึ่งจะต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ได้ด้วย
ู
ปัจจุบัน สยามอินเตอร์ คูล มีสัดส่วนตลาดจากการผลิตตู้แช่น้ำดื่มประมาณ 40% ตู้แช่เย็นเพื่อร้านค้ารายย่อย เช่น ร้านอาหาร ร้านกาแฟ ฯลฯ ประมาณ 40% และอีก 20% มาจากตลาดใหม่ คือ กลุ่มตู้แช่และห้องแช่ไวน์ ซึ่งตลอด 3 ปีที่ผ่านมาให้บริการลูกค้าไปแล้วประมาณ 10 กว่าราย เฉลี่ยใช้จ่ายประมาณ 1 ล้านบาทต่อราย ส่วนแผนในอนาคตจะขยายตลาดลูกค้าบนให้มากยิ่งขึ้น โดยเสนอสินค้ายังโรงแรม และร้านอาหารเกิดใหม่ รวมถึงบริการตามแหล่งที่ต้องการเก็บรักษาสินค้าในอุณหภูมิที่เข้มงวด เช่น ตู้แช่ยาในโรงพยาบาล เป็นต้น
จากรุ่นพ่อผู้บุกเบิกเน้นผลิตตู้แช่เย็นให้ได้คุณภาพดีแข็งแรงทนทาน เมื่อทายาทธุรกิจรุ่นสองเข้ามาสานต่อ ช่วยให้ปัจจุบันตู้แช่ของสยามอินเตอร์ คูล มีทั้งคุณสมบัติที่ดีเช่นวันวาน เพิ่มเติมนวัตกรรมและดีไซน์สมัยใหม่ นับเป็นการสานต่อธุรกิจจากรุ่นสู่รุ่น เพื่อให้ธุรกิจสามารถก้าวทันโลกยุคใหม่ได้เสมอ
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *