xs
xsm
sm
md
lg

เปิดโมเดลพลิกโฉมเที่ยว “เชี่ยวหลาน” ติดอาวุธปัญญาสร้างรายได้ชุมชน 7 พันล. (มีคลิป)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บรรยากาศการท่องเที่ยว “เขื่อนเชี่ยวหลาน” เขตอุทยานแห่งชาติเขาสก จ.สุราษฎร์ธานี
ภาพการท่องเที่ยว “เขื่อนเชี่ยวหลาน” เขตอุทยานแห่งชาติเขาสก จ.สุราษฎร์ธานีในปัจจุบัน ถูกรู้จักและจดจำในฐานะแหล่งพักผ่อนเชิงอนุรักษ์ระดับไฮเอ็นด์ สำหรับลูกค้าพรีเมียม ต้องจองยาวล่วงหน้าถึงมีโอกาสได้สัมผัส ช่วยให้เพิ่มมูลค่าในธุรกิจท่องเที่ยวจากอดีตได้หลายเท่าตัว รวมถึงกระจายประโยชน์เชิงเศรษฐกิจไปสู่ชุมชนโดยรอบ ซึ่งเบื้องหลังความสำเร็จ เกิดจากการประสานพลังตามแนวประชารัฐ ระหว่างภาคเอกชนและภาครัฐ ที่ร่วมแรงร่วมใจพลิกโฉมการท่องเที่ยวในท้องถิ่นอย่างครบวงจร
นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธพว.   นายนที ขลิบ ผอ.สนง.กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ และนายอติรัตน์ ด่านภัทรวรวัฒน์ ในฐานะนายกสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวทะเลสาบเชี่ยวหลาน (จากซ้ายมาขวา) 3บุคคลสำคัญในการพลิกโฉมท่องเที่ยว เขื่อนเชี่ยวหลาน
ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ “SME Development Bank” ในฐานะสถาบันการเงินของรัฐบาลเพื่อเอสเอ็มอีไทย ที่เป็นหนึ่งในกลไกภาครัฐในการยกระดับการท่องเที่ยวเขื่อนเชี่ยวหลาน ได้เข้ามาทำโครงการร่วมกับเอกชนในท้องถิ่นเมื่อกว่า 1 ปีที่แล้ว โดยสนับสนุนผู้ประกอบการในพื้นที่ให้ได้รับเงินทุนควบคู่กับความรู้ที่จำเป็นต่อการพัฒนาธุรกิจท่องเที่ยว



นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธพว. อธิบายว่า ในอดีตโครงการต่างๆ เพื่อช่วยเหลือชุมชน หากให้แต่เงินอย่างเดียว มักไม่สามารถแก้ปัญหาได้ครบถ้วน และสุดท้ายเกิดหนี้เสียจำนวนมาก ดังนั้น ธพว.วางนโยบายการเข้าสนับสนุนชุมชนจะต้องให้ “ความรู้” ควบคู่กับเงินทุน โดยเฟ้นหาชุมชนที่มีศักยภาพพื้นฐานพร้อมอยู่แล้ว แต่ยังขาดความรู้ที่จะนำศักยภาพดังกล่าวออกมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมถึงขาดโอกาสเข้าถึงแหล่งทุน กระทั่งพบว่า การท่องเที่ยว “เขื่อนเชี่ยวหลาน” มีคุณสมบัติเหมาะสม และที่สำคัญมีผู้นำชุมชนที่เข้มแข็งอย่าง “อติรัตน์ ด่านภัทรวรวัฒน์” เจ้าของรีสอร์ต “แพ500ไร่” ซึ่งเป็นลูกค้าเดิมของ ธพว.อยู่แล้ว และมีเจตนาแน่วแน่อยากพัฒนาบ้านเกิด จึงร่วมมือกันพลิกโฉมการท่องเที่ยวของชุมชนแห่งนี้
นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธพว.
“แม้ว่าเชี่ยวหลานจะมีธรรมชาติอันยอดเยี่ยม แต่ชาวบ้านไม่มีความสามารถในการประกอบอาชีพ ทำให้ประสบปัญหาเรื่องรายได้ต่ำ อีกทั้ง ไม่มีเอกสารสิทธิ์ต่างๆ จึงไม่สามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้ แนวทางพัฒนาเบื้องต้นจึงส่งเสริมให้ผู้ประกอบการในท้องถิ่นรวมตัวเป็น “สมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวทะเลสาบเชี่ยวหลาน” เพื่อเป็นแกนนำขับเคลื่อนการพัฒนา และเป็นตัวแทนประสานงานกับภาครัฐ ซึ่งเบื้องต้นมี “อติรัตน์” กับผู้ประกอบการอีกแค่ 6 คนเท่านั้นที่ร่วมก่อตั้งสมาคมฯ” กก.ผจก.ธพว. เปิดฉากฉายโมเดลการพัฒนาร่วมกับผู้ประกอบการท้องถิ่น

จากนั้น ในกระบวนการเสริมความรู้ ได้หารือร่วมกับผู้ประกอบการว่าต้องการสิ่งใด เพื่อจะจัดกิจกรรมให้เหมาะสม รวมถึงประสานหน่วยงานพันธมิตรต่างๆ เช่น หน่วยงานราชการท้องถิ่น สถาบันการศึกษา กรมเจ้าท่า กองทุนหมู่บ้าน และกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นต้น ที่เชี่ยวชาญและรับผิดชอบโดยตรงให้เข้ามามอบความรู้ เช่น ด้านจัดทำบัญชี หลักสูตรความปลอดภัยในการเดินเรือ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง การบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม อบรมภาษาต่างประเทศเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวต่างแดน เป็นต้น
เรือต่อจาก เหล็ก เพิ่มประสิทธิภาพและความปลอดภัยแก่นักท่องเที่ยว
ทั้งนี้ หนึ่งในหัวใจของการยกระดับการท่องเที่ยวเชี่ยวหลาน คือ เพิ่มมาตรฐานความปลอดภัยของการเดินเรือโดยสาร ซึ่งที่ผ่านมา เรือที่ใช้จะเป็นเรือไม้ขนาดเล็ก บรรทุกผู้โดยสารได้แค่ 10 คน ผ่านการใช้งานมายาวนาน และมักเกิดอุบัติเหตุอยู่เสมอ ทำให้นักท่องเที่ยวขาดความมั่นใจในการใช้บริการ ขณะที่ผู้ประกอบการ ก็ไม่มีเงินทุนส่วนตัวจะปรับปรุงหรือเปลี่ยนเรือได้ หรือจะใช้บริการสินเชื่อก็ไม่ได้เช่นกัน เพราะเรือไม่สามารถใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันได้ รวมถึง ไม่มีเอกสารสิทธิ์ใดๆ เลย

จุดนี้ ธพว.เข้ามาแก้โจทย์ โดยใช้กระบวนการประเมินหลักทรัพย์ จากการคำนวณกระแสเงินสด และให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมย่อม (บสย.) ค้ำประกันสินเชื่อให้แทน จึงสามารถอนุมัติเงินทุนให้ผู้ประกอบการได้ จำนวน 24 ราย วงเงิน 42.57 ล้านบาท สำหรับนำไปปรับปรุงเรือเดิมให้มีคุณภาพดีขึ้น และบางรายต่อเรือใหม่ทำจาก “เหล็ก” บรรทุกได้ถึง 20 คน และมีความแข็งแรงสูง แถมประหยัดเชื้อเพลิง นำร่อง 3 ลำ ก่อนจะขยายจำนวนมากขึ้นในอนาคต ซึ่งผลจากการอนุมัติสินเชื่อดังกล่าว ทำให้ผู้ประกอบการทั้ง 24 ราย มีรายได้มากขึ้นและไม่เกิดเป็นหนี้เสียแม้แต่รายเดียว

ทั้งนี้ข้อมูลจากฝ่ายพัฒนาผู้ประกอบการและร่วมลงทุน ธพว. เผยว่า เมื่อประมาณ 2 ปีที่แล้ว จำนวนคนมาเที่ยวเชี่ยวหลานประมาณ 100,000 คน/ปี สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวประมาณ 65 ล้านบาท/ปี แต่จากแนวทางประชารัฐที่ภาครัฐมาทำงานร่วมกับเอกชนท้องถิ่นเพื่อยกระดับมาตรฐานต่างๆ ทำให้ปีที่แล้ว (2559) จำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มเป็นกว่า 300,000 คน/ปี ขณะที่ราคาค่าที่พัก ค่าโดยสารเรือ ต่างเพิ่มตามไปด้วย และปีนี้ (2560) ตั้งเป้าจะมีนักท่องเที่ยวเพิ่มถึง 500,000 คน/ปี สร้างรายได้จากการท่องเที่ยว 1,075-3,200 ล้านบาท/ปี รวมถึง ก่อให้เกิดการกระจายรายได้เชื่อมโยงไปส่วนเกี่ยวข้องต่างๆ เช่น สินค้าชุมชน สินค้าที่ระลึก สินค้าเกษตร ร้านอาหาร ขนส่ง ฯลฯ อีกกว่า 4,000 ล้านบาท/ปี รวมแล้ว สร้างรายได้ให้ชุมชนแห่งนี้กว่า 7,200 ล้านบาท/ปี

นายมงคล ระบุด้วยว่า จากความสำเร็จดังกล่าว ธพว.จะนำโมเดลนี้ไปขยายผลพัฒนาและส่งเสริมชุมชนอื่นๆ ต่อไป ซึ่งสำรวจไว้หลายพื้นที่ เช่น เกาะพะงัน จ.สุราษฎร์ธานี ดอยวาวี จ.เชียงราย และ จ.ลำปาง เป็นต้น โดยวาง 5 แนวทางพัฒนา ได้แก่ 1.ทำให้ทันสมัย 2.สร้างเรื่องราวน่าสนใจ 3.ออกแบบสินค้า/บริการตรงตามความต้องการตลาด 4.มีมาตรฐาน และ 5.ใช้ออนไลน์ สร้างกระแสบอกต่อ
นายนที ขลิบ ผอ.สนง.กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ
ด้านนายนที ขลิบทอง ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ หนึ่งในหน่วยงานพันธมิตร ระบุว่า จากความสำเร็จของโครงการนี้ ทางกองทุนฯ ซึ่งมีโครงการต่างๆ อยู่แล้ว เช่น โครงการตลาดชุมชน ตลาดท่องเที่ยว พร้อมจะเข้ามาเชื่อมโยงสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและชุมชนด้วยเช่นกัน

ขณะที่นายอติรัตน์ ด่านภัทรวรวัฒน์ ในฐานะนายกสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวทะเลสาบเชี่ยวหลาน กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่สุดของการยกระดับท่องเที่ยว ต้องพัฒนา “คน” ให้มีศักยภาพสูงขึ้น ด้วยการประสานกับ ธพว.จัดกิจกรรมเสริมความรู้ด้านต่างๆ ซึ่งในความเป็นจริง ยากมากที่จะปรับทัศนคติของผู้ประกอบการแต่ละรายให้ตรงกัน จึงเลือกใช้วิธีสร้าง “ต้นแบบ” แห่งความสำเร็จ เพื่อเป็นตัวอย่างแสดงให้เห็นว่า ถ้าดำเนินธุรกิจอย่างมีระบบบริหารจัดการที่ดีเยี่ยม ทั้งเรื่องที่พัก ความปลอดภัย และระบบจัดการสิ่งแวดล้อม ฯลฯ จะสามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้ รวมถึงช่วยให้ธุรกิจมีรายได้สูงขึ้น ก่อให้เกิดแรงจูงใจแก่ผู้ประกอบการรายอื่นๆ อยากจะพัฒนาตัวเองขึ้นตามมา เพื่อพบความสำเร็จเช่นกัน
นายอติรัตน์ ด่านภัทรวรวัฒน์  เจ้าของ แพ500ไร่ และนายกสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวทะเลสาบเชี่ยวหลาน

“ในความเป็นจริง เราไม่สามารถจะผลักดันคนอื่นได้ 100% ดังนั้น ผมเลยเริ่มจากผลักดันตัวเองก่อน ถ้า “แพ500ไร่” ทำแล้วสำเร็จ คนอื่นๆ ก็อยากจะเดินตาม ผมจึงพัฒนาทุกๆ ด้านของแพ 500ไร่ ที่คนอื่นคิดว่ายาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความปลอดภัย ด้านสิ่งแวดล้อม และบริการ จนได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับ ซึ่งเมื่อผมทำแล้วเกิดผลดี ก็จะทำให้ผู้ประกอบการรายอื่นๆ อยากจะทำตาม” นายอติรัตน์ เล่าโมเดลการสร้างต้นแบบความสำเร็จ พร้อมเสริมด้วยว่า

"ยกตัวอย่างเหมือนละครเรื่องหนึ่งที่มีนางเอกดัง ส่วนพระเอกและตัวประกอบอื่นๆ อาจจะไม่ได้มีชื่อเสียงเทียบเท่า วิธีการคือ ใช้นางเอกดัง โดยให้พระเอกหรือตัวประกอบมาประกบ สักพักคนก็จะเริ่มมองเห็นพระเอกและตัวประกอบบ้าง และวันหนึ่ง พระเอกที่ทำผลงานได้ดีก็จะมีชื่อเสียงขึ้นมาตาม จนสามารถออกไปเลี้ยงตัวเองต่อไปได้ ซึ่งแน่นอนว่า เราไม่สามารถจะทำให้ทุกรายดังพร้อมกันหมด ดังนั้น เราต้องเลือกรายที่มีศักยภาพมาเป็นพระเอก” เจ้าของแพ 500 ไร่ อธิบายอย่างเห็นภาพ

บรรยากาศแพพักในเขื่อนเชี่ยวหลาน
ทั้งนี้ จากความร่วมมือกับ ธพว. ช่วยให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวเขื่อนเชี่ยวหลาน สามารถเข้าถึงเงินทุนได้จริง ซึ่งเป็นสิ่งที่คนในพื้นที่นี้ไม่เคยได้รับมาก่อน อีกทั้ง เมื่อพัฒนาความรู้แล้ว ช่วยให้ธุรกิจของแต่ละคนเกิดผลดีขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ความสำเร็จดังกล่าวจึงจูงใจผู้ประกอบการรายต่างๆ สมัครขอเข้ามาเป็นสมาชิกสมาคมฯ เพิ่มขึ้น จากยุคบุกเบิกมีแค่ 7 ราย ปัจจุบันเพิ่มเป็น 70 ราย และยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ปัจจุบัน ท่องเที่ยวเชี่ยวหลานเป็นที่รู้จักในวงกว้างแล้ว แนวทางเพื่อให้เกิดความยั่งยืนนั้น นายอติรัตน์ ระบุว่า จะมุ่งติดอาวุธทางปัญญาให้ผู้ประกอบการทุกราย เห็นผลประโยชน์ของส่วนร่วม ภายใต้แนวคิด "WE GO TOGETHER" หมายถึงเติบโตไปด้วยกัน อีกทั้ง ขยายการสร้างต้นแบบความสำเร็จ และให้ผู้ที่สำเร็จแล้ว ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงจูงรายที่ตามมาให้เร่งพัฒนาศักยภาพได้ทัดเทียม ส่วนรายที่ตามหลังอยู่ ก็ต้องขยัน พยายามเรียนรู้ที่จะก้าวตาม ไม่รอให้ต้องจูงเพียงอย่างเดียว โดยพยายามช่วยเหลือตัวเองเสียก่อน แทนที่จะรอรับสนับสนุนจากภาครัฐเท่านั้น

ทั้งนี้ ในเขื่อนเชี่ยวหลาน มีผู้ประกอบการแพพัก 16 แห่ง แบ่งเป็นเอกชน 12 ราย และอุทยาน 4 ราย มีศักยภาพรับนักท่องเที่ยวเข้าพักได้สูงสุดประมาณเกือบ 2,000 คนต่อคืน ซึ่งปัจจุบัน จำนวนคนเข้าพักเฉลี่ยเต็มศักยภาพอยู่แล้ว ยิ่งช่วงหน้าเทศกาล เกินจะรองรับได้ด้วยซ้ำ ดังนั้น แนวทางที่วางไว้ จึงไม่ต้องการเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวค้างคืนในอ่างเก็บน้ำ แต่อยากให้กระจายไปพักพื้นที่รอบๆ ซึ่งจะช่วยกระจายรายได้ไปสู่ชุมชนอื่นๆ

นายอติรัตน์ ทิ้งท้ายด้วยว่า เป้าหมายของการท่องเที่ยวเชี่ยวหลาน ต้องการเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ยั่งยืน ทั้งด้านธรรมชาติและวิถีชีวิต ก้าวสู่ “เมืองแห่งออแกนิค” รวมถึงเป็นจุดเชื่อมโยงการท่องเที่ยวระหว่างอันดามันและอ่าวไทย โดยมุ่งเชิงคุณภาพมากกว่าปริมาณ อีกทั้ง ผู้ประกอบการในพื้นที่เชี่ยวหลานและโดยรอบ ปฏิบัติตามกฎระเบียบอย่างเคร่งครัด ในขณะเดียวกันธุรกิจก็ประสบความสำเร็จด้วย ซึ่งภาพดังกล่าว หากทุกฝ่ายร่วมมือร่วมใจกัน เชื่อจะเกิดขึ้นจริงภายในไม่เกิน 3 ปีข้างหน้า

“ผมเชื่อว่า เมื่อคนตระหนักในสิ่งที่ถูกต้อง จะทำให้การท่องเที่ยวเขื่อนเชี่ยวหลานเกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมีภาครัฐเป็นผู้สนับสนุน ค่อยๆ โตจากคนกลุ่มเล็กขยายออกไป ให้น้ำดีค่อยๆ ไล่น้ำเสีย ในที่สุด จะเกิดเป็นวัฒนธรรมหรือธรรมเนียมปฏิบัติให้ทุกคนรับรู้ว่า คนเชียวหลานต้องมีวิถีเช่นนี้ ส่วนกฎหมายหรือระเบียบต่างๆ เป็นเพียงกรอบที่ชัดเจน หรือเครื่องมือในการเตรียมสติ เพราะถึงแม้จะมีกฎหมายที่เข้มงวด แต่หากคนที่อยู่ภายใต้กฎ ไม่มีจิตใจที่จะทำตาม ก็จะหาวิธีออกนอกกรอบตลอดเวลา” นายกสมาคมฯ ระบุ



อ่านเรื่องประกอบ => ถอดสูตร ‘แพ 500 ไร่’ วิมานกลางน้ำ แพรีสอร์ตร้อยล้านที่เริ่มจากศูนย์

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น