สสว. เร่งขับเคลื่อนโครงการพัฒนาผู้ประกอบการใหม่ (Start Up) ในปี 2560 โดยจัดสรรงบประมาณจำนวน 149 ล้านบาท ตั้งเป้าส่งเสริม SME ในกลุ่ม Start Up จำนวน 10,000 ราย
สสว. เป็นหน่วยงานหลักด้านยุทธศาสตร์ นโยบาย และเป็นศูนย์กลางบูรณาการหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนในการขับเคลื่อนผู้ประกอบการของประเทศ “ ผู้ประกอบการใหม่ ” หรือ Stat Up นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการจ้างงานและสร้างนวัตกรรม จึงเป็นฐานที่สำคัญของเศรษฐกิจไทย สสว. เริ่มดำเนินโครงการสร้างผู้ประกอบการใหม่ (Start Up) ตั้งแต่ปี 2559 ในภาคการผลิตและบริการ โดยร่วมกับมหาวิทยาลัยราชมงคลทั้ง 9 แห่งที่มีศูนย์บ่มเพาะกระจายอยู่ทั่วประเทศ มีผู้สนใจเข้าร่วมโครงการ 10,797 ราย ผ่านเข้าสู่ขั้นทำแผนธุรกิจ 5,415 ราย โดยพี่เลี้ยงซึ่งเป็นนักธุรกิจท้องถิ่นจะช่วยพิจารณาว่าแผนธุรกิจมีความเป็นไปได้ในเชิงพาณิชย์หรือไม่ หากแผนเป็นไปได้จริง สสว.จะพาเข้าสู่กระบวนการทดสอบตลาด และช่วยสนับสนุนให้สามารถทำธุรกิจต่อไปได้ เช่น ประสานกับธนาคาร SME หรือธนาคารออมสินในเรื่องเงินกู้ รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์และการตลาด
และในปี 2560 สสว. ต่อยอดโครงการพัฒนาผู้ประกอบการใหม่ (Start Up) โดยจัดสรรงบประมาณจำนวน 149 ล้านบาท ตั้งเป้าส่งเสริม SME ในกลุ่ม Start Up จำนวน 10,000 ราย แบ่งเป็นภาคการเกษตร 5,000 ราย และภาคการผลิต ภาคการค้า ภาคบริการ จำนวน 5,000 ราย โดยจัดงานแถลงข่าวเปิดตัวโครงการไปแล้วเมื่อวันที่ 9 ก.พ. ที่ผ่านมา และลงพื้นที่ 4 ภาคเพื่อประชาสัมพันธ์และรับสมัครผู้เข้าร่วมโครงการในภาคเหนือ ภาคตะวันออก ภาคใต้ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
สสว. ร่วมมือกับกรมส่งเสริมการเกษตร (กสก.) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) คัดเลือกผู้ประกอบการจากฐานข้อมูลในภาคการเกษตร และผู้ที่สนใจ เพื่อส่งต่อเข้าสู่ศูนย์บ่มเพาะของสถาบันวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมอุตสาหกรรมการผลิต (SMI) ภายใต้การกำกับดูแลของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และมหาวิทยาลัย 8 แห่งทั่วประเทศ ตามความเชี่ยวชาญของแต่ละสถาบัน ประกอบด้วย 1)มหาวิทยาลัยแม่โจ้ 2)มหาวิทยาลัยมหิดล (วิทยาเขตนครสวรรค์) 3)มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ 4)มหาวิทยาลัยขอนแก่น 5)มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี 6)มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ 7)มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ
8) มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา โดย ธ.ก.ส. จะช่วยสนับสนุนเงินทุนให้กับเกษตรกรที่ต้องการปรับเปลี่ยนวิถีการผลิตจากแบบดั้งเดิมไปสู่การผลิตแบบเกษตรรูปแบบใหม่ที่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาด
ผู้สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการ จะเริ่มต้นด้วยการอบรมความรู้พื้นฐานเบื้องต้นสำหรับการดำเนินธุรกิจ อาทิ ด้านการตลาด การบริหารจัดการ ฯลฯ จากนั้นจึงคัดเลือกเพื่อเข้าสู่กระบวนการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อจัดทำแผนธุรกิจและบ่มเพาะ โดยจะเน้นปูพื้นฐานความรู้ที่จำเป็นด้านการบริหารจัดการธุรกิจ เช่น การตลาดยุคใหม่ การแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้า โดยใช้นวัตกรรมใหม่และเทคโนโลยีจากงานวิจัยมาต่อยอดผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่ม สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตรงกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมายในตลาดไปสู่เชิงพาณิชย์ การพัฒนาปรับปรุงเทคโนโลยีและเครื่องมือเพื่อเพิ่มผลผลิตและยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูป จนผ่านการรับรองให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมาตรฐาน รวมถึงเพิ่มทักษะการเข้าถึงแหล่งข้อมูลทั้งเรื่องแนวโน้มและโอกาสทางธุรกิจบนฐานของข้อมูลการตลาด (Marketing Intelligence) ท้ายสุดคือ สามารถเขียนและจัดทำแผนธุรกิจที่เป็นไปได้จริงในเชิงพาณิชย์ร่วมกับนักธุรกิจในพื้นที่ ซึ่งศูนย์บ่มเพาะจะเชิญเข้ามาเป็นพี่เลี้ยงให้คำปรึกษาในเชิงลึกแบบตัวต่อตัว จากนั้น สสว.จะต่อยอดโดยการพาไปทดสอบตลาด และสนับสนุนในด้านอื่นๆ เพื่อให้สามารถเริ่มต้นธุรกิจและดำเนินกิจการต่อไปได้
โครงการ Start Up เน้นผู้ประกอบการภาคการเกษตร ภาคการผลิต ภาคการค้า และภาคบริการที่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนการค้า หรือผู้ที่เพิ่งเริ่มดำเนินธุรกิจไม่เกิน 3 ปี วิสาหกิจชุมชน ตลอดจนคนรุ่นใหม่ที่มีพื้นฐานความรู้ด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและความคิดสร้างสรรค์ นักเรียน นักศึกษา ที่อยากมีธุรกิจเป็นของตนเองก็สามารถสมัครเข้าร่วมโครงการได้ โดยประโยชน์ที่ผู้เข้าร่วมโครงการจะได้รับก็คือ
1. องค์ความรู้ในการบริหารจัดการธุรกิจในด้านต่าง ๆ
2. โอกาสในการริเริ่มและพัฒนาผลิตภัณฑ์ และเครื่องมือเพิ่มผลผลิตจากงานวิจัยด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมจากมหาวิทยาลัยที่เป็นหน่วยร่วม
3. โอกาสทางการตลาดในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตรงกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย จนผ่านการรับรองให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมาตรฐาน
4. สามารถเขียนและจัดทำแผนธุรกิจที่เป็นไปได้จริงในเชิงพาณิชย์ร่วมกับนักธุรกิจในพื้นที่
ปัจจุบัน รับสมัครผู้สนใจเข้าร่วมโครงการแล้ว 5,000 ราย แบ่งเป็นภาคการเกษตร 3,000 ราย และภาคอื่น ๆ 2,000 ราย เริ่มทยอยเข้าสู่กระบวนการอบรมความรู้เบื้องต้นสำหรับการดำเนินธุรกิจแล้ว โดย สสว. ตั้งเป้าหมายว่าจะสามารถบ่มเพาะ SME เกษตร และ SME ในภาคการค้า ภาคการผลิตและบริการได้ไม่ต่ำกว่า 3,000 ราย ภายในปี 2560
ผู้สนใจสามารถสมัครเข้าร่วมโครงการในช่องทางต่าง ๆ ดังนี้
1.www.sme.go.th
2.สสว. Call Center 1301
3.face book fanpage : OSMEP สสว.
4.ศูนย์ให้บริการ SME ครบวงจร (OSS) 33 แห่งทั่วประเทศ
5.มหาวิทยาลัยที่เป็นหน่วยงานภาคีร่วมดำเนินการทั้ง 7 แห่ง
(พื้นที่ประชาสัมพันธ์)