xs
xsm
sm
md
lg

ธพว.ชี้ SMEs ตื่นตัวรับกองทุนดอกเบี้ย 1% คาดปล่อยหมดใน 2 เดือน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.หรือ SME Development Bank)
ธพว.เผย SMEs ตื่นตัวรับมาตรการภาครัฐหนุนถึงแหล่งทุนเงิน วงเงินรวม 35,000 ล้านบาท ทั้งกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีประชารัฐ และ SMEs Transformation Loan ยอดยื่นกู้แล้วกว่า 3,500 ล้านบาท เชื่อกองทุนพัฒนาฯ ปล่อยหมดภายใน 2 เดือน

นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว. หรือ SME Development Bank) เปิดเผยว่า จากที่รัฐบาลได้มีมาตรการผลักดันผู้ประกอบการ SMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุน วงเงินรวมกว่า 35,000 ล้านบาท แบ่งเป็นกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ วงเงินกองทุน 20,000 ล้านบาท และสินเชื่อ SMEs Transformation Loan วงเงิน 15,000 ล้านบาท โดย ธพว.ได้จัดกิจกรรมลงพื้นที่ต่างๆ เพื่อแนะนำบริการดังกล่าว

ขณะนี้ได้ลงพื้นที่แล้ว 13 จังหวัด ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการ SMEs เป็นอย่างดี มียอดยื่นความประสงค์ขอสินเชื่อมาแล้วกว่า 3,500 ล้านบาท โดยมาจากกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ กว่า 1,700 ล้านบาท ส่วนสินเชื่อ SMEs Transformation Loan กว่า 1,800 ล้านบาท ซึ่งจากนี้จะเริ่มพิจารณาอนุมัติ ใช้ระยะเวลาไม่เกิน 30 วัน หรือประมาณสัปดาห์ที่ 4 ของเดือนพฤษภาคมนี้ สามารถจ่ายเงินกู้ก้อนแรกให้เอสเอ็มอีได้ จากความตื่นตัวของผู้ประกอบการดังกล่าว เชื่อว่า กองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ ยอดเงิน 20,000 ล้านบาทจะปล่อยหมดภายในเดือนมิถุนายนนี้ หรือ 2 เดือนหลังจากเปิดรับขอยื่น

"ครั้งนี้ ต้องถือเป็นประวัติศาสตร์ ที่รัฐบาลพยายามจะสนับสนุนเอสเอ็มอี ผ่านจังหวัด และยุทธศาสตร์จังหวัด โดยหาความโดดเด่นเฉพาะตัว และอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ และลักษณะเด่นของพื้นที่ ซึ่งกองทุนพัฒนาฯ ได้รับความสนใจมาก เพราะคิดอัตราดอกเบี้ย 1% คาดไม่เกิน 2 เดือนหมด เพราะดอกเบี้ยต่ำอย่างนี้ ไม่เคยมีมาก่อน เและหากยังมีความต้องการมากว่าเงินกองทุนฯ ก็สามารถมาใช้สินเชื่อ SMEs Transformation Loan เพิ่มเติมได้" นายมงคล กล่าว

สำหรับกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ วงเงินกองทุน 20,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 1% ต่อปี ตลอดอายุสัญญา ระยะเวลาชำระคืน 7 ปี ไม่ต้องจ่ายคืน 3 ปีแรก ไม่ต้องมีหลักประกัน ให้กู้สูงสุด 10 ล้านบาทต่อราย และ 75% ขึ้นไปจะเป็นวงเงินกู้ไม่เกิน 3 ล้านบาทต่อราย (วงเงินเฉลี่ยจังหวัดละ 200-300 ล้านบาท) โดยต้องนำไปลงทุนใหม่ มุ่งกลุ่มธุรกิจเป้าหมายที่เป็นกลุ่ม 10 S-Curve และกลุ่มที่จะยกระดับและพัฒนาไปสู่ 10 S-Curve หรือธุรกิจต้องอยู่ในกลุ่มยุทธศาสตร์ของแต่ละจังหวัด เช่น ภาคการเกษตร, แปรรูปอาหาร, แหล่งท่องเที่ยว, กลุ่ม START UP และกลุ่มเทคโนโลยี นวัตกรรม เป็นต้น แต่ละจังหวัดจะกำหนดธุรกิจกลุ่มยุทธศาสตร์อย่างชัดเจน

ทั้งนี้ กองทุนดังกล่าว คาด SMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้กว่า 6,000 ราย รักษาการจ้างงานได้ไม่น้อยกว่า 48,000 คน และสร้างเงินทุนหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้ประมาณ 82,440 ล้านบาท โดยมีคณะทำงานของแต่ละจังหวัดเป็นผู้พิจารณาคัดเลือกผู้ประกอบการ นำโดย ผู้ว่าราชการจังหวัด, อุตสาหกรรมจังหวัด, พาณิชย์จังหวัด, สภาอุตสาหกรรมจังหวัด และหอการค้าจังหวัด เป็นต้น โดยมอบหมายให้ ธพว.ร่วมเป็นคณะทำงานในแต่ละจังหวัดด้วย คาดว่าช่วงหลังสงกรานต์นี้จะแล้วเสร็จ พร้อมดำเนินการอนุมัติเบิกจ่ายได้ในเดือนพฤษภาคม 2560

ส่วนสินเชื่อ SMEs Transformation Loan วงเงิน 15,000 ล้านบาท เป็นการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบด้านเศรษฐกิจที่ทำให้กิจการมีความต้องการเงินทุนหมุนเวียนเพื่อความเข้มแข็ง รวมถึงให้เงินทุนแก่กลุ่มผู้ประกอบการใหม่ (NEW/START UP) หรือที่มีนวัตกรรม, ผู้ประกอบการ SMEs ที่มีศักยภาพ หรือมีแนวโน้มเติบโตเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 และ SMEs 4.0 เช่น SMEs กลุ่มธุรกิจ S-Curve หรือ SMEs ที่ส่งออกหรือขยายธุรกิจในต่างประเทศ เป็นต้น คิดดอกเบี้ย ปีที่ 1-3 อัตรา 3% ต่อปี คาดช่วยให้ SMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้กว่า 3,000 ราย (วงเงินค้ำประกันเฉลี่ยต่อราย 5 ล้านบาท) รักษาการจ้างงานได้ไม่น้อยกว่า 24,000 คน และสร้างเงินทุนหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้ประมาณ 68,700 ล้านบาท

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น