ธพว. ศอ.บต. สสว. และ Central Lab ประสานพลังยกระดับ และส่งเสริมศักยภาพ SMEs พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ดันเข้าสู่แหล่งทุนดอกเบี้ยต่ำ เงื่อนไขผ่อนปรน วงเงิน 6,000 ล้านบาท แบ่งเป็นสินเชื่อพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ วงเงิน 1,000 ล้านบาท ดอกเบี้ย 1.5% และสินเชื่อฟื้นฟูจากอุทกภัยใต้ วงเงิน 5,000 ล้านบาท ดอกเบี้ย 3%
ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว. หรือ SME Development Bank), ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.), สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และ บริษัท ห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมลงนามความร่วมมือผลักดันและส่งเสริมผู้ประกอบการ SMEs พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อสานต่อนโยบายรัฐที่ต้องการพัฒนาเศรษฐกิจในท้องถิ่น (Local Economy) ภายใต้โครงการ “ส่งเสริมศักยภาพผู้ประกอบการ SMEs พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้” พร้อมผลักดันเข้าสู่แหล่งทุนดอกเบี้ยต่ำ เงื่อนไขผ่อนปรน วงเงิน 6,000 ล้านบาท
นายศุภณัฐ สิรันทวิเนติ เลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวว่า ทาง ศอ.บต.จะคัดกรองผู้ประกอบการ SMEs พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีศักยภาพที่ส่งต่อเพื่อให้ได้รับการพัฒนาด้านต่างๆ ที่ต้องการเข้าถึงแหล่งเงินทุนให้ ธพว. หรือ สสว. และพร้อมสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs ที่มีศักยภาพให้ได้รับการพัฒนาเข้าสู่ระบบมาตรฐานจากหน่วยงานพันธมิตรที่ร่วมในโครงการนี้
นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธพว. กล่าวว่า ธนาคารฯ จะช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs ชายแดนใต้เข้าถึงแหล่งเงินทุน ทั้งในรูปของสินเชื่อหรือร่วมลงทุน โดยมีสินเชื่อที่ช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ชายแดนภาคใต้เป็นพิเศษ ที่เป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล คือ สินเชื่อโครงการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบกิจการใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ยะลา ปัตตานี นราธิวาส) วงเงิน 1,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยเพียง 1.5% เขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนใต้ และสินเชื่อฟื้นฟู SMEs จากอุทกภัยภาคใต้ ปี 2560 วงเงิน 5,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยเพียง 3% ในเขตพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบและความเสียหายจากภัยธรรมชาติ
“บริการทางการเงินดังกล่าวเพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการ SMEs มีเงินทุนหมุนเวียน ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนป้องกันไม่ให้ธุรกิจเกิดการสะดุด เป็นแรงผลักดันให้กิจการสามารถฟื้นฟูดำเนินการต่อไปได้” นางมงคลกล่าว
นอกจากนี้ยังมีอีกหลายโครงการ เช่น กองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ วงเงินกองทุน 20,000 ล้านบาท เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ที่จดทะเบียนในรูปแบบของนิติบุคคล อัตราดอกเบี้ยเพียงร้อยละ 1 ต่อปี ตลอดอายุสัญญา ระยะเวลาชำระคืน 7 ปี ไม่ต้องผ่อนชำระหนี้ใน 3 ปีแรก ไม่ต้องมีหลักประกัน ให้กู้สูงสุด 10 ล้านบาทต่อราย และ 75% ขึ้นไปจะเป็นวงเงินกู้ไม่เกิน 3 ล้านบาทต่อราย, สินเชื่อ SMEs Transformation Loan วงเงิน 15,000 ล้านบาท กู้ได้รายละไม่เกิน 15 ล้านบาท ระยะเวลากู้ยืมไม่เกิน 7 ปี ปลอดชำระคืนเงินต้นสูงสุดไม่เกิน 12 เดือน อัตราดอกเบี้ยต่ำ 3% คงที่ 3 ปีแรก ปีที่ 4-7 อัตราดอกเบี้ย MLR ต่อปี นอกจากนี้ กรณีกู้ไม่เกิน 5 ล้านบาท สามารถใช้ บสย.ค้ำประกันได้โดยไม่ต้องมีหลักทรัพย์ เป็นต้น
ด้าน นางสาลินี วังตาล ผู้อำนวยการ สสว. กล่าวว่า สสว.มุ่งเน้นให้ SMEs ผลิตสินค้าที่ตรงความต้องการของตลาด ซึ่งสินค้าของวิสาหกิจชุมชนส่วนใหญ่จะเป็นประเภทอาหาร ผลิตภัณฑ์เกษตรแปรรูป มีจุดเด่นในเรื่องรสชาติ แต่สิ่งที่ผู้บริโภคต้องการคือ เรื่องมาตรฐานสินค้า ถูกสุขลักษณะ และความมีคุณค่าทางโภชนาการ ซึ่งหากสินค้าของวิสาหกิจชุมชนเหล่านี้ได้รับการรับรองจาก Central Lab หรือบริษัทห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ สสว. มาช่วยตรวจสอบว่าไม่มีสารปนเปื้อนใดๆ จะทำให้สามารถขายสินค้าแก่ผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อสูงในเมือง หรือขายสินค้าในวงกว้างได้ เช่น ขายสินค้าในโมเดิร์นเทรด หรือขายสินค้าผ่านระบบออนไลน์
นอกจากนั้น บางรายจำเป็นต้องปรับปรุง Packaging ให้สวยสะดุดตาบอกรายละเอียดสินค้าโดยเฉพาะข้อมูลทางโภชนาการเพื่อเพิ่มยอดขาย ซึ่งอาจต้องมีการใช้เงินทุนในการปรับเปลี่ยน Packaging ดังนั้น การที่มี ธพว.มาช่วยเป็นแหล่งเงินทุนจะทำให้พัฒนาผู้ประกอบการ SMEs ได้ครบวงจร
ด้านนายสุรชัย กำพลานนท์วัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการ Central Lab เผยว่า แล็บประชารัฐจะนำแจ้งมาตรฐานสากลมาช่วยตรวจและวิเคราะห์เพื่อยกระดับคุณภาพมาตรฐานให้แก่ผู้ประกอบการ 5 จังหวัดชายแดนใต้ ทั้งกลุ่มสินค้าอาหารและเครื่องสำอาง ซึ่งจะสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภค ทำให้เพิ่มมูลค่าสินค้าได้ดียิ่งขึ้น
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *