xs
xsm
sm
md
lg

“ชายน้อย”ทุเรียนทอดรวยไอเดีย สมาร์ทเกษตรปั้นยอดขายร้อยล้าน (มีคลิป)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สุรพงษ์ ณรงค์น้อย วัย 39 ปี กรรมการผู้จัดการ บริษัท ชายน้อยฟู้ด จำกัด เจ้าของผลิตภัณฑ์ทุเรียนและกล้วยเล็บมือนางแปรรูป แบรนด์ “ชายน้อย”
แม้พื้นฐานสินค้าจะเป็นแค่ “ทุเรียนทอด” แต่ด้วยการวางแผนตลาดที่เข้าใจผู้บริโภค พัฒนาสินค้าให้หลากหลายทั้งรูปแบบและบรรจุภัณฑ์ ควบคู่กับเลือกใช้ช่องทางตลาดเหมาะสม ผลักดันให้เอสเอ็มอี จาก จ.ชุมพร แบรนด์ “ชายน้อย” (Chainoi) เติบโตจนมียอดขายทะลุหลักร้อยล้านบาทต่อปี นับเป็นอีกโมเดลการทำเกษตรแบบสมาร์ทๆ ที่ประสบความสำเร็จโดยฝีมือคนรุ่นใหม่


ทุเรียนทอด สินค้าพระเอกของแบรนด์ ชายน้อย
สุรพงษ์ ณรงค์น้อย วัย 39 ปี กรรมการผู้จัดการ บริษัท ชายน้อยฟู้ด จำกัด เจ้าของผลิตภัณฑ์ทุเรียนและกล้วยเล็บมือนางแปรรูป แบรนด์ “ชายน้อย” เล่าที่มาธุรกิจว่า ครอบครัวเป็นชาวชุมพร คุณแม่ประกอบอาชีพค้าขายผลไม้ โดยเหมาซื้อทุเรียนจากสวนในชุมพรไปขายยังตลาดสี่มุมเมืองกรุงเทพฯ กระทั่ง ปี2545 ราคาทุเรียนตกต่ำเหลือแค่ 5-10 บาทต่อกิโลกรัม หากจะขายปลีกแบบเดิมๆ ย่อมขาดทุน ดังนั้น เริ่มนำมาแปรรูปทำเป็น “ทุเรียนทอด” เพื่อเพิ่มมูลค่าและเก็บไว้ขายได้นานยิ่งขึ้น
แครกเกอร์ทุเรียนทอด
“ก่อนหน้านี้ ผมทำงานประจำเป็นเซลล์แมน จนช่วงที่แม่เริ่มมาทำทุเรียนทอด ผมตัดสินใจลาออกกลับมาช่วยงานที่บ้านเกิด เพราะเห็นโอกาสของทุเรียนทอดชุมพร เหมาะจะทำตลาดเป็นสินค้าของฝากได้ โดยผมเริ่มจากนำทุเรียนทอดไปฝากขายตามร้านขายของฝากต่างๆ โดยเฉพาะแถบ จ.เพชรบุรี ซึ่งได้การตอบรับอย่างดี จากนั้น รวมกลุ่มเกษตรกรตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชน ได้รับคัดเลือกเป็นโอทอป 4 ดาว ช่วยให้สินค้ามีช่องทางตลาดที่กว้างขึ้น ส่งให้ยอดขายเพิ่มขึ้นตามลำดับ” สุรพงษ์ เล่าถึงจุดเริ่มเข้ามาสานต่ออาชีพของครอบครัว

อย่างไรก็ตาม เขายอมรับว่า เวลานั้นการผลิตยังเป็นลักษณะทำเองในครัวเรือน ทว่า จุดที่ทำให้ธุรกิจเติบโตก้าวกระโดด จากวิสาหกิจชุมชนสู่เอสเอ็มอี เกิดขึ้นเมื่อตัดสินใจจะส่งทุเรียนทอดเข้าขายในร้านสะดวกซื้อเจ้าดัง“เซเว่นอีเลฟเว่น” (7-11) ในปี พ.ศ.2552 ทำให้ต้องยกระดับธุรกิจตัวเองครบวงจร เพื่อจะผ่านเกณฑ์พิจารณาให้ได้

“หลังจากส่งร้านขายของฝากประมาณ 4-5 ปี ผมคิดหาช่องทางตลาดใหม่ๆ เพื่อจะเข้าถึงลูกค้าได้ทั่วถึงมากขึ้น จึงไปติดต่อทางเซเว่นฯ โดยลงทุนประมาณ 2 ล้านบาท ปรับปรุงโรงงานยกระดับมาตรฐานการผลิต ทำบรรจุภัณฑ์ใหม่ ให้ผ่านเกณฑ์เซเว่นฯ ซึ่งกว่าจะสำเร็จใช้เวลากว่า 8 เดือน สินค้าตัวแรกที่ส่งเข้าร้าน คือ “ทุเรียนทอดชายน้อย” ขนาด 25 กรัม เบื้องต้นได้วางที่สาขาหาดใหญ่ และในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ” เจ้าของธุรกิจหนุ่ม เผย

ผลจากการขยายช่องทางตลาดดังกล่าว สุรพงษ์เผยว่า ทำให้ยอดขายเพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่าตัว จากเดิมเฉลี่ยประมาณ 1-2 ล้านบาทต่อเดือน เพิ่มเป็น 3-4 ล้านบาทต่อเดือน จากนั้น ได้รับโอกาสวางสินค้าในสาขาต่างๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนครบทั่วประเทศ ทำให้ธุรกิจมีเติบโตเฉลี่ย 10-15% ต่อเนื่องถึงปัจจุบัน รวมถึง ยังขยายกำลังผลิตเพิ่มเติมในปี 2557 ลงทุนอีก 12 ล้านบาท สร้างโรงงานใหม่ ที่ได้มาตรฐานระดับส่งออกครบถ้วน เช่น GMP , HACCP และฮาลาล เป็นต้น
โรงงาน บริษัท ชายน้อยฟู้ด จำกัด
นอกจาก “ทุเรียนทอด” ที่เป็นพระเอกแล้ว แบรนด์ “ชายน้อย” เพิ่มเติมสินค้าใหม่ ได้แก่ “กล้วยเล็บมือนางอบแห้ง” ซึ่งเป็นสินค้า “GI” (Geographical Indication) ประจำ จ.ชุมพร อีกทั้ง นำทุเรียนทอดมาทำเป็น “แครกเกอร์ทุเรียนทอด” และสินค้าใหม่ คือ “กล้วยหอมทอดอบเนย”


เขา ขยายความต่อว่า การพัฒนาสินค้าใหม่ จะทำงานร่วมกับสถาบันการศึกษา แม้จะมีสินค้าเพียง 4 ตัวดังกล่าวข้างต้น ทว่า ถูกนำเสนอผ่านรูปแบบและบรรจุภัณฑ์ต่างๆ รวมกันถึง 140 แบบ เพื่อตอบความต้องการของลูกค้าแต่ละตลาดให้ตรงมากที่สุด มีตั้งแต่ซองเล็กๆ หลักสิบบาท จนถึงจัดเป็นชุดหลักพันบาท

การเติบโตของเอสเอ็มอีรายนี้ ยังมีส่วนช่วยสร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรในท้องถิ่น จ.ชุมพร และใกล้เคียง ด้วยการรับซื้อผลไม้สดจากเกษตรกรรายย่อยในเครือข่ายกว่า 20 กลุ่ม โดยให้ราคาตลาดหรือสูงกว่าราคาตลาด มีปริมาณรับซื้อ ทุเรียน “หมอนทอง” เฉลี่ย 1,000 ตันต่อปี กล้วยเล็บมือนาง 1,200 ตันต่อปี และกล้วยหอม 2,000 ตันต่อปี นอกจากนั้นยังกระจายรายได้ไปส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น เฉพาะค่าจ้างแรงงานมาปลอกทุเรียน สูงกว่า 8 แสนบาทต่อปี

“ผลทุเรียนสดที่ออกมา จะมีเกรดB ที่ภายนอกมีตำหนิ ดูไม่สวยงาม หรือไม่ได้ขนาดตามเกณฑ์ส่งออก แต่เนื้อในคุณภาพดี ถ้าเกษตรกรนำไปขายผลสด จะไม่ได้ราคาดีนัก แต่เมื่อมาขายที่เรา จะได้ราคาที่ยุติธรรม ขณะเดียวกัน เรายังดูแลไปถึงคู่ค้าต่างๆ ให้ได้รับประโยชน์ที่น่าพึงพอใจเช่นกัน โดยผมจะเอาใจใส่ ดูแลเองทั้งหมด ทำให้คู่ค้าตั้งแต่ยุคแรก ก็ยังอยู่กับเรามาจนถึงปัจจุบัน” สุรพงษ์ เผยแนวคิดการทำธุรกิจที่มุ่งให้เกิดประโยชน์แก่ทุกฝ่าย

อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์ราคาทุเรียนในตลาดที่สูงต่อเนื่อง กระทบต้นทุนเพิ่มขึ้น ในขณะเดียวกัน ยากจะขยับราคาทุเรียนทอดให้เพิ่มตามไปได้ ดังนั้น แผนธุรกิจที่เตรียมไว้จะมุ่งพัฒนาสินค้าใหม่ๆ ที่นำทุเรียนทอดไปเป็นส่วนประกอบกับขนมอื่นๆ ตัวอย่างเช่น หากขายเป็นทุเรียนทอดจะมีกำไรสุทธิประมาณ 10-15% แต่เมื่อนำมาทำเป็นแครกเกอร์ทุเรียนทอด กำไรเพิ่มเป็นกว่า 40-50% และในอนาคตจากผลิตเอง 100% จะลดสัดส่วนเหลือ 60% ส่วนที่เหลือจะใช้วิธีจ้างผลิต แล้วมาติดแบรนด์ชายน้อย ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการผลิตอีกทางหนึ่ง

ปัจจุบัน แบรนด์ “ชายน้อย” ถือเป็นผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ทุเรียนและกล้วยเล็บมือนางแปรรูป อันดับหนึ่งของภาคใต้ และอันดับ 3 ของประเทศ ผลประกอบการ ปีที่แล้ว (2559) รวมกว่า 115 ล้านบาท มาจากช่องทางขายผ่านเซเว่นฯ ทุกสาขาทั่วประเทศ ประมาณ 40% ส่วนที่เหลือ 70% มาจากร้านขายของฝาก โมเดิร์นเทรดต่างๆ รับจ้างผลิต และส่งออก เป็นต้น

ส่วนเป้าหมายในปีนี้ (2560) ตั้งเป้ายอดขายถึง 130 ล้านบาท โดยจะออกสินค้าใหม่ และขยายตลาดไปสู่ต่างประเทศเพิ่มเติม รวมถึง จะสร้างแบรนด์ “ชายน้อย” ให้เป็นที่รู้จักและจดจำของคนทั่วไปในฐานะศูนย์รวมของสินค้าเกี่ยวกับทุเรียนครบวงจร ภายใต้สโลแกน “คิดถึงทุเรียน คิดถึงชายน้อย”

แนวคิดมุ่งสร้างมูลค่าเพิ่มแก่ผลิตภัณฑ์เกษตรผ่านการแปรรูป รวมถึง แบ่งบันผลประโยชน์ในทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง นับเป็นโมเดลธุรกิจเกษตรยุคใหม่ที่สร้างรายได้มั่นคง และปูทางสู่ความยั่งยืน
ถ้าเกษตรกรนำไปขายผลสด จะไม่ได้ราคาดีนัก แต่เมื่อมาขายที่เรา จะได้ราคาที่ยุติธรรม ขณะเดียวกัน เรายังดูแลไปถึงคู่ค้าต่างๆ ให้ได้รับประโยชน์ที่น่าพึงพอใจเช่นกัน - สุรพงษ์ กล่าว

วิสัยทัศน์ สร้างแบรนด์ “ชายน้อย” ให้เป็นที่รู้จักและจดจำของคนทั่วไปในฐานะศูนย์รวมของสินค้าเกี่ยวกับทุเรียนครบวงจร ภายใต้สโลแกน  “คิดถึงทุเรียน คิดถึงชายน้อย”
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น