xs
xsm
sm
md
lg

กสอ.เปิดโผ 5 อุตสาหกรรมรับอานิสงส์ท่องเที่ยวไทยบูม!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ดร.พสุ โลหารชุน อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.)
กสอ.ชี้ท่องเที่ยวไทยบูมแรง ฟันธง 5 อุตสาหกรรมได้รับอานิสงส์ ได้แก่ อาหาร-เครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์ชุมชน ดิจิตอล สิ่งทอ และอัญมณี-เครื่องประดับ เตรียมดันโครงการสนับสนุนสร้างเศรษฐกิจจากระดับฐานราก ปลุกนักท่องเที่ยวสัมผัสเสน่ห์วิถีชุมชนจาก “9 หมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์”

ดร.พสุ โลหารชุน อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กล่าวว่า ในปี 2559 ที่ผ่านมาประเทศไทยสามารถสร้างรายได้จากอุตสาหกรรมท่องเที่ยวได้เป็นมูลค่าถึง 2.5 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 11 จากเป้าหมายที่ได้วางไว้ที่ 2.4 ล้านล้านบาท (ที่มา : การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) โดยตัวเลขนี้แสดงให้เห็นถึงสัญญาณบวกเกี่ยวกับภาพลักษณ์และศักยภาพด้านกิจกรรมทางการท่องเที่ยวของไทยที่ยังคงมีความน่าเชื่อถือได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคทั้งภายในและต่างประเทศ

สำหรับช่วงไตรมาสแรกของปี 2560 ที่ผ่านมา อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศไทยโดยภาพรวมพบว่ายังคงมีทิศทางที่เป็นบวก โดยมีนักท่องเที่ยวประมาณ 11.81 ล้านคน และมีรายได้จากการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจในด้านต่างๆ ที่ไม่ต่ำกว่า 6.1 แสนล้านบาท (ที่มา : ธ.กสิกรไทย) โดยปัจจัยที่สนับสนุนและยังคงช่วยให้อุตสาหกรรมนี้มีการเติบโตพบว่าส่วนใหญ่นั้นมาจากการรุกประชาสัมพันธ์และนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยว มาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายต่อผู้บริโภคที่มีมากขึ้น ผู้ประกอบการมีการสร้างความแตกต่างทางธุรกิจและการให้บริการโดยใช้ความคิดสร้างสรรค์ มีการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีในการเชื่อมโยงกิจกรรมต่างๆ ซึ่งสามารถช่วยดึงดูดความน่าสนใจและยกระดับการท่องเที่ยวได้อย่างดีเยี่ยม นอกจากนี้ยังพบว่าผู้ดำเนินธุรกิจในหลายๆ ประเภทยังได้หันมาใช้กลยุทธ์การตลาดแบบเจาะกลุ่ม ซึ่งสามารถตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคและนักท่องเที่ยวอย่างเห็นได้ชัดอีกด้วย

ดร.พสุระบุด้วยว่า การเติบโตของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวช่วยกระตุ้นและส่งผลดีต่อการขยายตัวของอุตสาหกรรมและธุรกิจเกี่ยวเนื่อง ดังนี้

1. อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม จากสถิติพบว่านักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติ ต้องการมาสัมผัสหรือลิ้มลองรสชาติอาหารโดยเฉพาะอาหารประจำภาคและประจำท้องถิ่น

2. อุตสาหกรรมชุมชนและผลิตภัณฑ์จากชุมชน หรือโอทอป ในปีที่ผ่านมากรมการพัฒนาชุมชนเผยสินค้าชุมชนมีมูลค่ากว่า 8.04 หมื่นล้านบาท ซึ่งรายได้ที่เกิดขึ้นแทบทั้งหมดนี้เกิดจากกิจกรรมการท่องเที่ยว ทั้งการจัดนิทรรศการ และกิจกรรมพิเศษต่างๆ โดยสินค้าที่เป็นที่นิยม เช่น เครื่องประดับ วัตถุดิบท้องถิ่นแปรรูป เสื้อผ้าและเครื่องแต่งกาย และสมุนไพรที่ไม่ใช่อาหาร เป็นต้น นอกจากนี้ยังต้องใช้โซเชียลมีเดียมาช่วยในการประชาสัมพันธ์และเพิ่มช่องทางตลาด

3. อุตสาหกรรมดิจิตอลและสตาร์ทอัพ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ระบุว่าผู้ประกอบการหลายรายได้นำเทคโนโลยีใหม่ๆ และช่องทางออนไลน์มาเป็นส่วนหนึ่งของการทำตลาดถึงกว่าร้อยละ 80 ไม่ว่าจะเป็นการโฆษณา การซื้อสินค้าออนไลน์ ทั้งยังก่อให้เกิดผู้ประกอบการด้านสตาร์ทอัพอีกหลายประเภท เช่น บริการจองร้านอาหารและที่พัก บริการการขนส่งและนำเที่ยว รวมถึงแอปพลิเคชันที่เชื่อมโยงถึงหลายอุตสาหกรรมและธุรกิจหลายๆ ประเภท สำหรับในปีที่ผ่านมามูลค่าการประชาสัมพันธ์บนสื่อออนไลน์พบว่ามีมูลค่าสูงถึง 9,150 ล้านบาท (ที่มา : สมาคมโฆษณาดิจิทัล ประเทศไทย) ซึ่งเป็นที่แน่นอนว่าในอนาคตอันใกล้นี้อุตสาหกรรมประเภทดังกล่าวจะเป็นส่วนสำคัญอันดับหนึ่งในการเข้าถึงกลุ่มตลาดนักท่องเที่ยวได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีบทบาทสำคัญที่สุดอย่างแน่นอน

4. อุตสาหกรรมสิ่งทอ การขยายตัวของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวและวัฒนธรรมถือว่ามีผลบวกต่อการเข้าสู่ตลาดโลกของอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มได้เป็นอย่างดี เนื่องจากผู้บริโภคแฟชั่นและนักท่องเที่ยวล้วนมีการเชื่อมโยงรสนิยมและเอกลักษณ์ของท้องถิ่นเข้ากับสินค้าประเภทต่างๆ อย่างเห็นได้ชัด

ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่อยู่ในภูมิภาคโดยรอบ ประเทศไทยยังนับว่าได้เปรียบในอุตสาหกรรมด้านนี้อยู่สูงมาก เนื่องจากมีแบรนด์สินค้าที่มีเอกลักษณ์ของแต่ละพื้นที่ที่เด่นชัดมากกว่า รวมทั้งการออกแบบที่หลากหลาย ซึ่งนับว่าเป็นข้อดีที่ปัจจัยส่งเสริมเหล่านี้จะยังคงเป็นส่วนที่ช่วยให้มีการบริโภคผลิตภัณฑ์เครื่องนุ่งห่มและสิ่งทอจากไทยในปริมาณที่สูง

5. อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ เนื่องจากประเทศไทยถือเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมดังกล่าว เพราะมีวัตถุดิบที่หลากหลาย คุณภาพดี และมีแรงงานฝีมือ ในปีที่ผ่านมาการผลิตเครื่องประดับและอัญมณีของไทยมีมูลค่ากว่า 480,000 ล้านบาท (ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) และถือว่ายังคงได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวในปริมาณที่สูงทั้งในกลุ่มเครื่องประดับเทียม ทองรูปพรรณ เครื่องประดับที่ทำจากเงิน และสินค้าประดับเพชรพลอย เป็นต้น

อธิบดี กสอ.เผยด้วยว่า ในช่วงไตรมาสที่ 2 เชื่อมั่นว่าอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจะยังคงมีทิศทางที่สดใส ซึ่งขณะนี้เริ่มมีสัญญาณบวกของนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยเฉพาะตลาดนักท่องเที่ยวจีน และกลุ่มตะวันตกที่มีการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวมากขึ้น โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนทั้งจากเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งปีนี้คึกคักกว่าปีที่ผ่านมาเล็กน้อย คาดการณ์ว่าจะมีเงินสะพัด 127,693 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 2.53 เนื่องจากประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้น สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนมีนาคมอยู่ที่ระดับ 76.8 ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ซึ่งสูงที่สุดในรอบ 24 เดือน (ที่มา : หอการค้าไทย) นอกจากนี้ ยังมีการสร้างแพกเกจต่างๆ การทำตลาดและการโฆษณาที่แปลกใหม่ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะยังคงมีอิทธิพลและปัจจัยในการดึงดูดให้เกิดการใช้จ่ายและเข้ามาร่วมกิจกรรมการท่องเที่ยวในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น

ในส่วนของ กสอ. ได้เตรียมจัดทำกิจกรรมส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ภายใต้แนวคิด ไทย..เที่ยว..เท่ ที่ได้ผลักดันให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสเสน่ห์วิถีชุมชนจาก “9 หมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์” หรือ Creative Industry Village (CIV) ซึ่งประกอบไปด้วย 1. ชุมชนออนใต้ จ.เชียงใหม่ 2. ชุมชนน้ำเกี๋ยน จ.น่าน 3. ชุมชนบ้านนาต้นจั่น จ.สุโขทัย 4. ชุมชนเกาะเกร็ด จ.นนทบุรี 5. ชุมชนบ้านศาลาดิน จ.นครปฐม 6. ชุมชนปากน้ำประแส จ.ระยอง 7. ชุมชนบ้านเชียง จ.อุดรธานี 8. ชุมชนบ้านนาตีน จ.กระบี่ และ 9. ชุมชนเกาะยอ จ.สงขลา เพื่อเป็นทางเลือกการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ ให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสกับบริการและกิจกรรมที่จะสร้างประสบการณ์แบบที่ไม่เคยมีในเมืองไทย ทั้งยังจะได้เรียนรู้วิถีชีวิต การเลือกชมและซื้อสินค้ารูปแบบใหม่ๆ ที่ได้พัฒนาจากความคิดสร้างสรรค์

“กสอ.เชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่ากิจกรรมนี้จะสามารถช่วยผลักดันการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจตั้งแต่ระดับฐานรากจนถึงระดับสูง เชื่อมต่อทุกกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ทั้งยังเป็นการสร้างความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนให้แก่ประเทศไทยอีกด้วย” ดร.พสุกล่าว

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEs ผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น