อดีตเด็กวัด เรียนจบแค่ ป.7 ทำงานเป็นลูกจ้างมาตั้งแต่ 9 ขวบ เคยถูกด่าจนปฏิญาณกับตัวเองว่า ต้องเป็นเถ้าแก่ให้ได้ และเริ่มสร้างธุรกิจของตัวเองได้จริงด้วยอายุเพียง 18 ปี และ 10 ปีต่อมา เข้าสู่วงการเลี้ยงนกกระทา จนวันนี้ “เอนกฟาร์มนกกระทา” ขึ้นแท่นฟาร์มเลี้ยงนกกระทาครบวงจรที่ใหญ่สุดในอาเซียน! ซึ่งกว่าจะมีวันนี้ เขาบอกว่าเส้นทางรวยเริ่มจากความคิด “เพื่อแบ่งปัน”
ฟาร์มนกกระทาครบวงจร บนอาณาจักรกว้างใหญ่สุดลูกหูลูกตา ในตำบลป่างิ้ว อำเภอเมือง จังหวัดอ่างทอง คือที่ตั้งของ “เอนกฟาร์มนกกระทา” ฟาร์มเลี้ยงนกกระทาและผลิตภัณฑ์จากนกกระทาครบวงจร ขนาดใหญ่ที่สุดในอาเซียน
เจ้าของฟาร์มและผู้ก่อตั้ง คือ “เอนก สีเขียวสด” กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอนกฟาร์มนกกระทา จำกัด เอสเอ็มอีนักสู้ที่ผ่านบททดสอบมาสารพัด เขาคืออดีตเด็กวัดเรียนจบแค่ ป.7 ทำงานเป็นลูกจ้างมาตั้งแต่อายุ 9 ขวบ เคยถูกนายจ้างด่าจนเกิดแรงบันดาลใจอยากเป็นเถ้าแก่ และฝันก็เป็นจริงได้ตอนอายุ 18 ปี กับอาชีพรับเหมางานเคาะพ่นสีรถยนต์ และเจ้าของคิวรถสองแถว ก่อนเบนเข็มไปขายแรงงานอยู่ที่ประเทศซาอุดิอาระเบีย ก่อนจะเข้าสู่ธุรกิจฟาร์มนกกระทา เมื่ออายุเพียง 28 ปี (พ.ศ.2528) ด้วยสถานการณ์บังคับ
“ธุรกิจนี้แม่ผมเป็นคนเริ่ม โดยมีแม่ค้ามาบอกให้เลี้ยงแล้วเขาจะรับซื้อเอง ปรากฏเขารับซื้อจริงเฉพาะตอนที่เขาขายได้ แต่พอขายไม่ได้ ก็ไม่ซื้อ ผมเลยต้องเอาไข่นกกระทาที่ขายไม่ออกไปเร่ขายในกรุงเทพฯ ตอนนั้นราคาถูกแค่ไหนเขาก็ไม่ซื้อ เลยเสนอเขาว่า ไม่ต้องซื้อผมทั้งหมดหรอก และเงินก็ยังไม่ต้องจ่ายผมก็ได้ มาครั้งหน้าค่อยจ่าย เขาก็เลยตกลงซื้อ ครั้งแรกขายหมด 1 หมื่นฟอง” เอนก เล่าจุดเริ่มต้น
จากนั้นก็ได้โควตาเพิ่มขึ้นเป็น 1.5 หมื่นฟอง ทว่า เกิดปัญหาเมื่อไข่จากฟาร์มที่รวบรวมได้มีแค่ประมาณ 1 หมื่นฟอง เขาเลยต้องใช้วิธีไปซื้อไข่ต่อจากเจ้าอื่นที่ขายแพงกว่า ยอมขายขาดทุนเพื่อให้ครบตามจำนวนตามที่สัญญากับผู้ซื้อไว้ เขาเรียกวิธีนี้ว่า ‘ขาดทุนวันนี้เพื่อกำไรในวันหน้า’
“ถ้าไม่ทำอย่างนี้ จะไม่มีใครเชื่อถือเรา ซึ่งเวลานั้น เราทั้งหน้าใหม่ ไม่มีเงินทุน ไร้ความน่าเชื่อถือ ถ้าไม่ยอมเสียเปรียบก่อน ก็จะไม่มีใครยอมค้าขายร่วมกับเรา แต่เมื่อยอมเป็นฝ่ายให้ก่อน ช่วยให้สามารถเติบโตขึ้นมาได้ และขยายการเลี้ยงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากจำนวนนก 3 พันตัว ให้ไข่วันละประมาณ 2 พันฟอง ณ ปัจจุบันเรามีไข่จากฟาร์มตัวเอง และเครือข่ายกว่า 10 จังหวัด ให้ผลผลิตไข่นกกระทากว่า 20 ล้านฟองต่อเดือน กับจำนวนนกถึงกว่าล้านตัว” เจ้าของธุรกิจฟาร์มนกกระทา เผยแนวคิด
การเติบโตจากธุรกิจเล็กๆ จนกลายเป็นเจ้าของอาณาจักรฟาร์มนกกระทาขนาดใหญ่ มีผลิตภัณฑ์แปรรูปจากนกกระทาอย่างครบวงจร จำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ และกลายเป็นธุรกิจนกกระทาใหญ่ที่สุดในอาเซียนได้ เจ้าของธุรกิจ บอกว่า เกิดขึ้นได้มาจากแนวคิด “กินแบ่ง ไม่กินรวบ” นั่นคือ “แบ่งอาชีพ” โดยให้โอกาสคนอื่นๆได้เป็นเถ้าแก่ โดยมาเป็นเครือข่ายผู้เลี้ยงนกกระทากับเอนกฟาร์ม ใช้วิธี “แบ่งรายได้” ช่วยกระจายเม็ดเงินให้แก่ผู้คนในห่วงโซ่ธุรกิจ และ “กระจายความเสี่ยง” อย่างกรณีเกิดภัยพิบัติ เกิดโรค หรืออุบัติเหตุไม่คาดฝันในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง ก็ยังมีพื้นที่อื่นๆ สามารถสร้างผลผลิตให้ได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้ธุรกิจหยุดชะงัก หรือกระทบกับคำสั่งซื้อของลูกค้า
“ผมจะบอกลูกค้าของเราเสมอ อย่างร้านอาหารรายใหญ่แห่งหนึ่งที่รับซื้อเราอยู่ถึงปีละ 20 ล้านบาท ผมบอกว่า คุณไม่ได้ซื้อสินค้าจากผมแค่คนเดียวนะ แต่คุณยังมีส่วนช่วยคนอีกหลายครอบครัว เพราะเงินจำนวนที่คุณให้เรามา จะถูกกระจายไปสู่เครือข่าย ไปเลี้ยงดูคนได้อีกหลายร้อยชีวิต” เขา กล่าว
ธุรกิจเพื่อแบ่งปันค่อยๆ ขยับขยายเติบโตขึ้น จนปัจจุบันมีเกษตรกรที่เลี้ยงนกกระทาในเครือข่ายกว่า 100 ครอบครัว ประมาณ 15 จังหวัดทั่วประเทศ และมีเงินหมุนเวียนในกลุ่มสูงกว่า 200 ล้านบาทต่อปี โดยเป็นธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับนกกระทาครบวงจร ตั้งแต่ขายนกกระทา พันธุ์ไข่ พันธุ์เนื้อ ไข่สด ไข่แปรรูป เนื้อแปรรูปและไข่บรรจุกระป๋อง แม้แต่มูลนก เปลือกไข่ ขนนก ยังขายได้ เอาแค่ “มูลนก” ยอดขายถึงวันละ 10 ตัน ในอัตรารับซื้อกิโลกรัมละ 4-5 บาท เบาะๆ สามารถสร้างรายได้ให้กับทางกลุ่มสูงถึงวันละ 4-5 หมื่นบาท
นอกจากจะเป็นนักคิด นักแบ่งปันแล้ว เอนกยังเป็นนักพัฒนาและนักแก้ปัญหาตัวยง ผลิตภัณฑ์หลายอย่างพัฒนาขึ้นมาได้จากการแก้ปัญหา อย่างไข่ต้มที่พัฒนามาเป็นไข่บรรจุซอง จนถึงบรรจุกระป๋องอย่างปัจจุบัน จุดเริ่มต้นเกิดจากปัญหาเช่นกัน
“ธุรกิจผมโตมาได้เพราะปัญหา อย่างผมทำไข่สด พอไข่เหลือก็ลองมาทำเป็นไข่ต้ม พอมีไข่ต้มจะเอาคนมาปอกก็เสียเวลา เลยให้เพื่อนมาช่วยพัฒนาเครื่องปอกไข่รายแรกของโลกให้ ซึ่งปัจจุบันสามารถปอกไข่ได้ถึง 7 หมื่นฟองต่อชั่วโมง จากนั้นก็มาทำเป็นไข่ต้ม ใส่ถุง มัดหนังยาง พัฒนามาใส่ในซองสูญญากาศ เก็บได้ 1-2 เดือน ก่อนพัฒนาเป็นบรรจุกระป๋องที่เก็บได้นานถึง 2 ปี เพื่อรองรับตลาดส่งออกโดยเฉพาะ ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนเกิดจากปัญหา และความพยายามแก้ปัญหาของเราทั้งสิ้น” เจ้าของธุรกิจ ระบุถึงการพัฒนาสินค้าที่เกิดจากการแก้ปัญหา
ปัจจุบันสินค้าจากเอนกฟาร์ม วางขายภายในประเทศ 70% โดยเป็นไข่แปรรูปเป็นหลัก รองลงมาคือ ไข่สด ส่วนที่เหลืออีก 30% ส่งออกไปจำหน่ายทั้งใน ตะวันออกกลาง ยุโรป อเมริกา แคนาดา และ ออสเตรเลีย ฯลฯ ด้วยกระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐานส่งออก มีโรงเรือนที่เลี้ยงทั้งระบบเปิด และระบบปิด (EVAP) รองรับการผลิตที่ผู้บริโภคทั่วโลกไว้วางใจได้
วันนี้ธุรกิจเติบโตเป็นร้อยล้าน แต่ในวันเริ่มต้น เขาใช้เงินลงทุนที่ไม่ได้สูงมาก เอนกบอกว่า มีเท่าไรใช้เท่านั้น มีหมื่นใช้หมื่น มี 5 พัน ก็ใช้ 5 พัน ค่อยๆ ทำ ค่อยๆ สะสมกันมา จนเมื่อธุรกิจเริ่มเติบใหญ่ขึ้น เริ่มใช้เงินกู้จากสถาบันการเงิน ทว่าด้วยการเป็นเอสเอ็มอีตัวเล็กๆ ทำให้สินทรัพย์ไม่เพียงพอ จึงได้การสนับสนุนจาก “บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม” (บสย.) มาช่วยค้ำประกันสินเชื่อให้ โดยใช้บริการ บสย. เมื่อปี 2555 จาก “โครงการค้ำประกันสินเชื่อสำหรับผู้ประสบภัยน้ำท่วม ปี 2554” ซึ่งเป็นการค้ำประกันผ่าน ธนาคารพาณิชย์ ในโครงการตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้ บสย. ช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม และครั้งที่ 2 ขอสินเชื่อเพิ่มเติม ผ่านธนาคารพาณิชย์เดิม เมื่อปี 2558 โดย บสย.ช่วยค้ำประกันเต็มวงเงิน
เป้าหมายธุรกิจในอนาคต เขาแย้มว่า ปลายปีนี้ (2560) กำลังจะเปิดธุรกิจบ้านจัดสรรพร้อมกิจการเลี้ยงนกกระทา สนับสนุนคนที่อยากมีบ้านและได้เป็นเจ้าของกิจการเลี้ยงนกกระทาไปด้วย ในราคาขายที่ประมาณ 2-3 ล้านบาท เริ่มจากจังหวัดอ่างทองเป็นที่แรก
สำหรับคนรุ่นใหม่ที่อยากมาเป็นเจ้าของกิจการ เขาแนะนำว่า การทำธุรกิจให้ประสบสำเร็จไม่มีทางลัด ต้องอาศัยความพยายามอย่างสูง ค่อยๆ เดินทีละก้าวอย่างมั่นคง โดยอย่าเรียนรู้ความสำเร็จจากคนที่ประสบความสำเร็จแล้วเท่านั้น แต่ควรศึกษาข้อผิดพลาดจากคนที่เคยล้มเหลว เพื่อเก็บเป็นบทเรียนไว้คอยเตือนตัวเองไม่ให้ก้าวพลาดตาม รวมถึง เปิดใจรับฟังความเห็นและแสวงหาความรู้จากสิ่งรอบตัวตลอดเวลา ทั้งจากการอ่าน ฟัง ดู พูดคุย ตลอดจนลองผิดลองถูกด้วยตัวเอง
“ผมสอนลูกเสมอว่า ถ้าอยากฉลาดต้องทำตัวโง่ แต่ถ้าอยากจะโง่ให้ทำเป็นฉลาด คือไม่ฟัง ไม่ดู ไม่อ่าน อย่างนั้นโง่แน่ แต่การทำเหมือนคนโง่ เราจะดู ฟัง ถาม อ่าน และเปิดใจเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา ทำเช่นนี้เราจะฉลาด เช่นเดียวกัน ถ้าอยากจะรวย ก็ให้ทำตัวจน แล้วเราก็จะร่ำรวยได้” เอนก กล่าวทิ้งท้าย
เหลี่ยมมุมคิดของคนที่เชื่อเรื่องธุรกิจเพื่อแบ่งปัน แบ่งอาชีพ แบ่งรายได้ แบ่งโอกาส และแบ่งความเสี่ยง จนนำมาสู่ความสำเร็จสูงสุดอย่างวันนี้ได้
ติดต่อ โทร.035-611-694 , YouTube:เอนกฟาร์มนกกระทา
@@@ บทความโดย : บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) @@@
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEs ผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *