เซ็นทรัลแล็บปรับโฉมครั้งใหญ่ รุกสู่รากหญ้าสนองโครงการประชารัฐ หวังยกระดับสินค้าโอทอป-เอสเอ็มอีสู่มาตรฐานสากล ชี้เป็นทางลัดเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ พร้อมความเชื่อมั่นผู้บริโภค ล่าสุดดึง “สุรชัย” ลูกหม้อเอสเอ็มอีแบงก์นั่งแท่นกรรมการผู้อำนวยการคนใหม่ พร้อมพันธกิจยกระดับเซ็นทรัลแล็บสู่สากล
นายสุรชัย กำพลานนท์วัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท ห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) จำกัด หรือเซ็นทรัลแล็บ เปิดเผยถึงแผนยุทธศาสตร์ของบริษัทฯ ว่า หลังจากที่เข้ามารับตำแหน่งดังกล่าวเมื่อวันที่ 24 มีนาคมที่ผ่านมาก็มีแนวคิดที่ขยายฐานลูกค้าให้กว้างขึ้น จากเดิมจะเป็นผู้ส่งออก และผู้ประกอบการรายใหญ่ แต่ในฐานะที่เซ็นทรัลแล็บเป็นแล็บของรัฐบาล 100% จากการถือหุ้นของกระทรวงการคลัง 49% และสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) 51% ดังนั้นแผนในปี 2560 จะต้องทำให้เป็นแล็บประชารัฐให้ได้ โดยร่วมกับภาคชุมชน ภาคเอกชน หน่วยงานของรัฐ สถาบันการเงิน สถาบันการศึกษา รวมถึงสถาบันรับรองมาตรฐานต่างๆ ซึ่งจะเน้นไปที่ 4 กลุ่มหลัก คือ เกษตรกร วิสาหกิจชุมชน โอทอป และเอสเอ็มอีรายเล็ก
ทั้งนี้ จำนวนกลุ่มสินค้าที่เข้ามาใช้บริการเซ็นทรัลแล็บในปี 2559 มีจำนวนทั้งสิ้น 205,106 ตัวอย่าง พบว่ากลุ่มสินค้าประเภทประมง ร้อยละ 18.95% หรือประมาณ 38,866 ตัวอย่าง รองลงมาคือ กลุ่มอาหาร 18.53% หรือประมาณ 38,002 ตัวอย่าง และกลุ่มผักผลไม้ 14.52% หรือประมาณ 29,784 ตัวอย่าง โดยในปี 60 ตั้งเป้าเพิ่มจำนวนตัวอย่างอีก 20% หลังจากรุกขยายสู่สินค้าโอทอปและเอสเอ็มอีมากขึ้น
“ผมใช้ประสบการณ์จากการทำงานที่เอสเอ็มอีแบงก์มากว่า 15 ปี ทำให้มีโอกาสได้ใกล้ชิดผู้ประกอบการรายย่อยเป็นจำนวนมาก ทำให้รู้ว่าผู้ผลิตสินค้าโอทอป และเอสเอ็มอีก็ต้องการทำให้สินค้าของตนเองมีการรับรองมาตรฐานเช่นกัน แต่ด้วยข้อจำกัด ในเรื่องเงินทุนส่งสินค้าเข้ามาตรวจที่แล็บอาจจะเป็นต้นทุนที่สูงเกินไป ดังนั้นโครงการ ‘คูปองตรวจวิเคราะห์’ โดยความร่วมมือของ สสว.จะช่วยให้เข้าถึงง่ายขึ้น ด้วยมูลค่าคูปองจำนวน 5,000 บาท มอบให้แก่ผู้ประกอบการที่สนใจ และเข้าหลักเกณฑ์ตามเงื่อนไขที่กำหนด ก็สามารถนำคูปองดังกล่าวมาใช้บริการเซ็นทรัลแล็บได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ซึ่งขณะนี้เหลือเพียง 500 ใบเท่านั้น ส่วนราคาการตรวจวิเคราะห์สินค้าแต่ละชิ้นจะเริ่มต้นที่หลักพันบาทไปจนถึงหลักหมื่นบาท” กรรมการผู้อำนวยการเซ็นทรัลแล็บกล่าว
นอกจากนี้ นายสุรชัยยังเตรียมแผนขยายจุดบริการเซ็นทรัลแล็บไปยังต่างจังหวัดเพิ่มเติม จากเดิมมีศูนย์ให้บริการจำนวน 6 แห่ง ได้แก่ กรุงเทพฯ, ขอนแก่น, ฉะเชิงเทรา, สมุทรสาคร, สงขลา และเชียงใหม่ รวมถึงจะเสนอบอร์ดเพื่อขยายสู่ประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มประเทศ CLMV หลังพบมีลูกค้าเหล่านี้ได้ส่งตัวอย่างผลิตภัณฑ์มาให้ตรวจวิเคราะห์อย่างต่อเนื่อง แม้จะยังมีจำนวนไม่มากก็ตาม แต่ก็ถือเป็นโอกาสที่ประเทศไทยจะได้โชว์ศักยภาพการเป็นผู้นำในด้านแล็บตรวจวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์ของประเทศเพื่อนบ้าน พร้อมทำการขยายฐานข้อมูลเตือนภัยผู้บริโภค ที่จะรวบรวมข้อมูลที่ผู้บริโภคต้องการรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์อาหาร และไม่ใช่อาหารมารวบรวมไว้ และจะพัฒนาเป็นแอปพลิเคชันต่อไป
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEs ผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *