xs
xsm
sm
md
lg

สศอ.ชี้ดัชนีผลผลิต ก.พ.ลด 1.5% ยังแข็งแกร่ง คาดแนวโน้มฟื้นตัว ศก.ดีขึ้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายวีรศักดิ์ ศุภประเสริฐ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.)
สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เผย ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 ยังคงแข็งแกร่งแม้ได้รับผลกระทบจากการซ่อมบำรุงประจำปีของโรงกลั่นน้ำมันที่ลดการผลิตลงกว่าร้อยละ 24.32 โดยที่ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนกุมภาพันธ์ลดลงร้อยละ 1.5 เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ทว่าอุตสาหกรรมโดยรวมดีขึ้นส่งผลให้การส่งออกขยายตัวที่ร้อยละ 2.2 และดัชนีแรงงานอุตสาหกรรมเพิ่มขี้นร้อยละ 1.1

นายวีรศักดิ์ ศุภประเสริฐ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาพบว่าขยับลดลงร้อยละ 1.5 เมื่อเที่ยบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สาเหตุมาจากผลกระทบจากการลดการผลิตจากโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียมที่ซ่อมบำรุงประจำปีจนต้องลดกำลังการผลิตจากเดือนมกราคมถึงร้อยละ 24.32

ส่วนดัชนีแรงงานอุตสาหกรรมเพิ่มขี้นร้อยละ 1.1 รวมทั้งภาพรวมอุตสาหกรรมที่ดีขึ้นมากจนทำให้การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม (ไม่รวมทองคำแท่ง) ขยายตัวที่ร้อยละ 2.2

โดยอุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งผลบวก ได้แก่ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก เวชภัณฑ์ยา อาหารทะเลกระป๋องและแช่แข็ง และเนื้อไก่แช่แข็ง

อุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) มีการขยายตัว ได้แก่ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.13 จากช่วงเดียวกันในปีก่อน จาก Other IC, Monolithic IC และ Transistors ที่เป็นไปตามแนวโน้มคำสั่งซื้อเซมิคอนดักเตอร์ของตลาดโลกที่เติบโตเพิ่มขึ้น

เหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.76 จากช่วงเดียวกันในปีก่อน เป็นผลจากการคลี่คลายปัญหาการดัมป์ตลาดจากจีนที่ลดลงในเหล็กทรงยาว รวมถึงคำสั่งซื้อของภาครัฐและการซ่อมแซมสาธารณูปโภคและบ้านเรือนที่เสียหายจากภาคใต้ ในขณะที่เหล็กทรงแบนเองได้เร่งการผลิตจากการหยุดชั่วคราวในเดือนก่อน โดยได้รับคำสั่งซื้ออย่างต่อเนื่อง

เวชภัณฑ์ยาขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 31.84 จากช่วงเดียวกันในปีก่อน เนื่องจากในปีก่อนผู้ผลิตรายใหญ่ได้หยุดปรับปรุงระบบการผลิตใหม่ในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2559 และการย้ายโรงงานในช่วงปลายปีก่อน รวมทั้งในปีนี้มีการเปิดตลาดยาเม็ดได้ใหม่ในประเทศฮ่องกง เกาหลี และญี่ปุ่น ทำให้การผลิตมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น

อาหารทะเลกระป๋องและแช่แข็ง ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.38 จากช่วงเดียวกันในปีก่อน โดยได้รับอานิสงส์จากปลาแช่แข็ง และปลาหมึกแช่แข็ง เนื่องจากวัตถุดิบที่มีมากขึ้นซึ่งสอดคล้องกับคำสั่งซื้อที่สูงขึ้น

เนื้อไก่แช่แข็ง ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.99 จากช่วงเดียวกันในปีก่อน โดยเพิ่มยอดผลิตเพื่อรองรับคำสั่งซื้อที่เข้ามามากขึ้นทำให้ผู้ผลิตต้องปรับเพิ่มชั่วโมงการทำงานตั้งแต่ช่วงกลางปี 2559 เป็นต้นมา

อุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลลบต่อดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ได้แก่ รถยนต์ ปรับตัวลดลงร้อยละ 9.34 จากช่วงเดียวกันในปีก่อน โดยมีสาเหตุจากการส่งออกรถยนต์ลดลง 10.82 จากประเทศแถบตะวันออกกลางที่เป็นตลาดส่งออกหลัก แต่ทว่าตลาดในประเทศพบปริมาณการจำหน่ายเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.36 หลังผู้ซื้อที่ใช้สิทธิ์รถคันแรกเมื่อ 5 ปีก่อนเริ่มปลดล็อกและขายรถยนต์เก่าออกไปได้

ผลิตภัณฑ์ยางอื่นๆ ปรับตัวลดลงร้อยละ 9.30 จากช่วงเดียวกันในปีก่อน ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมในภาคใต้ช่วงต้นปีที่ส่งผลกระทบต่อปริมาณวัตถุดิบ (น้ำยาง) ออกสู่ตลาดน้อย สวนยางบางแห่งได้เริ่มผลัดใบเร็วกว่าปกติ ราคายางจึงปรับตัวสูงขึ้น ประกอบกับประเทศจีนซึ่งเป็นตลาดหลักในการรับซื้อผลิตภัณฑ์ยางจากไทยยังมีสต๊อกยางในปริมาณที่สูง ส่งผลให้มีคำสั่งซื้อลดลง

เครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วน ปรับตัวลดลงร้อยละ 12.67 จากช่วงเดียวกันในปีก่อน เนื่องจากผู้ผลิตปรับเปลี่ยนเครื่องปรับอากาศเป็นรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นไปตามแนวโน้มตลาดที่มีการแข่งขันสูง

น้ำมันปิโตรเลียม ปรับตัวลดลงร้อยละ 9.16 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งลดลงร้อยละ 24.32 จากเดือนก่อน โดยมีสาเหตุจากการหยุดซ่อมบำรุงของโรงกลั่นตามแผนธุรกิจประจำปี ส่งผลให้น้ำมันสำเร็จรูปรายการหลักต่างๆ มีปริมาณการผลิตลดลง โดยเฉพาะน้ำมันดีเซลหมุนเร็วซึ่งมีสัดส่วนการผลิตและจำหน่ายสูงสุดปรับตัวลดลง

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEs ผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น