รมว.พาณิชย์เผยศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (SACICT) เป็นฟันเฟืองสำคัญในการส่งเสริมนโยบายไทยแลนด์ 4.0 และภาคเศรษฐกิจ ด้วยการนำเทคโนโลยีและความคิดสร้างสรรค์มาต่อยอด พร้อมสร้างมูลค่าเพิ่มงานศิลปะ หัตถกรรม จากภูมิปัญญาไทยสู่สากล ด้าน ผอ.ศศป.มั่นใจยอดขายโต 78% ไม่ต่างจากปี 59 มากนัก
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวในพิธีเปิดงาน “เทศกาลนวัตศิลป์นานาชาติ 2560 หรือ IICF 2017” จัดโดย SACICT ว่า ตามที่รัฐบาลต้องการให้ประเทศไทยก้าวเข้าสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 นั้น ทาง ศศป.ก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ด้วยการส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการให้นำภูมิปัญญาท้องถิ่น งานศิลปะ หัตถกรรมมาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ รวมถึงส่งเสริมด้านช่องทางจำหน่ายอย่างเป็นรูปธรรม ทำให้คนรุ่นใหม่หันมาสนใจงานดังกล่าวมากขึ้น และรังสรรค์เป็นผลงานสู่สายตาชาวต่างชาติ สร้างเม็ดเงินเข้าประเทศจำนวนมหาศาล
ทั้งนี้ งาน “เทศกาลนวัตศิลป์นานาชาติ 2560 หรือ IICF 2017” ที่จัดโดย SACICT ในครั้งนี้ได้นำผู้ประกอบการด้านงานศิลป์กว่า 350 ร้านค้าร่วมจัดแสดงผลงาน ทั้งด้านองค์ความรู้งานหัตถกรรม การจัดแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์นวัตศิลป์ นิทรรศการผลงานหัตถกรรมที่รวมตัวกัน หาชมยาก พร้อมสัมผัสแรงบันดาลใจกับผู้รังสรรค์งานหัตถกรรมเชิงสร้างสรรค์ในการประกวด Innovative Craft Award 2017 และร่วมเชิดชูผู้สืบสานงานฝีมือกับทายาทช่างศิลปหัตถกรรม 2560 พร้อมต่อยอดขับเคลื่อนงานศิลป์ตอบโจทย์ตลาด งานเดียวที่เอาใจคนรักงานศิลป์อย่างครบถ้วน
ด้านนางอัมพวัน พิชาลัย ผู้อำนวยการศูนย์ศิลปาชีพระหว่างประเทศ กล่าวว่า SACICT งาน IICF 2017 เป็นงานที่รวมพลคนรักงานนวัตศิลป์ จับไอเดียคนรุ่นใหม่ผสมผสานกับความคิดสร้างสรรค์ โดยในปีนี้ได้กำหนดแนวคิดการจัดงานในหัวข้อ “Today Life’s Crafts” มุ่งเน้นให้สังคมเห็นถึงศักยภาพงานศิลปหัตถกรรมไทยสามารถนำไปใช้ในวิถีชีวิตของคนทุกเพศทุกวัย ภายในงานได้ระดมจัดกิจกรรมหลายส่วนที่ร่วมตอบโจทย์ทุกความต้องการอย่างครบถ้วน เริ่มตั้งแต่การเอาใจกลุ่มคนรักงานศิลป์ ซึ่งบรรยากาศจะชวนให้ผู้เข้าชมงานได้ร่วมคิด ร่วมชมผลงาน ร่วมลงมือทำงานประดิษฐ์กว่า 8 งานฝีมือ เป็นอีกหนึ่งงานดีๆ ที่ SACICT มุ่งจุดประกายสร้างแรงบันดาลใจให้แก่ผู้มีใจรักงานศิลป์ที่เข้าชมงาน พร้อมกันนี้ ก็ยังเป็นเวทีสำคัญสำหรับผู้ประกอบการงานศิลปหัตถกรรมของไทย ได้มีโอกาสเชื่อมโยงทางการตลาด ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ไอเดีย เจรจาธุรกิจต่อยอดงานฝีมือกัน แสดงให้เห็นว่านอกจากจะเป็นกิจกรรมสำคัญที่สร้างความสุขทางใจแล้ว ยังขับเคลื่อนเศรษฐกิจระดับพื้นฐานแก่กลุ่มสมาชิกงานศิลปหัตถกรรมได้โดยตรง ซึ่งจะช่วยสร้างกำลังใจให้เกิดการสืบสาน ต่อยอดผลงานอย่างต่อเนื่อง
“งานในปีนี้ได้รวบรวมงานหัตถกรรมที่สามารถนำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้ทุกอย่าง สื่อถึงงานแฮนด์เมด และภูมิปัญญาไทย ซึ่งแนวโน้มงานเหล่านี้จะมีคนรุ่นใหม่ให้ความสนใจกันมากขึ้น รวมถึงทายาทช่างศิลป์ที่ก็มีการสานต่องานภูมิปัญญากันอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทาง ศศป.ก็ให้การสนับสนุน ด้วยการมอบรางวัลเชิดชูทายาทช่างศิลปหัตถกรรม” ประจำปี 2560 ซึ่งดำเนินงานอย่างต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 5 ในการคัดสรร และคาดว่าจะมีผู้เข้าชมงานในครั้งนี้ไม่ต่ำกว่า 30,000 คน” ผอ.ศศป.กล่าวทิ้งท้าย
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEs ผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *