ที่ปรึกษา Tokyo SME Support Center ชี้ช่องคว้าโอกาสทองจากเทศกาลโอลิมปิก กรุงโตเกียว ปี 2020 แนะเอสเอ็มอีไทยและญี่ปุ่นร่วมมือผลิตสินค้าอาหาร “ฮาลาล” ส่งเข้าขายแก่ชาวมุสลิมในช่วงเวลาดังกล่าว เผยนักลงทุนญี่ปุ่นยังกังวลปัญหาการเมืองของไทย
นายฮิเดโทชิ อุเมกิ ในฐานะผู้เชี่ยวชาญและที่ปรึกษา ศูนย์ส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม แห่งมหานครโตเกียว (Tokyo SME Support Center) เผยว่า โอกาสสำคัญทางธุรกิจสำหรับเอสเอ็มอีไทยและญี่ปุ่นนั้น คือ ในปี 2020 กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น จะรับหน้าที่เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ที่จะมีนักกีฬาและเจ้าหน้าที่ตลอดจนกองเชียร์นานาชาติเข้ามาที่ญี่ปุ่นรวมกันนับหมื่นคน ซึ่ง 1 ใน 3 จะเป็นผู้นับถือศาสนาอิสลาม ต้องรับประทานอาหารที่ได้มาตรฐาน "ฮาลาล" ในขณะที่ประเทศญี่ปุ่นไม่มีโรงงานผลิตสินค้าอาหารฮาลาล และหน่วยงานรับรองมาตรฐานอาหารฮาลาลใดๆ เลย เนื่องจากในประเทศญี่ปุ่นมีผู้นับถือศาสนาน้อยมากๆ ดังนั้น หากเอสเอ็มอีไทยและญี่ปุ่นร่วมมือกัน ใช้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตสินค้าอาหารให้ได้มาตรฐานฮาลาล และส่งกลับเข้าไปขายยังประเทศญี่ปุ่น จะมีโอกาสทำเงินมหาศาลในเวลานั้น และยังเป็นการเปิดตลาดให้ประเทศมุสลิมต่างๆ ได้รู้จักสินค้าไปในตัวด้วย
นายฮิเดโทชิเผยด้วยว่า นักธุรกิจและนักลงทุนญี่ปุ่นยังให้ความสนใจมาลงทุนและทำการค้าในประเทศไทยมากที่สุดในภูมิภาคอาเซียน เพราะมีพื้นฐานความพร้อมต่างๆ ทั้งด้านสาธารณูปโภคพื้นฐาน ความสะดวกสบายในการเดินทาง อากาศ ทรัพยากรธรรมชาติ และความสะดวกต่อการใช้ชีวิตประจำวัน
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่นักธุรกิจชาวญี่ปุ่นกังวลมากที่สุดในการจะมาทำธุรกิจในเมืองไทย คือ "ปัญหาการเมือง" เนื่องจากชาวญี่ปุ่นไม่ได้มีความรู้เรื่องการเมืองไทยอย่างลึกซึ้ง ส่วนใหญ่จะติดภาพจำว่าเมืองไทยมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองบ่อยครั้ง ทำให้เกิดความลังเลหากจะเข้ามาทำธุรกิจ นอกจากนั้น พื้นฐานนิสัยของชาวญี่ปุ่นที่เป็นคนจริงจัง เคร่งครัดในกฎระเบียบอย่างสูง ให้ความสำคัญเรื่องระเบียบวินัยเป็นอันดับแรก ส่วนคนไทยมีความยืดหยุ่นในการใช้ชีวิตสูง บางครั้งทำให้ทัศนคติไม่ตรงกัน การเจรจาธุรกิจจึงไม่เกิดขึ้น ดังนั้น การทำธุรกิจร่วมกันของเอสเอ็มอีสองชาติควรจะเริ่มจากปรับความคิดให้ตรงกันก่อน โดยยอมรับในจุดเด่นและเรียนรู้ในจุดต่าง เพื่อจะทำให้เกิดความเข้าใจซึ่งกันและกัน
ทั้งนี้ ในส่วนศูนย์ Tokyo SME Support Center ผู้ประกอบการญี่ปุ่นที่เข้ามาขอใช้บริการของศูนย์ ส่วนใหญ่จะมาขอรับปรึกษาเรื่องเกี่ยวกับกฎหมาย ระเบียบปฏิบัติต่างๆ รวมถึงด้านแรงงาน และหาพันธมิตรการค้าชาวไทย ส่วนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยที่มาใช้บริการศูนย์ ส่วนใหญ่จะขอรับคำปรึกษาด้านโอกาสในการส่งออกสินค้าไปประเทศญี่ปุ่น
สำหรับวิธีการร่วมมือธุรกิจที่เหมาะสมของเอสเอ็มอีทั้งสองชาตินั้น บริษัทญี่ปุ่นควรเปลี่ยนจากให้บริษัทไทยเป็นผู้รับจ้างผลิตมาเป็นคู่ค้าที่ทำงานร่วมกัน เพื่อเป้าหมายจะขยายธุรกิจไปยังประเทศต่างๆ ไม่ใช่แค่ในเมืองไทย แต่สามารถขยายตลาดไปสู่ประเทศอื่นๆ ทั้งในภูมิภาคอาเซียน และต่อเนื่องไปสู่ตลาดโลก โดยเอสเอ็มอีไทยจะได้ประโยชน์จากการถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีจากเอสเอ็มอีญี่ปุ่นควบคู่ไปด้วย
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *