ในขณะที่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวส่วนใหญ่ของประเทศไทย กำลังประสบวิกฤตราคาผลผลิตตกต่ำ แต่สำหรับ “กลุ่มวิสาหกิจชุมชน บ้านเขากลาง” ผู้ปลูก “ข้าวสังข์หยด จ.พัทลุง” กลับขายข้าวได้มูลค่าสูง เนื่องจากมีเอกลักษณ์เฉพาะท้องถิ่น ผ่านการขึ้นทะเบียนเป็นสินค้าบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ “GI” (Geographical Indication) อีกทั้ง ต่อยอดแปรรูปเพิ่มมูลค่า และที่สำคัญ เชื่อมโยงผู้เกี่ยวข้องทุกด้านไว้ด้วยกัน ช่วยให้เติบโตและพึ่งพาตนเองได้ นับเป็นต้นแบบของการทำเกษตรยุคใหม่
นัด อ่อนแก้ว ประธานกรรมการกลุ่มวิสาหกิจชุมชน บ้านเขากลาง ต.ปันแต อ.ควนขนุน จ.พัทลุง เผยว่า เดิมในท้องถิ่น จ.พัทลุง ปลูกข้าวหลายสายพันธุ์ ต่างคนต่างปลูก ไร้การวางแผน หรือรวมกลุ่มใดๆ ทั้งสิ้น ทำให้บางปี มีผลผลิตออกมากจนล้นตลาด เกิดปัญหาราคาตกต่ำ ส่วนบางปี เกิดภัยธรรมชาติ ผลผลิตออกน้อย แทนที่จะขายได้ราคาสูง ก็เจอพ่อค้าคนกลางกดราคา
เพื่อจะหนีวงจรดังกล่าว เมื่อปี 2540 ได้รวบรวมผู้ปลูกข้าวในท้องถิ่นตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชน และกำหนดกติกาจะเลือกปลูกข้าวเฉพาะพันธุ์ “สังข์หยด” เท่านั้น ซึ่งเป็นพันธุ์พื้นเมือง มีการปลูกกันมากว่า 100 ปี ใน 1 ปีปลูกได้ครั้งเดียว เหมาะสมกับสภาพดินและอากาศของ จ.พัทลุง มีคุณสมบัติเด่นเป็นเมล็ดสีขาวปนแดงอ่อนๆ ถึงแดงเข้ม มีกลิ่นหอม ให้คุณประโยชน์ทางโภชนาการสูง ทั้งโปรตีน ฟอสฟอรัส และธาตุเหล็กสูง ฯลฯ ช่วยป้องกันความจำเสื่อม บำรุงโลหิต โรคหัวใจ เบาหวาน และมีกากใยสูงจึงดีต่อระบบขับถ่าย
อย่างไรก็ตาม ในระยะแรก “ข้าวสังข์หยด” ยังไม่เป็นที่รู้จักของคนทั่วไปมากนัก ทางกลุ่มฯ และหน่วยงานภาครัฐ ร่วมกันผลักดันให้ผ่านการขึ้นทะเบียนเป็นสินค้าบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ “GI” (Geographical Indication) ตั้งแต่ปี 2548 เพราะเปรียบเหมือนการสร้างแบรนด์ท้องถิ่นที่บ่งบอกถึงคุณภาพและแหล่งที่มาของสินค้าที่จะหาได้เฉพาะ จ.พัทลุง เท่านั้น ช่วยให้สินค้าเป็นที่ต้องการของตลาดเพิ่มขึ้น
นอกจากนั้น ยังมีภาคเอกชน อย่าง บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด โดยมูลนิธี เตียง จิราธิวัฒน์ สนับสนุนงบประมาณในการสร้าง “โรงสีข้าว” ตั้งแต่ปี 2552 รวมถึง ยังสนับสนุนด้านการตลาดผ่านโครงการ “ท็อปส์เพื่อเกษตรกรไทย ร่วมใจประชารัฐ” ด้วยการรับซื้อผลผลิตโดยตรงจากกลุ่มเกษตรกร และให้ราคาสูงกว่าท้องตลาด จากนั้นนำมาขายต่อยังช่องทางผ่าน “GI Corner” ในเซ็นทรัล ฟู้ด ฮอลล์ และท็อปส์ กว่า 100 สาขาทั่วประเทศ
“สิ่งสำคัญที่ช่วยให้กลุ่มเติบโตขึ้นมาได้ เกิดจากการเชื่อมโยงกับผู้เกี่ยวข้องในทุกด้าน ตั้งแต่เชื่อมโยงความคิดของเกษตรกร เพื่อให้ยอมรับว่าเราจะหันมาปลูกข้าวสังข์หยดอย่างเดียว ซึ่งทุกคนต้องยอมรับและปฏิบัติร่วมกัน อีกทั้ง เชื่อมโยงความช่วยเหลือระหว่างกัน เช่น ด้านแรงงาน เงินทุน ฯลฯ นอกจากนั้น เชื่อมโยงกับภาคเอกชนอย่างท็อปส์ที่มาสนับสนุนการตลาด” ผู้นำชุมชน อธิบาย
นัด เผยด้วยว่า กลุ่มวิสาหกิจชุมชน บ้านเขากลาง มีสมาชิกกลุ่มฯ ปัจจุบันประมาณ 69 ครัวเรือน รวมพื้นที่เพาะปลูกกว่า 900 ไร่ มีผลผลิตประมาณ 450 กิโลกรัมต่อไร่ ส่วนช่องทางตลาดผ่านท็อปส์ 30% ส่วนที่เหลือ 70% ขายผ่านตัวแทนในท้องถิ่นกับออกงานโอทอปต่างๆ รวมถึงขายผ่านออนไลน์ ซึ่งทางกลุ่ม จะมีการประกันราคารับซื้อข้าวสังข์หยดให้สมาชิกที่ 15,000 บาทต่อตัน เฉลี่ยแล้ว สมาชิกจะมีรายได้ประมาณ 60,000-150,000 บาทต่อครัวเรือน (ขึ้นอยู่กับพื้นที่ปลูก)
“ก่อนจะมีการรวมกลุ่มกัน ราคาข้าวสังข์หยด เคยตกเหลือแค่ 3,500-4,000 บาทต่อตัน ในขณะที่ต้นทุนการปลูกอยู่ที่ 6,500 บาทต่อตัน ทำให้เกษตรผู้ปลูกประสบปัญหาขาดทุนมาตลาด แต่หลังจากกลุ่มฯของเราได้ขึ้นทะเบียน GI ข้าวสังข์หยดพัทลุง ทำให้ขายผลผลิตได้ราคาสูงขึ้น ส่งผลให้ราคาข้าวสังข์หยดทั้งจังหวัดพัทลุง ขยับเพิ่มขึ้นตามมาด้วย ปัจจุบันถึง 11,000-20,000 บาทต่อตัน ดังนั้น เกษตรกรในพัทลุง จึงไม่มีผลกระทบเรื่องราคาข้าวตกต่ำ เหมือนเกษตรกรในพื้นที่อื่นๆ เลย” เขาเผย
นอกจากนั้น ยังได้ร่วมมือกับสถาบันการศึกษาในท้องถิ่น นำข้าวสังข์หยด มาพัฒนาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ให้สามารถขายได้มูลค่าสูงขึ้นไปอีก เช่น ข้าวเส้น มักกะโรนี ตอกแผ่น ทองพับ ชมดาว ข้าวเกรียน ฯลฯ ปีที่แล้ว (2559) กลุ่มฯ มีรายได้จากผลิตภัณฑ์แปรรูปประมาณ 1.8 ล้านบาท และในอนาคตกำลังพัฒนามาตรฐาน เพื่อจะส่งผลิตภัณฑ์แปรรูปเข้าขายผ่านช่องทางของท็อปส์ต่อไป
เกษตรกรตัวอย่าง เผยด้วยว่า ใน จ.พัทลุง มีพื้นที่ปลูกข้าวสังข์หยด รวมกว่า 15,000 ไร่ จากวิสาหกิจชุมชน ประมาณ 36 กลุ่ม โดยกลุ่มฯ บ้านเขากลาง ในฐานะผู้บุกเบิกและเป็นกลุ่มใหญ่ที่สุดในจังหวัด ได้เปิดศูนย์การเรียนรู้วิธีทำเกษตร เพื่อให้ชุมชนต่างๆ เข้ามาศึกษาดูงาน สามารถนำกลับไปสร้างอาชีพการเกษตรปลูกข้าวสังข์หยดให้ประสบความสำเร็จเช่นกัน
“ทุกวันนี้ คนรุ่นใหม่อายุ 20-30ปีที่เป็นลูกหลานของเกษตรกรท้องถิ่นรุ่นเก่า สนใจกลับมาสานต่ออาชีพของบ้านเกิดมากยิ่งขึ้น เพราะเขาเห็นว่าเป็นอาชีพที่มีอนาคต มีโอกาสสร้างรายได้น่าพึ่งพอใจ โดยส่วนใหญ่ คนรุ่นใหม่จะทำเกษตรครบวงจร ตั้งแต่ปลูก และแปรรูป นำเครื่องจักร และออนไลน์ มาช่วยเพิ่มศักยภาพธุรกิจ ซึ่งผมเชื่อว่า ในอนาคตการทำเกษตรข้าวสังข์หยดพัทลุงจะยิ่งเติบโตมากยิ่งขึ้น จากความสามารถของคนรุ่นใหม่เหล่านี้” นัด ระบุทิ้งท้าย
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *