xs
xsm
sm
md
lg

ธุรกิจก่อสร้างครองแชมป์เกิดใหม่สูงสุดประจำเดือน ก.พ. 60

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นางสาวบรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า
“กรมพัฒน์” เผยยอดจดทะเบียนธุรกิจประจำเดือน ก.พ. 60 จำนวน 5,751 ราย ลดลง 80% เมื่อเทียบเดือน ม.ค. 60 ส่วนยอดยกเลิกธุรกิจ 657 ราย ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไปครองแชมป์เกิดใหม่สูงสุด ระบุผู้ค้าออนไลน์ในไทย รวม 527,324 ราย มูลค่ากว่า 2.52 ล้านล้านบาท แต่มีขึ้นทะเบียนถูกต้องเพียง 4% แจงหามาตรการดึงเข้าสู่ระบบ

น.ส.บรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า แถลงยอดจดทะเบียนธุรกิจ ประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2560 ว่ามีผู้ประกอบธุรกิจยื่นขอจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนบริษัทจัดตั้งใหม่ทั่วประเทศเดือนกุมภาพันธ์ 2560 จำนวน 5,751 ราย เพิ่มขึ้น 153 ราย คิดเป็น 3% เมื่อเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2559 ซึ่งมีจำนวน 5,598 ราย แต่ลดลงจำนวน 528 ราย คิดเป็น 8% เมื่อเทียบกับเดือนมกราคม 2560 ซึ่งมีจำนวน 6,279 ราย

สำหรับนิติบุคคลที่จดทะเบียนเลิกมีจำนวน 657 ราย ลดลงจำนวน 500 ราย คิดเป็น 43% เมื่อเทียบเดือนมกราคม 2560 ซึ่งมีจำนวน 1,157 ราย และลดลงจำนวน 265 ราย คิดเป็น 29% เมื่อเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2559 ซึ่งมีจำนวน 922 ราย

ทั้งนี้ มูลค่าทุนจดทะเบียนจัดตั้งใหม่ในเดือนกุมภาพันธ์ 2560 มีจำนวนทั้งสิ้น 26,989 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 4,963 ล้านบาท คิดเป็น 23% เมื่อเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2559 ซึ่งมีจำนวน 22,026 ล้านบาท และมีมูลค่าเพิ่มขึ้นจำนวน 10,497 ล้านบาท คิดเป็น 64% เมื่อเทียบกับเดือนมกราคม 2560 ซึ่งมีจำนวน 16,492 ล้านบาท

ด้านประเภทธุรกิจที่จดทะเบียนจัดตั้งสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป จำนวน 607 รายรองลงมา ธุรกิจร้านขายปลีกเครื่องประดับ จำนวน 307 ราย ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 284 ราย ธุรกิจให้คำปรึกษาด้านการจัดการ จำนวน 139 ราย และธุรกิจขายส่งเครื่องจักร จำนวน 131 ราย ตามลำดับ

ห้างหุ้นส่วนบริษัทจดทะเบียนจัดตั้งทั้งสิ้น (ณ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2560) จำนวน 1,372,342 ราย มูลค่าทุนจดทะเบียนรวม 20.73 ล้านล้านบาท โดยมีห้างหุ้นส่วนบริษัทที่ดำเนินกิจการอยู่ทั่วประเทศ จำนวน 654,332 รายมูลค่าทุนจดทะเบียน 16.02 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น บริษัทจำกัด 473,401 ราย บริษัทมหาชนจำกัด 1,156 ราย และห้างหุ้นส่วนจำกัด/ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล 179,775 ราย

อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้ากล่าวเพิ่มเติมว่า มีการจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนบริษัทในเดือนมกราคม - กุมภาพันธ์ 2560 จำนวน 12,030 ราย เพิ่มขึ้นจำนวน 683 ราย คิดเป็น 6% เมื่อเทียบกับในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา (ม.ค.-ก.พ. 2559) ซึ่งมี 11,347 ราย สำหรับการจดทะเบียนเลิกในช่วงเดือนมกราคม - กุมภาพันธ์ 2560 มีจำนวน 1,814 ราย ลดลงจำนวน 577 ราย คิดเป็น 24% เมื่อเทียบกับในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา (ม.ค.-ก.พ. 2559) ซึ่งมี 2,391 ราย สืบเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่มีความคืบหน้าในโครงการลงทุนอย่างต่อเนื่องขณะเดียวกันการลงทุนภาคเอกชนจะได้รับผลบวกจากการขยายเวลามาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนในประเทศอีก 1 ปี เป็นสิ้นสุด 31 ธันวาคม 2560 นอกจากนี้ การอนุมัติหลักการร่าง พ.ร.บ.การจัดตั้งบริษัทจำกัดคนเดียว เพื่อให้ผู้ประกอบการ SMEs ได้เข้าสู่ระบบและสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น กรมคาดว่าจะทำให้มีการจดทะเบียน จัดตั้งใหม่เพิ่มมากขึ้นในปี 2560

น.ส.บรรจงจิตต์ เผยด้วยว่า ข้อมูลจากสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สพธอ.) หรือ ETDA พบว่าในปี 2559 มีผู้ค้าออนไลน์ในประเทศไทย จำนวนทั้งสิ้น 527,324 ราย และมีมูลค่ารวมกว่า 2.52 ล้านล้านบาท คิดเป็น 40% ของมูลค่าขายสินค้าและบริการทั้งหมด แต่ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่า ณ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2560 มีผู้ขึ้นทะเบียนร้านออนไลน์กับกรมพัฒนาธุรกิจแล้ว เพียง 21,167 ราย 23,376 ร้านค้า คิดเป็น 4% ของร้านค้าออนไลน์ทั้งหมด ซึ่งถือว่ามีจำนวนน้อย

ทั้งนี้ กรมพัฒนาธุรกิจการค้าหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถึงแนวทางการพัฒนาธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ และวิธีการป้องกันมิจฉาชีพที่อาศัยช่องทางอี-คอมเมิร์ซหลอกลวงผู้บริโภคแล้ว เบื้องต้นเห็นพ้องกันว่า ผู้ประกอบธุรกิจผ่านระบบออนไลน์ ควรได้รับการพัฒนาส่งเสริมให้มีมาตรฐานความน่าเชื่อถือ เช่นเดียวกับธุรกิจอี-คอมเมิร์ซในต่างประเทศที่ประสบความสำเร็จ โดยมีการกำกับดูแลกันเอง (self-regulate) ภายในระบบตลาดกลางพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (อี-มาร์เกตเพลซ)

นอกจากนี้ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ยังได้อำนวยความสะดวกในการขึ้นทะเบียนของผู้ประกอบการร้านค้าออนไลน์ โดยกรมฯ อยู่ระหว่างดำเนินการปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบและระบบการจดทะเบียนธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ เช่น ปรับปรุงแก้ไขแบบฟอร์มการจดทะเบียนนิติบุคคลให้สามารถรองรับการจดแจ้งข้อมูลอี-คอมเมิร์ซ พัฒนาระบบการจดทะเบียนให้มีการบันทึกข้อมูลอี-คอมเมิร์ซเพื่อจัดเก็บข้อมูลร้านค้าออนไลน์ เป็นต้น ทั้งนี้ แนวทางดังกล่าวคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จพร้อมกับการเปิดให้บริการจดทะเบียนนิติบุคคลทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Registration) ประมาณกลางปี 2560 นี้

นอกจากนี้ เพื่อให้ธุรกิจอี-คอมเมิร์ซของไทยมีความน่าเชื่อถือและเป็นช่องทางการขยายตลาดให้กับผู้ประกอบธุรกิจทุกระดับอย่างสมบูรณ์ กรมฯ จึงขอเชิญชวนผู้ประกอบธุรกิจอี-คอมเมิร์ซดำเนินการจดทะเบียนพาณิชย์ให้ถูกต้อง และขอเครื่องหมายรับรองการจดทะเบียนฯ DBD Registered เพื่อยืนยันตัวตน โดยนำเครื่องหมายฯ ดังกล่าวติดไว้บนหน้าเว็บไซต์ให้ผู้บริโภคเห็นได้อย่างชัดเจน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการซื้อสินค้าและบริการจากเว็บไซต์นั้นๆ รวมทั้งขอความร่วมมือจากสมาคมการค้าต่างๆ เชิญชวนสมาชิกที่ประกอบธุรกิจผ่านช่องทางออนไลน์ดำเนินการจดทะเบียนพาณิชย์ และขอเครื่องหมาย DBD Registered ติดบนหน้าเว็บไซต์ด้วย เพื่อให้สร้างความเชื่อมั่นธุรกิจอี-คอมเมิร์ซในประเทศไทยอย่างกว้างขวาง

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEs ผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น