xs
xsm
sm
md
lg

'Betta Berry' ปลากัดออนไลน์ขายทั่วโลก ต้นแบบงานอดิเรกพลิกชีวิตมนุษย์เงินเดือน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยสำหรับการนั่งฟังสัมมนาแค่ครั้งเดียวในเรื่องที่ไม่มีความรู้พื้นฐานมาก่อนจะก่อเกิดเป็นธุรกิจได้ แถมยังสามารถส่งออกไปทั่วโลก กับสินค้ามีชีวิตตัวน้อยๆ อย่าง “ปลากัด” แต่สำหรับพนักงานประจำด้านสิ่งพิมพ์กลับทำได้ แถมยังช่วยเกษตรกรผู้เลี้ยงปลากัดมายาวนานให้มีรายได้เพิ่มเป็นกอบเป็นกำ

เป็นเรื่องปกติของคนยุคนี้เมื่อทำงานประจำไปได้ระยะหนึ่งก็ต้องการหาความมั่นคงในชีวิต เริ่มคิดถึงชีวิตหลังวัยเกษียณว่าจะหารายได้จากที่ไหนมาหล่อเลี้ยงครอบครัว ทำให้ “ณภัทร ตาณธนพนธ์” หรือ คุณจิ๋ว เลือกผันตัวเองสู่อาชีพเกษตรกร เน้นการทำตลาดปลากัดอย่างจริงจัง ทั้งๆ เขาไม่ได้เติบโตมาจากสายงานด้านนี้เลย เพราะจุดเริ่มต้นในชีวิตการทำงาน ก็คร่ำหวอดในวงการสิ่งพิมพ์มาโดยตลอด กระทั่งไต่เต้ามาจนถึงตำแหน่งสุดท้าย คือ ผู้จัดการด้านการตรวจสอบคุณภาพงานพิมพ์ ให้กับโรงพิมพ์แห่งหนึ่งนานกว่า 15 ปี!
ณภัทร ตาณธนพนธ์ หรือ คุณจิ๋ว เจ้าของปลากัดแบรนด์ Betta Berry
กระทั่งแต่งงานมีครอบครัวเริ่มคิดถึงอนาคต ซึ่งการเป็นพนักงานประจำก็ใช่ว่าจะไม่ดี เพราะมีรายได้ที่แน่นอนทุกเดือน แต่หากล่วงเข้าสู่วัยเกษียณจะหารายได้จากที่ไหน ดังนั้นจึงตัดสินใจลาออกจากงาน หวังให้ตัวเองมีอิสระทางความคิด ได้มีเวลาคิดหาอาชีพที่มั่นคงทำ

เขาเลือกเดินทางกลับบ้านเกิด จ.นครปฐม ก็พบว่าผู้คนในละแวะหมู่บ้านเดียวกันต่างก็ทำเกษตร อย่าง การปลูกผัก ผลไม้ ทั่วไป ซึ่งไม่ใช่ตัวเขาเลย และคิดว่าคงจะทำไม่ได้ กระทั่งเพื่อนของภรรยา ซึ่งเป็นเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติด้านปลาสวยงาม ชวนไปงานของกรมประมง และมีตลาดปลาสวยงามมาให้เลือกซื้อ รวมถึงได้เปิดเวทีสัมมนาเกี่ยวกับตลาดปลาสวยงาม ซึ่งเขาได้มาสะดุดกับพูดประโยคหนึ่งที่ว่า “ปลากัดสามารถทำตลาดออนไลน์ และส่งออกไปต่างประเทศสร้างรายได้ดี” ซึ่งเขาคิดว่าจะเป็นไปได้อย่างไร?

แต่เมื่อเกิดข้อสงสัยก็ต้องหาคำตอบ พร้อมศึกษาอย่างจริงจัง ด้วยการไปอบรมกับกรมประมง 2 วัน ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม แต่เมื่อไปถึงกลับพบว่าผู้ที่เข้าอบรมต่างเป็นผู้ที่เลี้ยงปลากัด และมีฟาร์มอยู่แล้ว ซึ่งเขาเป็นเพียงคนเดียวที่ไม่มีความรู้พื้นฐานด้านการเลี้ยงปลากัดมาก่อน คิดเพียงทำเป็นรายได้เสริมเท่านั้น แต่โชคก็เข้าข้าง เนื่องจากคอร์สอบรมดังกล่าวของกรมประมงเน้นความรู้และให้เกษตรกรปฏิบัติจริงในการจำหน่ายปลาสวยงามผ่านช่องทางออนไลน์ ด้วยการให้เปิดเพจจริงพร้อมตั้งชื่อร้าน สร้างแบรนด์ ซึ่งเขาก็หันไปถามคนข้างๆ ว่า ปลากัด ในภาษาอังกฤษรียกว่าอะไร ก็ได้คำตอบว่า Bettaดังนั้นเขาจึงเติมคำว่า Berry เข้าไป กลายเป็นแบรนด์ที่ใช้มาจนถึงทุกวันนี้ว่า “Betta Berry” หรือเรียกสั้นๆ ว่า BB จากนั้นก็ขอรูปปลาของเพื่อนข้างๆ มาลองโพสต์ขายในเพจที่กรมประมงเป็นผู้ชี้แนะ รวมถึงการสอนแพคปลา จัดส่ง และการทำตลาดต่างประเทศด้วย ซึ่งข้อมูลเหล่านั้นเขาเก็บมาต่อยอด และกลายเป็นเขาเพียง ‘คนเดียว’ ในการอบรมครั้งนั้น ที่เปิดขายปลากัดผ่านช่องทางออนไลน์

เริ่มจากลองซื้อปลากัดมา 5 ตัว ตกตัวละ 20 บาท และถ่ายรูปโพสต์ลงเพจ อาศัยคอมพิวเตอร์ในร้านอินเตอร์เน็ตเพื่อโพสต์สินค้า และเมื่อกลับมาบ้านก็มีลูกค้าชาวเดนมาร์กติดต่อขอซื้อ ซึ่งเขาขายในราคาตัวละ 35 ดอลล่าร์สหรัฐ ก็มีเงินโอนเข้าบัญชีจริง จึงเริ่มรู้สึกสนุก เพราะขายปลากัดแค่ 1 ตัว ได้เงินหลักพัน

“ผมเริ่มรู้สึกสนุกเมื่อขายปลาตัวแรกได้ จากนั้นก็หาแหล่งซื้อปลาอย่างจริงจัง ซื้อปลามาวันละ 30-40 ตัว สะสมไว้ในโหล เลือกสีสันและลวดลายที่เราชอบ โดยยังไม่ได้ศึกษาความต้องการของตลาด แต่เมื่อผ่านไประยะหนึ่งก็เริ่มจับทางถูกว่าลูกค้าชอบปลารูปทรง สีสันแบบไหน ซึ่งลูกค้าแต่ละประเทศจะมีความชอบที่แตกต่างกัน”

เมื่อเขาทำธุรกิจนี้ไปได้ระยะหนึ่ง ก็รู้สึกว่าปลาที่ซื้อจากพ่อค้าที่นำมาขายตามตลาดนัด จะไม่ค่อยร่าเริง จึงปรึกษากับกรมประมงถึงแหล่งซื้อปลาจากผู้เพาะพันธุ์โดยตรง คำตอบที่ได้คือ จ.นครปฐม ซึ่งเป็นบ้านเกิดของเขาเอง โดยมีเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงปลากัดกว่า 100 ราย ในพื้นที่ ดังนั้นเขาจึงลงพื้นที่ ระบุความต้องการปลากัด พร้อมเสนอราคาที่สูงกว่าราคาขายส่งทั่วไป คือให้ราคาตัวละ 30 บาท จากเดิมที่เกษตรกรขายได้ 7-8 บาท/ตัว ซึ่งเขาได้บอกช่องทางจำหน่ายไปต่างประเทศผ่านโลกออนไลน์กับเกษตรกรทั้งหมด แต่ก็ไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร จึงหันไปสอนบรรดาลูกหลานเกษตรกรแทน ว่าการขายปลากัดในช่องทางออนไลน์จะมีรายได้ได้อย่างไร ซึ่งความจริงใจที่ให้แก่เกษตรกร และลูกหลานนั้น ทำให้เขาได้รับการต้อนรับและความร่วมมือในการหาปลากัดที่ต้องการได้ แม้เขาจะเพาะพันธุ์ปลากัดเองไม่เป็นเลยก็ตาม...

“การเพาะพันธุ์ปลากัดไม่ใช่เรื่องง่ายเลย โดยเฉพาะการจะทำให้ได้สีที่ต้องการ แต่เกษตรกรในพื้นที่มีความชำนาญอยู่แล้ว ดังนั้นผมจึงมาช่วยด้านการตลาดให้พวกเขาขายปลาได้มากขึ้นแทน ซึ่งแต่ละฟาร์มก็จะเพาะพันธุ์ปลาไม่ได้ทุกสี เช่น ฟาร์มนี้เพาะได้แต่สีน้ำเงิน ส่วนอีกฟาร์มก็เพาะได้แต่สีแดง เป็นต้น ซึ่งเมื่อรู้จักทุกฟาร์มก็ทำให้ผมกลายเป็นผู้ที่มีปลากัดตามที่ตลาดต้องการจำนวนมาก”


ปัจจุบันประเทศที่คุณจิ๋ว ส่งปลากัดไปขายมากที่สุด คือ สหรัฐอเมริกา โดยมีสัดส่วนประมาณ 80% ซึ่งเป็นปลาเกรด A ทั้งหมด หลังพบว่าชาวต่างชาติเริ่มมีความนิยมเลี้ยงปลากัดกันมากขึ้น เพราะไม่เปลืองพื้นที่ และไม่ต้องเสียภาษีเหมือนกับการเลี้ยงสุนัขและแมว ซึ่งที่ผ่านมาในสหรัฐฯ ก็มีคนพยายามเพาะพันธุ์ปลาหมอเช่นกัน แต่ปลาชนิดนี้เป็นปลาที่ค่อนเซนซิทีฟ ถ้าพบว่าสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวยต่อการเจริญเติบโตของลูกน้อย ก็จะไม่ทำการวางไข่ ซึ่งอากาศในไทยถือว่าเหมาะสมมากสำหรับการขยายพันธุ์ปลากัด


สำหรับขั้นตอนการเลี้ยงปลากัดนั้น ถือว่าง่ายมากสามารถอยู่ในถุงที่มีอากาศได้ 7 วันโดยไม่ต้องให้อาหาร ทำให้การขนส่งสะดวกขึ้น และให้อาหารเพียงวันละ 1 ครั้ง โดยให้อาหารเม็ด อาหารที่มีชีวิต เช่น ลูกน้ำ หรือเลี้ยงด้วยไข่ตุ๋นผสมเกลือบดให้เละและผสมน้ำใส่ขวดก็ได้ และใช้น้ำดื่มสะอาดในการเลี้ยง โดยปลากัดจะมีอายุเฉลี่ย 2-3 ปี


อนาคตคุณจิ๋ว เชื่อว่า สายพันธุ์ปลากัดจะถูกพัฒนาไปได้อีกไกล ดังนั้นต้องพึ่งเด็กรุ่นใหม่ในการสานต่อปลาสวยงามชนิดนี้ โดยเน้นเจาะช่องทางจำหน่ายในโลกออนไลน์ให้มากขึ้น เพื่อนำรายได้เข้าประเทศ และยังสามารถยึดเป็นอาชีพหลักได้ไม่ยาก

***สนใจติดต่อ 09-8253-6369 หรือที่ Facebook: Bettaberry Thailand***
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น