ความหลงใหลในงานผ้าทอ และเครื่องเงินของชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง จึงนำผลงานเหล่านั้นมาช่วยเปิดตลาดในโลกออนไลน์ กระทั่งได้เข้าร่วมโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์กับ TCDC ด้วยการนำเสน่ห์ผ้าทอของชาวเขาที่สื่อถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่และวัฒนธรรมมารังสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์ พร้อมพัฒนาลายผ้าเหล่านี้ให้มีคุณค่ามากยิ่งขึ้น และสร้างแบรนด์ผลิตภัณฑ์จากผ้าทอที่ชื่อว่า “เอธนิกา” (Ethnica) ถอดความได้ว่า 'ชาติพันธุ์'
เขมิยา สิงห์ลอ เจ้าของผลิตภัณฑ์ผ้าทอแบรนด์ “เอธนิกา” เผยที่มาธุรกิจนี้ให้ฟังว่า โดยพื้นฐานเธอเป็นผู้ที่ชื่นชอบศึกษารากเหง้าวัฒนธรรมชนเผ่าต่างๆ เป็นทุนเดิม และเคยนำเครื่องเงินฝีมือชาวบ้านมาขายในอีเบย์ (e-Bay) ทำให้เห็นวิถีชีวิตและข้าวของเครื่องใช้ที่ชาวบ้านทำใช้เองถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น โดยเฉพาะการทอผ้า และทำเป็นเครื่องนุ่งห่มสวมใส่ในชนเผ่า ซึ่งมีเสน่ห์ต่อผู้พบเห็น แต่หากมีการพัฒนาในเรื่องลวดลายก็สามารถสร้างรายได้ให้ชาวบ้านเหล่านี้ได้มากขึ้น
“เราต้องการที่จะนำรากเหง้าวัฒนธรรมของชาวกะเหรี่ยง ชาวลัวะ มาออกแบบเป็นผลิตภัณฑ์อยู่แล้วแต่ก็ไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร กระทั่งไปเจอโครงการออกแบบแฟชั่นของศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) ก็เข้าไปอบรม ทำให้เกิดแนวคิดใหม่ๆ มากมาย และเราก็ใช้เวลาประมาณ 4 เดือน หลังจากฝึกอบรม เข้าไปศึกษาช่วยแนะนำชาวบ้านในเรื่องการออกแบบลายผ้าทอที่สามารถต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ นำร่องด้วยการทำเป็นกระเป๋าถือ กระเป๋าสะพาย”
กระเป๋าแบรนด์เอธนิกา ถือเป็นกระเป๋าแฮนด์เมดสไตล์โบโฮ เน้นการนำวัฒนธรรมจากชาติพันธุ์ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาปรับใช้ เลือกใช้วัตถุดิบในชุมชน และให้ชาวบ้านในท้องถิ่นเป็นผู้ผลิตนำมาจัดจำหน่ายโดยเน้นช่องทางออนไลน์ เช่น ผ้าฝ้ายทอมือด้วยกี่เอวจากชาวกะเหรี่ยง หรือชาวลัวะ
สำหรับคอลเลกชันแรกที่ทำออกมาคือ 'The River of life' ได้แรงบันดาลใจจากภาพบรรยากาศความยิ่งใหญ่ของแม่น้ำโขงระหว่างการล่องเรือสู่หลวงพระบาง สายน้ำที่ไหลคดเคี้ยวมาตามร่องเขา จากเทือกเขาสูงลงสู่ที่ราบลุ่มก่อเกิดศิลปะจากสายน้ำเป็นแก่งหินสวยงามแปลกตา ภาพที่สวยจับใจของพื้นผิวน้ำที่สะท้อนแสงสีทองระยิบระยับ สู่ที่มาของเซตกระเป๋าลายสวยงามน่าใช้งาน โดยนำไปจำหน่ายที่ สปป.ลาว เมืองหลวงพระบาง ก็ได้รับการตอบรับดี และเป็นตลาดที่น่าสนใจ เนื่องจากที่ สปป.ลาวยังขาดผลิตภัณฑ์ที่สื่อถึงรากเหง้าแห่งวัฒนธรรมพื้นถิ่น
นอกจากจุดเด่นในเรื่องการผ้าทอแล้ว การตัดเย็บภายในก็โดดเด่นไม่แพ้กัน เน้นความประณีต ความคงทน ขณะที่ลวดลายเน้นความเรียบง่าย และหรูหราในตัวเอง นำไปใช้งานได้ทุกโอกาส มีให้เลือกหลากหลายแบบตามการนำไปใช้งานจริง ส่วนงานปักจะให้ชาวอาข่าเป็นผู้ดำเนินการในขั้นตอนนี้ เพราะมีฝีมือด้านงานปักเป็นพิเศษ
“ขณะนี้เรามีชาวบ้านทอผ้าให้ประมาณ 20 คน เป็นการนำฝ้ายปั่นมือ ปลูกที่หมู่บ้านทุ่งหัวช้าง อ.ทุ่งหัวช้าง จ.ลำพูน มาเป็นวัตถุดิบ ขณะที่ตัวโลโก้เป็นปลาตะเพียน และมีลักษณะคล้ายอักษรลัวะโบราณ สนนราคาขายอยู่ที่หลักพันบาทขึ้นไป ขายในช่องทางออนไลน์และออฟไลน์ เป็นหลัก”
อนาคตเธอฝันไกลถึงการไปเปิดตลาดในสหรัฐฯ เพราะเชื่อว่ายังมีกลุ่มคนที่นิยมเสพผลงานเหล่านี้อยู่ และเป็นสินค้าที่มีมูลค่าทางจิตใจ ซึ่งเธอต้องหาร้านค้าที่จะส่งไปจำหน่ายให้เหมาะสมกับรูปแบบผลิตภัณฑ์ให้ได้ เพื่อทำให้ผลงานไม่ผิดคอนเซ็บต์ที่วางไว้
จะเห็นว่าภูมิปัญญาท้องถิ่นของไทยยังมีอีกมาก และพร้อมเป็นทูตวัฒนธรรมไทยได้เป็นอย่างดี ขึ้นอยู่กับว่าใครจะนำมาต่อยอดอย่างไรให้โดนใจตลาดโลก
***สนใจติดต่อ 08-1952-2544, Facebook: ethnica.thailand หรือที่ www.ethnicashop.com***
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *