สสว.เผยผลงานโครงการยกระดับสินค้าอาหารและเกษตรแปรรูปสู่มาตรฐาน อย. มีเอสเอ็มอีเข้าร่วม 817 ราย ได้รับ อย.แล้ว 6 ราย พร้อมสานโครงการ ขยายการต่อมอบคูปอง 5,000 บาท สู่พื้นที่จังหวัดอื่นๆ ในภาคกลางและอีสาน ตั้งเป้าผ่านกระบวนการทะลุพันราย
นางสาลินี วังตาล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า เพื่อจะช่วยยกระดับมาตรฐานสินค้าให้แก่เอสเอ็มอี ในกลุ่มประเภทอาหารและเกษตรแปรรูป ให้ได้มาตรฐานอาหารและยา (อย.) ซึ่งจะก่อประโยชน์ในการช่วยทำตลาดให้แก่เอสเอ็มอีได้มากยิ่งขึ้น ทาง สสว.ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) บริษัท ห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) จำกัด หรือ CENTRAL LAB สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) ดำเนินโครงการ “ยกระดับมาตรฐานสินค้า” ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2559 ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ การช่วยเหลือทาง สสว.จะมอบคูปอง มูลค่า 5,000 บาท ให้แก่เอสเอ็มอีกลุ่มอาหารที่เข้าโครงการ ให้เข้ารับการตรวจสอบและที่ปรึกษาจาก CENTRAL LAB เพื่อจะได้มาตรฐาน อย. ซึ่งปกติแล้วทาง CENTRAL LAB จะคิดค่าดำเนินการอยู่ที่ประมาณ 27,000 บาทต่อราย แต่เนื่องจากเป็นโครงการของรัฐบาลจึงคิดอัตราพิเศษตามคูปองที่ได้รับจัดสรร
“การดำเนินงานจะเริ่มจากจัดฝึกอบรมผู้ประกอบการให้มีความเข้าใจในหลักเกณฑ์มาตรฐาน อย. และจัดให้มีผู้เชี่ยวชาญเข้าไปให้คำปรึกษาแนะนำเตรียมความพร้อมของกระบวนการ และสถานที่ผลิต ให้ถูกต้องตามสุขลักษณะ การวิเคราะห์ส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์อาหาร (Nutrition Facts) รวมถึงจัดเตรียมเอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในการยื่นขอ อย. เพื่อยกระดับมาตรฐานผู้ประกอบการขนาดเล็กให้สามารถขยายตลาดไปยัง Modern Trade และการค้า Online” นางสาลินีกล่าว
สำหรับผลการดำเนินโครงงานที่ผ่านมา ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2559 ถึงสิ้นเดือนมกราคม 2560 ที่ผ่านมา มีเอสเอ็มอีเข้าร่วมทั้งสิ้น 817 ราย ในพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม ราชบุรี และนครปฐม โดยกว่า 80% เป็นเอสเอ็มอีรายเล็ก และอีก 20% เป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชน โดยขณะนี้มีจำนวน 6 รายที่ดำเนินการเสร็จทุกขั้นตอนและได้รับเครื่องหมายอย.แล้ว ได้แก่ 1. หมั่นโถว แม่ล้วน สุธาทิพย์ 2. กลุ่มสมุนไพรสนามจันทร์ 3. บริษัท ขนมแม่เอย เปี้ยแอนด์พาย (2003) จำกัด 4. บริษัท ต้ากี่ 1950 จำกัด 5. บริษัท เฮลธ์คลาส จำกัด และ 6. กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรตลาดน้ำท่าคา
นอกจากนั้น อยู่ในขั้นตอนรับคำปรึกษาและประเมิน 587 ราย อีก 14 ราย อยู่ระหว่างยื่นขอมาตรฐาน อย. และอีก 210 ราย อยู่ในขั้นตอนลงพื้นที่ให้คำปรึกษา ณ สถานประกอบการ
ผอ.สสว.เผยด้วยว่า จากผลตอบโครงการในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ทาง สสว.และ อย.ได้ขยายโครงการนี้ไปยังจังหวัดอื่นๆ ซึ่งมีธุรกิจอาหารอยู่จำนวนมาก เช่น กรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี เพชรบุรี สมุทรปราการ เป็นต้น รวมถึงจังหวัดทางภาคอีสานต่อไป นอกจากนั้นจะขยายประเภทกลุ่มผลิตภัณฑ์ไปยังกลุ่มเครื่องสำอางและสมุนไพรที่ไม่ใช่ยา เพื่อให้ได้รับเครื่อง อย.เช่นกัน คาดว่าเมื่อถึงสิ้นสุดโครงการในช่วงเดือนสิงหาคม 2560 จำนวนเอสเอ็มอีที่ผ่านโครงการและได้มาตรฐาน อย.รวมกันไม่ต่ำกว่า 1,000 ราย
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEs ผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *