xs
xsm
sm
md
lg

รศ.ดร.สิงห์ ร่วม สวทช.แจ้งเกิดโครงการอัปไซคลิ่ง สร้างมูลค่าเศษไม้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

รศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต ผู้เชี่ยวชาญโปรแกรม ITAP และหัวหน้าคณะผู้เชี่ยวชาญ ศูนย์สร้างสรรค์การออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
รศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต เผย โครงการอัปไซคลิ่ง : สร้างคุณค่าให้วัสดุเหลือใช้ด้วยการออกแบบ (Upcycling : Value Creation with Design) เป็นความร่วมมือระหว่างโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และ รศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อม จาก ม.เกษตรศาสตร์ เพื่อร่วมกันสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์จากวัสดุเหลือใช้จากการผลิตโดยโรงงาน SME ไทย

รศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต ผู้เชี่ยวชาญโปรแกรม ITAP และหัวหน้าคณะผู้เชี่ยวชาญ ศูนย์สร้างสรรค์การออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า การผลิตในโรงงานอุตสาหกรรมสร้างขยะมหาศาล การขายเศษวัสดุให้ซาเล้งหรือขายทิ้งในราคาต่ำไม่ใช่คำตอบที่จะช่วยสร้างมูลค่าให้เกิดขึ้นได้ แนวคิด “การจัดการเศษวัสดุสู่การออกแบบเพื่อสร้างมูลค่าอย่างยั่งยืน” จึงเป็นคำตอบ โดยใช้ความคิดสร้างสรรค์ผสมผสานนวัตกรรมที่หลากหลาย เพื่อพัฒนาเศษวัสดุที่เหลือทิ้งในโรงงานให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่สวยงาม แปลกตา สร้างสรรค์ และมีมูลค่าเชิงพาณิชย์สู่ตลาดอีโค ซึ่งนับเป็นแนวทางที่สำคัญและกำลังเป็นที่ต้องการของผู้บริโภครุ่นใหม่ในปัจจุบัน

ทั้งนี้ กว่า 8 ปีแล้วที่ ITAP สวทช.ได้สร้างคุณค่าให้กับเศษวัสดุ จนล่าสุดโครงการอัปไซคลิ่ง : สร้างคุณค่าให้วัสดุเหลือใช้ด้วยการออกแบบ ได้สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์จากวัสดุเหลือใช้ให้บริษัทที่ร่วมโครงการกว่า 40 บริษัท มีชิ้นงานที่น่าสนใจและขายในท้องตลาดมากมาย ไม่ว่าจะเป็นชุดโต๊ะเก้าอี้หรือลูกบันไดจากเศษไม้ ห้องอบเซานาที่ทำจากเศษไม้ฮิโกนิ เก้าอี้ที่ทำจากเศษเหล็กรูปร่างสวยงามแปลกตา เสื่อที่ทำจากพลาสติกรีไซเคิลในแบบต่างๆ เป็นต้น”

“สำหรับแนวทางสนับสนุนผู้ประกอบการที่สนใจเข้าร่วมโครงการ ขั้นตอนแรกคือ การตรวจเยี่ยมโรงงาน โดยตนและคณะทำงานเพื่อให้คำปรึกษาเบื้องต้น สำรวจเศษวัสดุว่ามีอะไรที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ต่อได้ ดูกระบวนการ วิธีการทำงาน รวมไปถึงแรงงานคน ช่างเทคนิค และเครื่องจักรของโรงงาน เพื่อผนวกความรู้ความสามารถของโรงงานกับความคิดสร้างสรรค์จากคณะผู้เชี่ยวชาญ นับเป็นการทำงานร่วมมือกันระหว่างผู้ประกอบการ ช่างฝีมือ และนักออกแบบ เพื่อสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ โดยการพัฒนาความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการบริหารจัดการและพัฒนาเศษวัสดุ นับเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะแม้เมื่อโครงการจบไปแล้ว องค์ความรู้นี้จะยังคงอยู่กับบริษัทต่อไป เมื่อมีเศษวัสดุรูปร่างหน้าตาเปลี่ยนไป ทางโรงงานจะยังสามารถดำเนินการพัฒนาได้ด้วยตนเองอย่างยั่งยืน” รศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต กล่าว

ทั้งนี้ บริษัทที่สนใจเข้าร่วมโครงการจะได้รับการสนับสนุนจาก สวทช.โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายในกิจกรรมการเข้าเยี่ยม วินิจฉัยปัญหาและความต้องการเบื้องต้นของบริษัท สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณพนิตา ศรีประย่า โทรศัพท์ 0-2564-7000 ต่อ 1301 หรืออีเมล panita@nstda.or.th

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEs ผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น