xs
xsm
sm
md
lg

ธพว.ชี้หนี้รัฐคงค้าง 25,691 ล้านบาท เชื่อไม่กระทบสภาพคล่อง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายมงคล ลีลาธรรม  กรรมการผู้จัดการ  ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย
ธพว.เผยผลโครงการนโยบายรัฐผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (PSA) พบสินเชื่อคงค้าง 25,691 ล้านบาท จากการช่วยเหลือ SMEs ตั้งแต่ปี 58 พบความผันผวนทางเศรษฐกิจ ส่งผลผู้ประกอบการชำระหนี้ไม่ต่อเนื่อง มั่นใจไม่ส่งผลกระทบสภาพคล่องธนาคาร

นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว. หรือ SME Development Bank) เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานของโครงการนโยบายรัฐผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจ หรือ PSA โดย ธพว. สนับสนุนสินเชื่อโครงการภาครัฐ ณ 31 ธันวาคม 2559 มียอดสินเชื่อคงค้าง 25,691 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นโครงการจากมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ก่อนปี 2558 ในช่วงเหตุวิกฤตต่างๆ เช่น สินเชื่อโครงการที่ได้รับผลกระทบจากการเมือง สินเชื่อที่ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติ และสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Policy Loan) เป็นต้น

ทั้งนี้ ธนาคารได้รับการชดเชยความเสียหาย ชดเชยดอกเบี้ย อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการที่เข้าโครงการบางส่วนมีความอ่อนแอและอ่อนไหวต่อความผันผวนทางเศรษฐกิจ จึงทำให้ผู้ประกอบการบางรายไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามปกติ ในกรณีนี้ธนาคารได้ติดตามให้ชำระหนี้ และบางรายอยู่ในกระบวนการขั้นตอนทางกฎหมาย แต่ส่วนใหญ่ยังดำเนินธุรกิจต่อเนื่องมากกว่าร้อยละ 80 และยังเป็นลูกหนี้ที่ชำระหนี้ต่อเนื่องร้อยละ 100 โดยธนาคารมีมาตรการดูแลอย่างใกล้ชิดและเร่งรัดลูกหนี้ให้มีความรับผิดชอบต่อวินัยทางการเงิน ซึ่งปัจจุบันมีสินเชื่อ PSA ที่เป็น NPLs จำนวน 5,651 ล้านบาทเท่านั้น แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ 1. กลุ่มที่รัฐบาลชดเชยความเสียหายจำนวน 2,803 ล้านบาท 2. กลุ่มที่รัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยจำนวน 2,775 ล้านบาท และ 3. กลุ่มที่ไม่ได้รับการชดเชยจำนวน 73 ล้านบาท ซึ่ง ธพว.ได้กันสำรองหนี้สงสัยตามเกณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทยไว้ครบถ้วนแล้ว ทั้งหมดนี้เป็นสินเชื่อที่เกิดก่อนปี 2558 จึงไม่มีผลกระทบต่อสภาพคล่องและการดำเนินงานของธนาคาร และไม่ส่งผลต่อฐานะทางการเงินของ ธพว.แต่อย่างใด

ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา ธพว.ได้ปรับมาตรฐานกระบวนการบริหารจัดการหนี้อย่างเป็นระบบ โดยมีการปรับกระบวนการอำนวยสินเชื่อ (Credit Process) ให้มีมาตรฐาน แบ่งแยกหน้าที่รับผิดชอบระหว่างหน่วยงานด้านการตลาดสินเชื่อ หน่วยงานวิเคราะห์สินเชื่อ เพื่อให้เกิดการถ่วงดุลอำนาจ (Check & Balance) และเพิ่มประสิทธิภาพการอำนวยสินเชื่อให้ผู้ประกอบการรวดเร็วยิ่งขึ้น ส่งผลให้ ธพว.สามารถปล่อยสินเชื่อใหม่คุณภาพดีได้มากขึ้น นอกจากนี้ ธพว.ยังได้จัดตั้งหน่วยงานควบคุมคุณภาพสินเชื่อ โดยจัดให้มีกระบวนการติดตามดูแลลูกหนี้ (Loan Monitoring) ช่วยดูแลรักษาคุณภาพลูกหนี้ ทั้งนี้ สินเชื่อที่ปล่อยใหม่ในช่วงปี 2558 ถึง 2559 รวมจำนวน 66,000 ล้านบาท มีการตกชั้นหนี้เพียงร้อยละ 2.30 (1,315 ล้านบาท) และเฉพาะสินเชื่อปล่อยใหม่ในปี 2559 มีการตกชั้นเพียงร้อยละ 0.15 (51 ล้านบาท) สำหรับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ที่คงเหลืออยู่ 17,822 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 19.02 (ณ 31 ธันวาคม 2559) โดยส่วนใหญ่เป็นลูกหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ก่อนปี 2558 และปัจจุบันไม่มีโครงการที่ขอชดเชยความเสียหายจากรัฐเพิ่มเติมอีกแล้ว

"ตั้งแต่ปี 2558 ที่ ธพว. ได้ดำเนินการฟื้นฟูกิจการมีผลประกอบการที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด ทั้งในด้านการปล่อยสินเชื่อใหม่คุณภาพดีที่เพิ่มขึ้นมาก และการบริหารจัดการสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ลดลงได้อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มีผลกำไรสุทธิในปี 2558 จำนวน 1,235 ล้านบาท และในปี 2559 จำนวน 1,681 ล้านบาท ส่งผลให้ฐานะทางการเงินของ ธพว. มีความแข็งแกร่งขึ้นตามลำดับ สามารถรองรับพันธกิจหลักในการช่วยส่งเสริมสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs ตามนโยบายภาครัฐ และในปี 2560 ธพว. จะควบคุม NPLs ที่เกิดใหม่ไม่ให้เกินร้อยละ 0.25 และทั้งปีไม่เกินร้อยละ 5 อีกทั้ง การปล่อยสินเชื่อรายละไม่เกิน 15 ล้านบาท ร่วมลงทุน รายละไม่เกิด 30 ล้านบาท จึงเป็นการปล่อยสินเชื่อที่กระจายไปยังผู้ประกอบการรายย่อยที่แท้จริง " นายมงคลกล่าว
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น