xs
xsm
sm
md
lg

"สตรอเบอรี่ ไร่พิมพ์วรัตน์" ไม้เมืองหนาวที่ปลูกได้ จ.สุพรรณบุรี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นางสาวพิมพ์วรัตน์ คำเรือง  เจ้าของไร่พิมพ์วรัตน์
รู้จัก “สตรอเบอรี่” กันในนามของผลไม้เมืองหนาว แต่วันนี้ สตรอเบอเรี่ ไม่ได้เป็นผลไม้เมืองหนาวอีกต่อไป เพราะได้พบเห็นการปลูกสตรอเบอรี่ในทุกภาค ไม่เว้นแม้แต่ภาคใต้ ที่แถบจะไม่เคยได้สัมผัสกับอากาศเย็นเลย และแปลงปลูกสตรอเบอรี่ ที่เรานำเสนอในครั้งนี้ สร้างความแปลกใจให้กับเราได้ไม่น้อย เมื่อเราได้เห็นแปลงปลูกสตรอเบอรี่ ที่อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี

เจ้าของไร่สตรอเบอรี่ ที่กล่าวถึงนี้ เป็นเกษตรกรคนรุ่นใหม่ Young Famer ของจังหวัดสุพรรณบุรี ด้วยวัย 28 ปี สามี “สิรวิชญ์ เรืองประชา” และภรรยา “ พิมพ์วรัตน์ คำเรือง” ทั้งคู่เรียนจบปริญญาตรี ฝ่ายสามี ได้มีโอกาสทำงานประจำอยู่ 3 ปี ตำแหน่งวิศวโทรคมนาคม ทนแรงชักชวนของภรรยาไม่ไหว เลยตัดสินใจลาออกจากงานมาช่วยภรรยา ทำการเกษตร และไม่ผิดหวัง ทุกวันนี้ เป็นเจ้าของ แปลงปลูกสตรอเบอรี่ และเป็นเจ้าของโฮมสเตย์ ที่ตำบลองค์พระ อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี มีรายได้หลักล้านบาทต่อปี ซึ่งมากกว่าการทำงานประจำของทั้งคู่หลายเท่าตัว
แปลงสตอเบอรี่ ของไร่พิมพ์วรัตน์ ที่ อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี
"สิรวิชญ์"  เล่าว่า ที่มาของการปลูกสตรอเบอรี่ มาจากภรรยาหลังจากเรียนจบ หันมาทำการเกษตร เพราะต้องมาดูแลแม่ที่อายุมาก ตอนนั้น เธอปลูกมะนาว แต่พอต้นมะนาวแก่ผลผลิตไม่ดี ประกอบกับราคามะนาวไม่แนนอน ก็เลย โค่นต้นมะนาวทิ้ง หันมาปลูกแตงกวา ไม้ล้มลุก แต่โดนคนในพื้นที่ดูถูกว่า เรียนมาสูง แล้วมาปลูกแบบนี้ใครๆ ก็ปลูกได้ ไม่ต้องเสียเวลาไปเรียน แฟนคิดมาก ก็เลยทดลองหาผลไม้แปลกๆ มาปลูก ก็มาลงตัวที่สตรอเบอรี่
 
เนืองจากในระยะหลังได้เห็นสตรอเบอรี่ มีการปลูกในพื้นราบ ที่ไม่ใช่บนดอย และได้ผลผลิตดี และพื้นที่จังหวัดสุพรรณ ก็น่าจะปลูกได้ ก็เลยลองศึกษา เริ่มจากการหาข้อมูลในอินเตอร์เน็ต และลองซื้อต้นกล้า หรือ ไหลมาปลูก เรียกว่า ลองผิดลองถูกด้วยตัวเอง ครั้งแรกเกิดความผิดพลาดหลายเรื่อง ไม่ได้ผลผลิตอย่างที่ตั้งใจ  แต่ก็ยังโชคดีที่ได้ผลผลิตออกมา และพอได้กำไรอยู่บ้าง แม้ว่าจะใช้เวลานานกว่า ไร่สตรอเบอรี่รายอื่นๆก็ตาม ซึ่งค่อนข้างพึ่งพอใจแม้ว่าไม่เป็นไปตาม และเริ่มเดินหน้าต่อ กับการปลูกในครั้งต่อไป  
ผลผลิตที่ได้ นำออกจำหน่ายที่ไร่ ไม่ได้ส่งพ่อค้าคนกลาง
ความผิดพลาดครั้งแรก เริ่มจากสายพันธุ์  เราสั่งซื้อต้นกล้า หรือไหลจากคนขายในอินเตอร์เน็ต ตอนนั้น สั่งซื้อสายพันธุ์ 80 เขาปนสายพันธุ์ 329 ซึ่งราคาถูกกว่ามาให้ และกว่าเราจะรู้ก็เมื่อผลผลิตออกมาแล้ว โดยช่วงแรกปลูก บนพื้นที่ 2งาน 200 ตารางวา จำนวน 5,000 ต้น ซึ่งพื้นที่ไร่ของเรา แตกต่างจากพื้นที่อื่นในจังหวัดสุพรรณบุรี เพราะ  ใกล้ภูเชา อากาศตอนค่ำจะเย็น (อุณหภูมิประมาณ 15-16 องศา) แต่ตอนกลางวันจะร้อน เราอาศัยให้น้ำตอนกลางวัน เพื่อให้ต้นสตรอเบอรี่รู้สึกว่าอากาศไม่ได้แตกต่างจากตอนค่ำมากนัก ซึ่งก็ช่วยทำให้สตรอเบอรี่ออกผลได้ แต่สตรอเบอรี่ที่ไร่ของเราต้องใช้เวลานานกว่า สตรอเบอรี่ที่ปลูกอยู่บนดอยที่อากาศเย็นตลอดเวลา และช่วงเวลาการเก็บผลสตรอเบอรี่ คือ ธันวาคม ถึง ต้นเดือนมีนาคม เท่านั้น" สิรวิชญ์ กล่าว 
  
มีลูกค้าสนใจมาพักที่โฮมสเตย์ และเรียนรู้การปลูกสตอเบอรี่
สำหรับสายพันธุ์สตรอเบอรี่ที่นิยมปลูกในปัจจุบัน ส่วนใหญ่จะเป็นสายพันธุ์เบา เพราะจะออกผลได้ง่ายกว่า และไม่ต้องการอากาศที่หนาวเย็นมาก และสายพันธุ์เบาที่นิยมปลูกในขณะนี้ ได้แก่ สายพันธุ์ 60 หรือ 90 ฯลฯ เป็นสายพันธุ์เบาสามารถปลูกในอุณหภูมิ 20-21 องศาได้ แต่รสชาติไม่อร่อยเท่ากับ สตรอเบอรี่สายพันธุ์หนักอย่าง 80  ที่ต้องใช้เวลาในการปลูกนานกว่า อุณหภูมิต้องไม่ต่ำกว่า 15-16 องศา

ทั้งนี้ สตรอเบอรี่เป็นผลไม้ที่ออกตามฤดูกาล ราคาค่อนข้างแน่นอน แต่ปัจจุบัน มีการปลูกอย่างแพร่พลาย ไม่ว่าจะเป็นภาคใต้ ภาคอีสาน และภาคกลางตอนบน สามารถปลูกสตรอเบอรีเป็นผลสำเร็จ ส่งผลต่อราคาที่ตกลงมาบ้าง  แต่สำหรับไร่พิมพ์วรัตน์ อาศัยขายตรงยังลูกค้า นักท่องเที่ยว คนในพื้นที่  และควบคุมคุณภาพ ทำให้ได้ราคาอย่างที่ต้องการ  ซึ่งการเก็บผลผลิตของไร่พิมพ์วรัตน์ เริ่มเก็บได้มกราคม เป็นต้น โดยสามารถเก็บผลผลิตทุกวันๆละ 12-15 กิโลกรัม ไปจนถึงปลายเดือนกุมภาพันธ์  แต่ถ้าเป็นสายพันธุ์ 80 เก็บผลผลิตได้วันละ 10 กิโลกรัม ในปัจจุบันมีพื้นที่การปลูกสตอเบอรี่ เพิ่มขึ้น เป็น 1 ไร่  โดยมีรายได้ประมาณ 5แสน ถึง 6 แสนบาท และรายได้จากการจำหน่ายไหล หรือ ต้นกล้า ประมาณ 1 แสน 5 หมื่นบาท ต่อปี ราคาไหลสตรอเบอรี่ จำหน่ายต้นละ 8 บาท ไปจนถึง 15 บาท ขึ้นอยู่กับช่วงเวลา และมีรายได้จากการจำหน่ายสตรอเบอรี่ในกระถาง ให้กับนักท่องเที่ยว ด้วย
ที่พัก ซึ่งปลูกแบบง่าย ด้วยไม้ไผ่  คนที่พักได้ใกล้ชิดธรรมชาติ
 อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จจากการปลูกสตรอเบอรี่ ของไร่พิมพ์วรัตน์ ในครั้งนี้  "สิรวิชญ์" บอกว่า หลังจากปีแรก ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เริ่มมองหาตัวช่วย และโชคดีที่มาได้รู้จักกับอาจารย์ ซึ่งทำงานอยู่ที่โครงการหลวง ได้รับคำแนะนำจากอาจารย์ ส่งผลให้การปลูกสตรอเบอรี่ ในปีถัดมาได้ผลผลิตเต็มที่อย่างที่ต้องการ และที่สำคัญ สามารถต่อยอดทำเพาะต้นกล้าพันธุ์ จำหน่ายให้กับเกษตรกรที่สนใจ สร้างรายได้เพิ่มอีกทางหนึ่ง ซึ่งการเพาะสตรอเบอรี่ จำหน่าย ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะถ้าจะให้ได้สายพันธุ์สตรอเบอรี่ที่ดี ต้องลงทุน ซื้อสตรอเบอรี่ที่เป็น พ่อแม่พันธุ์ดี ดี มาเพาะ ซึ่งในแต่ละปี ต้องใช้เงิน 6 หมื่น ถึง 7 หมื่นบาทในการซื้อสายพันธุ์ดีดี เพื่อนำมาเพาะขยายทำต้นกล้า ขายต่อให้กับเกษตรกรที่สนใจ โดยที่ผ่านมาได้จำหน่ายไหลไปหลายจังหวัด เกือบทุกภาคในประเทศ และมีการส่งจำหน่ายไปยังประเทศลาว อีกด้วย

สิรวิชญ์  กล่าวว่า นอกจากปลูกสตรอเบอรี่ และจำหน่ายต้นกล้าแล้ว ยังแบ่งพื้นที่ซึ่งมีอยู่กว่า 10 ไร่ ปลูกไม้ผลชนิดอื่นๆ ที่เป็นไม้เมืองหนาว หรือไม้ผลที่ได้รับความนิยมในตลาด  เช่น ส้ม สับปะรด มะนาว เป็นต้น   และแบ่งพื่้นที่เพื่อทำโฮมสเตย์ ให้นักท่องเที่ยวได้มาพัก และมาเรียนรู้การทำเกษตรทฤษฎีใหม่ ตามแนวทางของในหลวง รัชกาลที่ 9  และส่วนหนึ่ง เพื่อจำหน่ายผลผลิตในไร่ ตรงถึงผู้บริโภค 

สำหรับผู้ที่ต้องการเรียนรู้การปลูกสตรอเบอรี่ หรือ ต้องการท่องเที่ยวเชิงเกษตร "ไร่พิมพ์วรัตน์" แห่งนี้ ยินดีให้การต้อนรับ ซึ่งถ้าจะมาเที่ยวและได้สัมผัสอากาศเย็น และเก็บผลสตรอเบอรี่ ต้องมาเดือน ธันวาคม มกราคม และกุมภาพันธุ์ เท่านั้น ราคาที่พัก  คิดค่าบริการคืนละ 400 บาท พร้อมอาหาร และถ้าลูกค้านำเต็นท์มาเอง ทำอาหารเอง คิดแค่ คืนละ 100 บาท

สนใจ โทร. 088-453-1164 www.facebook.com/ ไร่สตรอเบอรี่พิมพ์วรัตน์

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEs ผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น