xs
xsm
sm
md
lg

กางโรดแมป “Candy Crepe” ติดปีก ‘โรตีสายไหม” ให้หวานก้องโลก (มีคลิป)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

เจนนิสา คูวินิชกุล เจ้าของธุรกิจ “แคนดี้ เครป” (Candy Crepe)
ขนม “โรตีสายไหม” โฉมใหม่สวยเก๋ ผลิตมาตรฐานสูงสุด มีร้านสาขากระจายอยู่ในและต่างประเทศ พร้อมแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ วางเฉิดฉายในซูเปอร์มาร์เกตชั้นนำ ที่สำคัญแบรนด์ขึ้นชั้น “โกลบอล” ครองใจคนทั่วโลก นี่เป็นภาพที่อยู่ในหัวของ “เจนนิสา คูวินิชกุล” ตั้งแต่ก่อนจะแจ้งเกิด “แคนดี้ เครป” (Candy Crepe)

ถนนไปถึงเป้าหมายดังกล่าว ถูกกำหนดเป็นโรดแมปชัดเจน และก้าวตามอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ภายใต้แนวคิดทำธุรกิจโดย “คิดให้ครบ” ตั้งแต่ก่อนเริ่มต้น เพื่อจะผลักดันจากภาพในจินตนาการสู่โลกแห่งความเป็นจริง


สาขาที่ชั้น 5 ห้างเซ็นทรัล เอมบาสซี่
ย้อนกลับไปประมาณ 2 ปีที่แล้ว เจ้าของธุรกิจสาว เห็นศักยภาพโรตีสายไหมว่า แสนรวยเสน่ห์ มีภูมิปัญญาไทยในการทำยากซับซ้อน ครัวบ้านทั่วไปไม่สามารถทำเองได้ แถมวิธีกินน่าสนใจ ขณะที่ความอร่อยมั่นใจไม่เป็นรองขนมชาติใดในโลก หากได้รับการยกระดับเพิ่มคุณค่า สามารถขึ้นแท่นขนมยอดนิยมระดับสากล

“ทุกครั้งที่นำโรตีสายไหมไปฝากเพื่อนชาวต่างชาติทุกคนชื่นชอบความอร่อย แต่กลับพบปัญหาในกรุงเทพฯ หากินยาก ต้องเดินทางไปถึง จ.พระนครศรีอยุธยา ส่วนย่านที่ขาย ทุกร้านเหมือนกันไปหมด จนขาดความโดดเด่น ไม่สามารถทำราคาสูงได้ ทำให้ดิฉันอยากนำโรตีสายไหมที่ถูกมองข้ามมาตลอดมาต่อยอดเป็นขนมแห่งความสุขจากเมืองไทยที่ขายได้ทั่วโลก” เจนนิสาเล่าแรงบันดาลใจ

ด้วยพื้นฐาน เรียนคณะบริหารธุรกิจ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และต่อ MBA ที่ Harvard Business School สหรัฐอเมริกา อีกทั้งเคยทำงานบริษัทที่ปรึกษาธุรกิจระดับโลก เธอนำความรู้ประสบการณ์มาปลุกปั้นแบรนด์ “แคนดี้ เครป” ซึ่งก่อนจะลงมือทำผ่านกระบวนการคิดอย่างรอบด้านที่สุด ไม่ว่าจะเป็นวิเคราะห์จุดเด่นจุดด้อยสินค้า โอกาสธุรกิจ ช่องทางตลาด บุคลากร การเงิน ฯลฯ เพราะเชื่อว่าหากคิดและวางแผนได้ครบถ้วนย่อมเพิ่มโอกาสประสบความสำเร็จ ขณะเดียวกันลดความเสี่ยงที่จะล้มเหลว

“แนวทางธุรกิจของ Candy Crepe จะคิดครบตั้งแต่ต้น ที่เราประกาศตัวเองว่า ไม่ต้องการมาทำโรตีสายไหมเพื่อแข่งกับผู้ผลิตแถบอยุธยา หรือแค่ทำโรตีสายไหมให้สวยแล้วขายราคาสูง แต่เรามีวิสัยทัศน์จะสร้างแบรนด์ Candy Crepe เทียบเท่าแบรนด์ขนมเจ้าดังระดับโลก ต่อไปคนทั่วโลกจะรู้จักขนมชนิดนี้ ว่ามาจากเมืองไทย มีภาพจำเป็นขนมแห่งความสุข และมีสินค้าจากโรตีสายไหมที่หลากหลาย ผ่านช่องทางตลาดหน้าร้าน ซื้อกลับบ้าน รวมถึงแปรรูปวางขายตามซูเปอร์มาร์เกต ซึ่งดิฉันมีขั้นตอนอยู่ในใจอยู่แล้วว่าแต่ละก้าวจะเดินไปอย่างไร” เธอระบุ

แผนธุรกิจเริ่มจากจุดเล็กๆ ลงทุนแค่หลักหมื่นบาท ตระเวนชิมโรตีสายไหมทุกรายในอยุธยาเพื่อคัดสรรผู้ผลิตที่คิดว่าอร่อยที่สุด จากนั้นขอซื้อสูตรและเรียนรู้วิธีการทำ ตามด้วยการพัฒนาการผลิตให้สะอาดปลอดภัยที่สุด เลือกใช้วัตถุดิบดีสุดในท้องตลาด นอกจากนั้น เติมสีสันไส้และแป้งให้สะดุดตา เช่น แป้งสีดำจากชาโคล หรือสีเขียวจากชาเขียว เป็นต้น

ก้าวต่อมา เริ่มทำตลาดสร้างแบรนด์ โดยมีโลโก้ “น้องสายไหม” สาวน้อยยิ้มสดใสผูกผมจุก ใส่เสื้อคอกระเช้า ทำหน้าที่พรีเซ็นเตอร์สื่อสารแบรนด์สู่ลูกค้า เบื้องต้นลงตลาดผ่านทางออนไลน์ ซึ่งสร้างกระแสทอล์กออฟ เดอะทาวน์ในโซเชียลมีเดีย จากดารานักแสดง และเซเลบหลายคน ถ่ายภาพคู่กับโรตีสายไหมแคนดี้ เครป แล้วโพสต์แชร์ ช่วยจุดพลุให้แบรนด์เริ่มเป็นที่รู้จัก

ทำแป้งโรตีสดๆ ที่เคาน์เตอร์หน้าร้าน
แผนการตลาดถูกขับเคลื่อนต่อด้วยการเปิดคีออสก์เล็กๆ ที่ชั้น 3 เซ็นทรัล เอมบาสซี่ ขยายหาเป้าหมายกลุ่มชาวต่างชาติ ปรับบรรจุภัณฑ์จากใส่ถุงมาเป็นกล่อง เหมาะจะซื้อกลับไปเป็นของฝากจากเมืองไทย ตามด้วยเปิดหน้าร้าน ซึ่งปัจจุบันมีถึง 5 สาขา เช่น กิ่งแก้วซอย 40/2 , เมญ่าชอปปิ้งมอลล์เชียงใหม่ เป็นต้น มีจุดเด่นเมนูต่างๆ ในร้านล้วนแปลกใหม่ สร้างสรรค์ขึ้นเอง ใช้เส้นสายไหมและแป้งโรตีเป็นส่วนประกอบอยู่ด้วยเสมอ รวมกว่า 30 รายการ ทั้งหวาน คาว และเครื่องดื่ม

เจนนิสาเสริมว่า วัตถุประสงค์หลักของการเปิดร้าน นอกเหนือจากขยายช่องทางตลาดแล้ว ยังมีหน้าที่เป็นโชว์รูมให้ลูกค้าเกิดการรับรู้ว่าโรตีสายไหมสามารถพลิกแพลงทำเป็นเมนูอื่นๆ ได้อีกหลากหลาย เช่น นำแป้งโรตีมาทำเมนูพิซซ่า หรือเส้นสายไหมใส่ในเครื่องดื่ม เป็นต้น รวมถึงเมื่อลูกค้าสนุกเพลิดเพลินกับการ DIY เมนูต่างๆ แทบทุกคนจะถ่ายภาพและลงโซเชียลฯ เกิดการบอกต่อ ขณะเดียวกัน บริเวณหน้าร้านพนักงานโชว์ทำแป้งโรตีสดๆ ช่วยให้ชาวต่างชาติรู้จักขนมชนิดนี้ดียิ่งขึ้น


ด้วยเป้าหมายขายทั่วโลก สิ่งที่ทำควบคู่กับการทำตลาด คือ พัฒนามาตรฐานรับรองการส่งออก โดยปัจจุบันโรงงานได้มาตรฐานครบถ้วนไม่ว่าจะเป็น GMP HACCP และฮาลาล อีกทั้งพัฒนาเครื่องจักรแบ่งเบาแรงงานคน เช่น กวนน้ำตาลและนวดแป้ง เป็นต้น และโจทย์หินที่สุดอยู่ที่หาทางยืดอายุเก็บรักษาแป้งและสายไหม จากปกติประมาณ 3-5 วัน ให้อยู่ได้ 1 ปี รวมถึงต่อยอดแป้งเครปในรูปแบบแช่แข็ง นำไปใช้ประกอบอาหารต่างๆ ได้ โดยใช้เวลาแรมปีวิจัยและพัฒนาร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) คาดจะสำเร็จเปิดตัวได้ในกลางปีนี้ (2560)

เธอบอกด้วยว่า กุญแจสำคัญอีกประการที่ขนมไทยจะโกอินเตอร์สำเร็จ ทีมงานทุกคนต้องรับรู้ในเป้าหมายสูงสุดเดียวกัน ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนธุรกิจอย่างมีพลัง โดยพยายามถ่ายทอดความคิดของตัวเองให้พนักงานรับรู้และเข้าใจอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ ทั้งในรูปแบบพูดให้ฟังพร้อมกัน และรายบุคคล
ทำเป็นเมนูพิซซ่า
เริ่มจากขายแบบคีออส
สำหรับแผนขั้นต่อไป ในช่วงปลายปีนี้เตรียมปล่อยขาย “แฟรนไชส์” ทั้งแบบคีออสก์ ลงทุนหลักแสน และร้านคาเฟ่ ลงทุนหลักล้าน คาดเพิ่มผลประกอบการ จากปีที่แล้ว (2559) ประมาณ 20 ล้านบาท เป็น 50 ล้านบาท และปีถัดไป (2561) เริ่มส่งออกผลิตภัณฑ์แปรรูปจากโรตีสายไหมไปยังซูเปอร์มาร์เกตทั่วโลก พร้อมขยายสาขาแฟรนไชส์ทั้งในและต่างแดน รวมประมาณ 15 สาขา เพื่อดันผลประกอบการทะลุ 100 ล้านบาท เมื่อถึงจุดนั้นจะนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เพื่อระดมทุน และหาผู้เชี่ยวชาญมาเสริมแกร่งในการทำตลาดระดับอินเตอร์ เพื่อก้าวสู่ “โกลบอลแบรนด์” ตามเป้าที่วางไว้ตั้งแต่ก่อนเริ่มธุรกิจ

“แม้จะกำหนดแผนธุรกิจคิดครบถ้วนตั้งแต่ต้นจนจบไว้แล้ว ทว่า ในการทำงานจริงหลายครั้งไม่ได้เป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้ เพราะมีหลายปัจจัยคาดไม่ถึง และสารพัดปัญหาเข้ามาให้กระทบ ดังนั้นต้องเรียนรู้อยู่เสมอ ปรับตัวให้รวดเร็ว และเท่าทันต่อสถานการณ์ด้วย” เธอกล่าว

หากให้เปรียบจุดหมายเป็นบันได 10 ขั้น เจนนิสาระบุว่า เวลานี้แคนดี้ เครปเพิ่งอยู่แค่ขั้นที่ 2 เท่านั้น เส้นทางพาขนมไทยข้างทางไปเวทีโลกยังอีกยาวไกล และถือเป็นความท้าทายที่อยากไปให้ถึง เพราะถ้าทำสำเร็จจะไม่ใช่เพียงแค่ผลประโยชน์เรื่องรายได้ หากแต่เป็นความภาคภูมิใจที่สร้างชื่อขนมไทยให้คนทั้งโลกได้รู้จัก

ติดต่อโทร. 08-8828-1397, 09-1776-3552 ,www.candycrepe.com , FB:CandyCrepe
Line:@candy crepe , IG:candycrepe



* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEs ผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น