กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม เผยตัวเลข โรงงานพื้นที่ภาคใต้ 8 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนครศรีธรรมราช พัทลุง ตรัง สุราษฎร์ธานี ชุมพร กระบี่ ประจวบคีรีขันธ์ และนราธิวาส รวม 95 โรงงาน ความเสียหายทั้งหมด 64,840,461 บาท พร้อมเตรียมแนวทางการช่วยเหลือด้วยการเปิดสายด่วน 1564 ให้คำปรึกษาแนะนำ ยกเว้นค่าธรรมเนียมการต่ออายุใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน ค่าธรรมเนียมรายปี และสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ
นายมงคล พฤกษ์วัฒนา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากรายงานข้อมูลโรงงานอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากกรณีเหตุอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้มีทั้งหมด 8 จังหวัดด้วยกัน แบ่งออกเป็นจังหวัดนครศรีธรรมราช มีโรงงานที่ได้รับผลกระทบ จำนวน 17 โรงงาน, พัทลุง จำนวน 26 โรงงาน, ตรัง จำนวน 11 โรงงาน, สุราษฎร์ธานี จำนวน 16 โรงงาน, ชุมพร จำนวน 5 โรงงาน, กระบี่ จำนวน 6 โรงงาน, ประจวบคีรีขันธ์ จำนวน 13 โรงงาน และนราธิวาส จำนวน 1 โรงงาน ทั้งหมด 95 โรงงาน รวมมูลค่าความเสียหายทั้งหมด 64,840,461 บาท ทั้งนี้ กรมโรงงานฯ มีแนวทางให้ความช่วยเหลือโดยแบ่งเป็น 2 แผน ได้แก่ การแก้ไขระยะสั้น และแผนการแก้ไขระยะยาวซึ่งคาดว่าจะช่วยในการเยียวยาผู้ประกอบกิจการได้อย่างทันท่วงที
นายมงคลกล่าวต่อว่า สำหรับแผนระยะสั้น กรมโรงงานฯ ได้เปิดสายด่วนกรมโรงงานอุตสาหกรรม 1564 ให้คำปรึกษาแนะนำแก่โรงงานที่ประสบอุทกภัยเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ใน 4 เรื่องหลักเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติความปลอดภัยในโรงงาน ได้แก่ มาตรการจัดการสารเคมี มาตรการจัดการกากอุตสาหกรรม มาตรการป้องกันอุปกรณ์ เครื่องจักร และมาตรการป้องกันระบบไฟฟ้า ตลอดจนการยกเว้นค่าธรรมเนียมต่างๆ ให้แก่โรงงานที่ประสบภัย เช่น ยกเว้นค่าธรรมเนียมการต่ออายุใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน ค่าธรรมเนียมรายปี และสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ
ทั้งนี้ สำหรับแผนระยะยาว กรมโรงงานฯ เตรียมโครงการต่างๆ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบกิจการโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ทั้งหมด 3 โครงการ ได้แก่ 1. โครงการแปลงเครื่องจักรเป็นทุนสำหรับผู้ประกอบการ SMEs จะให้บริการจดทะเบียนกรรมสิทธิ์เครื่องจักร เพื่อแปลงเครื่องจักรเป็นทุน จำนวนไม่น้อยกว่า 500 ราย โดยจะมีการอำนวยความสะดวกในการจดทะเบียนกรรมสิทธิ์เครื่องจักรผ่านช่องทางพิเศษ สำหรับผู้ประกอบการ SMEs ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการ SMEs มีเงินทุนหมุนเวียนจากการใช้เครื่องจักรเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันในการขอสินเชื่อกับสถาบันการเงิน
2. โครงการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรสำหรับผู้ประกอบการ SMEs จะให้บริการให้คำปรึกษา แนะนำเชิงลึกแก่ผู้ประกอบการ SMEs ในการลงทุนปรับเปลี่ยนเครื่องจักร จำนวนไม่น้อยกว่า 1,000 ราย โดยจะอำนวยความสะดวกในการประสานงานกับสถาบันการเงินในการยื่นขอสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อปรับเปลี่ยนเครื่องจักร หรือการขอรับสิทธิประโยชน์จากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI)
3. โครงการ Thailand Spring Up ก้าวกระโดดประเทศไทย ยกระดับเทคโนโลยีด้านสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย ลดใช้พลังงาน และเพิ่มมูลค่ากากอุตสาหกรรมให้กับโรงงาน SMEs ที่จะช่วยผู้ประกอบกิจการในการให้คำปรึกษาหลังน้ำลดเพื่อการปรับปรุงโรงงานทั้งด้านพลังงาน สิ่งแวดล้อม และความปลอดภัย โดยโครงการนี้มีเงินช่วยเหลือ 50% ของเงินที่ลงทุนในการปรับปรุงแก้ไข แต่ไม่เกิน 400,000 บาท/ราย
“อย่างไรก็ตาม กรมโรงงานฯ ยังได้จัดทำคู่มือแนวทางปฏิบัติในการป้องกันอุทกภัยในโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อเป็นองค์ความรู้ทอดถ่ายวิธีการบริหารจัดการความปลอดภัยต่างๆ ในโรงงานเพื่อใช้เป็นแนวทางในการเตรียมการช่วงก่อนเกิดอุทกภัย ขณะเกิดอุทกภัย และหลังเกิดอุทกภัย เพื่อป้องกันหรือบรรเทาความรุนแรงและความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นต่อชีวิตและทรัพย์สิน อาคาร โรงงาน เครื่องจักรอุปกรณ์ต่างๆ และระบบไฟฟ้า โดยสามารถดาวน์โหลดคู่มือได้ที่เว็บไซต์สำนักเทคโนโลยีความปลอดภัย กรมโรงงานอุตสาหกรรม php.diw.go.th/safety2/” นายมงคลกล่าวสรุป
ผู้ประกอบกิจการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม โทร.สายด่วนกรมโรงงานอุตสาหกรรม 1564 หรือโทร. 0-2202-4007 หรือเข้าไปที่ www.diw.go.th
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEs ผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *